Skip to main content
sharethis

ขณะที่สปอตโฆษณารณรงค์ ให้เลือกคนดีในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เวทีเสวนาที่ภาควิชาฟิสิกส์ มช. ชวนทำความเข้าใจการเมืองที่เปรียบเสมือนสนามของพลังงาน ด้านชำนาญ ชวนให้ตั้งคำถามกับวาทกรรม "คนดี" ขณะที่ อาจารย์จาก ม.เที่ยงคืน ร่วมแสดงทัศนะ เลือกตั้งเสร็จ ความขัดแย้งยังไม่หมดไป อรรถจักร ชู No vote แบบสร้างนัยยะทางการเมือง ขณะที่ สมชาย ชี้ "การเมืองไม่ใช่เวทีประกวดนักบุญ" คำว่า "คนดี" ใช้วัดอะไรไม่ได้ ควรหนุนระบบตรวจสอบ ที่เสรีและเปิดกว้าง


 


เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่อง "เลือกตั้งอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอภิปรายคือ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ , ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ , ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ชัชวาล ปุญปัน จากภาควิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


โดยในวงเสวนานี้จะชวนมาตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ได้ว่าควรจะเลือกพรรคใดและเลือกใคร เป็นผู้แทนของเราในการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม ที่จะถึงนี้? การเลือกแบบระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กับแบบระบบสัดส่วนเป็นอย่างไร? เลือกไปแล้วจะมีการยึดอำนาจอีกหรือไม่? อำนาจใดจะเข้ามาครอบงำการเมืองไทยต่อไป? เราเองยังเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่หรือไม่? และทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจสภาพความยุ่งเหยิงวุ่นวายนี้ได้?


 


ชัชวาลเริ่มกล่าวเปิดโดยชี้แจงเหตุผลที่ภาควิชาฟิสิกส์จัดงานเสวนาเกี่ยวกับการเมืองว่า การเมืองเป็นเรื่องที่เปรียบเสมือน Sphere of Power หรือ สนามพลังงาน ซึ่งเต็มไปด้วยพลังงานผลักดันกันไปมา และมี Electron ที่จัดเรียงอะตอมได้ เป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อสนามพลัง มีผลต่อโลกต่อจักรวาล แม้เราจะมองไม่เห็นมันก็ตาม แต่ในที่นี้เราไม่ได้เป็น Electron แต่เป็น Elector หรือ ผู้ลงเลือกตั้ง คือผู้ที่สามารถเลือกได้ในสนามของ Power field ในที่นี้เราจะมาแลกเปลี่ยนกันว่า เราจะสามารถมีส่วนในการผลักดัน Power Field ได้อย่างไร


 


ชำนาญ ชวนให้ตั้งคำถามกับวาทกรรม "คนดี"


โดยในวงอภิปราย ชำนาญ ได้ชี้แจงถึงกฏการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็ชวนให้คนในวงประชุมตั้งคำถามเกี่ยวกับการรณรงค์เลือก "คนดี" ตามสปอตโฆษณาของรัฐบาล ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนดี ทั้งนี้ยังได้แสดงทัศนะว่า เราไม่ควรขัดขวางเสียงของประชาชน ประชาชนจะเลือกอย่างไร เมื่อประชาชนได้ตัดสินใจแล้ว จะดีจะเสียก็ย่อมเป็นผลที่จะกระทบต่อตัวเขาเอง


 


เลือกตั้งเสร็จ ความขัดแย้งยังไม่หมดไป


รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ได้แสดงความเห็นถึงประเด็นการเลือกตั้งว่า ทุกคนพูดตรงกันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่ทางออก ขณะเดียวกัน เราประชาชนจะต้องเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากมันมีความสับสนมาก ต้องเข้าใจว่ามันมีความขัดแย้งอะไร


 


อาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์กล่าวต่อถึงเรื่องความขัดแย้งในปัจจุบันว่า สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งของอำนาจสองอย่างคือ อำนาจทางการเมือง และอำนาจทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางเศรษฐกิจแน่นอน โดย รศ.ดร.อรรถจักร ได้อธิบายต่อว่า ในช่วงก่อนปี 2519 อำนาจทั้งสองอย่างนี้แยกกัน ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองก็จะพยายามเข้ามาเล่นกับอำนาจทางวัฒนธรรม แต่ในปัจจุบันความขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นนำดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าแต่ก่อน แต่เป็นการดึงประชาชนเข้าไปในฐานะสาวก


 


รศ.ดร.อรรถจักร กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่สำคัญคือความขัดแย้งนี้ถูกทำให้เชื่อว่ามีอยู่จริง ในช่วงการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่เป็นการทำให้เห็นว่าความขัดแย้งนี้มีอยู่จริง รัฐประหาร 19 กันยาฯ เองได้ทำให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจบิดเบี้ยวไป ทำให้เกิดอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน แต่เป็นอำนาจที่มาจากการแต่งตั้ง


 


นอกจากนี้ รศ.ดร.อรรถจักร ยังมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เลือกใครก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ยิ่งจะสร้างความขัดแย้งหนัก วิกฤตหนักเข้าไปอีก


 


โดยอาจารย์จากภาควิชาประวัติศาสตร์ได้เผยถึงวิธีแก้ปัญหาว่าเราควรถอนตัวจากความขัดแย้งนี้ให้ได้ โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้หลังการเลือกตั้งเรายังต้องทำให้ความขัดแย้งทั้งหลายลงมาอยู่ในสภา มาอยู่ในที่แจ้ง ต้องจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจให้คนเข้าไปตรวจสอบได้ เพื่อนำมาสู่การเปิดเผย ไม่เป็นเพียงข่าวลือ เมื่อจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจแล้วก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่


 


ขณะเดียวกัน ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล วิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งว่า เรามีโอกาสที่จะได้รัฐบาลสามรูปแบบ คือ หนึ่ง รัฐบาลคนบาป หมายถึงรัฐบาลที่ถูกชนชั้นกลางและชนชั้นนำมองว่าเป็นคนบาปคอยแต่สร้างความขัดแย้ง สอง รัฐบาลเทวดา หมายถึงรัฐบาลที่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำคิดอยากพรรคนี้ได้เป็นรัฐบาล และ สาม รัฐบาลสมานฉันท์ หมายถึงทุกพรรคเป็นรัฐบาลร่วมกัน ไม่มีฝ่ายค้าน


 


ผศ.สมชาย วิเคราะห์ว่า รัฐบาลแบบที่หนึ่งและแบบที่สองมีความเป็นไปได้มาก ขณะที่แบบที่สามเป็นไปได้ยาก เพราะแบบที่หนึ่งคือรัฐบาลคนบาปจะได้มาจากคะแนนเสียง ขณะที่รัฐบาลเทวดาซึ่งคิดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงเนื่องจากตอนนี้เราไม่ได้มี กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) แต่เรามี กกกต. หรือคณะกรรมการกำหนดผลการเลือกตั้ง ดูอย่างเรื่องเอกสารคำสั่งของ คมช. ไม่มีการยกเลิก และไม่มีความผิด แต่พอมาถึงเรื่องของ วีซีดี ถึงขั้นตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ คาดว่า กกกต. คงอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดรัฐบาลเทวดา


 


ผศ.สมชาย กล่าวต่ออีกว่า ข้ออ้างของการทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยาฯ นั้นคือ เพื่อยุติความขัดแย้ง ไม่อยากให้สังคมไทยแตกแยก แต่จนบัดนี้เราก็ได้รู้แล้วว่า ความขัดแย้งมันก็ไม่ได้ลดลงไปเลย มีแต่จะรุนแรงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ความเห็นต่างกันไม่ใช่สิ่งที่อันตราย สิ่งที่อันตรายคือเราไม่สร้างระบอบการเมืองที่เป็นธรรมพอที่จะทำให้คนที่เข้ามาลงมาเล่นในเกมนี้ยอมรับว่าตัวเองแพ้


 


สำหรับการเลือกตั้ง 23 ธันวา ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผศ.สมชาย แสดงทัศนะว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน แต่เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคพลังประชาชน กับกลุ่มอำนาจทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งในระบบราชการ ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างประชาธิปัตย์ สิ่งที่จะเกิดคือการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีความชอบธรรมน้อยลงพอสมควร ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร คนก็จะชี้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มี กกกต. มีคณะกรรมการกำหนดผลการเลือกตั้งคอยปรับว่าใครควรจะได้ ใครควรจะอยู่


 


"อย่าลืมว่า กกต. ครั้งนี้มีอำนาจมากในการเลือกตั้ง ในการที่จะส่งฟ้องได้ว่าใครจะถูกตัดสิทธิ และนี่คือการส่งสัญญาณให้พรรคการเมืองอื่นรู้สึกแหยงที่จะเข้าร่วมกับพรรคคนบาป ทำให้อาจมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลได้"


 


นอกจากนี้ ผศ. สมชายยังได้พูดถึงสภาพพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้งว่า จะต้องเผชิญกับกฎหมายที่ให้อำนาจแก่กองทัพ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้อำนาจ กอ.รมน. ซึ่งกำลังจะเข้าพิจารณาอีกรอบ นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่าน่าจะมีการปิดสภาฯ


 


"สภาชุดนี้ ออกกฎหมายประมาณวันละ 30-40 ฉบับ ขอประทานโทษเถอะ ออกกฎหมายได้มากกว่าผมตรวจข้อสอบนักศึกษา ผมไม่สามารถตรวจข้อสอบนักศึกษาได้ 30-40 [คน] ต่อวัน นี่ออกกฎหมายแต่ละฉบับที่ต่างกันไปเลย กฎหมายเรื่องหวย หวยเสร็จไปเรื่องความมั่นคง ความมั่นคงเสร็จ ไป พ.ร.บ.ตำรวจ สภาฯ นี้แอกทีฟมาก ซึ่งขณะเดียวกัน กฏหมายที่ออกก็เป็นการเพิ่มอำนาจแก่กองทัพมากขึ้น"


 


นอกจากนี้ ผศ.สมชาย พูดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐบาลชุดถัดไปว่า การริเริ่มนโยบายในรัฐบาลชุดต่อไปจะมีความยากลำบากขึ้น คือการริเริ่มนโยบายใหญ่ๆ จะต้องมีฐานความชอบธรรมทางการเมืองที่กว้างขวางพอสมควร ที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ทำสิ่งที่เรียกว่า "ประชานิยม" ได้ ก็เพราะมีฐานคะแนนเสียงที่กว้างขวาง มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะบอกว่าต่อจากนี้งบประมาณ ไม่ต้องผ่านจังหวัด ให้มันไปสู่กองทุนหมู่บ้านเลย ไม่ง่ายที่จะข้ามหัวราชการไปได้ แต่คุณทักษิณทำได้เพราะอะไร เพราะมีฐานของการเมืองที่เข้มแข็งสนับสนุนอยู่ เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นฐานการเมืองไม่เข้มแข็ง และขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับกองทัพที่มีอำนาจมากขึ้น ความสามารถในการริเริ่มนโยบายใหม่ๆ จึงเป็นไปได้ยากโดยเฉพาะนโยบายที่ไปกระทบส่วนของราชการ สิ่งที่จะทำได้คือ ตามนโยบายเก่าๆ ที่เคยทำมา รวมถึงประชานิยมด้วย


 


"ถามหน่อยถ้าจะแก้ปัญหาภาคใต้โดยนโยบายอื่นที่ไม่ใช่นโยบายที่นำทหารเป็นตัวหลัก จะใช้นโยบายใหม่ ใช้สันติวิธี ใช้การบริหาร ถามว่าจะทำอะไรได้ กอ.รมน. นั่งค้ำหัวมันอยู่" ผศ.สมชาย กล่าว


 


ผศ.สมชาย ยังได้กล่าวอีกว่าไม่เพียงการริเริ่มนโยบายเท่านั้นที่จะทำได้ยากขึ้น การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในเรื่องต่างๆ เอง ก็จะทำได้ยากขึ้นเช่นกัน อย่างเช่น การเคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากร การเคลื่อนไหวนโยบายที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นมาก แต่ภายใต้กฎหมายอำนาจของกองทัพจะทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นไปได้ยาก


 


ในเรื่องของหนทางแก้ไขปัญหา ผศ.สมชาย เสนอว่า เราต้องไม่คาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้มากเกินไป เพราะการเลือกตั้งไม่ได้ให้ทางออกอะไรแก่สังคมไทย ไม่ว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะเป็นรัฐบาลคนบาป, รัฐบาลเทวดา หรือ รัฐบาลสมานฉันท์ สังคมไทยก็จะยังอยู่ในวังวนของปัญหาไม่หนีไปไหน ความขัดแย้งยังไม่หมดไป เช่นเดียวกับที่เป็นมาเมื่อรอบปีที่แล้ว เราควรมาช่วยกันคิดว่าจะนำสังคมไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงได้อย่างไร ทางที่พอจะทำได้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าสังคมไทยยังเป็นแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่รัฐประหารจะเกิดขึ้นอีก ด้วยข้ออ้างเดิมคือเพื่อยุติความขัดแย้ง ปีหน้าเราก็ต้องมาเลือกตั้งกันใหม่อีก


 


อรรถจักร ชู No vote แบบสร้างนัยยะทางการเมือง


ในส่วนของ อรรถจักร ได้เสนอยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ควรทำให้การเลือกตั้ง เป็นการเลือกอะไรที่ทำให้มีการเกิดดุลทางอำนาจ โดยมียุทธวิธีคือ เราจะรณรงค์ให้ไปโหวตช่องไม่เลือกใครให้มากที่สุด แล้วทำให้การ No Vote มีความหมาย ให้มันสร้างนัยยะความหมายทางการเมือง โดยต้องประกาศให้เห็นว่า เรา No Vote เพื่อแสดงให้เห็นอะไร


 


สมชาย ชี้ "การเมืองไม่ใช่เวทีประกวดนักบุญ"


คำว่า "คนดี" ใช้วัดอะไรไม่ได้


ควรหนุนระบบตรวจสอบ ที่เสรีและเปิดกว้าง


เมื่อในวงเสวนาได้เปิดให้มีการแลกเปลี่ยน ได้มีผู้เข้าร่วมรับฟังท่านหนึ่งเสนอว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำอย่างไรถึงจะเป็นการกำจัดคอร์รัปชั่นได้ เพราะการคอร์รัปชั่นเป็นเหมือนมะเร็งที่ค่อยๆ กัดกินสังคมไทย


 


ซึ่งในประเด็นนี้ สมชาย ตอบว่า เราไม่ควรฝากความหวังไว้ที่ใคร เพราะทุกคนไม่ใช่เทวดาทุกคนพร้อมที่จะชั่วได้เหมือนกัน แม้กระทั่ง 3-4 คนที่อยู่บนเวทีนี้เองก็ตาม ทางแก้คือการสร้างระบบตรวจสอบ ที่มีการเปิดกว้างเป็นเสรี วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ได้เต็มที่


 


"ไม่ว่าจะเลือกใครก็ตามทุกคนพร้อมที่จะคอร์รัปชั่นได้ทั้งนั้น คำว่าคนดีที่รณรงค์กันใช้วัดอะไรไม่ได้ ที่ฝรั่งเขามีคอร์รัปชั่นน้อยกว่าเพราะเขามีระบบตรวจสอบที่ดีกว่า เข้มแข็งกว่า ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนดีกว่า การเมืองไม่ใช่เวทีประกวดนักบุญ แต่เป็นเรื่องของมนุษย์กับมนุษย์มาตรวจสอบกัน" สมชาย กล่าวทิ้งท้าย


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net