นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ : งานหลักประกันสุขภาพ เพิ่งตั้งต้นเท่านั้น

ในวาระการจากไป ของ "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" ผู้บุกเบิกระบบหลักประกันด้านสาธารณสุข ทำให้เราหวนรำลึกถึงการตื่นตัวของกลุ่มหมอนักเคลื่อนไหวในนามของ "แพทย์ชนบท" และเครือข่ายอาสาสมัครทางสังคม ที่ร่วมกันบุกเบิกงานด้านสาธารณสุขมูลฐานในชนบท "ประชาไท" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์" ผอ.สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ สมาชิกแพทย์ชนบทคนหนึ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แก่นของการทำงานพัฒนา คือการวางรากฐานให้ผู้คนสามารถเติบโตและแข็งแรงได้ด้วยตนเอง หลักคิดนี้เองที่เป็นแนวทางการทำงานของนักกิจกรรมตัวจริงจากรุ่นสู่รุ่น

 

จากยุคหนึ่ง นับแต่สมัยการเมืองคุกรุ่นในคราวเดือนตุลา ที่กระบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาตื่นตัว ส่งผลให้บรรยากาศทางสังคมตื่นตัวตามไปด้วยนั้น ผลพวงของบรรยากาศเหล่านั้นกระตุ้นต่อสำนึกสาธารณะของผู้คน และที่ประจักษ์ชัดเป็นรูปธรรม คือกระบวนการทำงานของกลุ่ม "แพทย์ชนบท"

 

ในวาระการจากไป ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้บุกเบิกระบบหลักประกันด้านสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เราหวนนึกถึงการตื่นตัวของกลุ่มหมอนักเคลื่อนไหวในนามของ "แพทย์ชนบท" และเครือข่ายอาสาสมัครทางสังคม ที่ร่วมกันบุกเบิกงานด้านสาธารณสุขมูลฐานในชนบท

 

"ประชาไท" มีโอกาสได้สัมภาษณ์ "นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์" ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) สมาชิกแพทย์ชนบทคนหนึ่ง ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ในกลุ่มสาธารณสุขมูลฐาน โคราช

 

และต่อไปนี้ คือคำบรรยายจากความทรงจำ จาก นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ถึง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ...

 

 

000

 

 

 

 

"นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์"

ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

และสมาชิก แพทย์ชนบท

 

 

ผมจบจุฬา คุณหมอสงวนจบที่มหิดล แต่ผมได้ไปรู้จักกับคุณหมอก็เมื่อไปทำงานแพทย์ชนบทที่โคราช  ซึ่งก็เป็นช่วงหลังจากที่หมอสงวนได้ไปเป็นแพทย์ชนบทสมบุกสมบันที่ราษีไศล (จ.ศรีสะเกษ) มาก่อนหน้านั้นหลายปี ก่อนจะย้ายมาที่บัวใหญ่ โคราช ก็เป็นช่วงที่งานด้านสาธารณสุขชนบทอยู่ในยุคที่เร่งรัด และมีเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงกิจกรรม ออกมาสู่การทำงานพัฒนาชนบท ก็ได้ร่วมงานกันในสมัยนั้น

 

ถ้าเราดูจากชีวิตของคุณหมอสงวน มันเป็นความต่อเนื่องของอุดมคติที่มันได้ฝังอยู่ในชีวิตของคนคนหนึ่งในยุคนั้น การที่หมอสงวนได้ไปทำงานในชนบท มันเหมือนกับเป็นความต่อเนื่องของการพยายามแสวงหาวิธีการทำงานที่จะทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งสมัยนั้นก็เรียกว่ามันมีพลัง เพราะมันผ่านกระบวนการหล่อหลอมของกระบวนการนักศึกษาที่ยาวนาน มันนำพาอุดมคติรุ่นหนึ่งออกไป ไปเผชิญกับความจริงจากการทำงาน ปรับตัวไปตามความเป็นจริงในสถานการณ์ต่างๆ

 

ถ้าพูดถึงยุคที่คุณหมอไปอยู่ที่ราษีไศล ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ความระแวงสงสัยจากหน่วยงานความมั่นคงมีมากอยู่ เป็นยุคสงครามเย็นที่ชัดเจน แต่ว่าในช่วงที่มาอยู่ที่บัวใหญ่ สถานการณ์ในพื้นที่หายไปเยอะ ก็เรียกว่ามาร่วมมือกับหน่วยงานราชการหลายๆ ฝ่ายได้มากขึ้น

 

ที่โคราชนี้ พวกเราทำงานในโรงพยาบาลชนบท ซึ่งงานในระบบราชการก็ทำได้ในระดับหนึ่ง ความคิดของหมอสงวนคือ ดิ้นรนแสวงหาวิธีการทำงานเพิ่มเติม ซึ่งจะมาเสริมกับงานในระบบราชการ คุณหมอสงวนก็อาศัยประสบการณ์ที่เคยทำที่ราษีไศล แล้วก็มีอาสาสมัครจากประเทศเบลเยี่ยมมาช่วยงาน ก็ได้เรียนรู้ที่จะหาวิธีการทำงานใหม่ๆ

 

แล้วตอนมาอยู่ที่บัวใหญ่ ตอนนั้นเกิดมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ขึ้น มีการนำบัณฑิตที่เรียนจบไปทำงานอาสาสมัครในชนบท ตอนนั้นที่โคราชเราก็เลยรวมตัวกันระหว่างโรงพยาบาล 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลบัวใหญ่ ที่คุณหมอสงวนอยู่ โรงพยาบาลสูงเนิน ซึ่ง หมอสำเริง แหยงกระโทก อยู่ โรงพยาบาลประทายซึ่ง คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อยู่ และโรงพยาบาลชุมพวง ซึ่ง คุณหมอรวินันท์ ศิริกนกวิไล เป็นผู้อำนวยการอยู่ และผมก็ร่วมทีมทำงานชนบทกับคุณหมอรวินันท์

 

ตอนนี้ทั้ง 4 ท่านก็เรียกว่าเป็นกำลังสำคัญในด้านนี้ คุณหมอสงวนก็เป็นกำลังผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพ คุณหมอสำเริง แหยงกระโทก ก็ยังทำงานอยู่ที่โคราช พัฒนาจังหวัด โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ตอนนี้ก็เป็นเลขาธิการของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ คุณหมอรวินันท์ ตอนนี้อยู่ที่อยุธยา

 

สี่อำเภอ รวมตัวกันตั้งเป็น "กลุ่มสาธารณสุขมูลฐาน โคราช" ขึ้น และรับเอาอาสาสมัครจาก มอส.ไปทำงานกัน ซึ่งก็เรียกว่าเป็นการทำงานแบบภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกัน ตอนนั้นเราทำงานพัฒนาสุขภาพในชนบทแบบไม่ติดอยู่กับเรื่องการแพทย์การสาธารณสุข เราก็ทำไปทั่ว ทั้งธนาคารข้าว ธนาคารวัวควาย เกษตรผสมผสาน ภูมิปัญญาชาวบ้าน เรื่องของการรวมกลุ่มของชาวบ้านในเรื่องต่างๆ เรื่องการพึ่งตนเองของชาวบ้าน ก็มีอาสาสมัครไปอยู่กับเราอยู่หลายรุ่น และงานเรื่องสุขภาพก็เป็นงานเชิงรุก มีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน ก็เป็นงานที่พวกเราทำกันในสมัยนั้น

 

ในสมัยนั้นก็เรียกว่า แรงเสียดทานก็น้อยแล้วล่ะ.. มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครต่อต้าน แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีคนทำ ก็หมายความว่ามันเป็นอะไรที่นอกเหนือจากชีวิตปกติของคนในระบบราชการหรือหน่วยงานสาธารณสุขที่ทำกัน

 

สิ่งที่ต้องบุกเบิกไปทำกันในส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องความพยายามที่จะคิดค้นวิธีแก้ปัญหาสาธารณสุขในชนบทให้ได้มากกว่า มันท้าทายกันตรงนั้น เพราะสุขภาพของคนชนบทในยุคนั้น บริการด้านสุขภาพก็จำกัด ปัญหาเรื่องการพัฒนาเพื่อให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ มันไม่เห็นแนวทาง ฉะนั้น อาสาสมัครที่มีอยู่ก็ต้องดิ้นรนคิดค้นวิธีการทำงานกับชาวบ้าน มันท้าทายตรงนั้น

 

ถ้าจะเปรียบเทียบ... ผมคิดว่าคุณหมอสงวนเป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ คือจะนึกถึงคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับมีชีวิตเพื่อที่จะทำงาน ก็เป็นคนที่ทุ่มเท.. แคร์คนอื่น.. ฉะนั้นบางครั้งก็แบกรับหลายเรื่องเพื่อน้องๆ และเพื่อนๆ ให้ทำงานได้ ให้ช่วยชาวบ้านได้ เป็นคนตั้งใจทำงาน ท่านก็เคยเขียนเอาไว้ว่า เวลานึกถึงบั้นปลายชีวิตตัวเอง อยากจะตายบนโต๊ะทำงาน เพราะงานมันยังเยอะ งานที่ยังต้องทำมันมีเยอะ

 

แต่ทำงานในระบบราชการ มันเหนื่อยนะครับ..มันมีอุปสรรคเยอะ.. มันทำให้คนท้อถอยง่าย แต่คุณหมอสงวนก็ไม่เคยท้อถอยหรอกครับ จึงบาดเจ็บเยอะ กว่าจะสร้างเรื่องหลักประกันสุขภาพมาได้ มันแลกมาด้วยชีวิตของแก... แกเครียด...และความที่เป็นคนมุ่งมั่น ใส่ใจที่จะให้งานสำเร็จ โดยเฉพาะมันเป็นงานเพื่อประโยชน์ของคนอื่น ของสาธารณะ มันก็จะต้องฟันฝ่าผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้คนจำนวนมากซึ่งอาศัยระบบราชการอยู่ เพราะฉะนั้น ความเป็นคนมุ่งมั่น ตั้งใจ และแคร์คนอื่น ก็ทำให้หมอสงวนเหนื่อย เครียด และมีบาดแผลมากมายเกิดขึ้น.. แต่แกก็เป็นคนไม่ท้อ แกเป็นคนที่.. เราไปเยี่ยมแกในวันท้ายๆ เราก็จะรู้ว่าแกคิดถึงงานอยู่ตลอดเวลา แล้วแกก็ไม่ยอมเลิกด้วย ซึ่งผมก็คิดว่า ชีวิตแกมีเพื่อทำงานเพื่อคนอื่น เหมือนเป็นพระโพธิสัตว์จริงๆ แกก็เป็นคนอย่างนี้

 

การปฏิรูปเพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ มันเพิ่งตั้งต้นเท่านั้น ถึงเราจะมีนโยบายเรื่องหลักประกันสุขภาพ มีสำนักงาน สปสช. เกิดขึ้น แต่การปฏิรูปมันเหมือนเพิ่งเริ่ม มันยังต้องปรับแก้ให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับประชาชนมากทีเดียว ทั้งในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรคนยากคนจนซึ่งอยู่ในชนบทห่างไกล แม้บริการสุขภาพจะไม่ต้องเสียเงินในการเข้าถึง แต่มันไม่ได้อยู่ที่นั่น มันกระจายไม่ทั่วถึง คนเหล่านี้ก็ยังเข้าไม่ถึงอยู่ดี เมื่อเข้าถึงแล้ว สาระเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ยังมี โรคบางโรคก็ไม่เป็นโรคที่มีบริการรักษาทั่วถึง อย่างเช่นการผ่าตัดโรคหัวใจ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ต้องพูดถึงนะครับ ถ้าคุณอยู่ในชนบทแล้วคุณเป็นโรคที่ต้องผ่าตัดแบบนี้ คุณก็ไม่ต้องฝันถึงเลย ตอนนี้ก็เป็นไปได้ขึ้นมา และยิ่งกว่านั้นยังสามารถเร่งรัดให้การผ่าตัดมันเร็วขึ้น เพื่อที่จะไม่ให้คนต้องรอ รอจนตายไปกับโรคก่อน ซึ่งสมัยก่อนเป็นแบบนั้น

 

เรื่องของยาโรคต่างๆ ซึ่งราคาแพง ในขณะที่คุณหมอสงวนป่วยอยู่ เป็นมะเร็ง ก็ต้องใช้ยา ยามันก็มีราคาแพงมาก สำหรับท่าน ท่านก็มีเงินจ่ายซื้อยามาเพื่อรักษาตัวเอง แต่สำหรับยาราคาแพงๆ แบบนั้นมันก็ไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ที่จะเป็นไปได้ ในขณะที่รักษาตัวเองที่ต้องใช้ยาราคาแพงแบบนี้มารักษา ท่านก็คิดว่า แล้วชาวบ้านล่ะ.. ชาวบ้านเขาจะมียาแบบนี้ได้ยังไง.. ในขณะที่ตัวเองป่วย... ป่วยหนักอยู่แล้ว.. ก็ยังมาคิดเรื่องนี้ แล้วก็มาผลักดันเรื่องซีแอล* ว่าจะต้องทำให้ยามันถูก... ยามะเร็ง.. ยาโรคหัวใจ.. ต้องทำให้ถูก ชาวบ้านยากจนเขาจะได้มีโอกาสบ้าง

 

ตัวเองป่วย รักษาตัวเองก็ลำบากอยู่แล้ว เป็นมะเร็งลุกลามแล้ว ต้องใช้ยา ไปเห็นยาราคามันแพงก็ไปนึกถึงคนอื่นที่เขาไม่มีเงินจะจ่าย ถ้าเขาเป็นอย่างเรา เขาจะรักษาได้ยังไง.. ก็เป็นคนคิดแบบนี้ ไม่หยุด แม้กระทั่งวันที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้วนัดผ่าตัด ก็มีภารกิจก็ขอเลื่อนการผ่าตัดไปก่อน เพื่อที่จะมาทำงาน ได้รับความร่วมมือจากประเทศจีนก็ขอเลื่อนหมอ ไม่มีหรอกครับ.. ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไหนที่รู้ว่าต้องผ่าตัดก็ยังมาทำงาน มาทำงานโดยไม่มีการแสดงให้คนรู้ว่าตัวเองป่วย.. ท่านก็เป็นแบบนี้

 

เราก็สูญเสียคนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การสาธารณสุขไทย เมื่อเช้าผมได้ยินคุณสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) อ่านข่าวบอกว่า เป็นการสูญเสียรัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุขไทย ผมก็คิดว่าเป็นแบบนั้น

 

เราก็เสียใจ เราคิดว่าคุณหมอได้เป็นตัวอย่างของเราไว้เยอะแล้ว...เหนื่อยแล้ว... จะได้พักผ่อนแล้ว พวกเราก็คงทำกัน... อาศัยจิตวิญญาณของพี่เขา เป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงานหนัก ให้เราช่วยกัน และคิดว่าพี่เขาสร้างคนเอาไว้เยอะ และทำตัวเป็นตัวอย่างให้พวกเราเห็นอยู่แล้ว ก็คิดว่าเราไปได้ครับ เราจะไป ไปได้ ไม่สะดุดครับ จะไปได้ดี.

 

 

 

*Compulsory Licensing หรือ มาตรการบังคับใช้สิทธิ์

 

 

....................................

งานที่เกี่ยวข้อง

หลากหลายวงการร่วมคารวะ "หมอสงวน" ในพิธีรดน้ำศพ

ใต้เท้าขอรับ: นามของ "หมอหงวน"

อาลัย "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" : เส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพ ก้อนหินที่ขวางหน้า คือบันไดสู่ทางออก

"หมอสงวน" ผู้บุกเบิกโครงการ "30 บาทรักษาทุกโรค" เสียชีวิตแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท