บทความ: เมื่อเราถูกสาป ให้จดจำประวัติศาสตร์อย่างกระพร่องกระแพร่ง

 

 

 
กานต์ ยืนยง
 
            เมื่อวันจันทร์ที่ 7 เดือนก่อน ได้มีการจัดอภิปรายเรื่อง "ป.ป.ช.ภาคประชาชนควรเป็นอย่างไร ในสายตาภาครัฐ เอกชน และประชาชน" โดยมี พลเอกภาษิต สนธิขันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนา ความตอนหนึ่งว่า
            "ที่ ผ่านมาปัญหาต่างๆ มีเยอะแยะแต่อาจจะพูดได้ว่าประเทศไทยที่เป็นแบบนี้เพราะคนๆ เดียว ในอดีตมีนักการเมืองหลายท่านที่ต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ เช่น อ.ปรีดี พนมยงค์ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ในปัจจุบันท่านเป็นปูชนียบุคคลระดับประเทศ แต่ในเวลานั้นอาจจะมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่เมื่อท่านออกไปนอกประเทศแล้วแม้จะมีคนให้กำลังใจท่านกลับมา ท่านก็ไม่กลับเพราะท่านเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของประเทศ ท่านไม่เคยปลุกใครให้มาอะไรกับท่าน พวกท่านเป็นผู้เสียสละ การอยู่เมืองนอกไม่ใช่จะสบาย เพราะท่านไม่ได้มีเงินเป็นหมื่นๆ ล้าน ไม่มีตังค์ไปซื้อทีมฟุตบอล"[1]
            คำพูดของ พลเอก ภาษิต มิได้มีความน่าสนใจแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์ ที่เขาให้ความจำที่ผิดพลาด เกี่ยวกับทั้งเรื่องของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพียงเท่านั้น  หากเพราะเมื่อผมอ่านข่าวและความคิดเห็นของสื่อมวลชนกระแสหลักในสังคมไทยเกี่ยวกับ การกลับสู่มาตุภูมิของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นข่าวร้อนที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งดูเหมือนว่าความเห็นเหล่านั้นจะพร่องความทรงจำทางประวัติศาสตร์บาง ประการที่สำคัญ และนำไปสู่บทสรุปที่ดูเหมือนจะมิได้สะท้อนความเป็นจริงของการเมืองไทย และสร้างภาพลวงตาให้กับชนชั้นกลางไทยซึ่งเสพรับสื่อเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง ดังที่ผมจะนำเสนอต่อไปข้างหน้า
            เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ พล.อ. ภาษิต ยอมรับว่า ทั้ง ปรีดี และ ป๋วย ไม่ได้ทำอะไรผิดและให้การยอมรับนับถือทั้งสองท่านเป็นปูชนียบุคคลระดับ ประเทศ ทั้งที่หากคิดถึงบริบททางประวัติศาสตร์ ในช่วงเวลาที่ปรีดีถูกขับออกนอกประเทศ ก็เป็นเพราะ "ข้อกล่าวหาในกรณีที่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ ในหลวงอานันทมหิดล" ข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง และยังพัวพันไปถึงจำเลยที่เกี่ยวข้องในคดีอีกสามคนคือ บุศย์ ปัทมศริน, ชิต สิงหเสนี และ เฉลียว ปทุมรส ภายใต้ข้อสันนิษฐานว่า ปรีดี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังบุคคลทั้งสาม และกรณีสวรรคตครั้งนั้น ภายหลังจำเลยทั้งสามถูกตัดสินประหารชีวิต หลังจากถูกคุมขังอย่างไร้อิสรภาพเป็นเวลาถึงแปดปีเต็ม[2]
            ใน ความเป็นจริงปรีดีต้องต่อสู้กับการกล่าวหาของฝ่ายตรงข้ามทั้งในแง่มุมเชิง กฎหมาย และการสื่อสารผ่านสิ่งตีพิมพ์เป็นระยะเวลาอันยาวนาน กว่าเขาจะได้รับการยอมรับในภายหลังว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในกรณีคดีสวรรคตของ ในหลวงอานันทมหิดล ข้อกล่าวหาต่อปรีดีในครั้งนั้นรุนแรงอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังเชื่อว่าปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีการลอบปลงพระชนม์ฯ จนถึงกับเขียนวิจารณ์หนังสือ The Devil"s Discus ของ Rayne Kruger ลงในสังคมศาสตร์ปริทัศน์อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการเขียนวิจารณ์ทั้งตัวปรีดีและผู้เขียนหนังสือไปพร้อมกัน สุ ลักษณ์เขียนเล่าในปาจารยสารเมื่อไม่นานนี้เองว่า การเขียนวิจารณ์ในครั้งนั้นเป็นเพราะเขาหลงเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อ และต่อมาเขาจึงไถ่บาปด้วยการเขียนหนังสือเกี่ยวกับปรีดี และต่อมามีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Powers That Be: Pridi Banomyong through the Rise and Fall of Thai Democracy[3] สิ่งที่น่าสงสัยยิ่งกว่านั้นคือในเมื่อสังคมให้การยอมรับในภายหลัง (ดังเช่นตัวอย่างของสุลักษณ์ หรือ พล.อ. ภาษิต ก็ตาม) แล้วเหตุใดกรณีคดีของ บุศย์, ชิต, และ เฉลียว จึงไม่ถูกรื้อฟื้นและศึกษาอย่างถ่องแท้เช่นเดียวกับกรณีของปรีดี ในเมื่อข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งสามและปรีดีนั้น มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด (ปรีดีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของจำเลยทั้งสาม…)
      ประการต่อมา, ข้อมูลของ พล.อ. ภาษิต ยังคงผิดพลาดที่กล่าวว่า ปรีดีหรือป๋วยไม่ได้กลับมา (กรณีของป๋วยเป็นเรื่องต่างหากที่แยกออกไป แต่เขาก็กลับมาประเทศไทยในภายหลัง, ดังที่ผมจะได้กล่าวถึงต่อไป) เพราะหลังจากเกิดการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2490 โค่น ล้มรัฐบาลของ พลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งปรีดีให้การสนับสนุนอยู่ แล้วคณะรัฐประหารก็ตั้งให้นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี (ภายหลังคณะรัฐประหารบีบให้ควงลงจากอำนาจ และให้ จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีแทน) อีกสองปีถัดมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ปรีดีก็กลับมาพยายามก่อการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ โดยร่วมมือกับทหารเรือบางส่วน แต่ล้มเหลว ดังนั้นปฏิบัติการครั้งนั้นของปรีดีจึงถูกเรียกในเวลาต่อมาว่าเป็น "กบฎวังหลวง" เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ปรีดีจำเป็นต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจวบจนสิ้นชีวิต (ก่อนหน้าปรีดี, มีความพยายามทำรัฐประหาร ที่นำโดย พล.ต. สมบูรณ์ ศรานุชิต, พล.ต. เนตร เขมะโยธิน, พ.อ. กิตติ ทัตตานนท์ และ พ.ท. โพยม จุฬานนท์ แต่ยังไม่ทันเริ่มทำการก็ถูกจับกุมเสียก่อน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 ความพยายามครั้งนี้ถูกเรียกว่า กบฎเสนาธิการ เพราะนายทหารส่วนใหญ่ที่ก่อการอยู่ในกรมเสนาธิการทหาร)[4]
            สำหรับกรณีของป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั้น เมื่อเกิดกรณีสังหารหมู่ของฝ่ายขวาจัดในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการถูกคุกคามของผู้กุมอำนาจ ณ เวลานั้น ทำให้ป๋วยต้องเลือกที่จะลี้ภัยไปยังต่างประเทศ [5] ในความเป็นจริงแล้ว ข้อกล่าวหาของฝ่ายขวาในครั้งนั้นชี้ว่า ป๋วยมีความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และจะเป็นด้วยเหตุที่สถานการณ์เรื่อง พคท. เบาบางลงไปภายหลังที่ พคท. พ่ายแพ้ทางการเมืองการทหารต่อรัฐบาลไทยหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ ป๋วยจึงสามารถเดินทางกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกได้ในวันที่ 1 เมษายน 2530 และได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากบุคคลที่ยังให้ความนับถือเขา ป๋วยยังกลับมาเยือนประเทศไทยอีก 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2536, 2538 และ 2540 ก่อนที่เขาจะถึงแก่กรรมเมื่อปี 28 กรกฎาคม 2542 [6]

ภาพการกล่าวหา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ว่าเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์,
ภาพจากนิตยสารสารคดีฉบับพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 2459 - 2542 หน้า 106
            กล่าวได้ว่า พล.อ. ภาษิต ให้ความทรงจำที่พร่องทางประวัติศาสตร์ ทั้งในกรณีของปรีดีและของป๋วย เพราะทั้งคู่เคยกลับมายังแผ่นดินมาตุภูมิหลังจากการลี้ภัย และสำหรับปรีดีมีความพยายามทำรัฐประหารแต่ล้มเหลว จากนั้นจึงต้องลี้ภัยอีกครั้งและไปอาศัยยังต่างประเทศจนตลอดชีวิต ในขณะที่กรณีป๋วย, แม้เขาสามารถกลับมาเมืองไทยได้ แต่ก็ถึงแก่กรรมยังต่างประเทศ ผมยังคงเชื่อว่า พล.อ. ภาษิต ให้ข้อสรุปที่ผิดพลาดด้วยว่า ในกรณีที่ปรีดีไม่ได้กลับมานั้นมิได้เป็นเพราะเหตุผลที่ว่า "เห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของประเทศ ท่านไม่เคยปลุกใครให้มาอะไรกับท่าน" หากแต่ แท้จริงแล้วเป็นเพราะ, ปรีดีไม่สามารถกลับมาได้ เพราะไม่มีอำนาจทางการเมืองรองรับ หรือชนชั้นปกครองยังเห็นว่าปรีดีเป็นภัยอันตรายทางการเมืองสำหรับพวกเขาต่างหากสำหรับในกรณีของป๋วย, ผม ได้ชี้ให้เห็นไปแล้วว่า ที่เขาสามารถกลับมาได้เป็นเพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเขามิได้เป็นปัญหากับชนชั้นนำอีกต่อไปแล้ว เหตุผลนี้สอดคล้อง หากเราจะพิจารณาชะตากรรมของผู้นำทางการเมืองที่ถูกโค่นลงจากอำนาจ หรือทำการรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จต่างก็กลับมาเมืองไทยกันได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณี ถนอม-ประภาส, ผู้นำกลุ่มนายทหารยังเติร์ก หรือ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัน ก็ตาม คนทั้งหมดนี้แม้จะลี้ภัยไปยังต่างประเทศ แต่ก็สามารถกลับมาได้ก็ด้วยเหตุผลที่พวกเขามิได้เป็นปัญหากับชนชั้นนำอีกต่อ ไปแล้วนั่นเอง

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ของเขา ทั้งสองถ่ายรูปคู่กันที่อิมพีเรียล คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ราวปี พ.ศ. 2517-2518, ภาพจากนิตยสารสารคดีฉบับพิเศษ คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ หน้า 77
 
            ผมขอเสนอในที่นี้ด้วยว่า สำหรับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร แล้ว, เขา เป็นผู้นำทางการเมืองคนที่สี่ ที่เป็นกรณีที่แตกต่างจากผู้นำทางการเมืองคนอื่นที่จำเป็นต้องลี้ภัยไปยัง ต่างประเทศ และสามารถกลับมาได้เมื่อมิได้เป็นปัญหากับชนชั้นนำอีกต่อไปแล้ว [7] (หรืออันที่จริงควรกล่าวว่าชนชั้นนำมิได้เห็นว่าผู้นำคนดังกล่าวมิได้เป็นปัญหาสำหรับตนอีกต่อไป) แต่สำหรับในกรณี ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ยิ่งเป็นกรณีพิเศษที่ต่างออกไปจากผู้นำทางการเมืองสามคนแรก กล่าวคือการที่เขาสามารถกลับมายังประเทศไทยได้อีกครั้ง หลังการใช้ชีวิตในต่างประเทศที่ยาวนานถึง 527 วัน ทั้งที่ชนชั้นนำยังเห็นว่าเขาเป็นภัย ย่อมหมายถึงว่าดุลอำนาจทางการเมืองกลับมาเป็นคุณกับ พ.ต.ท. ทักษิณ อีกครั้ง กล่าวจนถึงที่สุด, ก็ ยังมิอาจสรุปได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร เนื่องเพราะปัจจุบันขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ก็ยังถือว่าอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่สำคัญ ครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์และยังไม่อาจยุติลงได้โดยง่าย สังเกตได้จากความระมัดระวังตัวของเขาที่เลือกพำนักยังโรงแรมเพนนินซูล่า โดยจองห้องพักของโรงแรมแบบยกชั้น บนชั้น 33, 34 และ 35 รวม 11 ห้องในราคาห้องคืนละ 106,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดคืนละ 1,166,000 บาท [8] ในขณะที่มีกระแสข่าวระบุว่ามีปืนไรเฟิลแบบซุ่มยิง (Sniper Rifles) ยี่ห้อ SIG รุ่น Sig Sauer SSG 3000 ที่ผลิตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หายไปจากคลังอาวุธของหน่วยทหารบกหน่วยหนึ่งเป็นจำนวน 3 กระบอก [9]
            ดุลอำนาจที่เป็นคุณมากขึ้นกับ พ.ต.ท. ทักษิณ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น มิได้เป็นไปโดยเหตุบังเอิญเพียงอย่างเดียว ข่าวบุคคลผู้มีความใกล้ชิดของเขา ไม่ว่าจะเป็นคนในสายของ นายเนวิน ชิดชอบได้เข้ารับตำแหน่งที่สำคัญๆ ในคณะรัฐมนตรีสมัคร 1 ก็ดี, การที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือการที่คนใกล้ชิดของ พ.ต.ท. ทักษิณหลายคน ได้รับการปูนบำเน็จให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญในคณะรัฐมนตรีสมัคร 1 หรือแม้แต่ในตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคพลังประชาชน อย่างเช่น น.พ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ยังมีอิทธิพลอย่างสูงและอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาลในปัจจุบัน
            ความจริงตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งกว่านั้น ที่แสดงความเกี่ยวพันระหว่าง พ.ต.ท. ทักษิณ และพรรคพลังประชาชน คงได้แก่การที่มีการแจก "วีซีดีทักษิณ" สำหรับหาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด [10] และการระดมการให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท. ทักษิณกับสื่อมวลชนในช่วงโค้งท้ายของการเลือกตั้ง ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่เคยวางมือจากการเมืองในความหมายที่กว้างกว่า เพียงการลงสมัครรับเลือกตั้งในสนามเลือกตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งในรัฐบาลหรือ ฝ่ายค้านอยู่แล้ว ในความเป็นจริง การก้มลงกราบแทบพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิของ พ.ต.ท. ทักษิณ ก็เป็นยิ่งกว่าการเมือง เนื่องเพราะหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างก็ตีพิมพ์ภาพนี้ลงในวันรุ่งขึ้น (แม้กระทั่งการซื้อทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ก็เป็นไปเพื่อการเมืองไม่น้อย)

นี่ไม่ใช่การเมือง
?
            ดังนั้นแม้ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ จะประกาศครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เขาจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และวางมือทางการเมือง [11] แต่เรื่องเหล่านี้ก็ยากจะให้ฝ่ายตรงข้ามเขาเชื่อตามคำประกาศดังกล่าวได้ [12] ในความเป็นจริงแม้แต่สื่อมวลชนทั่วไปก็ไม่ค่อยเชื่อกันอยู่แล้วว่า พ.ต.ท. ทักษิณจะวางมือทางการเมืองจริง และปรามกันอยู่ในทีว่าหากต้องการให้บ้านเมืองสงบจริง พ.ต.ท. ทักษิณก็ควรจะวางมือตามคำประกาศ และปล่อยให้กลไกการทำงานทางการเมืองเป็นไปตามปกติ [13]
             ความ เห็นของสื่อมวลชนในลักษณะนี้ ดูผิวเผินก็เหมือนเหมือนว่าดี เพราะแสดงตนว่ารู้เท่าทันพฤติกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรี แต่อันที่จริงกลับแสดงให้เห็นลักษณะของการมองการเมืองไม่ทั่วด้าน ไม่ครอบคลุมทุกปัจจัย ทุกตัวแปร ทางการเมือง ทั้งที่หากมองในความเป็นจริงฝ่ายที่เป็นอำนาจคู่ตรงข้ามกับกลุ่มของ พ.ต.ท. ทักษิณ ก็ได้ดำเนินการเช่นนี้มาตลอดเวลากันอยู่แล้ว คือทำการแทรกแซงการเมือง บงการการเมือง ทั้งที่ไม่ได้เล่นการเมือง (ตามความหมายแคบ) เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ทำให้สื่อมวลชนเหล่านี้แสดงออกอย่างไร้เดียงสา ที่เรียกร้องให้ พ.ต.ท. ทักษิณ วางมือทางการเมือง ทั้งที่ความเป็นจริง เขาไม่เคยวางมือทางการเมือง และจะไม่มีการวางมือทางการเมืองแต่อย่างใด เช่นเดียวกับฝ่ายที่เป็นอำนาจคู่ตรงข้ามของเขาด้วยเช่นกัน
            ความจริงจะไปโทษสื่อมวลชนเหล่านี้ก็เห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวนัก เพราะแม้แต่บุคคลระดับ พล.อ. ภาษิต ซึ่งดำรงตำแหน่งในระดับรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคง แห่งชาติเอง ก็ยังให้ความทรงจำทางประวัติศาสตร์แบบกระพร่องกระแพร่ง แล้วจะไปคาดหวังว่าสื่อมวลชนกระแสหลักมองภาพการเมืองได้อย่างครบถ้วน บริบูรณ์กระไรได้ แม้การมองภาพได้ครบ แต่มิยอมนำเสนอออกมาให้หมด จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง แต่ก็นำไปสู่กรณีเดียวกัน คือความพร่องในการนำเสนอสารสนเทศทางการเมืองให้กับประชาชน ซึ่งนั่นก็ย่อมนำไปสู่การประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของประชาชน เนื่องเพราะมิอาจเปรียบเทียบตัวแปรและปัจจัยได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ได้ [14]
            ไม่ แปลกอะไร ที่เราจะเห็นการทำข่าวแบบลูกปิงปอง คือการแห่ไปสัมภาษณ์ความเห็นของนักการเมืองหรือผู้เกี่ยวข้องกันไปมา หรือแม้แต่การนำเสนอ/ หรือ การถามข่าวอย่างตื้นเขิน ที่ปราศจากการทำการบ้านอย่างชัดเจน เหตุเพราะตลาดข้อมูลข่าวสารถูกบิดเบือนตั้งแต่ต้นแล้ว ผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารต้องการข้อมูลเพียงเท่านี้ หนังสือพิมพ์และนักข่าวจึงรายข่าวได้เพียงเท่าที่ตลาดต้องการ
            จึง เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผลที่สุดของเรื่องนี้ ทำให้เราไม่อาจทำความเข้าใจทางการเมืองได้อย่างถ่องแท้ หลายคนพาลรังเกียจทางการเมืองว่าเป็นเรื่องหยาบช้าเลวทราม [15] ทั้งที่หากสำรวจทุกฝ่ายอย่างถ้วนถี่ ก็อาจพบว่าไม่มีใครมีคุณธรรมกันอย่างแท้จริง และอาจส่งผลสะเทือนต่อความคิดพื้นฐานทางการเมือง มีการประเมินการเมืองอย่างที่เป็นจริง และนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานก็เป็นไปได้
            Lasswell และ Kaplan เคยให้ความเห็นเอาไว้ว่า ประชาธิปไตยจะงอกงามต่อเมื่อราษฎรมีลักษณะที่เข้าสู่สภาพการเมือง (Politicized) ที่หมายถึงลักษณะ (1) การเอาใจใส่ในวิถีเหตุการณ์ทางการเมือง (2) ต้องมีทัศนคติ "ราษฎรต้องเกี่ยวข้องการเมือง" ไม่ทางตรงก็โดยทางอ้อม ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย และ (3) เชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญเหมือนมิติอื่นๆ ที่สมควรอุทิศเวลาให้ตามสมควร [16] ประชาธิปไตยดังว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ภายใต้สังคมที่ยังมีการบิดเบือนและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร "บางส่วน" และขาดการวิพากษ์อย่างทั่วด้านเอาไว้เช่นนี้?
 
.....................................................
เชิงอรรถ
[1] "พล.อ.ภาษิต" ประณามม็อบบุรีรัมย์ไม่รู้จักกาละเทศะ ระบุการเมืองยังน้ำเน่าเพราะนักการเมืองไม่คำนึงส่วนรวม, แนวหน้า, http://www.naewna.com/news.asp?ID=89892
 
[2] ๕๐ ปีการประหารชีวิต ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, http://somsakwork.blogspot.com/2006/06/blog-post.html
 
[3] ปาจารยสาร, 32: 1 (กันยายน-ตุลาคม 2550), หน้า 80-82
 
[4] วิวัฒนาการทางอำนาจของทหารไทย พ.ศ. 2475-ปัจจุบัน, ฐานข้อมูลพระปกเกล้า, http://www.kpi.ac.th/kpidb/inc/download.asp?file=../download/political23_วิวัฒนาการ2475-ปัจจุบัน.pdf
 
[5] ดูกรณีคุกคามป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในบันทึกความทรงจำของป๋วย ที่กล่าวถึง พ.ต.ท. สล้าง บุนนาค (ยศในขณะนั้น) ว่า "ตรง เข้ามาจับผู้เขียน [ป๋วย] โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป แล้วบริภาษผู้เขียนต่างๆนานา บอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ ผู้เขียนก็ไม่ได้โต้ตอบประการใด"  ในขณะที่ความทรงจำของ พ.ต.ท. สล้างแสดงไปอีกทางหนึ่งว่า "กระผม จึงได้รีบเดินไปที่ดร.ป๋วยที่กำลังโทรศัพท์อยู่ โดยบอกว่า อาจารย์ครับเข้าไปโทรข้างใน พูด 2 ครั้ง ท่านก็ยังพยายามต่อโทรศัพท์อยู่ ผมจึงปัดโทรศัพท์จากมือท่านและกระชากท่านเพื่อนำเข้าไปในห้องของท่าอากาศยาน เมื่อเข้าไปในห้องและเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงกราบท่านและแนะนำตัวว่าผมเป็นลูกศิษย์ท่านที่ธรรมศาสตร์ ที่ได้แสดงกิริยารุนแรงกับอาจารย์ก็เพื่อแสดงให้กลุ่มพลังข้างนอกเข้าใจว่า ผมไม่ใช่พวกเดียวกับอาจารย์ ดร.ป๋วยได้บอกกับพวกผมและเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน ศุลกากร ตม. ว่าที่ต้องโทรก็เพราะไม่มีเงินติดตัวมาเลย....เจ้าหน้าที่หลายนายได้บอกว่า ผมเป็นลูกศิษย์และมีหลายคนรวบรวมเงินมอบให้อาจารย์ ท่านก็รับไป..."   แม้คำให้การจะขัดแย้งกัน แต่ทั้งสองกรณีก็แสดงให้เห็นถึงการคุกคามของฝ่ายขวาจัดได้อย่างชัดเจนใน "ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา", สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล,
http://www.bangkokbiznews.com/2007/special/vivata/samak4.pdf , สมศักดิ์ ยังได้ชี้ไว้อย่างน่าสนใจของบทบาทอันน่าสงสัยของ พ.ต.ท. สล้าง ที่ "วิ่งไปวิ่งมาทั่วกรุงเทพทั้งคืน" และข้อมูลแวดล้อมที่สามารถหักล้างคำให้การเชิงบวก (ว่าเข้าไปปกป้องป๋วย) ของเขาได้
 
[6] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, วิกิพีเดีย, http://th.wikipedia.org/wiki/ป๋วย_อึ๊งภากรณ์   
 
[7] ผู้นำที่อยู่ในเงื่อนไขนี้นอกเหนือจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มีอีกสามคนคือ
(1)    ปรีดี พนมยงค์ เขาต้องลี้ภัยเนื่องจากถูกใส่ร้ายในคดีลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ฯ และอีกครั้งเนื่องจากความล้มเหลวในการรัฐประหาร เขาถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ ด้วยอาการหัวใจวาย ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่บนโต๊ะ ภายในบ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ขณะอายุ 82 ปี
(2)    จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงปลายยุคของการครองอำนาจเขาประสบความล้มเหลวในการพยายามดุลกำลังระหว่าง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และพล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายหลังเขาถูก พล.อ. สฤษดิ์ ทำการรัฐประหาร ต่อมาจึงได้ทำการลี้ภัยไปอาศัยยังประเทศญี่ปุ่นและได้พำนักอยู่ที่นั่นจนถึง แก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507  ณ ตำบลซากามิโอโน  ณ ชานกรุงโตเกียว ขณะนั้นอายุได้ 66 ปี
(3)    วิรัช อังคถาวร ดำรงตำแหน่งกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในช่วงที่กระแสปฏิวัติชนชั้นอยู่ในกระแสสูง หลังช่วงการแตกแยกครั้งใหญ่ภายในพคท. วิรัชเริ่มมีอาการป่วยเส้นเลือดในสมองอุดตัน ต้องพำนักรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงปักกิ่ง (เป็นโรงพยาบาลพิเศษ ที่จำกัดคนไข้เฉพาะสมาชิกระดับสูงของทางการจีน ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงก็เคยพำนักรักษาตัวและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งนี้) ในช่วงปี 2531-2532 เขาก็เป็นอัมพาตและไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อีก และได้ถึงแก่กรรมที่นี่ในเช้ามืดวันที่ 16 มิถุนายน 2540 ขณะเมื่ออายุ 76 ปี
 
[8] หนังสือพิมพ์มติชน, วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 15
 
[9] หนังสือพิมพ์มติชน, ปืนสังหาร, วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 11
 
[10] ดูกรณีที่มีการฟ้องร้อง, เว็บไซต์มติชน, สกู๊ป-เปิดรายชื่อ 30ว่าที่ ส.ส.พปช.12 เขต ปชป.กล่าวหาแจกวีซีดี'แม้ว'ผิดกม. : http://www.matichon.co.th/news_title.php?id=1101
 
[11] ในการแถลงข่าว ของ พ.ต.ท. ทักษิณที่ห้องสกุตลา โรงแรม เพนนินซูล่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เขาก็กล่าวย้ำทำนองนี้อีกครั้ง ใจความสำคัญเกี่ยวกับการวางมือทางการเมือง เขาได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนดังนี้ "ส่วน กรณีที่นักการเมืองไปมาหาสู่นั้น ก็เป็นธรรมดาไม่ใช่หรือ เพราะนักการเมืองหลายคนผมก็มีส่วนที่สร้างให้เขาเข้ามาทำงานการเมือง นั่นเป็นวัฒนธรรมไทยไม่ใช่หรือ ไม่ได้เจอหน้ากันก็ต้องมาเจอหน้ากันตามวัฒนธรรมไทย ในเมื่อคนเหล่านั้นคิดถึงก็ไปเยี่ยม ไปรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเข้าสู่วงการเมืองอีก
การ กลับมาในวันนี้ ผมไม่ต้องการที่จะเข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้จะมีบางคนสงสัย และที่เป็นห่วงว่าผมจะกลับมาแข่งขันทางการเมือง ให้สบายใจได้ว่า ต่อไปนี้ ผมจะขอใช้ชีวิตอย่างสันติและสร้างสรรค์ ใช้ชีวิตกับครอบครัว ปีนี้ก็อายุ 59 ปี แล้ว ชีวิตคนเราไม่ยาวนาน ทำงานให้กับประเทศมาเหนื่อยจึงขออยู่กับครอบครัวและถ้าในช่วงสุดท้ายได้ทำ ประโยชน์กับสังคมก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาที่สุด"
 
[12] ดูตัวอย่างความเห็นของประสงค์ สุ่นศิริ, 'ประสงค์'ล้อเลียน'ทักษิณ'ก้มกราบดิน อัดยิ่งให้ท้ายรัฐบาล, http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/29/WW03_0301_news.php?newsid=234564
 
[13] ดูตัวอย่าง "คำปราม" ในลักษณะนี้จากบทบรรณาธิการของกรุงเทพธุรกิจ, 'ทักษิณ'ควรจำบทเรียนการเมืองที่ไม่มีฝ่ายชนะ, http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/29/WW12_1237_news.php?newsid=234370 , สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร ในมติชนรายวัน, สถานีคิดเลขที่ 12, กราบแผ่นดิน, http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01col02290251&day=2008-02-29&sectionid=0116 ก็แสดงความเห็นในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
 
[14] น่า ขันแบบขมขื่น ที่หลายครั้งเราพบว่า สื่อมวลชนต่างประเทศมีความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยได้อย่างลึกซึ้ง มากกว่าสื่อมวลชนไทย หรือคนไทยเราเองด้วยซ้ำ
 
[15] พยานล่าสุดคือการไม่ยอมกล่าวถึงกรณี 6 ตุลาคม อย่างถ่องแท้ของสังคมไทย
 
[16] ดูความเห็นเพิ่มเติมใน Thai democracy: can it be sustain? โดย Tier Etat http://patvc74.blogspot.com/2008/02/thai-democracy-can-it-be-sustain.html
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท