Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 ..51 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายภาคประชาชนร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)จัดเวทีสาธารณะ "สภาปฏิรูปการเมืองและสังคม ครั้งที่ 1" และเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐสภาตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง" พร้อมแนวทางปฏิรูปสังคม 17 ประเด็น โดยมีประชาชนตัวแทนจากเครือข่ายต่างๆเข้าร่วมราว 150 คน ประกอบด้วย สมัชชาคนจน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายสื่อภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเครือข่ายโลกาภิวัตน์


 


นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สรุปข้อเสนอจากที่ประชุมว่าต้องการให้รัฐสภาจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองมีหน้าที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการเมืองและสังคม และให้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายรัฐ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสาธารณะ


 


ทั้งนี้ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายการเมือง องค์กรอิสระ นักวิชาการ ภาคประชาชน วิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน โดยมีระยะเวลา 1 ปี และให้รัฐสภานำข้อสรุปดังกล่าวมาดำเนินการทันที


 


"ในการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้รัฐต้องมีเป้าหมายเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมตัดสินใจและกำหนดความต้องการ สร้างหลักประกันด้านสวัสดิการสังคม ให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มีการกระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม รวมถึงต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ให้ประชาชนได้เลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด" นายไพโรจน์ กล่าว


 


ส่วนประเด็นที่เครือข่ายประชาชน เสนอให้มีการปฏิรูปประกอบด้วย เรื่องสวัสดิการสังคม ระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ ระบบภาษี ระบบการคุ้มครองแรงงาน สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การกระจายอำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกำหนดนโยบายสาธารณะ การจัดทำข้อตกลงระหว่างปรเทศ การปฏิรูปที่ดินเพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนมีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กาปฏิรูปสื่อและการเข้าถึงข้อมูล ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย กระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค


 







ข้อเสนอ


 


การปฏิรูปการเมืองและสังคม


 


 


การจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง


 



  1. ให้รัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง จากบุคคลที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์ด้านประชาธิปไตยหรือการเมืองภาคประชาชน  ซึ่งได้รับการเสนอชื่อผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ในจำนวนสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้

    • ผู้แทนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้แทนจากสมาชิกวุฒิสภา
    • ผู้แทนจากนักวิชาการ
    • ผู้แทนจากองค์กรภาคประชาชน
    • ผู้แทนจากองค์กรวิชาชีพ
    • ผู้แทนจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
    • ผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    • ผู้แทนจากสถาบันภาคการผลิต

  2. ให้คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้



    • ศึกษา รวบรวมความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองและสังคม
    • เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นการปฏิรูปการเมืองและสังคม
    • จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองและสังคม และการเสนอแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญกฎหมาย หรือนโยบายให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการเมืองและสังคม
    • เผยแพร่และสื่อสารการปฏิบัติหน้าที่กับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง


  1. ให้คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี
  2. ให้รัฐสภานำข้อเสนอการปรับปรุงรัฐธรรมนูญ มาดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 


 


เป้าหมายการปฏิรูปการเมืองและสังคม


 



  1. เพื่อให้การใช้อำนาจรัฐต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติและตั้งอยู่บนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  2. เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนและชุมชน สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดเจตจำนงทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ยั่งยืน และเป็นธรรม
  3. เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนได้รับสวัสดิการสังคมและการประกันสังคมอย่างทั่วถึงเท่าเทียม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย การรับบริการสาธารณสุข การศึกษา การทำงาน ตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต
  4. เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ โดยการการกระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม เช่น การปฏิรูปที่ดินและการปรับโครงสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมด้วยอัตราก้าวหน้า อาทิ ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีการซื้อขายถ่ายโอนหุ้น ภาษีจากโอกาสทางนโยบายรวมทั้งการสร้างหลักประกันด้านค่าจ้าง
  5. เพื่อสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ เสริมสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
  6. เพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองตนเอง สามารถกำหนดและแสวงหาทางเลือกในการพัฒนาท้องถิ่นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตามเจตนารมณ์ของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น

 


 


สาระสำคัญในการปฏิรูปการเมืองและสังคม


 



  1. ปฏิรูปสวัสดิการสังคม : เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิได้รับสวัสดิการสังคม อันเป็นหลักประกันพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แรงงานตกงาน และผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ
  2. ปฏิรูประบบการศึกษา : เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม มีสิทธิในการจัดการศึกษาทางเลือกที่ยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย
  3. ปฏิรูประบบสุขภาพ : เพื่อให้คนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ได้รับบริการทางด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานเดียวกัน
  4. ปฏิรูประบบภาษี : เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน โดยการปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม ด้วยการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เช่น ภาษีหุ้น ภาษีรายได้ ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก เป็นต้น
  5. ปฏิรูประบบการคุ้มครองแรงงาน : เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีความปลอดภัยในการทำงาน และมีสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
  6. ปฏิรูปสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน : เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ใช้และเข้าถึงสาธารณูปโภคอันจำเป็นอย่างทั่วถึง และมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา พลังงาน โทรศัพท์ ระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น
  7. ปฏิรูปการกระจายอำนาจ : เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิปกครองตนเอง โดยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค
  8. ปฏิรูปการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ : เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนในการใช้กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบได้โดยง่ายและมีประสิทธิภาพ
  9. ปฏิรูปการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกำหนดนโยบายสาธารณะ : เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการกำหนดนโยบายสาธารณะ
  10. ปฏิรูปการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ และได้รับการเยี่ยวยาเมื่อได้รับผลกระทบจากการทำข้อตกลงดังกล่าว
  11. ปฏิรูปที่ดิน : เพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนมีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
  12. ปฏิรูปการเกษตร : เพื่อคุ้มครองและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรรายย่อย ในการรักษาอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหาร
  13. ปฏิรูปการจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : เพื่อให้ชุมชนและประชาชนมีสิทธิในการจัดการและได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและเป็นธรรม
  14. ปฏิรูปสื่อและการเข้าถึงข้อมูล : เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของสื่อและสามารถเข้าถึงสื่อสาธารณะในทุกรูปแบบ การสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพในการควบคุมตรวจสอบกันเอง และลดการแทรกแซงจากรัฐและกลุ่มทุน
  15. ปฏิรูปความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย : เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงชายในการประกอบอาชีพ การได้รับการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่ตำแหน่งทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน การมีส่วนร่วมในทางการเมือง รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ
  16. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม : เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม จากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยการปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
  17. ปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค : เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของผู้บริโภค มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอและเท่าทัน และได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย

 


 


ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน


 


สร้างการเมืองกินได้  เพื่อความเป็นธรรมในสังคม


 






























คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)


สมัชชาคนจน


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)


เครือข่ายผู้หญิง


เครือข่ายสิทธิมนุษยชน


เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย


เครือข่ายแรงงานนอกระบบ


เครือข่ายคนพิการ


เครือข่ายสลัมสี่ภาค


เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน


เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค


เครือข่ายสื่อภาคประชาชน


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก


เครือข่ายโลกาภิวัฒน์ ( FTA WATCH )


 


 


 


วันที่ 28 เดือนกันยายน พ.ศ.2551


 


 




 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net