Skip to main content
sharethis

8 ต.ค. 2550 ประชาไท - สนช. เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญสองฉบับเพื่อขยายบทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลบางประเภท คือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ....และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.....ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย สนช. เป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฯ ได้เสนอหลักการและเหตุผลว่า บุคคลบางประเภท ได้แก่ พระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ มีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่บางประการอันเป็นราชการในพระองค์ อีกทั้งได้รับการรับรองสถานะและอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญเสมอมา แต่บุคคลดังกล่าวกลับได้รับความคุ้มครองในกรณีมีการหมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป จึงสมควรกำหนดให้มีการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและรับโทษหนักขึ้น

เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุให้มีการเพิ่มเติมหมวด 1/1 ความผิดต่อพระบรมราชวงศ์ องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ ดังนี้

มาตรา 112/1 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระราชโอรส พระราชธิดา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 112/2 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ประธานองคมนตรี องคมนตรี หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ ได้ระบุหลักการและเหตุผลว่า กรณีที่มีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ควรได้รับความคุ้มครองระหว่างการดำเนินคดี ไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นในสื่อสาธารณะ อันจะกระทบกระเทือนต่อสถาบัน จึงสมควรกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งห้ามการโฆษณาดังกล่าวและกำหนดบทลงโทษการฝ่าฝืนคำสั่งศาล โดยเพิ่มข้อความดังต่อไปนี้

มาตรา 14/1 ระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความผิดต่อองค์มหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามหมวด 1 ลักษณะ 1 ภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในกรณีเห็นสมควร พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งห้ามมิให้โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีไม่ว่าสื่อประเภทใด

หากศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพื่อการคุ้มครองปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ศาลสั่งอนุญาตตามคำร้องและอาจกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามของศาลดังกล่าวได้

การฝ่าฝืนคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การฝ่าฝืนคำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอีกกรณีหนึ่งด้วย และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

สนช.กำหนดวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาและหามติร่วมกันเรื่องร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับในวันพุธที่ 10 ต.ค.2550 นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net