"กฎหมายความมั่นคง" ร้ายแรงยิ่งกว่า "ระบอบทักษิณ"

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 50 เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาชน ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "รวมพลังคัดค้าน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

หลังจากที่วิปรัฐบาลสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ตีกลับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไปให้รัฐบาลพิจารณาใหม่ แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติยืนยันตามร่างเดิม แล้วส่งซ้ำกลับไปให้สนช.พิจารณา ในวันพุธที่ 7 พ.ย.นี้

 

ทั้งนี้ เนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดังกล่าว

 

1. ให้อำนาจครอบจักรวาล (มาตรา 15) ออกข้อกำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดการปฏิบัติการได้ ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ที่กำหนดได้  ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ (มาตรา 17) ซึ่งเท่ากับว่า สามารถออกกฏหมายนิติบัญญัติได้ในตัว (กอ.รมน.สามารถทำหน้าที่แทนฝ่ายนิติบัญญัติ)

 

2. จะแก้ไขให้ผอ.รมน.เป็นนายกรัฐมนตรี แต่มาตรา ๑๐ ยังให้แม่ทัพภาคเป็น "ผอ.รมน.ภาค" เหมือนเดิม ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการและลูกจ้างของกองทัพภาค รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน และยังสามารถเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงานใน กอ.รมน.ภาค และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ กอ.รมน.ภาคได้ (รัฐซ้อนรัฐ-โดยทหาร)

 

3. บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (มาตรา 22) (กอ.รมน.มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร)

 

4. ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย (มาตรา 23) (กอ.รมน.ทำหน้าที่แทนฝ่ายตุลาการ)

 

 

"ยักษ์มีกระบอง" ผีร้ายยิ่งกว่าทักษิณ

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตเลขานุการ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาัลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาสามประเด็น คือ เป็นกฎหมายครอบจักรวาล เป็นกฎหมายที่ทำลายหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบบตรวจสอบ และเป็นกฎหมายที่ทำลายระบบราชการโดยปกติ

 

เช่น การไม่นิยามคำว่าภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้ารัฐบาลตีความกว้างเกินไป ก็จะไปรุกรานสิทธิเสรีภาพ เช่นเดียวกับพ.ร.บ.ปี 2545 ที่ให้นายกรัฐมนตรี สั่งให้รัฐมนตรีให้อำนาจโดยระบบพิเศษแทนระบบปกติ เหมือนกับการสร้างยักษ์ที่มีกระบองตัวใหม่ และยังมีการเพิ่มรายได้ หรือเพิ่มรายได้พิเศษ ทำให้ระบบแบบนี้จะย้อนยุคไป 30-50 ปี เกิดระบบตรวจสอบของไทยที่ไม่เข็มแข็ง

 

อดีตเลขานุการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นเลขาฯ ยกร่างรธน.มา แม้จะไม่ภูมิใจเรื่องภาคการเมืองในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีความภูมิใจที่รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพเอาไว้มากที่สุด แต่หลายมาตราในกฎหมายความมั่นคงนี้ กลับจำกัดสิทธิเสรีภาพขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการย้อนยุคไป

 

นอกจากนี้ ในมาตรา 22 และ 23 ที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตามพ.ร.บ.นี้ ไม่อยู่ในบังคับของศาลปกครองนั้น ต้องขัดกับหลักรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน

 

เขากล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ทำลายรากฐานสิทธิเสรีภาพประชาชนที่วางไว้ในระบบนิติธรรมที่ตราไว้ในมาตรา 3 (2) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ควรให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้ามามีอำนาจ เหมือนรัฐบาลทักษิณ ที่ควบรวมอำนาจเอาไว้เป็นศูนย์กลาง ตรงนี้ที่ถือว่าเป็นการทำลายระบบศาลในการฟ้องร้อง

 

นายสมคิดยังกล่าวว่า ถ้าถามตน กฎหมายความมั่นคงร้ายแรงยิ่งกว่าระบอบทักษิณเสียด้วยซ้ำ เพราะระบอบทักษิณไม่ได้ห้ามคนอื่นตรวจสอบ แม้ในหลวงยังเคยตรัสว่า องค์กรอื่นได้ถูกทำลายหมดแล้ว ต้องให้องค์กรศาลตรวจสอบ ซึ่งคนร่างกฎหมายนี้คงรู้ดี จึงได้ทำลายระบบศาลไป

 

เขายังกล่าวว่า อาจจะพยายามหารือกับคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง  ว่าอาจจะมีการแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ โดยเบื้องต้น ได้ประสานงานกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาัลัยแล้ว

 

 

 

สำคัญคือ ปฏิรูปสถาบันด้านความมั่นคง

ด้านฉันทนา บรรพศิริโชติ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ลักษณะของกฎหมายฉบับนี้ เอื้อให้มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ คือ การใช้อำนาจทางทหาร ซึ่งเป็นผู้ที่กุมกำลัง ทำให้สถาบันต่างๆต้องอยู่ภายใต้ปฏิบัติการของการใช้กำลังและอำนาจ

 

โดยฉันทนาตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบันเอื้อให้มีการใช้พ.ร.บ.เหล่านี้แค่ไหน ในหลายประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ อาจจะมีการอ้างเหตุเรื่องความมั่นคง แต่กับประเทศไทยคงไม่สามารถใช้ข้ออ้างเช่นว่าได้ ไม่เพียงเท่านั้น แนวโน้มของอำนาจที่จะเกิดขึ้น ก็ไปในทางมีเพื่อให้อีกฝ่ายสยบ เป็นกฎหมายที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม

 

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์กล่าวต่อไป ถึงเรื่อง "สถาบันที่จะมาดูแลความมั่นคง" ซึ่งตามพ.ร.บ.มั่นคง

ฯ กลับกำลังพูดถึงสถาบันที่ "ไม่ได้" รับความไว้วางใจอย่างสูง ซึ่งไมไ่ด้เป็นเพียงความหวาดระแวงธรรมดา แต่สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นั้น ไม่ว่าจะเรื่องการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใ่้ต้ ปัญหาคนหาย และปัญหาอีกจำนวนมากที่ไร้คำตอบ ล้วนสะท้อนการทำงานของสถาบันควา่มมั่นคงหลักๆ หลายหน่วยงาน ที่ยังไม่อยู่ในร่องในรอย อันยิ่งจะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ

 

"ไม่เข้าใจว่าในขณะที่สถาบันทหารจต้องการได้รับความไว้วางใจ แล้ัวทำไมยังออกพ.ร.บ.นี้ออกมา มันไม่เป็นประโยชน์ต่อสภาพปัจจุบันนี้เลย" ฉันทนากล่าว

 

ฉันทนากล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน เราจำเป็นต้องพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันด้านความมั่นคงของประเทศ (Security section reform) ต้องไม่เพียงแค่ต้องปรับและปฏิรูปเท่านั้น แต่ยังต้องพูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันความมั่นคงกับประชาชนด้วย เพราะเราคงไม่สามารถพูดเรื่องความหมายความมั่นคงที่อยู่ในมือคนเพียงไม่กี่คน

 

 

กฎหมามป้องกันภัยที่ไม่รุนแรงมาก เพื่อหาที่ยืนให้กอ.รมน.

ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการเครือข่ายสิทธิมนุษยชน (สสส.) กล่าวว่า เจตนาของการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ คือต้องการจัดตั้งกอ.รมน. ให้มีฐานะทางกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมา กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งด้วยคำสั่งนายกฯ ตามกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเริ่มขึ้นปี 2512 เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ แล้วก็อยู่ยาวจนคอมมิวนิสต์หมดอิทธิพล แม้จนยกเลิกพ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ไปเมื่อปี 2542 กอ.รมน.กลับยังคงอยู่ ซึ่งปรากฏว่า ในสมัยนั้นที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีคำสั่งปรับบทบาทกอ.รมน. จากที่เคยทำหน้าที่ปราบปรามภัยคุกคาม ให้มาทำหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น ภัยชายแดน ภัยที่เกี่ยวกับต่างประเทศ ก่อนจะมีการปรับอีกครั้งในสมัยรัฐบาลทักษิณ และปรับครั้งล่าสุดสมัยนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ปรับให้อำนาจของกอ.รมน.ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น

 

เขากล่าวว่า เดิม หากมีภัยคุกคาม ภัยรุนแรง ก็มีเครื่องมือ ไม่ว่าจะกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและทหารมีบทบาทเต็มที่อยู่แล้ว แต่พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ นี้ ออกมาเพื่อหาที่ยืนให้กับกอ.รมน.

 

ไพโรจน์กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก ครม. จะมอบอำนาจให้เรื่องนั้นๆ เป็นภารกิจของกอ.รมน. ให้มีหน้าที่ ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง ที่จะเกิดเหตุที่กระทบความมั่นคง เพียงแต่เป็นเหตุกระทบที่ไม่รุนแรงขนาดต้องประกาศกฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

นายมูฮัมหมัด อาลาดี เด็งนิ รองเลขาฯ สนนท. กล่าวว่า จากการหารือใน สนนท. เชื่อว่ากฎหมายจะเป็นการทำลายการเมืองภาคประชาชน ผูกมือและมัดประชาชนโดยสะดวก โดยเฉพาะในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรณีของมาตรา 19 ที่ระบุถึงการจับกุมและสามารถนำตัวไปฝึกอบรม จะเกิดผลกระทบโดยเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายกักขังได้ถึง 6 เดือน อย่างไรก็ตามนักศึกษาไม่เห็นด้วยที่จะให้ พ.ร.บ.ฉบันนี้ออกมา โดยเห็นว่า สนช. ไม่มีสิทธิที่จะนำกฎหมายนี้ออกมา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

ด้านนายสาวิตต์ แก้วหวาน เลขาธิการเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า การถูกใส่ร้ายป้ายสี ประชาชนที่เป็นเป้า การต่อสู้จะเป็นปัญหาใหญ่ ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ์จะเอาเครื่องมือตรงไหนมาเคลื่อนไหว หากรัฐเอาสัมปทานไปขาย ประชาชนที่สู้จะขัดขวางอย่างไร ตรงนี้ต่อไปจะเอาอย่างไร จะมีทางเลือกอื่นเพื่อให้ประชาชนพิสูจน์สิทธิ์ได้อย่างไร เพราะสิทธิของคนไทยโดยการเคลื่อนไหวจริง ๆ เราจะต้องดูด้วยว่า จะไปพูดถึงประชาชนทั้งหมดไม่ได้ เพราะประชาชนสว่นใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง ที่หาเช้ากินค่ำ การที่จะหามาตรการจะต่อสู้จะทำกันอย่างไรเพราะประชาชนไม่มีช่องทางการต่อสู้ ดังนั้นสถานการณ์นี้เราจะต้องมีความสามัคคี ที่จะตื่นตัวในการใช้สิทธิเสรีภาพในการถูกละเมิดอย่างไร

 

ทั้งนี้ ในวันพุธที่ 7 พ.ย.นี้ เครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายนักวิชาการ จะร่วมแสดงพลังคัดค้านพ.ร.บ.ความมั่นคง โดยไปยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

 

 

สังคมที่ทหารเป็นใหญ่

ด้านแบรด อาดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียขององค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์เรื่อง 'กฏหมายความมั่นคงภายในคุกคามประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน' โดยกล่าวว่า "การที่รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของทหารเสนอกฏหมายความมั่นคงภายในเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจตามอำเภอใจ"

 

ทั้งนี้ องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์แสดงข้อกังวลว่า การที่กฏหมายความมั่นคงภายในจะแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. ขณะที่ให้แม่ทัพภาคมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาคต่างๆ นั้น จะทำให้ทหารเข้าแทรกแซงการบริหารราชการโดยพลเรือนได้ในทุกระดับ

 

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "กฏหมายความมั่นคงภายในดูเหมือนจะมุ่งขยายอำนาจของทหารต่อไปจนถึงภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งไปแล้ว" "แนวโน้มที่รัฐบาลชุดถัดไปจะอยู่ในสภาพอ่อนแอ และต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากทหารนั้น เป็นเงื่อนสำคัญที่ทำให้ทหารฉวยโอกาสพยายามสถาปนาอำนาจเป็นศูนย์กลางในการบริหารราชการ และการตัดสินใจของรัฐบาลผ่านการบังคับใช้กฏหมายความมั่นคงภายใน"

 

แบรด อาดัมส์ กล่าวว่า "อำนาจตามที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของร่างกฏหมายความมั่นคงภายในฉบับนี้ แสดงถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะสถาปนาอำนาจของ กอ.รมน. ซึ่งอยู่เหนือการตรวจสอบควบคุมตามกระบวนการประชาธิปไตย การกระทำเช่นนี้ทำให้ดูเหมือนประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบอบเผด็จการ มากกว่าที่จะเป็นการฟื้นฟูประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ ควรที่จะพิจารณาอย่างรอบคอบว่า เขาต้องการจะทิ้งสิ่งนี้ไว้เป็นมรดกบาปให้กับคนรุ่นหลังหรือไม่" "ถ้าหากนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ เป็นนักปฏิรูปจริงอย่างที่กล่าวอ้างไว้ เขาก็ควรที่จะระงับร่างกฏหมายความมั่นคงภายในฉบับนี้ในทันที"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท