พลอย: ความเหงาที่เราต้องเผชิญหน้า...

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ






คำเตือน: บทความชิ้นนี้เปิดเผยฉากสำคัญและตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง "พลอย"

ซาเสียวเอี้ย

 

เรื่องราวความรักบนแผ่นฟิล์มส่วนใหญ่ ถ้าไม่จบลงแบบโศกนาฏกรรมเพื่อให้คนจดจำฝังใจในความรันทดและระลึกถึงด้วยความโศกาอาดูร ทางเลือกที่ 2 ก็คือ "ต้องจบลงอย่างมีความสุข" ให้คนดูได้อิ่มเอมใจกันถ้วนหน้า ชนิดที่ว่า--ไม่ต้องเหลืออะไรให้สงสัยในความสัมพันธ์อีก

 

ความรู้สึกสองขั้วที่อาจเกิดขึ้นเมื่อดูหนังเรื่อง "พลอย" ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับ "เป็นเอก รัตนเรือง" จึงหนีไม่พ้นความรู้สึกว่า "ชอบมากๆ" หรือไม่ หลายคนก็อาจจะ "เกลียด" หนังเรื่องนี้มากๆ เช่นกัน

 

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะว่า ความรักที่จบลงแบบก้ำกึ่งและปล่อยให้คนดูไปคิดต่อเอาเอง ไม่ค่อยถูกจริตคนส่วนใหญ่ซึ่งต้องการความชัดเจนมากกว่าเรื่องค้างคา

 

แต่ในเวลาเดียวกัน คนจำนวนหนึ่งกลับรู้สึกว่าการจบแบบไม่ต้องมีบทสรุป--สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนกับความรู้สึกได้มากกว่ากันหลายเท่า

 

เราจึงไม่อาจฟันธงได้ว่าความชอบส่วนบุคคลที่มีต่อหนังสักเรื่องหนึ่งจะชี้วัดความ "ดี" หรือ "ไม่ดี" ของมันได้ เพราะรสนิยมและการตีความของคนดูก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวมากๆ อีกเหมือนกัน...

 

 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลงภายในเวลา (ไม่น่าจะเกิน) 24 ชั่วโมง ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นหนังเรื่องนี้ และไม่ได้มีเนื้อหาอันใดซับซ้อนไปกว่า "ความสัมพันธ์" ของสามีภรรยาคู่หนึ่ง...

 

การดำเนินเรื่องแบบ "ค่อยเป็นค่อยไป" และการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนบทสนทนา รวมถึงการแช่ภาพ ณ จุดใดจุดหนึ่งเป็นเวลานาน ยังอยู่ในงานของเป็นเอกอย่างครบถ้วน และดูเหมือนว่าเขาจะยังคงสนุกสนานกับการหยิบผลงานเก่าๆ ของตัวเองมาเป็นลูกเล่นในแต่ละฉากเหมือนเช่นเคย

 

เราได้รับรู้ว่า "วิทย์" (พรวุฒิ สารสิน) และ "แดง" (ลลิตา ศศิประภา) ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานานถึง 7-8 ปี ที่ต่างประเทศ ก่อนจะเดินทางกลับมาเมืองไทยในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อมาร่วมในงานศพของญาติผู้ใหญ่ และพวกเขาตัดสินใจเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

 

วิทย์ลงมาซื้อบุหรี่ในยามเช้าตรู่ และนั่งดื่มกาแฟอยู่ตรงล็อบบี้ของโรงแรม ที่นั่น-เขาพบกับเด็กสาวแปลกหน้าซึ่งแนะนำตัวเองในภายหลังว่าเธอชื่อ "พลอย" (อภิญญา สกุลเจริญสุข)

 

ด้วยความรู้สึกถูกชะตา วิทย์ชวนพลอยให้ขึ้นไปล้างหน้าล้างตาและนอนพักบนห้องของเขาและแดง เพื่อรอเวลาให้แม่ของพลอยมารับในยามสายของวันนั้น...

 

ห้องพักในโรงแรม ซึ่งเป็น "พื้นที่ส่วนตัวของคนสองคน" ในความคิดของแดง ถูกรุกรานทันทีที่เห็นเด็กสาวคนหนึ่งปรากฏตัวอยู่หน้าประตูพร้อมกับสามีของเธอ

 

และก่อนหน้าที่ "พลอย" จะก้าวเข้ามาในห้อง เราได้เห็น (พร้อมกับที่แดงเห็น) ว่าในกระเป๋าเสื้อของวิทย์ มีกระดาษจดเบอร์โทรศัพท์ของคนชื่อ "น้อย" และนั่นก็เป็นชนวนที่ทำให้แดงรู้สึกหวาดระแวงแคลงใจในตัวสามี เช่นเดียวกับที่คนดูพาลคิดไปว่า "น้อย" น่าจะเป็นชื่อของหญิงสาวสักคน และหวนระลึกถึงสาวสวยผู้เลิกอาชีพขายบริการเพื่อไปเผชิญโชคครั้งใหม่ที่ญี่ปุ่น ใน "เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล"

 

เพียงแค่นั้นเราก็ออกจะเชื่อไปแล้วว่าวิทย์คงได้เบอร์ของเธอมาจากที่ไหนสักแห่ง...

 

แต่มันจะไร้สาระแค่ไหนถ้าเรานึกขึ้นมาได้ทีหลังว่า "น้อย" ใน "ฝัน-บ้า-คาราโอเกะ" คือมือปืนหนุ่มที่ใฝ่ฝันว่าสักวันจะได้ไปอเมริกา และในเวลาต่อมา เราก็ได้รู้เพิ่มเติมว่าวิทย์และแดงก็เปิดกิจการร้านอาหารอยู่ที่อเมริกาเช่นกัน…

 

ความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตสามารถเล่นตลกกับเราได้ง่ายดายถึงเพียงนี้ และปกติคนเราก็มีแนวโน้มในการเลือกที่จะ "เชื่อ" หรือ "คาดเดา" หรือ "จินตนาการ" ถึงสิ่งต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับเรื่องราวเก่าๆ ที่เราเคยมีประสบการณ์หรือเคยได้ยินได้ฟังมาเป็นส่วนใหญ่เสียด้วย

 

บทสนทนาของวิทย์และแดงที่ดูเหมือน "ไม่มีอะไร" จึงสามารถตรึงคนดูให้จมอยู่กับมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

เพราะจากการได้ร่วมวงสนทนากับผู้คนในชีวิตจริง ว่าด้วยหนังเรื่อง "พลอยไม่ว่าจะเป็นหนุ่มใหญ่ที่ใช้ชีวิตคู่มานาน, เด็กหนุ่มที่เพิ่งคบกับคนรักได้เพียง 6 เดือน หรือหญิงสาวที่ผ่านประสบการณ์ความรักมาแล้วในช่วงหนึ่งของชีวิต ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าคำพูด (ที่ดูเหมือน) ไร้สาระเหล่านั้น ช่าง "สมจริง" เหมือนกับจำลองเหตุการณ์ในชีวิตของพวกเขาไปเป็นฉากหนึ่งในหนัง (ขนาดนั้นเลย!)

 

ด้วยเหตุนี้...หากจะมองกันแค่สายตาแล้วประเมินด้วยความรู้สึก เด็กสาวหัวฟูท่าทางไม่แยแสต่อโลก ผู้มีรอยฟกช้ำที่ดวงตาข้างหนึ่ง แถมยังกล้าตามผู้ชายแปลกหน้าขึ้นมาบนห้องพักในโรงแรม ย่อมไม่อาจสร้างความสบายใจให้กับ "ภรรยา" คนไหนในโลกได้แน่ๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง--ภรรยาผู้กำลังวิตกกังวลอยู่กับความสัมพันธ์ที่เธอ "รู้สึก" ว่าตัวเอง "ไม่เป็นที่ต้องการ" ของสามี

 

ความกดดันจากปฏิกิริยาภายนอก (ซึ่งเป็นเพียงเด็กสาวแปลกหน้า) ทำให้แดงหันไปไล่เบี้ยและตั้งคำถามกับสามีที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานานจนน่าจะรู้จัก-รู้ใจกันดี แต่สิ่งที่หลุดจากปากของแดง มีเพียงความไม่มั่นใจและหวาดหวั่น จนสุดท้ายก็กลายเป็นการชวนทะเลาะ

 

ภายในห้อง 603 ที่ปิดประตูกั้นความเคลื่อนไหวจากภายนอก จึงถูกเปลี่ยนเป็น "ดินแดนแห่งจินตนาการ" ของคน 3 คนที่อยู่ในห้อง เป็นสถานที่ที่ "ความคิดฝัน" หรือ "ความวิตกกังวล" ของแต่ละคนโลดแล่น โดยที่เราไม่อาจมั่นใจได้เต็มร้อยว่าฉากแต่ละฉาก เกิดจาก "มโนสำนึก" ของ พลอย วิทย์ และแดง หรือว่านั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ กันแน่…

 

เราได้เห็นฉากอาชญากรรม ฉากที่ส่อให้เข้าใจว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้น รวมถึงฉากการมีเพศสัมพันธ์อันเร่าร้อนและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของยามแรกรัก

 

บางครั้งผู้กำกับเป็นเอกทำให้เรารู้สึกหมือนกับว่า "เรื่องทุกอย่างเป็นแค่ความฝัน" แต่ในฉากต่อมาก็จะมีเครื่องหมายยืนยันว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น "เกิดขึ้นจริง" ในขณะที่เรื่องราวซึ่งคิดว่าเป็นจริงในตอนแรก กลับถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเพียงความฝัน

 

ความสลับซับซ้อนระหว่างเรื่องจริงและจินตนาการ-ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน ไม่ต่างอะไรจากความสัมพันธ์ในชีวิตของคนหลายคู่ ที่แม้จะอยู่ด้วยกันมายาวนาน แต่ความรู้สึกต่างๆ กลับถูกบดบังและบิดเบือนด้วยปัจจัยภายนอกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่การงาน ภาพลักษณ์ที่ต้องรักษา หรือจังหวะชีวิตที่ซ้ำซากจนกลายเป็นความเคยชิน แม้แต่สิ่งที่เคยทำให้หัวใจเต้นแรงก็กลายเป็นความรู้สึก "พูดไม่ออก-บอกไม่ถูก-บรรยายไม่ได้" ความหวานในชีวิตก็หล่นหายไปตามกาลเวลา...

 

และอาจเป็นไปได้ว่า การใช้ชีวิตร่วมกับใครสักคนเป็นเวลานานๆ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็น "เจ้าข้าวเจ้าของ" ขึ้นในใจใครหลายคน

 

เมื่อไหร่ที่การอยู่ร่วมเปลี่ยนเป็น "การครอบครอง" สิ่งที่ตามมาก็มักจะหนีไม่พ้นความกลัวว่าจะสูญเสียสิ่งที่ "เคยมี" หรือ "เคยเป็น" ไปในสักวันหนึ่ง...

 

 

ภาพที่เราเห็นกันตั้งแต่ฉากแรกๆ ได้แก่ "การกุมมือ" ที่ดูเหมือนว่าแดงจะเป็นฝ่ายเกาะเกี่ยวและยึดโยงมือของวิทย์เอาไว้ฝ่ายเดียว

 

ถ้าดูเผินๆ สามีภรรยาคู่นี้ก็ดูเหมาะสมกันดี แต่ไม่ว่าจะเป็นการกุมมือหรือการซบหลับลงกับบ่าของฝ่ายชาย เราพอจะจับความรู้สึกได้ลางๆ ว่าการกระทำนั้นเกิดจากการเริ่มต้นของแดง ในขณะที่วิทย์เพียงปล่อยให้มันดำเนินไปตามความเคยชิน

 

การกุมมือวิทย์ในทุกขณะที่อยู่ในสายตาของคนรอบข้าง อาจเป็นเพียงความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งหรือรักษาภาพที่ "สมบูรณ์แบบ" ของสามีภรรยาในอุดมคติเอาไว้

 

การรักษาภาพลักษณ์ภายนอกให้ดูดีอยู่เสมอทำให้แดงต้องนำชีวิตของตัวเองไปผูกโยงไว้กับวิทย์ โดยที่เธออาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป

 

แต่เมื่ออยู่ร่วมกันในห้องที่ไม่มีสายตาของคนภายนอกเข้ามาสอดส่อง แดงกลับหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับวิทย์ เหมือนที่เราจะได้เห็นในหลายๆ ฉากว่าแดงไม่เคยสบตาสามีเลย แม้ว่าเธอจะตั้งคำถามคาดคั้นเขามากมายเพียงใดก็ตาม

 

หรือบางทีคำตอบจากปากวิทย์ที่แดงจินตนาการเอาไว้ อาจน่ากลัวเสียจนเธอไม่กล้ายอมรับมันตรงๆ...?

 

ในขณะเดียวกัน ภายใต้รอยยิ้มที่ดูใจดีและภาวะนิ่งเฉยแบบ "คนเก็บอาการ" ของวิทย์ กลับถูกตั้งข้อสังเกตจากพลอยว่าเขาเองก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งดูเหงาไม่ต่างจากแดง...

 

ใช่หรือไม่ว่า...คนเราอาจมาอยู่ด้วยกันเพราะความเหงา และรู้สึกเหงายิ่งกว่าเมื่อพบว่าการอยู่ร่วมกันสองคนก็ยังไม่ใช่การเติมเต็มชีวิตของใครได้ทั้งหมด?

 

ชีวิตคู่ของแดงและวิทย์ เงียบเหงาทึบทึมเหมือนบรรยากาศในห้อง 603 ที่ปิดม่านแน่นหนาจนแสงสว่างภายนอกไม่อาจเล็ดลอดเข้ามาได้ รวมถึงความติดขัดชวนให้หงุดหงิดใจในฉากที่แดงพยายามดึงผ้าม่านให้ปิดสนิท-แต่ทำไม่ได้ ก็เป็นการถ่ายเทความอึดอัดและคับข้องของแดงมายังคนดูที่มองเห็นความเป็นไปในฉากนั้น

 

และในเวลาต่อมา เด็กสาวชื่อพลอยนี่เองที่เป็นคนรูดผ้าม่านให้เปิดออก แสงแดดยามเช้าจึงได้ส่องผ่านเข้ามาในห้อง 603 เพื่อขับไล่ความหม่นมัวภายใน...

 

ไม่ต่างอะไรจากการที่พลอยก้าวเข้ามาในชีวิตของสองสามีภรรยา พร้อมกับตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมา ภาพสะท้อนของคนที่ไม่แน่ใจว่ากำลัง "ทน" อยู่ด้วยกันในวันที่ความรักกำลังหมดอายุ ก็ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน...

 

การมองโลกด้วยสายตาแห่งความอ่อนเยาว์และเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ อย่างอิสระเสรีเหมือนไม่มีกฏเกณฑ์ใดๆ ในชีวิตของพลอย จึงขัดแย้งกันอย่างยิ่งกับความพยายามของแดงและวิทย์ ที่มักจะแสดงความรู้สึกออกมาอย่างมีวุฒิภาวะแบบ "ผู้ใหญ่" แต่ความต้องการที่แท้จริงข้างในใจกลับถูกเก็บกดเอาไว้

 

การอยู่ร่วมของคนสองคนจึงไม่ต่างอะไรจากการจองจำจิตวิญญาณของกันและกัน...

 

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ พลอยก็เป็นตัวแปรที่ทำให้แดงหยิบสร้อยที่ตกอยู่ในห้องน้ำขึ้นมาสวม และก้าวเดินออกไปจากห้อง 603 จนเตลิดไปไกลกว่าที่เธอคิด

 

สร้อยเส้นนั้นไม่ใช่ของแดง และจี้ที่ห้อยอยู่ก็เป็นชื่อของพลอย...แต่การเปลี่ยนมุมมองและได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ทำให้แดงได้เรียนรู้ว่า การปล่อยชีวิตไปตามความรู้สึกและเผชิญหน้ากับเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองนั้นมันเป็นอย่างไร

 

แน่นอนว่า "ความเสรี" มีราคาที่ต้องจ่าย แต่รอยฟกช้ำที่ดวงตาของแดงอาจทำให้เธอตาสว่างได้มากกว่าการอยู่ในความปกป้องคุ้มครองหรือการฝากชีวิตไว้กับใคร

 

เช่นเดียวกับการแสดงความรักระหว่างแม่บ้านและบาเทนเดอร์หนุ่มซึ่งพลอยเล่าให้วิทย์ฟังว่าเป็นเพียง "ฝันลามก" ที่เกิดขึ้นเมื่อเธอเผลอหลับไป แท้จริงแล้วมันอาจไม่ต่างอะไรจากความรักในจินตนาการของเด็กสาวคนหนึ่ง (หรือหญิงสาวสักคนหนึ่ง) ซึ่งคาดหวังถึงความอบอุ่น ร้อนแรง จังหวะความสัมพันธ์ซึ่งดำเนินไปตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีคำพูดหรือเหตุผลใดๆ มาอธิบาย

 

และจินตนาการของพลอยนี่เองที่อาจทำให้วิทย์ได้เรียนรู้ว่า-เรื่องบางอย่างก็ไม่ควรปิดบังหรือทำให้มันยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไปนัก

 

เมื่อพลอยจากไปแล้ว ฉากที่วิทย์เอื้อมมือมากุมมือแดงให้เราเห็นเป็นครั้งแรกในรถแท็กซี่...น่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่าเขาและเธอสามารถ "ปลดล็อค" ความรักไปแล้วหรือยัง...

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท