"หมุดประชาธิปไตย" มีกูไว้ (ในใจ) ไม่ไร้เสรีภาพ

 

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

 

 

หมุดประชาธิปไตย

 

โปรดอย่าเข้าใจผิดและสรรหามาห้อยคอ วงกลมที่ปรากฏด้านบนนี้ย่อมไม่ใช่ปาฏิหารย์ใดๆ และยิ่งไม่ใช่องค์ "จตุคามรามเทพ" อันโด่งดังแน่นอน อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณ 75 ปีก่อน ประติมากรรมนูนต่ำทรงกลมทองเหลือง เรียบๆ ง่ายๆ วงนี้เคยทรงพลังและทรงความหมายต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง

 

ปาฏิหารย์การปรากฏของวงกลมนี้บนผืนแผ่นดินสยาม (ชื่อในเวลานั้น) คือ การประทับทาบตราแห่งชัยชนะของการอภิวัฒน์สังคมไทยโดยคณะราษฎรอย่างสมบูรณ์ วงกลมนี้ เมื่อปักฝังลงบนแผ่นดินก็ประดุจดังหมุดลิ่มตอกลึก ร้างลงที่ใจกลางจุดรวมศูนย์ของบรรดาพลังทางสัญลักษณ์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม วงกลมนี้จึงเป็นเสมือนหมุดหมายแห่งความทรงจำที่เป็นภาพตัวแทนแห่งช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสยาม อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า "อภิวัฒน์" ให้เดินเข้าไปใกล้ "ประชาธิปไตย" ที่แท้จริงอีกก้าวหนึ่ง

 

วงกลมทองเหลืองวงนี้ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นหมุดที่ฝังปักลงอย่างค่อนข้างตั้งใจบนจุดที่พระยาพหลพลพยุหเสนา แกนนำคนสำคัญของคณะราษฎรอ่านคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ในเวลารุ่งเช้าของวันนั้นต่อหน้าเหล่าทหารที่ถูกเกณฑ์มาเป็นสักขีพยานแห่งการฏิวัติ

 

หมุดดังกล่าวนี้อาจเรียกสั้นๆ แบบคุ้นปากว่า "หมุดประชาธิปไตย" และถือได้ว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นแรกๆ ของยุคที่บุคคลต่างๆ ในคณะราษฎรต่างผลัดกันขึ้นมีอำนาจตลอดช่วงเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2475 - 2490) บนหมุดสลักข้อความว่า

 

"ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

 

ลักษณะของหมุดเป็นวงกลม หล่อด้วยทองเหลือง มีคำว่า "เวลาย่ำรุ่ง" อยู่ตรงกลางระหว่างกระจังสามเหลี่ยมด้านบนและล่างที่ลดทอนรายละเอียดจากแบบประเพณีจนเหลือให้เห็นเค้าลางภายใต้ขอบของสามเหลี่ยม ส่วนคำว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" จะวนอยู่ตามขอบวงกลมโดยรอบ

 

หลังการเริ่มต้นทางศิลปะแบบเรียบง่ายใน พ.ศ. 2475 แล้วดำรงอยู่ต่อไปอีกเพียง 15 ปี ก็ถือว่ามีเอกลักษณ์ในแบบที่ไม่มีปรากฏในก่อนหน้าหรือหลังจากนี้ อีกทั้งได้ถูกใช้อย่างมีนัยยะสำคัญบนพื้นที่ต่างๆ ของสยาม ในขณะที่บางชิ้นงานยังหลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน

                      

ความทรงจำในหมุดประชาธิปไตย

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า งานศิลปะในลักษณะอนุสาวรีย์นั้น คือการจัดการความทรงจำสาธารณะรูปแบบหนึ่ง เพื่อสร้างภาพตัวแทนของอะไรบางอย่างให้มาคอยกระตุ้นเตือนความทรงจำร่วม และจะมีผลสะเทือนถึงระดับภายในจิตใจของผู้เสพสัมผัส

 

เจตนาของการสร้าง "หมุดประชาธิปไตย" รวมไปถึงเจตนาในการเลือกสถานที่ปักฝัง จึงไม่หนีไปจากหลักการนี้ ภาพตัวแทนความทรงจำที่ส่งผ่านหมุดกลมวงนี้แฝงไว้ด้วยหลักการและอุดมการณ์บางประการ แน่นอนว่าหนึ่งในนั้น อุดมการณ์สำคัญของคณะราษฎรคือ แนวคิดการต่อต้าน "เจ้า" หรือ "สถาบันพระมหากษัตริย์" เพราะมีโลกทัศน์ที่ขัดแย้งกันแบบสุดโต่ง แม้ภายหลัง "เจ้า"จะพยายามปรับตัวอย่างไรก็ไม่อาจไปในทางเดียวกันได้กับแนวทาง "สากล" ตามมุมมองคณะราษฎร

 

การต่อต้าน "เจ้า"อย่างสุดขั้วสะท้อนให้เห็นได้ชัดจากใจความตอนหนึ่งของประกาศแถลงคณะราษฎรฉบับที่ 1 ที่มีใจความตอนหนึ่งจู่โจมความชอบธรรมทางการปกครองของพระมหากษัตริย์อย่างตรงๆ ว่า

 

"...ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครอบครองราชสมบัติ...ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร...มีการรับสินบนในการก่อสร้าง...ผลาญเงินประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากว่าพวกราษฎร...ปกครองโดยขาดหลักวิชชา...รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาสเป็นสัตว์เดรัจฉานไม่นึกว่าเป็นมนุษย์...พากันทำนาบนหลังคน...แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข..."

 

ดังนั้น ด้วยพลังแห่งการเป็นปฏิปักษ์กันและกัน "หมุดประชาธิปไตย" จึงแฝงสภาวะแห่งการสลายภาพตัวแทนความทรงจำแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะในทางด้านพื้นที่ ตัวหมุดถูกเลือกฝังลงในจุดที่อุดมไปด้วยพลังทางสัญลักษณ์ โดยเฉพาะจุดที่ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงสมบูรณ์ที่สุด ทรงพลังที่สุด ซึ่งจุดนั้นก็คือ "อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5"

 

ศาสตรจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อธิบายนัยแฝงของความทรงพลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านอนุสาวรีย์ "พระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5" ไว้ในบทความ "สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย"[1]ว่า ลักษณะดังกล่าวหมายถึงการทรงดำรงเกียรติแบบฝรั่ง สง่าแบบฝรั่ง และพึงบูชาแบบฝรั่ง เป็นกษัตริย์ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงอำนวยการการบริหารรัฐ เหมือนเป็นศูนย์กลางกลไกทุกอย่างของรัฐ

 

ส่วนในทางศิลปะ การสร้างพระบรมรูปทรงม้า คือ การเบิกฤกษ์แนวทางสู่สยามใหม่ที่ไม่ยึดติดอยู่ที่การสร้าง โบสถ์ วัด วัง แต่กล้าที่จะสร้างอนุสาวรีย์ตามอย่างแนวฝรั่ง คือกล้าที่จะทำภาพปั้นเหมือนของกษัตริย์ที่ยังทรงพระชนม์ชีพ ทั้งภาพพระพักตร์ พระวรกาย ม้าที่ทรงประทับ ฉลองพระองค์ที่เป็นเครื่องแบบทันสมัยเหมือนจริง

 

สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินและนักวิชาการคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์และศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร  ตั้งข้อสังเกตเกียวกับ พระบรมรูปทรงม้าไว้ในหนังสือ "จากสยามสู่ไทยใหม่" ในด้านนี้ว่า

 

"รูปเหมือนที่เคยเป็นของต้องห้ามในอดีตและถูกล้มล้างโดยกษัตริย์ เป็นสัญลักณ์ของความกล้าแบบสมัยใหม่ที่ไม่งมงายกับความกลัวแบบสมัยเก่าอีกต่อไป แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เองรูปเหมือนที่เป็นของสมัยใหม่ก็เริ่มถูกนำไปผสมเข้ากับวัฒนธรรมไทยประเพณี กลายเป็นรูปเคารพสำหรับกราบไหว้บูชาในแนวไสยศาสตร์ผสมพุทธและพราหมณ์ไปแล้ว....การที่พระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 ที่เป็นตัวแทนของความสมัยใหม่ได้กลายเป็นรูปเคารพ เป็นที่กราบไหว้บูชาและเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 "[2]  

 

สำหรับแรงบันดาลใจในการสร้าง "พระบรมรูปทรงม้า" ก็มาจากความประทับใจหรือมองเห็นพลังแห่งสัญลักษณ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในทางสากล คือหลังจากรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 และทรงโปรดพลังแบบนั้นในพระบรมรูปพระเจ้าหลุยห์ที่ 14 ทรงม้า ณ พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส จึงโปรดให้ จอร์จ เออร์เนส ซอลโล ประติมากรชาวฝรั่งเศส ปั้นโดยพระองค์ทรงประทับเป็นแบบ

 

 

พระบรมรูปทรงม้าหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม สัญลักษณ์ของพลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สากล

 

เช่นเดียวกัน ในขณะที่บริบทแบบสมบูรณาญาสิทธิราชสากลอย่างฝรั่งเศส มีพระราชวังแวร์ซายเป็นฉากหลัง ที่ทำให้ดูสง่า โอ่อ่า รัชกาลที่ 5 ก็ทรงโปรดให้สร้าง "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ไว้ประดับความศิวิไลซ์ของสยามใหม่อย่างสากล พร้อมทั้งสั่งตัดถนนราชดำเนินให้เปรียบประดุจดังจำลอง ถนน "ฌอง เอริเซ่" มาไว้เสียในพระนคร ในบริเวณพระบรมรูปทรงม้า พลังแห่งสัญลักษณ์ฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเต็มไปด้วยอำนาจอันไพศาล ทั้งเบ็ดเสร็จและสมบูรณ์

 

ดังนั้น เพื่อแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อพลังดังกล่าวให้ชัดเจน การอ่านคำประกาศคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงต้องใช้พื้นที่เดียวกันนี้ในการแสดงพลังแบบใหม่ และตอกย้ำอีกครั้งด้วยการนำ "หมุดประชาธิปไตย" ไปปักฝังไว้ จนเหมือนกับจะตรึงพลังแห่ง "การอภิวัฒน์" ไว้อย่างสถิตเสถียรข้าง "ประติมากรรม" ที่เป็นอุดมการณ์ "เจ้า" บน "ถนน"แห่งความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น

 

หน้า "สถาปัตยกรรม" ฉากหลังสมบูรณาญาสิทธิราชตามแบบอารยะสากล หมุดหมายเล็กๆ ชิ้นเดียวจึงเต็มไปด้วยพลังแห่งการทำลายและสร้างใหม่ทางสัญลักษณ์ในคราวเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะเหนือ "เจ้า" ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎรไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ บนพื้นฐานของการช่วงชิงอำนาจไปมาเท่านั้น แต่ชัยชนะนี้กลับเกิดบนพื้นฐานหลักการอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยที่กำลังเป็นกระแส และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก จนได้รับการยอมรับในทางสากลอย่างกว้างขวางว่า เป็นแนวการปกครองที่ "เลวน้อยที่สุด" ในปัจจุบัน

 

อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เป็นเสมือนหลักชัยในความชอบธรรมที่นำมาสู่ความสำเร็จในการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 ที่ใครก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดี นั่นก็คือ หลัก 6 ประการ ในแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 ได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ซึ่งต่อมาแนวทางดังกล่าวถูกผลักดันอย่างจริงจังในช่วงต้นของการสัมผัสประชาธิปไตย ในช่วงนั้นถูกเรียกว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญ" [3] เช่น การเร่งแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่แสดงถึงความไม่มีเอกราชโดยสมบูรณ์ การขยายการศึกษาภาคบังคับไปทั่วประเทศ หรือความพยายามผลักดันเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์)

 

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็มีรากคิดอันมาจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และหากนำมาหลอมรวมกันเข้าแล้ว ก็กลายเป็นที่มาของเจตนารมณ์ใน มาตราที่ 1 ของธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พ.ศ. 2475 ความว่า

 

"อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย"

 

คงอาจกล่าวได้เต็มปากว่า ความหมายที่แท้ของ "หมุดประชาธิปไตย"นี้ คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า "อำนาจนั้นไม่ได้เป็นของใครหรือกลุ่มใด" หมุดนี้จึงเป็นเสมือนการฝังตรึงเจตนารมณ์ทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยผ่านหลัก 6 ประการ หรือเจตนารมณ์ตามมาตรา 1 ของธรรมนูญการปกครองชั่วคราว อันเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมบนผืนแผ่นดินไทยสยามแห่งนี้

 

วิวัฒนาการสงคราม ศิลปะ อนุสาวรีย์ และสยามสู่ประเทศไทย

 

"...ศิลปกรรมทุกแขนงทุกแนวทางต่างก็รับใช้ลัทธิการเมืองทั้งสิ้น แตกต่างกันที่ว่ารับใช้ลัทธิการเมืองแบบไหน ให้ประโยชน์กับคนกลุ่มใด... "

 

คำกล่าวของวลิดา อินสอนลา หรือนามปากกาของ อำนาจ เย็นสบาย[4] หนึ่งในศิลปินผู้ยืนอยู่ฝั่งศิลปะเพื่อชีวิตที่กล่าวไว้เมื่อ 30 ปีก่อน คงไม่ห่างไกลความจริงที่สะท้อนความเป็นศิลปะสักกี่มากน้อย เพราะศิลปะคงไม่ได้เกิดจากแรงบันดาลใจภายในของศิลปินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังคงต้องมีบริบทอื่นๆ อีกมากมายมากำหนด

 

ทุกยุคสมัย ศิลปะถูกนำมาใช้ในการจัดการความทรงจำและถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองทั้งสิ้นเพียงแต่อาจต่างรูปแบบหรือวิธีการกันไป จึงทำให้ศิลปะมียุคสมัยของมันผ่านมุมมองทางสังคมการเมืองเช่นกัน

 

"หมุดประชาธิปไตย" ก็คือจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่สะท้อนบริบททางสังคมการเมือง แต่คำถามว่า ทำไมมันจึงปรากฏตัวขึ้น และมันสูญหายไปได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่า

 

หากนับนิ้วการเดินทางของศิลปะไทยโดยสังเขปจากการเริ่มอรุณรุ่งของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว แนวทางศิลปะช่วงนั้นเรียกได้ว่า ล้วนผ่องถ่ายมาจากบั้นปลายราตรีของกรุงศรีอยุธยาราชธานีก่อน ทั้งด้านรูปแบบทางศิลปะแล้วพ่วงไปถึง ชื่อวัด ชื่อวัง ชื่อคลอง หรืออื่นๆ โดยผู้สนับสนุนหลักก็หนีไม่พ้นบรรดาชนชั้นปกครองทั้งวังหลวง วังหน้า หรือเจ้านายท้องถิ่น ที่เป็นเช่นนั้นคงเพราะต้องการคงไว้ซึ่งภาพทรงจำของกรุงศรีอยุธยาในอดีต ที่เปรียบได้ดัง "ศูนย์กลางจักรวาลแห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา" การฟื้นกลับสู่สิ่งที่เคยเสียไปก็คล้ายการกล่อมขวัญให้ชาวเมืองหลังการพ่ายแพ้สงคราม การฟื้นฟูความทรงจำทำให้รู้สึกว่าความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางกายภาพและทางวิญญาณของกรุงเทพเมืองฟ้ายังคงอยู่ ดุจเดียวกับสมัยครั้งมีกรุงศรีอยุธยาธานี

 

สำหรับลักษณะทางศิลปะ ช่วงเวลานี้พอจะสรุปแบบสังเขปได้คือ นิยมให้ความสำคัญกับความรู้สึกทางอุดมคติเป็นสำคัญ และไม่สนใจเลยในการให้ภาพแสดงความจริงตามที่ตาเห็น ลักษณะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความงามแบบจารีตหรือประเพณีนิยม

 

จนกระทั่งล่วงเข้าไปสู่สมัยรัชกาลที่ 3 ความแหวกแนวทางศิลปะจึงจะเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นมุมเล็กๆ ผ่านศิลปะที่เลียนแบบความจริงตามที่ตาเห็น เช่น ประติมากรรม "เจ้าพระยาบดินทร์เดชา" (สิงห์ สิงหเสนี) ที่หลวงวิจิตรนฤมิตร และพระสุก (ช่างชาวเขมร) สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวเขมรเอาไว้เคารพบูชาในต่างแดน

 

รูปร่างแห่งศิลปะสยามใหม่ มาเริ่มเข้าที่เข้าทางอย่างชัดๆ เมื่อ "ฝรั่ง" มามีบทบาทอย่างสูงในสังคมการเมืองสยามช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกษัตริย์ได้ทรงยินยอมให้ช่างชาวสยามวาดภาพเลียนอย่างแนวจิตรกรรมตะวันตก

 

จิตรกรรมสมัยใหม่แบบฉีกจารีตของ "ขรัวอินโข่ง"

 

"ขรัวอินโข่ง" จิตรกรหัวสมัยใหม่ที่สุดในเวลานั้น ได้ทำงานจิตรกรรมแบบฉีกแนวประเพณีอย่างที่เรียกว่าฉีกจนสิ้นเชิง ภาพของ "ขรัวอินโข่ง"จะไม่มีลักษณะแบนราบ แต่ได้เพิ่มมิติลวงตาด้วยหลักทัศนียวิทยาอย่างจิตรกรรมฝรั่ง มีการให้สีและแสงเงากับภาพคน รวมไปถึงการวางขนาดวัตถุที่ใหญ่เล็กไปตามมิติระยะ

 

ในส่วนเนื้อหา ภาพจิตรกรรมของ "ขรัวอินโข่ง" ไม่ได้ยึดแนวทางที่จะพูดเรื่องพุทธประวัติหรือทศชาติแบบเดิมๆ ที่เห็นกันทั่วไปตามผนังวัดอีกต่อไป แต่ภาพของเขาจะมีคนฝรั่งและฉากที่คล้ายเป็นทัศนียภาพในประเทศโลกตะวันตก ทั้งที่จิตรกรผู้นี้ไม่เคยเดินทางไปประเทศโลกตะวันตกแม้สักครั้งเดียว จึงตั้งข้อสันนิษฐากันว่า "ขรัวอินโข่ง" ได้ศึกษาวิธีการและมีแรงบันดาลใจจากภาพพิมพ์ฝรั่งที่ส่งมาขายในสยาม

 

อีกประเด็นสำคัญทางศิลปะในยุคสมัยนี้ รัชกาลที่ 4 เองทรงแหกขนบความเชื่อเสียเอง ด้วยการให้หลวงเทพพจนา (พลับ) ปั้นพระบรมรูปขนาดเท่าจริงขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นครั้งแรก สวนทางกับแนวทางเดิมเรื่องความไม่เป็นมงคลและอายุสั้น

 

ต่อมา ความเป็นสยามใหม่ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดในสมัยรัชการที่ 5 เมื่อสถานการณ์โลกเข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมเต็มรูปแบบ การล่าอาณานิคมเกิดไปทั่วโลกจนทำให้ชนชั้นปกครองสยามต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด เพราะมีบทเรียนของการแข็งขืนให้เห็นจากประเทศรอบข้างไม่ว่า พม่า ลาว หรือมลายู แนวทาง "ลู่ตามลม" จึงถูกนำมาใช้อย่างชาญฉลาด โดยยึดถือความศิวิไลซ์แบบฝรั่งมาเป็นอารยะแทนที่ขนบประเพณีสยามดั้งเดิม จนอาจเสมือนตกอยู่ในสภาพอาณานิคมอำพราง เพราะบางทีอาจต้องลู่ตามจนแทบไม่อาจคงอารยะแบบสยามประเพณีไว้ได้เลย 

 

 

"ฝรั่งสวมชฎา" พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

 

ประเพณีใหม่ในเรื่องการทำอนุสาวรีย์ในที่สาธารณะจึงเกิดขึ้นในเวลาดังกล่าวนี้เป็นครั้งแรก (รวมถึงการทำรูปหล่อบุคคลที่มีชีวิต) ได้แก่ "พระบรมรูปทรงม้า" และปรากฏสถาปัตยกรรมอย่างตะวันตกจ๋า อย่าง "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ในขณะที่ประเพณีการสร้างพระที่นั่งแบบสยามก็พลอยถูกนำไปผสมผสานกับอาคารแบบฝรั่งจนกลายเป็น "พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท" ที่มีตัวอาคารเป็นอย่างฝรั่งแต่มียอดมณฑปประดับเบื้องบนจนถูกล้อเลียนอย่างเสียดสีว่าคล้าย "ฝรั่งสวมชฎา"

 

อย่างไรก็ตาม นับได้ว่าสยามในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงเบ่งบานและผลิดอกเต็มที่ของพลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งทางสัญลักษณ์และทางพระราชอำนาจที่รวมมาสู่ศูนย์กลาง

 

ทว่าไม่นานนัก พลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราชก็เริ่มมาสู่จุดคลอนแคลน เมื่อยุคสมัยได้กรายเท้าไปสู่เวลาของ รัชกาลที่ 6 ท่ามกลางหนทางเลือกที่ไม่มีมากนัก ลัทธิ "ชาตินิยมไทย" จึงเป็นหนทางเอาตัวรอดจากสถานการณ์ และได้ส่งผลต่อแนวทางศิลปะในช่วงเวลานี้อย่างมากจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและสวนทางกับศิลปะในรัชกาลที่ 5 ค่อนข้างสูง แม้แต่ "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ก็ทรงวิจารณ์ว่าไม่งามแบบไทย จึงได้ประยุกต์แนวทางศิลปะที่เป็นไทยตามที่ทรงนิยมขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้เองจะกลายเป็นต้นทางสู่ศิลปะแบบคณะราษฎรในหลัง พ.ศ. 2475

 

เวลาของรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่สังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากกระแสการปฏิวัติโค่นล้มพลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างลุกลาม พ.ศ. 2454 ดร.ซุนยัดเซ็น ปฏิวัติล้มล้างอำนาจของราชวงศ์แมนจูในจีนได้สำเร็จ ที่สำคัญคือ ได้ส่งแรงบันดาลใจอย่างมากต่อจีนโพ้นทะเลในสยาม และส่งอิทธิพลต่อกรณีกบฏ รศ.130 ที่มีผู้คิดก่อการเป็นทหารชั้นผู้น้อยที่ต้องการประชาธิปไตย เพียงแต่ถูกจับเสียก่อนที่จะได้เริ่มต้นลงมือ

 

ใน พ.ศ. 2460 ได้เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย พรรคบอลเซวิคได้ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ ตามมาด้วยการสิ้นสุดอำนาจการปกครองของพระเจ้าไกเซอร์ ในเยอรมันนี และสิ้นสุดระบบจักรพรรดิ์ในอสสเตรีย - ฮังการี

 

บนสถานการณ์ที่ล่อแหลมคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์สยามเวลานั้น อุดมการณ์ "ชาตินิยมไทย" ที่ผูกความเป็น "กษัตริย์" ไว้กับ "ชาติ" จนกลายเป็น "ราชาชาตินิยม" กลายเป็นหนทางเลือกในการจะดำรงอยู่จากกระแสประชาธิปไตยอันกำลังเชี่ยวกรากทั่วโลก การพยายามอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยอย่างมีนัยยะสำคัญจึงเกิดขึ้น ต่อมาจึงตั้งหน่วยงาน "กรมศิลปากร" มาทำหน้าที่ถ่ายทอดอุดมการณ์ "ราชาชาตินิยม" อย่างเป็นงานเป็นทางการ แล้วกลายเป็นแนวทางศิลปะมาตรฐานแห่งชาติขึ้น เรียกกันว่า "แนวกรมศิลป์" โดยมีนายช่างคนสำคัญได้แก่  "สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์" และลูกศิษย์คนสำคัญ คือ  "พระพรหมพิจิตร"

 

ช่วงเวลาแห่งการโรยราช่างรวดเร็วนัก สุดท้ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยามก็มาถึงสุดปลายจนได้เพียงในรัชกาลถัดมา แม้ว่ารัชกาลที่ 7 จะยังคงใช้อุดมการณ์ "ราชาชาตินิยม" ต่อเนื่องมาจากรัชกาลที่ 6 ก็ตาม ดังจะเห็นความพยายามเฮือกใหญ่ที่จะสู้กับความเปลี่ยนแปลงผ่านสัญลักษณ์ "สมบูรณาญาสิทธิราชอย่างจารีต" โดยโปรดให้สร้าง "อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1" ด้วยลักษณะเหมือนจริง ขนาดใหญ่โตและน่าเกรงขาม เพียงแต่ทรงฉลองพระองค์เต็มยศอย่างกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โบราณ  

 

ภาพพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

 

ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ว่า พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ไทยแบบโบราณ เป็นที่บูชาแบบไทย ทรงประทับนั่งอยู่เฉยๆ เป็นการเน้นพระราชากฤษฎาภินิหารและพระบรมเดชานุภาพ ทรงเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี ซึ่งรูปแบบนี้กลับต่างจากพระบรมรูปทรงม้าที่แสดงพระเกียรติอย่างฝรั่งอย่างสิ้นเชิง

 

อย่างไรก็ตาม การพยายามของกษัตริย์ทางสัญลักษณ์ในครั้งนั้นดูเหมือนจะช้าไปเสียแล้ว เพราะเพียงหลังจากรัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จเปิดอนุสาวรีย์ดังกล่าวได้เพียง 79 วัน คณะราษฎรก็ได้กระทำการยึดอำนาจมาเป็นของปวงราษฎรชาวไทยในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

และนั่นคือที่มาของ "หมุดประชาธิปไตย" สัญลักษณ์ที่ใช้ในการล้มล้างสัญลักษณ์แห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งมวล

 

สัญลักษณ์ใหม่ในทางศิลปะที่ต่อต้านพลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งมวลก็พลันบังเกิดขึ้นหลังจากนั้นเช่นกัน

 

เพียงแต่เมื่อพลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราชสิ้นสูญไปแล้ว คณะราษฎรยังเลือกที่จะรับสนับสนุนอุดมการณ์ "ชาตินิยมไทย" ไปใช้ต่อ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอำนาจสูงสุดเนื่องจากต้องแสวงหาความชอบธรรมในการปกครอง จึงต้องใช้อุดมการชาตินิยมไทยที่มีผู้นำคล้ายกับผู้นำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไม่เชิดชู "เจ้า" เป็นเครื่องมือสำคัญและถูกแสดงออกมาเป็นแบบเฉพาะในทางศิลปะในช่วง 15 ปี

 

ยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม "พานรัฐธรมนูญ" ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นสำคัญเพื่อเป็นภาพแทนความเสมอภาคและประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องใหม่มากในสังคมสยามและอาจใช้สื่อแทนศูนย์กลางของชาติที่เปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญแทนพระมหากษัตริย์

 

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีสัญลักษณ์เป็น "พานรัฐธรรมนูญ" บน "ถนนราชดำเนิน" จึงมีขึ้นในยุคนี้ อย่างพยายามบรรจุความทรงจำของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เอาไว้อย่างยิ่งยวด ตั้งแต่การกำหนดให้เป็นวันชาติเพื่อให้มีลักษณะเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ใหม่ของประชาธิปไตย การสร้างปีกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้มีความสูงและรัศมีออกจากศูนย์กลาง 24 เมตร มีปืนใหญ่ 75 กระบอกฝังรอบเพื่อรำลึกถึง พ.ศ.2475 พระขรรค์บนบานประตูรอบป้อมที่รองรับพานรัฐธรมนูญมี 6 เล่ม อันหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประติมากรรมต่างๆ รอบปีกทั้ง 4 ก็หมายถึงประวัติของคณะราษฎร

 

ประติมากรรมบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของศิลปะยุคนี้คือ ความค่อนไปทาง "สัจนิยมแนวสังคม" (Social Realism) ได้แก่ รูปแบบศิลปะที่เน้นการแสดงออกถึงลีลาท่าทีที่ขึงขัง ดุดัน หากเป็นคนต้องดูแข็งแรง แสดงท่าทางเคลื่อนไหวที่ดูกำยำ ส่วนเนื้อหามักเป็นภาพคนธรรมดาสามัญ วิถีชีวิต ชาวบ้าน ทหาร และไม่นิยมอย่างยิ่งในการทำภาพเทวดา หรือวีรบุรุษทางประวัติศาสตร์ "เจ้า"

 

เพราะความนิยมในแนวทาง "สัจนิยมแนวสังคม" ภายหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปชมงานแสดงศิลปะของ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ที่มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการร่างหลักสูตรศิลปะสมัยใหม่แบบสถาบันศิลปะในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ที่สนามเสือป่า เขาดินวนา ในพ.ศ. 2482 และเห็นงานของ "แช่ม ขาวมีชื่อ" หนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ฝีมือดีของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่ทำประติมากรรมเป็นบุรุษกำลังทำท่าเหมือนน้าวศร โดยแสดงกล้ามเนื้อ สัดส่วน อย่างดูดุดัน แข็งแรง จึงเกิดความประทับใจ และได้ขอเข้าไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนในวันรุ่งขึ้น เมื่อรับทราบหลักสูตรการเรียนการสอนแล้วเห็นว่าจึงเห็นว่าควรยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย ต่อมา 2 ปี หลังจากนั้น "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ก็กลายเป็น "มหาวิทยาลัยศิลปากร"

 

ส่วนบรรดาศิษย์อาจารย์ "มหาวิทยาลัยศิลปากร" แห่งนี้เองก็กลายเป็นหน่วยสำคัญของการสร้างอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำความเป็นไทยแบบคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน พระรูปพระนเรศวร พระพุทธรูปปางลีลา หรืออนุสาวรย์ชัยสมรภูมิ ฯลฯ

 

ลักษณะเฉพาะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของศิลปะคณะราษฎร ได้แก่ การสนองอุดมการณ์ที่สวนทางกับ "เจ้า" รูปแบบสำคัญที่สะท้อนออกมาได้แก่ การลดทอนความงามตามจารีตที่ต้องประดับองค์ประกอบศิลปะอย่างละเอียดวิจิตร แต่ศิลปะของคณะราษฎรจะใช้รูปแบบความเรียบง่ายมาแทนที่ ไม่ว่าจะด้วยทรวดทรงหรือเส้นสายที่ดูแข็งกร้าวหรือทำเป็นรูปเลขาคณิต

 

โดยเฉพาะในทางสถาปัตยกรรมก็จะใช้วัสดุสมัยใหม่อย่าง "คอนกรีตเสริมหล็ก" มากกว่าเครื่องไม้ดังในอดีต องค์ประกอบตกแต่งสถาปัตยกรรมก็จะทำขึ้นให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของคอนกรีต ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนสัดส่วนลวดลายเครื่องมุงหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา หรือหางหงส์ จนกลายเป็นเพียงเส้นกรอบนอกทางเลขาคณิตที่พอเห็นเค้าลางอย่างจารีตบ้างเท่านั้น

 

ศาลาเฉลิมไทย สถาปัตยกรรมคอนกรีต แบบคณะราษฎร ซึ่งต่อมาถูกรื้อถอนเพื่อเปิดมุมมองให้กับวัดราชนัดดาฯที่มีความงามอย่าง "จารีต"

 

ผู้มีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่ออุดมการณ์ช่วงนี้ได้แก่ "พระพรหมพิจิตร" ไปเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยในมหาวิทยาลัยศิลปากรในเวลาต่อมา ลักษณะรูปแบบที่ปรากฏจึงเป็นการพัฒนาแนวทางต่อเนื่องมาจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ผู้เป็นอาจารย์ เพียงแต่ลดทอนลวดลายที่จะสะท้อนถึงอุดมการณ์การแห่งฐานานุศักดิ์แบบจารีตออกไป

 

ดังนั้น แม้ศิลปะจะเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจของผู้สร้างสรรค์งานส่วนหนึ่ง แต่ในช่วงเวลาของคณะราษฎรกลับเป็นเรื่องของการส่งเสริมจากรัฐบาลที่เนื้อแท้แล้วต้องการนำศิลปะไปสนองต่อนโยบายของรัฐและราชการ รวมไปถึงใช้ในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อเลยทีดียว

 

จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในพ.ศ. 2487 และการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ความเสื่อมโทรมของศิลปะช่วงนี้จึงเริ่มต้น นายปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎรสายพลเรือนได้ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนที่ในฐานะเสรีไทยคนสำคัญและมีบทบาทอย่างสูงทางการเมือง

 

ทิศทางการเมืองไทยหลังจากนั้นมาจึงเป็นไปในทางเสรีภาพที่ไม่ผูกติดกับความเป็น "ชาตินิยม" หรือ "รัฐนิยม" เพราะนายปรีดี ได้ยกเลิกแนวทางดังกล่าวเสีย และให้มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ที่เปิดโอกาสให้มีการตั้งพรรคการเมืองอย่างเสรี มีการเลือกตั้ง และกำหนดห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในเวลาเดียวกัน ทว่าบรรยากาศนี้ก็อยู่เพียงประมาณ 2 ปี เพราะต่อมา นายควง อภัยวงศ์ ได้แตกแยกกับ นายปรีดี แม้จะเป็นคณะราษฎรสายพลเรือนด้วยกันก็ตาม

 

นายควงจึงหันกลับไปเป็นมิตรกับฝ่ายนิยมเจ้าซึ่งกำลังฟื้นตัวกลับมา สถานการณ์ของนายปรีดีล่อแหลมขึ้นเมื่อถูกผูกโยงเข้ากับกรณีสวรรคตของ รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 กระแสประชาธิปไตยจึงตกอย่างรวดเร็วและทำให้เผด็จการทหารนิยมและอำนาจนิยมฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วด้วยการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง

 

แต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 แม้ว่า จอมพล.ป.พิบูลสงคราม จะยังอยู่ในฐานะผู้นำ อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกลับไม่ได้อยู่ในมือเหมือนตอนเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในช่วง 4 ปี แรก เกิดการกบฎถึง 3 ครั้ง ในกลุ่มทหารด้วยกัน ได้แก่ กบฎเสนาธิการ กบฎวังหลวง และกบฎแมนฮัตตัน นอกจากนี้ อำนาจบางส่วนก็ไปตกอยู่ในมือผู้นำการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ไม่ว่าจะเป็น จอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งอำนาจใหม่เหล่านี้ดูจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากกว่าการคุ้นเคยกับแนวทางประชาธิปไตยหรือความเป็นสากล อีกทั้งมีแรงสนับสนุนจากบรรดานักการเมืองกลุ่มนิยมเจ้าหลายคน เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน์ หรือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

ในที่สุด จอมพลป. พิบูลสงคราม จึงต้องยอมประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจหลายฝ่าย แม้แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มเจ้า ทำให้ไปสู่ยุค "ราชาชาตินิยมใหม่" และสะท้อนออกไปทางศิลปะที่เป็นการจบเส้นทางของศิลปะแบบคณะราษฎร

 

บรรดาอนุสาวรีย์ความทรงจำของ "ราชาชาตินิยมใหม่" ได้พากันผุดขึ้นอย่างไม่เคยเกิดในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอำนาจในครั้งแรก ในช่วง พ.ศ. 2490 - 2500 อนุสาวรีย์กษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกเป็น "พระบิดา" ด้านต่างๆ มากมาย

 

เมื่อพลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านแนวทาง  "ราชาชาตินิยม" สูงขึ้น ก็ตามมาด้วยความพยายามทำลายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เคยส่งผ่านศิลปะคณะราษฎร ทั้งการดูถูกด้านความงามหรือการพยายามให้ความหมายใหม่ แม้แต่ "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ก็มีความพยายามที่จะทุบส่วนกลางที่เป็น "พานรัฐธรรมนูญทิ้ง"

 

โดยคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นมีมติให้สร้าง "อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7" ขนาดใหญ่ 3 เท่าขึ้นมาแทน โดยให้เหตุผลว่า ส่วนดังกล่าวเป็นเพียงวัตถุสิ่งของเท่านั้น หากนำพระบรมรูปไปตั้งแทนแท่นกับพานจะเหมาะสมกว่า ทั้งด้านศิลปะและด้านที่ระลึกถึง "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง" แต่โครงการดังล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม อ้างว่าได้ใช้เงินไปในโครงการอื่นหมดแล้ว

 

อาจกล่าวได้ว่า หลังจาก พ.ศ.2490 เป็นต้นมา พลังแบบสมบูรณาญาสิทธิราย์ที่เคยพ่ายแพ้ไป พ.ศ. 2475 จึงได้ฟื้นกลับมาอย่างเปี่ยมไปด้วยพลังและแนวร่วม แต่ในหลายครั้งก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในสังคมการเมืองแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือการใช้เป็นข้ออ้างในการสังหารนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของ "ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์"

 

หรือเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 การยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็อ้างสาเหตุสำคัญประการหนึ่งในการกระทำรัฐประหารคือ เพื่อขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากรัฐบาลละเลยคดีลอบสังหารเชื้อพระวงศ์

 

ล่าสุดคือ การใช้วาทกรรม "คืนพระราชอำนาจ" ปั่นให้เกิดเป็นกระแส "เสื้อเหลือง" ทั่วบ้านทั่วเมืองและเรียกหา "มาตรา 7" เพื่อใช้เป็นพลังในการสร้างเงื่อนไขสู่การยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.)ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ก็ยกเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งในการยึดอำนาจเช่นกัน ดังเนื้อความใน ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ที่ว่า

 

ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้  ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป…"  (เน้นตัวหนาโดยผู้เขียน)

 

ย้อนกลับไปสรุปเรื่องพลังทางศิลปะ เมื่อกาลสมัยผ่านมาถึงขณะนี้ ดูเหมือนว่าพลังแห่ง "หมุดประชาธิปไตย" ดูจะสิ้นสุดลงไปอย่างสิ้นเชิงเสียแล้ว เมื่อเราผ่านบริเวณ "อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า" ตาเนื้อเราของคงจะมองเห็นเพียงภาพปั้นของรัชกาลที่ 5 ที่สง่า โออ่า เบื้องหน้า "พระที่นั่งอนันตสมาคม" อันใหญ่โต บนท้อง "ถนนราชดำเนิน" ที่สวยงาม

 

เมื่อตาเนื้อมองไม่เห็น "หมุดประชาธิปไตย" ที่ฝังอยู่ข้างกันนั้นฉันใด ก็ย่อมจะมองไม่เห็น "สารัตถะ" สำคัญที่บันทึกไว้ภายในประติมากรรมชิ้นฉันนั้นด้วย กล่าวคือ เมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สังคมไทยก้าวเดินไปข้างหน้าด้วย "การอภิวัฒน์" จนพอจะพูดได้ว่าก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ก้าวพ้นไปจากสังคมเผด็จการแบบ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และแตะสัมผัสแนวทาง "ประชาธิปไตย"

 

การเดินทางหลายสิบปีหลังจากนั้น แม้ว่าจะก้าวพลาดหรือสะดุดขาตัวเองบ้างในบางครั้ง แต่เมื่อเดินไปถึง พ.ศ.2540 สังคมไทยก็ได้ปักหมุดประชาธิปไตยกันอีกครั้ง เมื่อสามารถพากันก้าวเดินกันไปถึงจุดที่สามารถมี "รัฐธรรมนูญ" อันมีที่มาจากเจตรมณ์ร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศเป็นครั้งแรก

 

"รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540" เป็นเสมือน "หมุดประชาธิปไตยจุดที่ 2" อันเป็นความสำเร็จจากการสั่งสมประสบการณ์การเดินทางอันยาวนานจนสามารถยืนยันความสำเร็จของการ "อภิวัฒน์"ไปข้างหน้า นับจาก พ.ศ. 2475 บนความหมายที่ซุกซ่อนเอาไว้ใน "หมุดประชาธิปไตยจุดแรก"

 

ทว่า 19 กันยายน พ.ศ. 2549 กลับเกิดการเดินถอยหลังก้าวใหญ่และล้มครืนลงอย่างน่าอเน็จอนาจ การรัฐประหารได้นำพาประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารนิยม อำนาจนิยม อีกครั้ง รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนร่วมแรงกันร่างจน "อำนาจสูงสุดได้เคยเป็นของราษฎรทั้งหลาย" แล้วนั้น พลันถูกฉีกกระชาก และกระทืบด้วยอำนาจอันถ่อยทราม เจตนารมณ์ใน "หมุดประชาธิปไตย" พลันถูกบดบังด้วยท็อปบู้ทสีดำมะเมื่อมมันวาว

 

24 มิถุนายน 2550 เป็นการครบรอบ 75 ปี ของการอภิวัฒน์สังคมไทย ภายใต้สถานการณ์การถอยหลังครั้งสำคัญ แต่ดูเหมือนว่า 9 เดือนที่ผ่านมา แทบจะไม่มีผู้สนใจสักเท่าไรว่า "อำนาจสูงสุดควรเป็นของราษฎรทั้งหลาย" แล้วหรือไม่ เรามี "เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา" แล้วหรือยัง

 

สิ่งที่ดูจะมืดมนลงไปอีก เมื่อครูบาอาจารย์หลายคนในมหาวิทยาลัยที่นายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในคณะราษฎรผู้ร่วมอภิวัฒน์ประชาธิปไตยก่อตั้งขึ้น เหมือนจะกระทำการเนรคุณต่อจิตวิญญาณผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย แล้วไปสนองตอบต่อ "อำนาจพิเศษ" ที่ไม่ใช่แนวทางตามหลัก 6 ประการ หรือแนวทางตามระบอบประชาธิปไตย ในทางกลับกันคือ ไปทำหน้าที่แก้ต่างทางวิชาการให้กับการใช้ "อำนาจพิเศษเหนือราษฎรทั้งหลาย" อย่างสม่ำเสมอ

 

ต่อไปนี้ "หมุดประชาธิปไตย" คงไม่อาจจะทรงความหมายในตัวมันเองได้อีกต่อไป และเมื่อมองไม่เห็นหมุดหมายทางประชาธิปไตยกันเสียแล้ว บางทีการแคะออกมา เลี่ยมทองไว้ห้อยคอแบบองค์จุคามรามเทพ อาจจะยังมีประโยชน์เสียกว่าฝังถนนไว้ให้ "ประชาธิปไตย" ต้องดมกลิ่นตีน

 

อย่างน้อยๆ ทองเหลืองมันก็คงกันกระสุนได้ดีกว่าเนื้อดิน เนื้อว่าน เป็นแน่แท้

 

.....................

อ้างอิงข้อมูลหลักจาก

ชาตรี ประกิตนนทการ. "การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม".กรุงเทพ : มติชน,2547

 

สุธี คุณาวิชยานนท์. "จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่ : ว่าด้วยความพลิกผันของศิลปะจากประเพณี สู่สมัยใหม่และร่วมสมัย" .กรุงเทพ : บ้านหัวแหลม,2546

 



[1] สุธี คุณาวิชยานนท์ อ้างจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์. "สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย".ชาติไทย, เมืองไทย ,แบบเรียนและอนุสาวรีย์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน,2538) หน้า 105 - 109

[2] สุธี คุณาวิชยานนท์สุธี คุณาวิชยานนท์. "จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่ : ว่าด้วยความพลิกผันของศิลปะจากประเพณี สู่สมัยใหม่และร่วมสมัย" .(กรุงเทพ : บ้านหัวแหลม,2546) หน้า 9

 

 

[3] ชาตรี ประกิตนนทการ อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ . "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนไทย" . 60 ปี ประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ 60 ปีประชาธิปไตย,2536) หน้า 17

[4] สุธี คุณาวิชยานน อ้างจาก "ความเห็นของครูสอนศิลปะเรื่องศิลปะกับการเมือง" สยามรัฐรายวัน 21 พ.ค. 20 หน้า 9

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท