Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 26 มิ.ย. 50 สมัชชาแรงงาน 1550 ซึ่งประกอบด้วยสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานกระดาษและสิ่งพิมพ์แห่งประเทศไทย, กลุ่มกรรมกรปฏิรูป, สหภาพแรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก, พันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตย, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, และพรรคแนวร่วมภาคประชาชน จัดการอภิปรายเรื่อง ท่าทีกรรมกรกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... (2550) ที่ห้องมาลัย อาคาร 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา


 


ภายในห้องมาลัย มีป้ายผ้า เขียนข้อความ "คน ≠ กบ เราไม่ต้องเลือกนายก็ได้" นอกจากนี้ ยังมีการแจกคู่มือโหวตล้มรัฐธรรมนูญคณะรัฐประหารและสติ๊กเกอร์ของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ด้วย


 


 



สติ๊กเกอร์ของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


ภาพจาก http://www.wevoteno.net


 


นายอุเชนทร์ เชียงเสน ตัวแทนเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร กล่าวว่า การต้านรัฐประหารที่ผ่านมา ได้ให้บทเรียนบางอย่าง โดยจะเห็นว่าไม่มีนักวิชาการคนไหนกล้าออกมาบอกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ดีกว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ยกเว้นบางพวกที่เข้าไปอยู่ในกลไกของ คมช. นอกจากนี้ คนเหล่านั้นยังอ้างเหตุผลสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วแก้ทีหลัง ไม่เช่นนั้นอาจได้รัฐธรรมนูญฉบับที่แย่กว่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตการเมือง


 


หลังจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 ระบุว่า จะมีการตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนลงประชามติ เครือข่าย 19 กันยาฯ ได้ออกมาค้านตั้งแต่ยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาไม่ชอบธรรม


 


นอกจากนี้นายอุเชนทร์ ตั้งคำถามว่า สมัชชาแห่งชาติ 200 คนที่เลือกกันเหลือ 100 คน และเหลือเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 25 คนกับอีก 10 คนจาก คมช. คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของใคร มีความชอบธรรมอะไรในการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อที่มาเป็นเช่นนี้ ก็คาดการณ์ได้ว่า รัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไร


 


ทั้งนี้ การจะเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตอนนี้จะเห็นว่า ปิดมาก มีการประชุมลับในประเด็นสำคัญ การต่อรองแก้ไขจึงเป็นไปไม่ได้ และหากปล่อยให้มันผ่านประชามติไปได้ก็เท่ากับรองรับการรัฐประหาร ถ้าประชามติผ่านจะเท่ากับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ทหารและกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะเข้ามามีอำนาจ


 


การร่างรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจพรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนหมายถึงการลดอำนาจประชาชนด้วย ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการรวมกลุ่มของประชาชนได้


 


"เพื่อการเมืองไทยในระยะยาวและเพื่อทำให้รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ต้องร่วมกันล้มรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพราะไม่เห็นด้วยกับข้อเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นเพราะไม่ยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร" นายอุเชนทร์ กล่าว


 


นางสาวศุกาญน์ตา สุขไผ่ตา ตัวแทนสมัชชาผู้ใช้แรงงาน1550 กล่าวว่า ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 กรรมกรมีกิจกรรมในการผลักดันเรื่องต่างๆ อาทิ คัดค้านเอฟทีเอ เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำและความปลอดภัยในการทำงาน แต่หลังจากรัฐประหารขบวนการแรงงานก็เงียบสนิท ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 40 ให้โอกาสในการชุมนุมเรียกร้องยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลหรือนายจ้างมากกว่า


 


สำหรับเหตุผลที่สร้างการยอมรับให้สังคมไทยไม่ค้านรัฐประหารทันที คิดว่าเป็นเพราะกระแสต้านรัฐบาล โดยบอกว่ารัฐบาลสร้างความแตกแยก และข้อหาสำคัญคือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังที่ให้เหตุผลของการรัฐประหารไว้ 4 ข้อ จนถึงวันนี้ 9 เดือน 5 วันแล้ว มีอะไรที่ คมช. ทำแล้วสำเร็จบ้าง ปราบคอร์รัปชั่นได้แค่ไหน ดูแลเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนได้แค่ไหน ปัญหาภาคใต้ที่รุนแรงขึ้น ชาวบ้านถูกลากไปข่มขืน นักศึกษาต้องมาช่วยชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขเลย นอกจากนี้ยังมีการเร่งวันลงประชามติรัฐธรรมนูญให้เร็วขึ้นจาก 2 ก.ย. เป็น 19 ส.ค. เพื่อให้สังคมเห็นว่าเขาพยายามทำงานแล้ว จะค้านอะไรกันอีกด้วย


 


กรณีที่มีการประกาศขึ้นค่าแรงให้แรงงานนั้น เธอมองว่า เป็นเพราะรัฐบาลเห็นแรงงานฮึ่มๆ กัน จึงรีบออกประกาศขึ้นค่าจ้างให้มีผลในเดือนตุลาคม โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่น้อยกว่า 7 บาท หลายคนอาจคิดว่า ถ้าค่าจ้างขึ้น 7 บาทก็คงไม่ออกมาทำอะไรแล้ว แต่เธอเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากเศรษฐกิจย่ำแย่กับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเทียบกันแล้วไม่พอกัน


 


ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สังคมไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามน้ำพระทัยของกษัตริย์ ไม่ต้องมีลายลักษณ์อักษร แต่ในระบอบใหม่หรือประชาธิปไตย ต้องมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกติการ่วมของสังคม ระบุว่าประชาชนมีสิทธิอย่างไร แสดงการจำกัดอำนาจรัฐ ปกครองโดยกฎหมายเป็นนิติรัฐ การดำเนินการใดๆ จะทำโดยพลการไม่ได้ ต้องออกเป็นกฎหมาย


 


ยกเว้นบางคราวที่ประชาธิปไตยถูกทำลายโดยกลุ่มบุคคล ซึ่งโดยมากเป็นทหารบก ที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของบ้านเมือง เข้ามาจัดระเบียบ มีอำนาจรัฐประหาร ทั้งยังออกประกาศและบอกว่ามีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ถือเป็นกฎหมายเถื่อน ซึ่งประกาศเองใช้เอง ไม่ต่างจากมีคนเอาปืนมาจี้ให้ทำตาม พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน บอกเองว่า รัฐธรรมนูญ 40 ก็ดี แต่ก็ให้เลิกใช้ มีการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2549 ขึ้นมา ระบุให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้มาจากประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ซึ่งเมื่อร่างกันเองแล้ว จะให้ประชาชนไปรับร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร


 


ทั้งนี้ เห็นว่ามีปัญหาทั่วไปในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่ขาดการถกเถียงกันอย่างจริงจัง นั่นคือ การจัดการพระราชอำนาจของกษัตริย์ เขายกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2492 เป็นต้นมาที่ระบุให้มีองค์กรองคมนตรี ซึ่งถึงตอนนี้เรามี 19 คน ไม่เคยมีใครถามกันว่าทำไมต้องมีเยอะ องคมนตรีมีหน้าที่ถวายคำปรึกษา ซึ่งเห็นว่ากษัตริย์มีสิทธิตั้งที่ปรึกษาได้โดยไม่ต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นการให้คำปรึกษาด้านการเมืองหรือประเทศ ก็ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีที่มาจากสภาฯ เป็นผู้ถวายคำปรึกษา ถ้านอกจากนี้จะไม่ใช่ประชาธิปไตย นั่นมันสมบูรณาญาสิทธิราชย์


 


รัฐธรรมนูญ 50 มีปัญหาหลายเรื่องตั้งแต่ร่างโดยไม่ไว้ใจประชาชน กลัวประชาชนแห่กันไปเลือกตั้งให้ทักษิณกลับมา ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่กลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแม้การเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตยแต่การไม่ได้ใช้สิทธิก็เป็นสิ่งที่แย่ จะถูกผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการเลือกของประชาชนก็ต้องยอมรับ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังให้มีการเลือก ส.ส. แบบพวงใหญ่ เป็นรัฐบาลผสม แปลว่ารัฐบาลเข้มแข็งไม่ได้ รวมทั้ง ส.ว. มาจากการสรรหา


 


นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐละเอียดที่สุด เท่ากับพรรคการเมืองที่เลือกตั้งเข้ามาไม่มีอิสระในการเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามกรอบนี้ เช่น มาตรา 82 รัฐต้องส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะให้มีผลบังคับใช้จริง ถ้ามีพรรคอื่นเสนอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จะแปลว่าไม่พอเพียงหรือไม่ พี่น้องกรรมกรก็จะไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าแรง ต้องอยู่อย่างพอเพียงและสมถะ


 


แม้แต่รัฐธรรมนูญ 40 ก็มีปัญหา แต่เชื่อว่า ต้องแก้กันในระบบ ไม่ใช่เอารถถังออกมา เพราะนั่นคือการทำลายระบบทั้งระบบ ดังนั้นต้องคว่ำรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ 40 ยังอยู่แม้มีข้ออ่อนก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญ 50 ก็ไม่ได้ดีกว่าและมีที่มาไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้การเมืองถอยหลังไม่จบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net