สสร.ส่วนใหญ่ เห็นพ้องภาคประชาสังคม หนังสือสัญญาระหว่างประเทศต้องผ่านสภา

ประชาไท - 27 มิ.ย.50  สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ขอให้มีการหารือนอกรอบ ในมาตรา186 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เนื่องจากสสร.ที่ขอแปรญัตติทั้ง 5 กลุ่ม เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยว่าหนังสือสัญญาหรือความตกลงสำคัญๆ  เช่น เอฟทีเอจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนการลงนามผูกพัน นอกจากนั้นยังระบุถึงความจำเป็นในกระบวนการเจรจาที่ต้องมีความโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากประชาชน จึงขอให้กมธ.ยกร่างฯ เชิญตัวแทนของกลุ่มส.ส.ร.ที่แปรญัตติได้เจรจากันนอกรอบเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ก่อนจะนำเข้ามาสู่การพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้งเมื่อบ่ายที่ผ่านมา

ผลการประชุมร่วมระหว่าง สสร. ที่ได้ยื่นแปรญัตติมาตรา 186 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ กับกรรมาธิการยกร่าง โดยได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น

โดย สสร. ส่วนใหญ่ ยังคงเห็นไปในทิศทางเดียวกับนักวิชาการและภาคประชาสังคมว่า นอกเหนือจากหนังสือสัญญาที่จะต้องออกกฎหมายใหม่ หรือหนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดน หรือขอบเขตอำนาจรัฐแล้ว หนังสือสัญญาทางด้านการค้าหรือการลงทุน หรือที่มีผลผูกพันต่องบประมาณรายจ่ายอย่างสำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนการลงนามผูกพัน

นอกจากนี้ยังเห็นว่า จะต้องมีการปรับปรุงการให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมมากขึ้น และจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการชี้แจงต่อรัฐสภาในช่วงก่อนและระหว่างการเจรจาให้ดีขึ้น รวมทั้งจะต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ชัดเจน

ในช่วงท้าย ที่ประชุมยังระบุถึงความจำเป็นว่าจะต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยกระบวนการเจรจาเพื่อจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อที่จะลงรายละเอียดในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

การศึกษาวิจัยผลกระทบ การมีส่วนร่วมของประชาชน และมาตรการรองรับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันที่จะให้การทำหนังสือระหว่างประเทศคงเนื้อหาตามมาตรา 224 ในรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อจะไม่ต้องนำหนังสือสัญญาว่าด้วยการค้าหรือการลงทุน เช่น เอฟทีเอ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยอ้างว่าควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในประเทศมากกว่า กระทรวงการต่างประเทศยังได้เสนอให้กำหนดส่วนว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นไว้ในมาตราอื่น และจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะช่วงก่อนเริ่มการเจรจา
เท่านั้น

ทางด้านตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงถึงความไม่จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายประกอบการเจรจา โดยอ้างว่า กลไกในปัจจุบันน่าจะเพียงที่จะรองรับสถานการณ์

หลังจากที่ให้ข้อมูลแล้ว ที่ประชุมได้เชิญผู้ให้ข้อมูลทุกฝ่ายออกจากห้องประชุม


แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมรับหลักการตามเสียงส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย  ดังนั้นจึงต้องจับตามองว่า มตินี้อาจถูกพลิกก่อนนำเข้าสู่ สสร.ในวันศุกร์ (29 มิ.ย.) นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท