Skip to main content
sharethis

ฐิตินบ โกมลนิมิ


สำนักข่าวชาวบ้าน


 


ชื่อบทความเดิม - "ภายใต้กฎอัยการศึก เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้" - สมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มพลเมืองภิวัตน์, สำนักข่าวชาวบ้าน, 8 ก.ค. 2550


 



(ที่มาของภาพ : สำนักข่าวชาวบ้าน)


 


000


 


"....ในภาวะของการประกาศกฎอัยการศึก จะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าประชาชนไม่มีโอกาสได้คุยกันและทำความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ และปล่อยให้ สสร. ได้รณรงค์ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่แต่ฝ่ายเดียว...มิพักต้องกล่าวถึง ร่างพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ล้มไปได้เลย...."


 


24 ชั่วโมง ที่ "สมบัติ บุญงามอนงค์" แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ ถูกทหารจำนวนหนึ่ง "รวบตัว" และ "กักตัว" หลังจากขึ้นปราศรัยต่อต้านเผด็จการ ณ สถานีขนส่งจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกับนายปณิธาน อาหยิ ชาวอาข่า ที่มาร่วมชุมชนทางการเมืองและช่วยดูแลความปลอดภัยให้นายสมบัติในวันนั้น


 


สมบัติหรือ บก.ลายจุด เล่าลำดับเหตุการณ์หลังจากถูก "รวบและกักตัว" ให้ทีม "สำนักข่าวชาวบ้าน" ฟัง ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่งในไนท์บาซาร์ ณ สถานที่เกิดเหตุของค่ำคืนก่อนหน้านี้ โดยละเอียด


 


"เหตุการณ์ค่ำ วันที่ 6 หลังจากผมปราศรัยไปได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ขอเชิญตัวผมไปคุยกันที่โรงพัก ผมก็ถามว่าผมผิดข้อหาอะไร ช่วยแจ้งข้อหาด้วยครับ เขาบอกผมว่าพูดพาดพิงถึงคนอื่น ใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงผมจะโต้เถียงกับตำรวจตรงนั้นเขาก็ยังให้ผมได้ปราศรัยต่ออีกหนึ่งชั่วโมง แต่ผมพูดไปได้อีกไม่ถึง 20 นาที ก็มีนายทหารกลุ่มหนึ่งตรงมาที่รถของผม ประกาศตัวว่าเป็นอัยการทหาร ขอควบคุมตัว ตามพ.ร.บ. "กฎอัยการศึก 2457" "


 


 "นาทีนั้น ผมตระหนักแก่ใจ มาแล้ว "ทหาร" นี่แหละ คือผู้ที่พยายามใช้อำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่ตำรวจ ผมจะไม่ยอมให้ตำรวจจับผม ต้องทหารเท่านั้น"


 


"ผมถึงยอมให้ควบคุมตัวโดยดี"


 


"ผมไม่ได้ถูกใครทำร้ายร่างกาย แม้ระหว่างการควบคุมตัว หลายคนอาจเห็นว่าดูรุนแรง สำหรับผมแล้ว ทหารก็ไม่ได้มีความพยายามใช้อำนาจทำร้ายร่างกาย"


 


"แต่เขาทำร้ายผมด้วยวาจา" นายสมบัติ ยอมรับไม่ทราบว่า นายทหารเหล่านั้นชื่ออะไร ชั้นยศอะไรกันบ้าง


 


"คืนแรก เขาสอบสวนผมไม่เป็นทางการ ก็บอกก่อนเลยว่า เขาจะกักตัวผมเพื่อสืบสวนสอบสวน 7 วัน ตามอำนาจของ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ผมก็ตอบไม่มีปัญหา ทหารยังถามว่า รู้ไหมว่าที่นี่เขตกฎอัยการศึก ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตสำหรับผู้ที่ทำลายประเทศชาติ"


 


"ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรอีก แต่ที่ผมโกรธคือทหารพยายามใช้จิตวิทยาในการสอบสวน บอกว่าผมมีสิทธิอะไร ไม่มีสิทธิอะไรบ้าง"


 


"โอเค ผมมีสิทธิได้กินข้าวและน้ำ 3 มื้อ แต่ผมไม่มีสิทธิสื่อสารกับใคร ไม่มีสิทธิขอแต่งตั้งทนายความตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีสิทธิให้คนใกล้ชิดได้อยู่และฟังเวลาที่ผมให้การ ต้องอยู่ในพื้นที่ที่ทหารอนุญาตและจำกัดบริเวณเท่านั้น ห้ามดื่มน้ำระหว่างการสืบสวนสอบสวน โดยเขามีสิทธิกักตัวผมในการสอบสวน 7 วัน เพื่อตั้งข้อหา ผมก็ถามเขานะ ว่าทำไมไม่มีสิทธิดื่มน้ำ เขาไม่ได้ให้เหตุผล บอกเพียงเป็นเรื่องของการสอบสวน"


 


"ที่ผมสงสัยคือ อาหยิ เขากระโดดขึ้นมาในรถทหารที่ควบคุมตัวผม เขาไม่ได้ถูกจับแบบผมนะ แบบว่ากระโดดขึ้นรถเพราะความเป็นห่วงผม แต่พอถึงค่ายทหาร เขาก็จับอาหยิไปกักตัวและสอบสวนด้วย โดยให้แยกพักคนละที่กับผม ไม่ให้อยู่ด้วยกัน ตัดการสื่อสารผมทุกชนิด ประเด็นของผมคือ อาหยิผิดอะไร กักตัวเขาด้วยเหตุผลใด"


 


ถ้าถามถึงความเป็นอยู่ 24 ชั่วโมงนั้น นายสมบัติ เล่าติดตลก "เขาเลี้ยงข้าวหน้าเป็ด มีกาแฟให้กินด้วยนะ ทหารบอกให้กินให้เต็มที่เลยมีงบ 165 บาท ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ผมได้นอนห้องแอร์อย่างดี ที่เป็นห้องพักรับรองของนายทหาร แต่ผมก็ไม่ได้เปิดแอร์หรอกนะ ห้องมันใหญ่ เที่ยงคืนกว่าผมก็หลับสนิทแล้ว เพลียมากเลย"


 


จากนั้นท่าทีและน้ำเสียงจริงจังก็กลับมา


 


"ตั้งแต่ถูกกักตัว ผมทราบว่ามีความพยายามเคลื่อนไหวข้างนอกจากเพื่อน คนรู้จัก และเครือข่ายตลอดเวลา ผมไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง รู้แต่ว่าทหารที่รายล้อมผมต้องรับโทรศัพท์กันไม่ได้หยุด จนเขาเองคงรู้สึกหงุดหงิด เพราะถูกกดดันว่าอะไรกันนักกันหนา และเขาเองคงไม่คุ้นชินที่มีชาวบ้านมายืนหน้าค่าย แค่ 60 คนเองนะ และดูเหมือนกำลังทยอยกันมาชุมนุมเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เขารู้สึกกดดันมากขึ้น จนต้องออกมาขอให้ชาวบ้านกลับไป อย่ามาชุมนุม อย่ามากดดันกัน เหตุการณ์นี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่าทหารไม่ชอบการต่อรอง และเขาก็หงุดหงิดมากขึ้น ยิ่งดึกก็ยิ่งมีโทรศัพท์เข้ามามากมาย"


 


"ที่ผมรู้แน่ๆ คนที่พยายามติดต่อผมคือ ครูแดง (นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติ) หมอเหวง (นพ.เหวง โตจิราการ) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ซึ่งป่านนี้ผมยังไม่ทรายเลยครับว่าชื่ออะไร และเกี่ยวข้องกับผมช่วงไหน อย่างไร แต่มีคนเดียวที่ผู้การทหาร ผมไม่ทราบชื่อส่งโทรศัพท์ให้ผมคุยด้วยคือ ครูแดง"


 


"ที่เขาให้ผมพูด คิดว่าทหารคงเกรงใจครูแดง หรือคนที่อยู่ข้างหลังครูแดงนั่นเอง"


 


"ก็ได้รับสัญญาณถึงความเป็นห่วง การปลอบขวัญ ครูแดงพูดให้สบายใจว่าพี่ๆ ทุกคนเป็นห่วง ให้วางใจว่าจะไม่ได้รับการคุกคามหรือทำร้ายร่างกาย"


 


สมบัติ เล่าตัวอย่างการกดดันให้ฟัง "ผู้การทหารบอกว่าจะปล่อยตัวผม ตั้งแต่ตอนเช้า ถ้าผมยอมเซ็นชื่อว่าจะไม่เคลื่อนไหวแบบดาวกระจายในพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกอีก ไม่ร่วมกิจกรรมกับนปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) แต่ผมไม่ยอมเซ็น ไม่ตกลงด้วย เขาก็บอกว่า ถ้างั้นเตรียมตัวย้ายไปพิษณุโลกได้เลย"


 


แล้วรู้ไหมว่าคืนนั้น เขาเตรียมให้ญาติเข้าเยี่ยม มีการติดต่อภรรยาและลูกสาวมารอที่หน้าค่ายตอนกลางคืนแล้ว ซึ่งทั้งสองคนและบรรดาพี่น้อง เพื่อนร่วมงานที่ทราบข่าวเป็นห่วงมาก


 


"ผมไม่ทราบ เขาไม่ให้ผมติดต่อสื่อสารใดๆ กับใครเลย ยกเว้นครูแดงอย่างที่เล่าให้ฟัง ผมเข้าใจเอาเองนะ เขาพยายามไม่ให้ข้อมูลจากข้างในค่าย ข้อมูลของทหารออกไปข้างนอก หรือก็ให้ออกน้อยที่สุด หรือเท่าที่ควบคุมได้"


 


เราจึงได้เล่าให้ฟังต่อว่า ภรรยาและลูกถูกเรียกมาตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้นอีกครั้ง แม้แต่ที่มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์เชียงราย กลางดึกประมาณเที่ยงคืน ได้มีตำรวจและสายตรวจอาสามาตั้งด่านตรวจที่บ้านทุ่งหลวง ทำการตรวจค้นและสอบถามผู้ที่ผ่านเข้าออกยามกลางดึกจนวันรุ่งขึ้นเลย


 


สมบัตินิ่งไปพักใหญ่ "อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ยังไม่มีใครเล่ารายละเอียดแบบนี้ให้ผมฟัง"


 


"แล้วรู้สึกกลัวไหม? ที่ถูกรวบตัวและกักตัวลักษณะนี้"


 


"ไม่นะ โดยบรรยากาศของห้องรับรองที่ปรับเป็นห้องสอบปากคำ มีทหารและนายทหาร เพียง 4-5 คน ไม่ได้ทำให้เรากลัว อาจจะเครียดบ้างเพราะถูกกดดัน"


 


000


 


 "ผมถูกสอบสวนอย่างเป็นทางการก็ช่วงบ่ายของวันที่ 7 จนถึงค่ำ โดยแม่ทัพภาคที่ 3 (พล.ท.จิรเดช คชรัตน์) ได้ส่งผู้อำนวยการกองข่าวจากพิษณุโลกมาเป็นผู้สอบสวน เขาขับรถมาเองเลยจากพิษณุโลก ถือแฟ้มประวัติผมมา ดูรู้ว่าศึกษาประวัติผมจากเว็บไซต์และที่อื่นๆ มาอย่างดี ตั้งแต่ผมเป็นใคร เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไรบ้างในกรุงเทพฯ ตั้งแต่รัฐประหาร ยังบอกเลยว่า เออ...คุณก็เคยเขียนบทความด่าทักษิณด้วยนี่ ผมก็ยิ้ม"


 


"มาถึงก็แจ้งข้อหา ว่าผมทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นศัตรูของชาติ จะต้องถูกสอบสวน"


 


"ผมนะ โอ้โห แค่ปราศรัยในที่สาธารณะ แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผมเป็นศัตรูของชาติเลยเหรอ"


 


"แล้วเขาก็แสดงอำนาจ ว่าเขตจังหวัดเชียงราย หรือมณฑลทหารบก ภาค 1 อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ ภาค 3 อำนาจทุกอย่างอยู่ที่เขาทั้งสิ้น เมื่อไม่กี่เดือนนี้เขาก็เพิ่งสั่งย้ายนายอำเภอแม่ฟ้าหลวงไป ผมนึกในใจว่า ทำไมกองทัพภาค 3 มีอำนาจล้นฟ้าอย่างนี้นะ"


 


"จากนั้นเขาเริ่มต้น ด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด ด่าหมอเหวง ย้อนอดีตเลยว่าไปทำอะไรไว้บ้าง น่าจะจัดการซะตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์เสียก็ดี และก็ด่าพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าเป็นพวกทำลายประเทศชาติ ทำลายสถาบัน เป็นภัยต่อความมั่นคง ด่าเยอะมาก เขาไม่ได้ด่าผมโดยตรง แต่หลายคำก็รู้ว่ากระแทกใส่ผมด้วย"


 


"แล้วเขาก็ถามว่า ระหว่างการควบคุมตัวมีบาดเจ็บ ฟกช้ำตรงไหนบ้าง ผมสำรวจตัวเองพักใหญ่ๆ ก็ยื่นแขนซ้ายให้ดูว่า มีฟกช้ำเล็กน้อย ทหารก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นต้องเรียกแพทย์มาดูอาการ ผมนะร้องโอยเลยว่าแค่นี้ไม่ต้องหรอก ให้แพทย์ทำสิ่งที่มีสาระมากกว่านี้ดีกว่า เขาก็ยืนยันว่าเป็นข้อบังคับและเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องบันทึกลงเอกสารคำให้การ ถ้าอย่างนั้นยินดีให้ถอนคำให้การไหม ผมก็โอเค เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร"


 


แล้วประเด็นที่ถูกสอบสวนสาระส่วนใหญ่คืออะไร?


 


"หนึ่ง เขาพยายามจะบอกว่ารู้หรือไม่ว่าผมทำผิดกฎหมาย จังหวัดเชียงรายยังเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกอยู่ ผมก็บอกว่ารู้ เขาก็ถามว่าแล้วมาทำไม ผมบอกเลยว่าตั้งใจมา เพราะวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 เป็นวันที่สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 และจะมีการลงประชามติรับร่างนี้วันที่ 19 สิงหาคม ผมแค่อยากมาบอกพี่น้องประชาชน เรื่องรัฐธรรมนูญ มาให้ข้อมูลอีกด้านว่าทำไมเราไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่เกิดขึ้นโดยอำนาจเผด็จการ"


 


"ทหารเอ็ดใส่ผมว่า แล้วรู้ได้อย่างไรว่ารัฐธรรมนูญปี 50 หน้าตาอย่างไร ผมไม่แฟร์ที่พูดข้างเดียวในพื้นที่สาธารณะ ไม่ยอมให้คนอื่นได้ตอบโต้ และชี้แจง ทำไมไม่พูดในเวทีสาธารณะที่มีคนอื่นได้ร่วมแลกเปลี่ยน ผมก็บอกว่า ก็ร่างแรกรัฐธรรมนูญ ที่เป็นพิมพ์เขียวก็ถูกแจกจ่ายให้ประชาชนนับล้านฉบับ ผมติดตามการเมืองนะครับ และตามตลอดด้วยว่ามีการอภิปรายแก้กันอย่างไร จนลงมติในวาระที่ 3 ทำไมผมจะพูดไม่ได้"


 


"ทหารก็ยืนยันว่าผมไม่แฟร์ ท้าทายว่าจะไปพูดในเวทีสาธารณะไหมจะจัดให้ที่พิษณุโลกเลย ผมบอกว่ามาจัดที่เชียงรายดีกว่า ก็เถียงกันอยู่สักพัก สุดท้ายเขาก็ยกเลิกความคิดเรื่องเวทีสาธารณะไป เขาบอกจัดไปเดี๋ยวก็เกิดทะเลาะกัน เกิดความวุ่นวาย ผมคิดว่าเขาพูดเรื่องนี้ตอนแรก อาจเพราะเป็นคำท้าของผมด้วย เอาเข้าจริงผมคิดว่าทหารในระดับปฏิบัติการ พวกนักรบเหล่านี้ เขาไม่ได้เอาใส่ใจหรือให้ความสำคัญเรื่องรัฐธรรมนูญเท่าใด แม้จะสนับสนุนรัฐธรรมฉบับปี 2550 ก็ตาม"


 


"เขาเป็นนักรบ ไม่ใช่นักคิด"


 


"ความเห็นผมนะ เขาไม่ได้รวบตัวผมเพราะผมพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือด่าเผด็จการ เขาต้องจัดการกับผม เพราะผมด่า คมช. (คณะมนตรีความมนคงแห่งชาติ) เจ้านายของเขา ไปพาดพิงบุคคลที่ 3 ที่ผมปราศรัยให้ชาวบ้านรู้สึกตั้งคำถามและพูดในสิ่งที่เขาอาจจะไม่รู้ ไม่เคยได้คิดหรือลืมเลือนไปแล้วว่า ทุกครั้งหลังการรัฐประหาร นายทหารที่เกี่ยวข้องมักร่ำรวยผิดปกติ มีนายทหารระดับสูงเข้าไปรับตำแหน่งบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ คมช.ไม่ต้องแจ้งหรือเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน กรณีพฤษภาทมิฬ ก็มีทหารร่ำรวยผิดปกติ หรือพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และภรรยาที่บอกว่าเป็นทหารอาชีพทำไมถึงร่ำรวยมหาศาล สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีคำตอบแก่สังคมเลย นี่เป็นประเด็นที่สอง ที่เขาพยายามจะหาเหตุผลเพื่อนำไปสู่การทำความผิดกฎหมายของผม"


 


"ประเด็นที่ 3 ซึ่งผมรู้สึกขำ เขาบอกรู้หรือไม่ว่าผมจอดรถผิดวัตถุประสงค์ ที่สถานที่ขนส่ง จัดพื้นที่สำหรับการขนส่งนะ ผมก็บอกว่าครับ และตอนกลางคืนก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นไนท์บาซาร์ของเชียงราย ผมก็เห็นมีพ่อค้าแม่ค้ามาจอดรถขายของกันด้วย และผมก็ไม่ได้จอดรถกีดขวางการจราจรด้วย ประเด็นนี้ก็เลยตกไป"


 


"สรุปว่า เขาพยายามวนเวียนถามผมว่า เป็นพวกรับจ้างมาก่อความวุ่นวายหรือเปล่า ใครเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กล่าวคือ เขาพยายามตรวจสอบว่าผมมีโครงข่ายอะไรกับพรรคการเมือง ที่เป็นอำนาจเก่าหรือไม่ ก็ไม่มีหลักฐานอะไร"


 


"เมื่อหาเหตุเชื่อมโยงผมไม่ได้ ก็ถามอีกว่าเกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิวโจมตีสถาบัน 8 ครั้งในเชียงรายหรือไม่ ผมก็ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว ไม่เคยทำใบปลิวใดๆ ทั้งนั้น"


 


"ก็สอบสวนกันไปจน 4 โมงเย็น ผมไม่รู้ว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับมีระดับผู้ใหญ่โทรมา ทำให้ท่าทีของผู้อำนวยการกองข่าวเปลี่ยนไป ซึ่งตอนแรกเขาเตรียมที่จะย้ายผมไปพิษณุโลกแล้ว ส่วนผู้การทหารจากภาค 1 ก็อยากให้ทางภาค 3 รีบสืบสวนสอบสวนแล้วปล่อยตัว แต่ทางภาค 3 บอกว่าเป็นอำนาจเต็มที่ที่เขาจะทำการสอบสวน นายทหารภาค 1 ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นควรเร่งกระบวนการหน่อย ผมรู้ตัวว่าจะถูกปล่อยตัวตั้งแต่ 5 โมงเย็นแล้ว"


 


"ผมไม่รู้จริงๆ ว่านอกค่ายเกิดอะไรขึ้น แต่ทหารด่าหมอเหวงมาก ประมาณว่าไม่รู้หรืออย่างไรว่าการถูกกักตัวแบบนี้ ทำร้ายร่างกายผมไม่ได้ กับใช้เวลาแบบนี้เป็นเงื่อนไขในการกดดันที่กรุงเทพฯ"


 


เราจึงเล่าสรุปให้ฟังคร่าวๆ ว่ามีการออกแถลงการณ์กดดันให้ปล่อยตัว และมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้ากองทัพบก ซึ่งมีคนของกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการถูกแจ้งจับหนึ่งคน จึงถือโอกาสถามถึงจุดยืนของนปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเอาเข้าจริงแกนนำ นปก. ไม่ได้ขยับทำอะไรกรณีที่นายสมบัติ ถูกจับสักเท่าใด และ นพ.เหวงก็เคลื่อนไหวในนามของนปตร. (แนวร่วมประชาชนต้านรัฐประหาร-คือเครือข่ายที่มาก่อนนปก. ซึ่งผนวกกลุ่มพีทีวี และกลุ่มคนรักทักษิณ ของพรรคไทยรักไทยเข้ามาทีหลัง-ผู้เขียน) กับเครือข่ายภาคประชาชนอีก 20 องค์กร


 


"ผมไม่รู้นะ ขอเช็คข้อมูลก่อน แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าการเคลื่อนไหวของหมอเหวง คือการเคลื่อนไหวด้วยจิตวิญญาณของเขา"


 


000


 


"ผู้อำนวยการกองข่าว ของกองทัพภาคที่ 3 ก็พยายามสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นระบบของทหารมาก ตรวจสอบข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายอาญาของผมและทั้งตระกูล ก็เรียกว่าทั้งโคตรเลยแหละ ผมรู้สึกถูกขู่นะ เพราะเขาบอกว่าจะตั้งเรื่องผมไว้ 1 ปี จะเรียกมาสอบสวนเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้ในประวัติผมถูกบันทึกไว้แล้วว่า เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นศัตรูของชาติไปจนตลอดชีวิต เป็นคดีที่ไม่มีอายุความ"


 


"สุดท้ายก่อนจะปล่อยตัวผมออกมา ช่วงเกือบสองทุ่ม เขาให้ผมอ่านบันทึกการจับกุมและลงนามในเอกสารให้ปากคำของเรา แต่พอขอสำเนาออกมาด้วย เขาไม่ให้ครับ"


 


"ผมว่า 24 ชั่วโมงของผมคุ้มนะ เป็นการจุดประเด็นให้สังคมตั้งคำถามกับกฎอัยการศึก ว่าวันนี้ทหารกลุ่มนี้ประกาศเขตกฎอัยการศึกชอบด้วยกฎหมายใด"


 


"ในภาวะของการประกาศกฎอัยการศึก จะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าประชาชนไม่มีโอกาสได้คุยกันและทำความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ และปล่อยให้สสร. ได้รณรงค์ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่แต่ฝ่ายเดียว"


 


 "มิพักต้องกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ต้องล้มไปเลย เพราะเป็นการมอบให้กลุ่มบุคลใดบุคคลหนึ่งมีและใช้อำนาจที่จะทำอะไรก็ได้ ความจริง พ.ร.บ.กฎอัยการศึกนี้ก็ต้องยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงได้แล้ว เพราะเรามี พ.ร.บ.การควบคุมความสงบในภาวะฉุกเฉินอยู่แล้ว"


 


"ในเมื่อเราไม่มีอยู่ในภาวะศึกสงคราม และกรณีที่ผมถูกรวบตัวนี้ก็ไม่ได้มีเหตุจลาจล ผมเพียงแต่ใช้สิทธิความเป็นพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเหตุที่เขาก่อเองขึ้นมานะ และกรณีของอาหยิ ผมอยากรู้มากเลย ทหารกักตัวเขาด้วยข้อหาอะไร ผมอยากได้รับคำอธิบายประเด็นนี้"


 


และที่น่าสนใจมาก "ผมพยายามเงี่ยหูฟัง มีใครสักคนพูดหรือตะโกนให้ได้ยินไหมว่าการควบคุมตัวในลักษณะนี้เป็นเรื่องชอบธรรม หรือการลอนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมืองเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ผมไม่ได้ยินนะ"


 


"แล้วจะฟ้องทหารกลับไหม?"


 


"คงไม่ฟ้อง ผมยังคิดไม่สุดนะ แต่คงจะต้องมีกิจกรรมเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองต่อไป ว่าพลเมืองมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การที่ประชาชนคุยการเมืองไม่ใช่เรื่องของภัยความมั่นคง ขอผมคิดสักพัก"


 


"ถามจริงๆ คุณมีทัศนคติเกี่ยวกับคุณทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทยอย่างไร?"


 


สมบัติ บอกตรงไปตรงมา "ก็เป็นนักการเมือง ที่มีกลโกงแบบพรรคการเมืองอื่นๆ มีความเลวร้ายไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่ผ่านมา และวิสัยขององค์กรการเมือง สื่อ ก็จะต้องไล่ถล่ม วิพากษ์และตรวจสอบพรรคไทยรักไทยไม่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นเช่นเดียวกัน แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ การไล่ทุบตีรัฐบาล สื่อถล่มใส่ โดยการโปรรัฐประหาร ผมรู้สึกว่ามันเกินเลยความถูกต้องไปมาก ทำให้รัฐประหารกลายเป็นอาชญากรรมใหญ่ที่สุดที่เคยมี เพราะทหารได้ประหาร "รัฐ" และ "ประชาธิปไตย"  ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2535 ที่มีคนเขียนจดหมายไปหาพล.อ.สุจินดา คราประยูร และสุจินดา บอกว่ากำลังรอจดหมายฉบับที่ล้าน คือ เมื่อเราเอื้อมไปถึงอำนาจนิยม หรืออำนาจนอกระบบเหตุการณ์จึงเกินเลยมาแบบนี้ หรือเอาเข้าจริงนี้คือวัฒนธรรมคนไทย ไม่ถูกใจก็ชอบล้มโต๊ะกัน"


 


"ฟังดูเหมือนกับไม่ชอบพรรคการเมือง ดูเลวร้ายไปหมด ถ้าอย่างนั้นคุณเชื่อเรื่องระบบการเมืองอย่างไร"


 


"สำหรับผมนะ พรรคการเมืองและนักการเมืองเลวร้ายอย่างไร ผมยังเชื่อในระบบการเมืองแบบรัฐสภา เพราะอย่างน้อยพรรคการเมือง ยังได้สร้าง หาแล้วก็แบ่งกันกิน ดีกว่าทหาร ดีกว่าอำนาจนิยม ในอดีตพิสูจน์มาเยอะแล้วว่า ไม่เคยสร้างนวัตกรรมใดไว้ คือ ไม่หาและยังกินรวบคนเดียว ด่าไม่ได้ ตรวจสอบไม่ได้ พรรคการเมืองยังด่าได้ ตรวจสอบได้ พอถึง 4 ปีถ้าเราเบื่อหน่ายเราก็ไม่เลือกเข้ามาใหม่ ขออย่างเดียวขอพื้นที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการพูดคุย แสดงความคิดเห็นทางการเมือง"


 


000


 


"ผมนึกออกแล้ว ผมจะทำหนังสือถึงแม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 ขอจัดเวทีสาธารณะคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่กองทัพภาค 3 จังหวัดพิษณุโลกเลย ผมจะเดินเข้าไปคุยด้วย ไปคนเดียวนี่แหละ ขอให้ผู้อำนวยการกองข่าวที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาถกเถียง มาคุยหรือจะเอาใครก็ได้ขอให้ส่งตัวแทนมาเลย คุณจะระดมมวลชนที่คุณควบคุมได้ จะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. พลทหาร หรือทหารเกณฑ์มาฟังกันเยอะๆ ประชาชน โดยเฉพาะทหารที่ภาค 3 จะได้เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ"


 


"เพราะอะไรรู้ไหม?"


 


"ผมอยากให้ทหารฟังและรับฟังเสียงที่แตกต่างบ้าง"


 


"ทหารฟังเป็นไหม?"


 


"เสียงแตกต่างหลากหลาย" และการเคารพกันในความเป็นมนุษย์เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net