Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 ส.ค. 50 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ ประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand - FACT) ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องสังคมไทย ร่วมกันปกป้องเสรีภาพของตนเอง และ เสรีภาพของผู้อื่น


 


นอกจากนี้ เครือข่ายทั้งสอง จะร่วมกันรณรงค์เรื่องเสรีภาพ ให้ประชาชนตระหนักเรื่อง ผลกระทบจากกฎหมายสื่อที่จะส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ภายใต้แคมเปญที่ว่า "เสรีภาพการสื่อสาร ไม่ใช่! อาชญากรรม" และ "Freedom of Expression is not a crime" โดยนัดกันชุมนุมกัน หน้าตึก ESCAP ณ ที่ทำการสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน เวลา 9.00 น. ของวันพุธที่ 8 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลจะจัดเวทีสัมมนาระดับชาติว่าด้วยการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550


 


จุดยืนของทั้งสองเครือข่ายที่ปรากฏในแถลงการณ์นั้น กล่าวถึงปรากฏการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพในช่วงที่ผ่านมา โดยยกกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ การปิดกั้นการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มผู้คัดค้านการรัฐประหาร การปิดกั้นกลุ่มที่รณรงค์ไม่ให้มีการลงประชามติและไม่ให้รับธรรมนูญ การที่ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการออกข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย การที่กองทัพบกใช้อำนาจข่มขู่ รท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต ผู้เขียนหนังสือพ็อกเก้ตบุ๊ก "ทักษิณ where are you ?" อีกทั้งมีการขอไม่ให้มีการพิมพ์หนังสือซ้ำ การที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง


 


คปส. และ FACT เห็นว่า หากยอมรับการละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อคนที่เราเห็นต่าง ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน เหล่านี้จะนำไปสู่ภาวะอันตรายต่อความเป็นประชาธิปไตยในอนาคต ในทางตรงกันข้ามหากเราปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่คิดเห็นต่างจากเรา เท่ากับว่าเราได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองเช่นกัน


 


"ถ้าวันนี้เรายังยอมให้รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ออกมาคัดค้านและแสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐได้ ในวันข้างหน้าเมื่อเราตกอยู่ในสถานะเดียวกัน รัฐย่อมยึดบรรทัดฐานและอ้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิเสรีภาพเราทุกคนได้เช่นกัน" แถลงการณ์ระบุ


 


โดยประเด็นสำคัญที่เรียกร้องผ่านทางแถลงการณ์คือ ต้องการปกป้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มพลเมืองที่มีความเห็นต่าง ยืนยันสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน และการแสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผย และยับยั้งรัฐการผ่านร่างกฎหมายสำคัญที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ


 


000


 


 


แถลงการณ์


เรียกร้องสังคมไทย


ร่วมกันปกป้องเสรีภาพของตนเอง และ เสรีภาพของผู้อื่น


 


ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลายคนอาจคาดหวังว่าสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของสังคมไทยอาจจะดีขึ้น หลังจากช่วงระยะเวลา 5 - 6 ปี ที่รัฐบาลไทยรักไทยซึ่งนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศนั้น สิทธิเสรีภาพสื่อ สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดขั้นรุนแรง แต่บัดนี้เวลาผ่านไป 10 เดือนเศษ สถานการณ์ยิ่งชัดเจนถึงการใช้อำนาจของรัฐในการควบคุม ลิดรอน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง รวมทั้งกำลังไต่ระดับในปริมาณที่สูงและมีความหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ทั้งนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส) และ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ ประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand - FACT) เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน แน่นอนว่าสื่อสารมวลชนและประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณมีเสรีภาพมากขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ทว่าประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยหรือคุณทักษิณ ชินวัตร หรือ กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และการรัฐประหาร กลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง หรือกระทั่งผู้ที่ยังไม่ได้เลือกข้างในการแสดงจุดยืนทางการเมืองใด กลับถูกจำกัดเสรีภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เป็นต้น


 


ปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา


 


1. ความพยายามในการปิดกั้นการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มผู้คัดค้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเครือข่ายแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เช่น กรณีกองทัพภาคใช้อำนาจเกินขอบเขตควบคุมตัว นายสมบัติ บุญงามอนงค์ โดยไม่อนุญาตให้ติดต่อกับใครเป็นเวลาข้ามคืน หรือการกลั่นแกล้งทางการเมืองกับแกนนำนปก. ซึ่งเป็นผู้นำในการชุมนุม รวมทั้งการสกัดกั้นการชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชนในต่างจังหวัด และ การคงประกาศใช้กฎอัยการศึกใน 35 จังหวัด


 


2. การปิดกั้นกลุ่มที่รณรงค์ไม่ให้มีการลงประชามติและไม่ให้รับธรรมนูญในหลายวิธีการ อาทิ จับกุมการแจกใบปลิว ห้ามติดโปสเตอร์รณรงค์ หรือการไม่เปิดโอกาสให้สื่อของรัฐ (โทรทัศน์ -วิทยุ) เปิดพื้นที่ให้กลุ่มที่คัดค้านมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกับฝ่ายที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้องของประชาชน


 


3. การที่ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการออกข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย เนื่องเพราะกำหนดแนวคำถามให้นักศึกษาได้วิเคราะห์เกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย อีกทั้งยังมีคำสั่งให้ ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ส่งมอบกระดาษคำตอบของนักศึกษาเพื่อใช้ในการสอบสวน แต่ได้รับการปฏิเสธ ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์ตอกย้ำปัญหาการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในปัจจุบัน


 


4. การที่กองทัพบกใช้อำนาจข่มขู่ รท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต ผู้เขียนหนังสือพ็อกเก้ตบุ๊ก "ทักษิณ where are you ?" อีกทั้งมีการขอไม่ให้มีการพิมพ์หนังสือซ้ำ กรณีนี้สะท้อนการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารและการเผยแพร่ผ่านสิ่งพิมพ์อย่างชัดเจน


 


5. การที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามผลักดัน กฎหมายหลายฉบับที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง เช่น ร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ... รวมทั้งกฎหมายด้านสื่ออีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. ... ร่างพระราชบัญญัติการประกอบการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. ... เป็นต้น ซึ่งหลายมาตราในร่างกฎหมายดังกล่าวนั้นให้อำนาจรัฐในการควบคุม ปิดกั้น การแสดงออกผ่านสื่ออย่างเด็ดขาด


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทยมีความเห็นตรงกันว่า หากสังคมไทยยอมรับการใช้อำนาจของรัฐที่กระทำการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้นจะเป็นการกระทำต่อคนที่เรา เห็นต่าง ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน หรือต่อต้านก็ตาม ล้วนเป็นตัวชี้วัดที่จะนำไปสู่ภาวะอันตรายต่อความเป็นประชาธิปไตยในอนาคต ในทางตรงกันข้ามหากเราปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นที่คิดเห็นต่างจากเรา เท่ากับว่าเราได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองเช่นกัน ถ้าวันนี้เรายังยอมให้รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ออกมาคัดค้านและแสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐได้ ในวันข้างหน้าเมื่อเราตกอยู่ในสถานะเดียวกัน รัฐย่อมยึดบรรทัดฐานและอ้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิเสรีภาพเราทุกคนได้เช่นกัน


 


ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ครองอำนาจ หลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพย่อมต้องเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่จักต้องดำรงอยู่อย่างมั่นคง หากเราปล่อยให้มันถูกสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมยากยิ่งที่เราจะรักษาความเป็นประชาธิปไตยให้กับสังคมไทยได้ในท้ายที่สุด


 


ทั้งนี้ คปส และ FACT ขอเรียกร้อง สังคมไทย ดังต่อไปนี้


 


1. ปกป้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มพลเมืองที่มีความเห็นต่างจากเรา


 


2. ยืนยันสิทธิเสรีภาพของเราเองในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน และ การแสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผย


 


3. ยับยั้งรัฐในการผ่านร่างกฎหมายสำคัญที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของเรา เพื่อให้มีกระบวนการพิจารณาอย่างกว้างขวาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ภายหลังที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว


 


ด้วยจิตคารวะ


6 สิงหาคม 2550


 

เอกสารประกอบ

รายละเอียดการสัมมนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net