Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 .. 50 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ..2454-2550" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อจากนี้คือการถอดความและเรียบเรียงการบรรยายเรื่อง "สถาปัตยกรรมไทย: ภาพสะท้อนการเมืองในสยามประเทศไทย" โดยชาตรี ประกิตนนทการ


อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมี ศรัณย์ ทองปาน เป็นผู้ดำเนินรายการ


 


 


0 0 0


 


 


ชาตรี ประกิตนนทการ


อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


 


 


ศึกษาสถาปัตยกรรมจากกรณีเฉพาะที่เป็นอาคารสาธารณะ เนื่องจากอาคารสาธารณะคือสิ่งที่ผู้สร้างสื่อต้องการสื่อความหมายบางประการต่อสังคม โดยความหมายของสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารสาธารณะจะขยายคลุมไปถึงพื้นที่แวดล้อมอาคารด้วย ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารสาธารณะมีความแตกต่างไปจากอนุสาวรีย์ตรงที่อนุสารีย์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอยู่แล้ว แต่สำหรับงานสถาปัตยกรรมอาคารสาธารณะนั้น ปกติก็เห็นเป็นอาคารใช้งานเดินเข้าออกได้ตามปกติ จึงไม่รู้สึกอะไร ดังนั้น อาคารสาธารณะมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ที่ซ่อนอย่างแนบเนียน การศึกษาจึงอาศัยการตีความเป็นหลัก


 



ภาพที่ 1 เมรุชั่วคราวของ 17 ผู้เสียชีวิตคราวปราบกบฎบวรเดช ณ ท้องสนามหลวง พ.ศ.2476


 


 


รูปแบบทางสถาปัตยกรรมคือเมรุชั่วคราวของผู้เสียชีวิตคราวปราบกบฎบวรเดช ณ ท้องสนามหลวง คือการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกทางรูปแบบสถาปัตยกรรมสาธารณะ จะเห็นว่าเมรุดังกล่าวสร้างเป็นรูปกล่อง ไม่มีองค์ประกอบทางสถปัตยกรรมตามประเพณี (เช่น - ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เพิ่มเติมโดยผู้รายงาน)


 



ภาพที่ 2: เมรุที่สร้างตามคติโบราณประเพณี ก่อน พ.ศ.2475


 


ทั้งนี้ การสร้างเมรุชั่วคราวดังกล่าวที่ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) เดิมรัชกาลที่ 7 ไม่ทรงยินยอม แต่ทางคณะราษฎรยืนยันที่จะสร้างเมรุชั่วคราวบนทุ่งพระเมรุ รัชกาลที่ 7 จึงต้องทรงยินยอม แต่ระบุถ้อยคำด้วยท่วงทำนองว่า "ไม่ได้เป็นพระราชประสงค์"


 


พ.ศ. 2475 คือเส้นแบ่งในหลายๆ อย่าง สิ่งที่น่าจะเป็นเหตุผลที่รัชกาลที่ 7 ไม่โปรดให้สร้างเมรุชั่วคราวในพื้นที่ทุ่งพระเมรุนั้น เป็นเพราะพื้นที่นี้ถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรม ในแง่พิธีศพ หัวใจอยู่ที่สนามหลวง และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางวัฒนธรรมยังกินความกว้างไกลไปถึงคลองรอบกรุงซึ่งเลือดไพร่ห้ามตกในพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ทางพิธีกรรมที่ใช้เฉพาะสำหรับกษัตริย์ ดังนั้นคราวสร้างเมรุชั่วคราวสำหรับ 17 ศพ ที่เสียชีวิตคราวปราบกบฎบวรเดชในพื้นที่ตรงนี้จึงเป็นการทำร้ายจิตใจฝ่ายเจ้ามาก เมรุชั่วคราวนี้จึงมีนัยยะทางสัญลักษณ์ที่รุนแรงและชัดเจนในการใช้พื้นที่สาธารณะ


 


อีกประการหนึ่ง ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 พานรัฐธรรมนูญได้ถูกยกขึ้นมาเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง จึงต้องใช้พนักงานภูษามาลาเชิญรัฐธรรมนูญ และมีงานฉลองรัฐธรรมนูญทุกปีตลอดช่วงเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจ มีการจัดพลับพลาที่สนามหลวง ดังรูป


 

 



ภาพที่ 3: พลับพลารัฐธรรมนูญ



 


สัญลักษณ์นี้ยังถูกถ่ายแบบไปอีก 70 จังหวัด และคล้ายถูกยกมาแทนที่สถาบันด้วย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันความหมายของพานรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอย่างคณะราษฎรเคยใช้มาแต่เดิม



ภาพที่ 4 : อนุสาวรีย์ปราบกบฎ หรืออนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ


ที่ปัจจุบันเพียงเรียกชื่อตามแหล่งที่ตั้งว่า อนุสาวรีย์หลักสี่


 


อนุสาวรีย์ปราบกบฏ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคราวเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช  พ.ศ. 2476 ก็ใช้พานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ แต่ชื่อปัจจุบันคืออนุสาวรีย์หลักสี่และกลายเป็นอนุสาวรีย์ที่เหงาสุดในกรุงเทพฯ เนื่องจากบริบททางสังคมที่ทำให้ถูกลืมจึงไม่บอกนัยยะอะไร ชื่อก็กลายเป็นเพียงการบอกสถานที่


 



ภาพที่ 5 : วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน


 


ในพื้นที่เดียวกัน ได้สร้างวัดพระศรีมหาธาตุ อีกแห่ง ในยุคคณะราษฎร เดิมทีวัดดังกล่าวจะตั้งชื่อว่า วัดประชาธิปไตย และวัดนี้เป็นวัดมหาธาตุแห่งที่ 2 ของกรุงเทพ ในขณะที่ตามเมืองต่างๆ จะมีวัดมหาธาตุแค่วัดเดียวเท่านั้น ปัจจุบันวัดนี้รู้จักกันในชื่อที่เรียกแค่ว่า วัดพระศรี หรือเป็นวัดที่เอาไว้เผาศพทหาร สุดท้ายกลายเป็นวัดเฉพาะในกลุ่มคณะราษฎร เช่น ที่เก็บกระดูกของบรรดาคณะราษฎร ทั้งนี้ ในช่วงหลัง พ.ศ. 2475 พื้นที่ทุ่งบางเขนจากเดิมที่เคยเป็นทุ่ง รอบๆ พื้นที่นี้คล้ายถูกโปรโมทให้สำคัญขึ้น เช่น การสร้างถนนพหลโยธินที่มาจากชื่อของพระยาพหลพลพยุหเสนา


 


สยามใหม่  - ไทยใหม่


คำว่าสยามใหม่ในที่นี้ไม่ได้เป็นความหมายที่ใช้ทั่วไปในทางวิชาการที่กำหนดให้สยามใหม่ คือช่วงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แต่หมายถึงสยามหลังจาก พ.ศ. 2475


 


พ.ศ. 2475 คล้ายเป็นเส้นแบ่งทั้งทางประวัติศาสตร์ ทางศิลปะและสถาปัตยกรรม หรือทางวัฒนธรรมซึ่งมีส่วนเสริมคณะราษฎรในแง่การเมืองการทหาร


 


ภาพที่ 6 : อาคารชั่วคราวกรมศิลปากรในงานฉลองรัฐธรรมนูญ


 


อาคารชั่วคราวของกรมศิลปากร ในงานฉลองรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ถือว่าตัดขาดจากสถาปัตยกรรมแบบจารีตประเพณี


 



ภาพที่ 7 : การใช้สถาปัตยกรรมที่ไม่มีหลังคาจั่วแบบคณะราษฎรเป็นฉาก


 


สังเกตว่าอาคารสมัยคณะราษฎรมีการใช้สถาปัตยกรรมเป็นฉาก ซึ่งเป็นอาคารที่มักไม่มีหลังคาจั่วแต่เป็นหลังคาตัด มีเรื่องเล่ากันว่า สมัยนั้นเคยมีคนแก่เดินมาที่ถนนราชดำเนินเห็นอาคารแบบนี้ก็ถามว่าทำไมสร้างไม่เสร็จเสียที เพราะมันไม่มีหลังคาจั่วแบบประเพณีจึงดูเหมือนสร้างยังไม่เสร็จตลอดเวลา และนี่คือความใหม่ในยุคดังกล่าว


 



ภาพที่ : 8 โรงแรมสุริยานนท์ วันเปิดจะเห็นว่าสีของโรงแรมเป็นสีดำ
แต่ตอนนี้ทาเป็นสีเหลืองเพราะผู้บูรณะอาคารบอกว่าขูดอาคารดูสีเก่าแล้วพบว่าเจอสีเหลือง


 



ภาพที่ 9 : งานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งจัดทุกปีในช่วงคณะราษฎรยังมีอำนาจ


 


งานฉลองรัฐธรรมนูญู จัดซุ้มออกงานด้วยการสร้างอาคารที่จริงจังเพื่อสะท้อนอุดมการณ์บางประการ ซึ่งไม่เหมือนการออกซุ้มงาน เช่น งานกาชาดในปัจจุบัน ที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ค่าซุ้มใช้ราคาถูกที่สุด สิ่งสำคัญในยุคนั้นคือพานรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ บนสถาปัตยกรรมจึงต้องมีภาพพานรัฐธรรมนูญ และสิ่งแสดงถึงหลัก 6 ประการ ซึ่งแสดงออกมาง่ายๆ เมื่อนับตัวเลขเป็น 6 เช่น อาคารมีเสา 6 ต้น การประดับธง 6 ผืน หรือเจดีย์วัดพระศรี ที่บัวกลุ่มมี 6 ชั้นหรือเป็นเลขคู่ ในขณะที่การทำบัวกลุ่มของเจดีย์ตามประเพณีเป็นเรื่องที่รู้กันว่าต้องเป็นเลขคี่เพื่อให้เป็นมงคล


 

 



ภาพที่ 10 : สถาปัตยกรรมแบบคณะราษฎรที่ต้องมีภาพพานรัฐธรรมนูญ และเสา 6 ต้น


 


สำหรับลักษณะทางศิลปกรรมยุคคณะราษฎร ก็คืองานสะท้อนหลัก 6 ประการและพานรัฐธรรมนูญ เช่น งานศิลปะที่ชื่อเลี้ยงช้างน้อยด้วยอ้อยหก เป็นประติมากรรมรูปช้างม้วนอ้อย 6 อัน ช้างก็เหมือนสัญลักษณ์แทนประเทศไทยที่จะเติบโตขึ้นด้วยหลัก 6 ประการ เป็นต้น


 


ศิลปกรรมยุคนี้ยังเน้นการทำเป็นรูปคนที่แสดงสัดส่วนชัดเจนและเหมือนนักกล้ามเปลือย ผู้นำคนสำคัญทางศิลปะในยุคนั้นคือ ศิลป์ พีระศรี มีคำอธิบายในประเด็นนี้การทำลักษณะทางศิลปะแบบนี้คือ การแสดงออกทางศิลปะที่เหมือนกับศิลปกรรมที่นิยมในเยอรมนีและอิตาลีที่มีความสัมพันธ์กันกับไทยในเวลานั้น และยังคล้ายกับการด่างานแบบอุดมคติในงานจิตรกรรมไทยที่ดูอ้อนแอ้นอ่อนแอสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังการปาฐกถาของหลวงวิจิตรวาทการในเรื่องมนุษย์ปฏิวัติที่ว่า


 


ภาพที่11 : บทความสะท้อนแนวคิดมนุษย์นิยมที่ปฏิเสธความงามทางศิลปะแบบเจ้า


ที่สรรเสริญผู้ที่มักได้ดีโดยไม่ต้องทำอะไร


 



ภาพที่ 12 : ลักษณะงานศิลปะยุคคณะราษฎรที่มักทำรูปคนเปลือยดูแข็งแรง มีกล้ามเนื้อสัดส่วนชัดเจน


 



ภาพที่ 13 : มนุษย์นิยมแบบคณะราษฎร


แม้แต่ผู้หญิงก็ต้องดูสมบูณ์อวบอิ่ม เป็นพลเมืองในยุคไทยใหม่




ภาพที่ 14 : แม้แต่ครุฑ ในสมัยคณะราษฎรก็ต้องดูแข็งแรง มีกล้ามท้อง


 



ภาพที่ 15 : ในระดับรายละเอียดก็รณรงค์จนยุ่มย่ามในชีวิตด้วย เช่น
การให้กินกับข้าวมากๆ
ตรงนี้เป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมด้วย


 


กลับสู่สยามเก่า -ไทยเก่า


ช่วง พ.ศ. 2475 -2490 คือสยามใหม่ - ไทยใหม่ แต่พอหลังจาก พ.ศ. 2490 ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ช่วงก่อนเวลา พ.ศ. 2475 หมด


 



ภาพที่ 16 : ชาติในจินตนาการ


 


จากการได้ฟังเรื่อง "ชาติในจินตนาการ" ของ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ (นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่เคยไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้เห็นประเด็นว่าแม้ว่าหลวงวิจิตรวาทการจะเคยเป็นมันสมองที่สำคัญของคณะราษฎรก็ตาม แต่ก็ยังทำงานสืบเนื่องต่อมาในยุคนี้ซึ่งสะท้อนออกมาในแนวทางที่อนุรักษ์นิยมมาก เช่น ในทางประวัติศาสตร์ก็ทำเพียงการเพิ่มพล็อตต่อจากประวัติศาสตร์ชาติไทยของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่าคนไทยมาจากเขาอัลไต ลงมาน่านเจ้า เป็นไทยใหญ่ ไทยน้อย เพียงแต่ผูกโยงไปที่อีสานและเวียดนามเพิ่มขึ้น เพื่อเดินตามไปนโยบายมหาอาณาจักรที่ต้องการจะขยายออกดินแดนไป


 


อย่างไรก็ตาม มันยังอยู่ในร่มประวัติศาสตร์แบบเดิม ซึ่งแม้ชาติในจินตนาการเชิงสัญลักษณ์จะถูกตัดขาดไปในช่วงคณะราษฎร แต่ความเป็นไทยในทางประวัติศาสตร์ไม่เคยตัดขาดและต่อเนื่องมาจนหลัง พ.ศ. 2490 สัญลักษณ์ในยุคคณะราษฎรจึงถูกชิงความหมายไปอย่างรวดเร็วหลัง พ.ศ. 2490  


 


 


 



 


ภาพที่ 17 : ชาติในจินตนาการทางขอบเขตและประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ไม่เคยถูกตัดขาดและต่อเนื่องไปจนหลัง พ.ศ.2490


 


 



ภาพที่ 18 : สัญลักษณ์ที่ถูกช่วงชิงผ่านงานศิลปะอนุสาวรีย์พระบิดาด้านต่างๆ ที่สร้างขึ้นมากมาย 
หลัง พ.ศ.
2490 โดยคนสำคัญกลุ่มเดิมที่ทำงานสืบเนื่องต่อจากสมัยคณะราษฎร


 


หลัง พ.ศ. 2490 งานศิลปะจึงกลายป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาก มีการสร้างอนุสาวรีย์พระบิดาด้านต่างๆ โดยใช้คนกลุ่มเดิมซึ่งก็คือ ศิลป์ พีระศรี และหลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้สืบสร้างงานศิลปะและสัญลักษณ์ ในขณะเดียวกันจากเดิมที่หลวงวิจิตรวาทการเคยบอกว่าศิลปะแบบตามประเพณี อ้อนแอ้น ไม่สวยงาม ในยุคนี้เมื่อมีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ งานลักษณะอ้อนแอ้นที่กลับสู่แบบประเพณีดังกล่าวกลับได้รับรางวัลเหรียญทอง


 



ภาพที่ 19 : งานศิลปะที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ


 


นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมอาคารสาธารณะแบบคณะราษฎรยังเริ่มถูกรื้อออกไป เช่น โรงภาพยนต์เฉลิมไทย โดยตอนรื้อ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทมีข้อเขียนที่ให้เหตุผลว่า



ภาพที่ 20 : ข้อเขียนหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมท แกนหลักคนสำคัญฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลัง พ.ศ.2490 ที่มีส่วนสำคัญในการรื้อสัญลักษณ์ของศิลปะคณะราษฎร
โดยมองว่าต่ำทราม และไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมในกรุงเทพฯ


 






ภาพที่ 21 : โรงภาพยนต์เฉลิมไทย


 


ทั้งนี้ คำว่า กรุงเทพฯ ในความหมายของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ตามที่กล่าวได้หมายถึง "วัด" และ "วัง" เท่านั้น จากข้อเขียนนี้ ในทางอนุรักษ์ก็ยึดเอาเป็น คึกฤทธิ์ชาเตอร์ เพื่อใช้ประเมินคุณค่าศิลปกรรมทางประวัติศาสตร์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จึงมีความสำคัญและสร้างเรื่องราวที่เสริมศิลปวัฒนธรรมแบบสยามเก่าอย่างสูงมาก


 



ภาพที่ 22 : เมรุถาวรแบบคณะราษฎรแห่งแรกที่วัดไตรมิตรฯ เป็นต้นแบบของเมรุในปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนแนวทางหลัก 6 ประการ


 


หากไม่นับเมรุชั่วคราวหลังปราบกบฎบวรเดช เมรุถาวรแห่งแรกสร้างไว้ที่วัดไตรมิตร ปัจจุบันรื้อออกแล้ว การสร้างเป็นเมรุถาวรแบบนี้คือการสะท้อนการคำนึงถึงสุขลักษณะตามหลัก 6 ประการ และเมรุนี้เป็นต้นแบบของเมรุที่เห็นในปัจจุบัน


 


หลัง พ.ศ. 2490 แม้จะเป็นช่วงเวลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคที่ 2 แต่ถึงเป็นบุคคลเดียวกันจะเห็นว่าตึกอาคารมีลักษณะประนีประนอมจนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ ขึ้น คือ เริ่มนำจั่วแบบไทยเดิมมาผสมกับสถาปัตยกรรมที่ลดทอนรายละเอียดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลง อาจเพราะยังถือว่ามีอิทธิพลของยุคประชาธิปไตยจึงยังไม่กลับไปเป็นแบบวัดเต็มที่ตามลักษณะสถาปัตยกรรมของเจ้า แต่ก็มีหลังคาจั่ว



ภาพที่ 23 : สถาปัตยกรรม หลัง พ.ศ. 2490 แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะกลับมาคุมอำนาจอีกครั้ง แต่อาคารเริ่มกลับมามีหลังคาจั่วแบบไทยประเพณี


 


ยุคปัจจุบัน


จากการศึกษาเฉพาะกรณีสัญลักษณ์บนถนนราชดำเนิน พบว่าสามารถสะท้อนความหมายออกมา 4 แบบ คือ


 


1. ความหมายในแบบคณะราษฎรที่หมดความหมายไปในปัจจุบัน


 


2. ความหมายหลัง 14 ตุลา 2516


 


ความหมายเดิมของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นเพียงชื่อที่ใช้ในยุคคณะราษฎรแต่ถูกแปลงให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา อนุสาวรีย์ถูกใช้แสดงความหมายทางประชาธิปไตยเรื่อยมา


 



ภาพที่ 24 : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน วันที่ 14 ตุลาคม 2516


 


อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง 14 ตุลา ก็ได้ถูกเบี้ยวความหมายไปเช่นกัน เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ 14 ตุลา บนถนนราชดำเนิน ที่ทำเป็นลักษณะสถูป เรียบง่าย คล้ายกับการระลึกถึงผู้ตายเหมือนให้มันปลงๆ ลืมๆ ไปเสียตามลักษณะแบบไทยๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามันไม่สื่อความหมายของ 14 ตุลา อาจจะด้วยการใช้เวลาที่ยาวนานมากกว่าจะได้สร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงมีการต่อรองมากมายจนทำให้อนุสาวรีย์ที่สร้างไม่สื่อความหมายเกี่ยวกับจิตวิญญาณของนักศึกษาที่ลุกฮือ อนุสาวรีย์นี้ควรสามารถสื่อความหมายที่ระลึกถึงจิตวิญญาณของ 14 ตุลา ว่าต้องแลกมากับอะไร แม้แต่การใช้วัสดุ อย่างหิน หรือดิน มันก็สะท้อนนัยยะ แต่อนุสาวรีย์นี้กลับใช้แกรนิตที่มันวาวเป็นแบบห้างที่ไม่น่านำมาใช้สร้างอนุสรณ์สถาน นัยยะได้ถูกแปลงจนดูไม่มีพลัง การเอาโปสเตอร์ภาพเหตุการณ์ไปติดยังดูมีพลังมากกว่า อนุสาวรีย์ควรออกแบบที่สะท้อนภาพ 14 ตุลา ออกมาให้ได้อย่างในภาพข้างล่าง แต่มันได้ถูกบิดเบี้ยวไปด้วยอะไรบางอย่าง



ภาพที่ 25 : ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ต้องสื่อความหมายออกมาให้ได้



 




ภาพที่ 26 : อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่ชวนปลงๆ ลืมๆ แบบไทยๆ ?


 


3. ความหมายทางความทรงจำแบบพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เพิ่มพูนอย่างไม่เป็นทางการหลัง พ.ศ. 2490


 


หลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ความหมายนี้ถูกสะท้อนออกมามาก เช่น การสร้างซุ้มเทิดพระเกียรติบนถนนราชดำเนินเป็นครั้งที่ 2 หลังจากสร้างครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 กลับจากประพาสยุโรป โดยครั้งนั้นสร้างเพื่อฉลองราชพิธีกาญจนาภิเษก


 


ข้อสังเกตสำคัญคือการใช้คติแก้ว 7 ประการ ในซุ้มกาญจนาภิเษก 7 ซุ้ม ตามคติจักรพรรดิราช อันเป็นแบบไทยประเพณีโบราณที่ย้อนกลับไปมาก เพราะแม้แต่สมัยรัชกาลที่ 4 หรือรัชกาลที่ 5 ก็ไม่ใช้คตินี้แล้ว ซึ่งซุ้ม 60 ปีในปัจจุบันก็ใช้คติดังกล่าว


 


ภาพที่ 27 : ซุ้มกาญจนาภิเษก ใช้คติแก้ว 7 ประการ ตามคติจักรพรรดิราชแบบโบราณกว่าสมัยรัชกาลที่ 4


 



ภาพที่ 28 : ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี ที่สร้างตามคติแก้ว 7 ประการ


 



ภาพที่ 29 : สัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดผ่านแสงไฟกลางคืน


 



ภาพที่ 30 : การผนวกความทรงจำสมัยรัชกาลที่ 5 กับปัจจุบัน
ภาพถ่ายกลางคืนแสดงอำนาจที่สะท้อนผ่านความทรงจำสาธารณะ


 


4. ความหมายของอำนาจรัฐบนพื้นที่


ความหมายนี้สะท้อนผ่านแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และแผนแม่บทกรุงเทพฯ ที่เน้นการโชว์แต่วัดกับวัง การย้ายส่วนราชการออกไป และการเปิดพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น การสร้างพื้นที่สาธารณะอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 โดยรื้อโรงภาพยนต์เฉลิมไทยออกไป แต่พื้นที่สาธารณะดังกล่าวกลับใช้เป็นพื้นที่สาธารณะจริงไม่ได้เพราะมันร้อนมาก ส่วนที่ไม่ร้อนก็มีแต่ห้ามเข้าไปใช้ซึ่งการเข้าถึงที่สาธารณะได้มากหรือน้อยสะท้อนจากตรงนี้


 


ภาพที่ 31 : กรุงเทพฯตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์


 



ภาพที่ 32 : ลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 ที่สาธารณะซึ่งร้อนมาก


 


 






ภาพที่ 33 : สถานที่ไม่ร้อนในที่สาธารณะอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 แต่ห้ามขึ้น


 


 



ภาพที่ 34 : ถนนราชดำเนินที่รัฐต้องการให้เป็น





สิ่งที่รัฐต้องการให้ถนนราชดำเนินเป็นคือ บรรยากาศที่ดูสวยๆ ไม่มีพลัง ตึกอาคารถูกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ขณะเดียวกันรัฐก็ได้ใช้ประเด็นพระราชอำนาจมาเป็นเหตุผลในการเคลียร์พื้นที่ให้เป็นไปตามแผนแม่บทฯของรัฐ


 


อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วมีกรณีตัวอย่างที่สะท้อนว่า สิ่งที่คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์คิดจัดทำให้เป็นไปตามแผนแม่บทฯ ด้วยการย้ายสถานที่ราชออกไปและเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้นมันผิด ซึ่งกรณีตัวอย่างที่สำคัญคือ เกิดการสร้างทำเนียบองคมนตรีได้บนพื้นที่ตรงข้ามวัดพระแก้ว


 

 



ภาพที่ 35 : ทำเนียบองคมนตรี ตรงข้ามวัดพระแก้ว


 


หรืออีกกรณีหนึ่งคือการวางแผนรื้อตึกอาคารศาลฎีกาที่สร้างโดยคณะราษฎรแล้วตามมาด้วยการสร้างใหม่ โดยให้เป็นอาคาราชการเหมือนเดิมแต่มีหลังคาจั่ว สิ่งเหล่านี้จึงแสดงว่าสิ่งที่คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ต้องการรื้อเพื่อสร้างพื้นที่ที่สาธารณะนั้นมันล้มเหลว


 



ภาพที่ 36 : ศาลฎีกา ที่ต้องรื้อสร้างใหม่


 



ภาพที่ 37 : สิ่งปลูกสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่เพื่อเป็นอาคาราชการเช่นเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net