Skip to main content
sharethis





0 0 0


 


เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ผ่านไป 34 ปีแล้ว มีประเด็นและข้อสรุปอะไรบ้าง?


ถ้าเราดูหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ซึ่งก็ส่งผลต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ผมคิดว่าหัวใจอยู่ที่การต่อสู้ในสองสิ่ง คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเสมอภาค การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนและนักศึกษาในปี 2516 หัวใจอยู่ตรงนี้


 


จากปี 2516 จนถึงเดี๋ยวนี้ เราอาจจะคาดหวังว่าจะมีผลสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันคงเป็นไปไม่ได้ ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็เป็นอย่างนี้เสมอมา มันจะมีช่วงหักโค้งบ้าง ลื่นหกล้มบ้าง เพียงแต่ว่า เราต้องสร้างความหวัง หรือสืบทอดกระบวนการสร้างเสรีภาพและเสมอภาคให้ต่อเนื่องไป


           


วันนี้คนที่เคยร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2516, 2518, 2535 ส่วนหนึ่งอาจจะเจ็บปวด ก็คงต้องให้กำลังใจกัน และคงต้องบอกว่า ความฝันเพื่อสร้างสังคมที่งดงามด้วยเสรีภาพและเสมอภาคมันคงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววัน


 


           


"เสรีภาพ" และ "เสมอภาค" เมื่อเทียบกับตอน 14 ตุลา 2516 เปลี่ยนไปมากไหม


ผมคิดว่าเปลี่ยน ไม่ว่าอย่างไร สังคมไทยได้เคลื่อนจากปี 2516 มามาก จนกระทั่งไม่สามารถที่จะมีใครไปปิดกั้นเสรีภาพและลดทอนความเสมอภาคได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์อีกแล้ว อย่าลืมว่าก่อนปี 2516 เราไร้เสรีภาพและไม่มีความเสมอภาคอย่างแท้จริงเลย แต่วันนี้อย่างน้อยที่สุด เราก็ยังพอที่จะพูดได้ เราก็ไม่ได้ไร้เสรีภาพไปเสียทีเดียว


 


การรัฐประหาร 19 กันยา (2549) เอาเข้าจริงๆ แล้ว เขาก็ไม่กล้าทำอะไรอีกมากมาย ก็ยังปล่อยเปิดช่องให้เราพูดวิพากษ์วิจารณ์ ให้เรามีเสรีภาพได้มีระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดในทุกวันนี้คือ ประเด็นเรื่องความเสมอภาค ผมคิดว่าเราพัฒนามาน้อยกว่า


 


ในวันนี้ ประเทศที่เรียกว่าเขตทวีปเอเชียอาคเนย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย เรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน เรามี "กองทัพคนจน" ที่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง


 


ในปี 2516 - ปี 2519 แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา อาจจะชูประเด็นเรื่องการต่อสู้เพื่อคนจน แต่วันนั้นคนจนยังไม่มีมากมายขนาดนี้ แม้ว่าเราผ่านตุลา 16 มา วันนี้ปัญหาความเรื่อง "ความเสมอภาค" กลับรุนแรงมากขึ้น เรามีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น เรามีคนจนที่ต่ำกว่า Property Line คือต่ำกว่าเส้นระดับความยากจน  นี่คือปัญหาใหญ่ ซึ่งถ้าหากเราจะคิดถึงการสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลา 2516 ในวันนี้ต้องคิดเรื่องความเสมอภาคให้มากขึ้น  การจะคิดถึงความเสมอภาคให้มากขึ้นได้ คนชั้นกลางที่เติบโตมาจากผลพวงของเสรีภาพในช่วงที่ผ่านมาจำเป็นจะต้องคิดถึงคนจนมากขึ้น ต้องคิดถึงว่า ความฝันความหวังของคนจนคืออะไร เราต้องร่วมกันสร้างพัฒนาการทางเศรษฐกิจ


 


 


ที่บอกว่า กองทัพคนจน ไม่ว่าในอินโดนีเซียในฟิลิปปินส์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เยอะเหมือนกัน มีปัจจัยอะไรไหมที่ทำให้มีลักษณะคล้ายกัน?


กลุ่มประเทศเหล่านี้ดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจมาเหมือนๆ กัน ก็คือแผนพัฒนาที่มุ่งเน้นทางอุตสาหกรรม โดยได้ละทิ้งภาคการเกษตร ลำดับเวลาก็แตกต่างกัน แต่ทุกประเทศก็จะเดินเหมือนกัน แผนแบบนี้ถูกสร้างและถูกดำเนินการในช่วงที่เผด็จการครองอำนาจทุกประเทศเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น มาคอส ซูฮาโต้ ถนอม ประภาส สฤษดิ์ ทั้งหมดนี้ภายใต้อำนาจเด็ดขาดทั้งนั้น และก็สร้างแผนพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมามุ่งเน้นอุตสาหกรรม และได้คัดเลือกกลุ่มก้อนพรรคพวกของตัวเองทั้งนั้นเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากแผนพัฒนาอุสาหกรรมตรงนี้  คนอาจจะไม่กี่ร้อยตระกูล กลายเป็นผู้ที่เสพหรือได้ผลประโยชน์ของชาติไป 


 


แผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบนี้ บวกเผด็จการ มันทำให้คนจำนวนไม่มากนักกลายเป็นผู้ที่ดูดเอาทรัพย์ส่วนเกินส่วนใหญ่จากสังคมไปหล่อเลี้ยงตัวเอง นี่คือลักษณะร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมันเป็นปัญหาใหญ่ และปัญหาที่อาเซียนทั้งหมดต้องคิดคือ ร่วมกันแก้ปัญหาคนจนในแต่ละประเทศ สร้างแพทเทิร์นการเรียนรู้ร่วมกัน


 


ดังนั้นเมื่อเราเห็นปัญหาร่วมอย่างนี้ เราอาจจะพูดถึงอุดมการณ์ 14 ตุลา 2516 ด้วยการขยายไปสู่กลุ่มพี่น้องของอาเซียนทั้งหมด การแก้ปัญหาในอาเซียน น่าจะเป็นบรรทัดฐานได้ ถ้าหากร่วมกันแก้และทำให้ภูมิภาคทั้งหมดเดินต่อไป


           


การรวมกลุ่มอาเซียนของเราวันนี้ เป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกลุ่มทางเศรษฐกิจและเป็นกลุ่มเฉพาะ 3-4 ร้อยตระกูลที่กล่าวมา ไม่เคยลงมาข้างล่าง ดังนั้น เราต้องคิดถึงอาเซียนภาคประชาชน เพื่อให้เราร่วมกันแก้ปัญหาคนจนของเรา นี่มันเป็นปัญหาใหญ่ของเราและเพื่อนๆ บ้าน    


 


           


แต่ปัญหาที่สำคัญคือ คนเหล่านี้ก็ถูกรัฐของแต่ละประเทศกีดกันออกไป แล้วยังมุ่งพัฒนาในแบบเดิม แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อไป ?


จินตนาการถึงความสับสน ความปั่นป่วนของพี่น้องคนจน ซึ่งผมใช้คำว่า กองทัพคนจน ก็คือ ไม่มีใครหรอกครับที่จะยอมอดตาย  ผมคิดว่าถ้าถึงจุดหนึ่ง ถ้าเราไม่แก้ปัญหานี้ดีๆ พี่น้องคนจนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะลุกออกมาบอกว่าขอข้าวกิน แค่การขอข้าวกินของคนเป็นล้านๆ นี่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่แล้ว  ถ้าหากว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ เราต้องคิดถึงเรื่องนี้ 


 


นี่คือปัญหาที่อย่างน้อยๆ มันก็เสียดแทงใจของพวกเราที่เห็นพี่น้องต้องส่งเด็กๆ มาขายพวงมาลัยตามสี่แยกและอื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องมองปัญหาให้ชัด ช่วยกันทำให้ความเสมอภาคมันเกิดขึ้นมากขึ้น รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร รวมทั้งต้องคิดว่า การทำให้คนทั้งหมดรู้สึกได้ว่ารัฐๆ นี้ยังให้ความเสมอภาคแก่เรา เช่น ต้องคิดถึงภาษีมรดก ต้องคิดถึงภาษีก้าวหน้า ต้องคิดถึงหลายอย่าง นอกจากแก้ปัญหาทางคนจนแล้ว ทำให้คนในรัฐรู้สึกว่าชีวิตเขามีความหวัง รัฐเป็นผู้ผดุงความเสมอภาคให้เราได้ 


 


ถ้าไม่เกิดตรงนี้ ไทยและทวีปเอเชีย จะเผชิญปัญหาที่เราคิดไม่ถึง เราจินตนาการไม่ได้ แค่ปัญหาเด็กกวนเมืองซึ่งจริงๆ แล้วก็คือปัญหาชนชั้นเหมือนกัน หรือเด็กแก๊งทั้งหลาย คนเหล่านี้คือคนที่อยู่ชายขอบของเมือง "ขึ้นไม่ได้ ลงไม่ได้" หมายความว่า ขึ้นไปเรียนระดับปริญญาตรีไม่ได้ ลงไม่ได้ คือลงเป็นชาวนาก็ไม่ได้ กลุ่มพวกนี้ สับสน เจ็บปวด มึนงง แค่นี้เราก็แก้ปัญหาไม่ได้แล้ว เพราะสังคมไทยขาดความพยายามที่จะเข้าใจคนจนๆ


 


ผมมักจะเจ็บปวดเสมอกับผู้มีอำนาจที่เขามักจะอธิบายอะไรแบบมักง่าย เพราะคุณไม่เข้าใจว่า นี่มันเป็นปัญหาของสังคมไม่ใช่ครอบครัว  หรือถ้าเป็นครอบครัวก็เป็นครอบครัวของสังคม แค่ปัญหาเด็กแซ๊ปยังไม่มีคำอธิบายอะไรและแก้ปัญหาได้ดีกว่าการประณามครอบครัว ซึ่งน่าเศร้าสำหรับประเทศในเซ้าท์อิสเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยที่เราขาดปัญญาในด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์โดยสิ้นเชิง


 


 


ความหมายของความยากจนกับความจนที่รัฐหรือผู้ปกครองคิด มีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหม?


ปัญหาคนจนนี่ รัฐบาลทักษิณพูดถึงมากที่สุด แต่วิธีการทำงานกับคนจนของรัฐบาลนี้เป็นการทำงานแบบไฟไหม้ฟาง ชั่วคราว โยนเงินให้เป็นระยะๆ โดยที่ไม่ได้วางแผนที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคจริงๆ ขึ้นมา ดังนั้น พี่น้องคนจนจำนวนหนึ่งอาจจะมีความสุขกับก้อนเงินที่ได้รับ ผมไม่ปฏิเสธว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่หมายถึงว่า ถ้าหากว่าเราจะแก้ปัญหา ต้องคิดยาวและคิดอย่างเป็นระบบ และแก้ไขจริงๆ ต้องแก้ไขในสองกระบวนการอย่างน้อย กระบวนการแรกคือ กระบวนการทำให้อำนาจของคนจนในการเข้าถึงในเรื่องของทรัพยากรเกิดขึ้นได้จริง สองคือ จำเป็นต้องให้คนจนมีส่วนกำกับรัฐ ในแต่ละท้องถิ่น ทั้งสองข้อนี้จะทำให้พี่น้องคนจนมีความหวังที่จะมีชีวิตก้าวหน้าขึ้น


 


           


ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด อ้างกันว่าเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม แต่กลับไม่ได้เน้นให้ประชาชนมีความเสมอภาคอย่างแท้จริง


ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผูกขาดการตัดสินใจขั้นสุดท้ายไว้กับสิ่งที่เราเรียกว่า "ส่วนเสี้ยวของระบบราชการ" ดังนั้นตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางแก้ปัญหาความยากจนได้  แต่สิ่งที่เราต้องคิดกันก็คือ หลังเลือกตั้งแล้ว เราทั้งหลายต้องกลับมาคุยกันใหม่เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะทำให้การตัดสินใจไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่เจ็ดอรหันต์ แปดอรหันต์ หรือระบบราชการ จำเป็นที่อำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะต้องอยู่ที่ประชาชน อย่าขัดขวางการเลือกตั้งเพราะความรู้สึกของสังคมไทยต้องการการเลือกตั้ง เพราะเราหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกเบื้องต้นให้กับสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่ในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือเศรษฐกิจ


           


และหลังการเลือกตั้งในบรรยากาศการเมืองที่เปิด ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม เราต้องมาร่วมกันแก้ไขกติกากันใหม่ โดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยตรงนั้น เพื่อที่จะทำให้การจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนต่างๆ ในสังคมไทยโดยเฉพาะคนจนมีดุลมากขึ้น  และถ้าหากเราจะรำลึกวันครบรอบ 34 ปี 14 ตุลา ก็เพื่อที่เราจะสร้างสังคมที่มีเสรีภาพและมีความเสมอภาคอย่างแท้จริงขึ้นมา


 


           


มองอย่างไรนับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง


ถ้าหากเราจะศรัทธาพรรค ก็อยากเสนอว่าให้เราถอยมาสักก้าวหนึ่ง จงคิดถึงนักการเมืองที่เป็นหมากให้เราเดิน แน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ต้องพยายามทำตรงนั้น รวมทั้งต้องคิดว่า เมื่อเลือกตั้งแล้ว ความขัดแย้งของประชาชนควรจะต้องลดลง อย่าทำให้ความขัดแย้งของคนชั้นนำมาดึงเอาเรากลายเป็นเบี้ยของนักการเมือง เราคงต้องถอยออกมาจากพรรคการเมืองทั้งหลาย แล้วมานั่งคุยกันหาทางออกที่ทุกคนพอจะเห็นพ้องต้องกันได้ แล้วช่วยกันกดดันพรรคทุกพรรค


 


           


กลุ่มคนจน พอจะรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้หรือไม่ในอนาคต


ตัวคนจนเองอาจจะลำบาก หมายถึงยากในการที่จะจัดตั้งขึ้นมาเป็นพรรคการเมือง แต่ตัวคนจนเองสามารถที่จะสร้างนโยบายของตัวเองได้ แล้วใช้นโยบายนั้นไปกดดันนักการเมือง เพื่อให้เขาปฏิบัติตามนโยบายที่คนจนสร้างจะง่ายและเป็นไปได้มากกว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่ใช้เงินสูงมาก เราพี่น้องคนจนไม่มีทางทำได้ แต่เราทำได้คือทำให้เขาต้องมารับใช้เรา ผมคิดว่าตรงนั้นน่าทำกว่า


 


           


ดูจากอดีต สังคมไทยหรือคนจนในอาเซียน พอจะมีการรวมกลุ่มกันบ้างไหม


ผมนึกถึงการเคลื่อนไหวอย่างน้อยในช่วงหลังปี 2516 การเคลื่อนไหวของนักศึกษากับประชาชนส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดิน หรือลองนึกถึงในช่วงหลังหรือก่อนของมหาเธร์ (ดร.มหาเธร์ บิน โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ในการสร้างนโยบายภูมิบุตร คือนโยบายที่ดูแลพี่น้องคนจนชาวมาเลเซีย ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าจะถูกต้องเสมอ แต่มันก็สามารถผลักดันทำให้เกิดการดูแลพี่น้องคนจนชาวมาเลย์  หรือกรณีได้เอกราชใหม่ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย สมัยซูกาโน่ (อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย) ที่พยายามจะผลักดันให้มีนโยบายของการกระจายที่ดิน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้สำเร็จทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี่คือตัวอย่าง


 


 


ของเราก็มีสมัชชาคนจนที่เกิดขึ้นเพื่อต่อรอง แต่ทำไมมันไม่เติบโตพอที่จะมีอำนาจต่อรองกับนักการเมืองที่จะเข้ามารับใช้กลุ่มเหล่านี้


ก็คงต้องบอกว่า เราประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจนเอง หรือกลุ่มทางเหนือเอง ทำให้คำว่า ป่าชุมชนเป็นที่รับรู้ทั่วไป เพียงแต่ยังไม่สำเร็จวันนี้ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลวเลย ในขณะที่คนชั้นกลางไม่ได้มองเห็นไม่ได้รู้จักคนอื่นมากกว่านี้ เราทำได้ขนาดนี้ ผมถือว่าเราประสบความสำเร็จ แต่ในวันข้างหน้าที่ผมเรียกร้องให้คนชั้นกลางเข้าใจคนอื่นมากขึ้น การเคลื่อนไหวโดยรวมของคนทั้งหมดสังคมน่าจะมีพลังมากกว่านี้


           


ในวาระ 34 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ก็อยากให้ความหวังแก่สังคมไทย และเราคงต้องช่วยกันสร้างความหวังให้กับสังคมไทยต่อไป  ถ้าสังคมไหนไร้ความหวัง เราก็ทำอะไรไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net