Skip to main content
sharethis




ประชาไท - เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จัดการเสวนาเรื่อง "การเคลื่อนไหวของนักศึกษาจากอดีตถึงปัจจุบันสู่อนาคต" เนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 โดยมีผู้เข้าร่วมคือ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายอนุธีร์ เดชเทวพร จากกลุ่มศึกษาสังคมเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ประสานงานศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา และนายตุแวแดนิยา สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคใต้



 



นพ.เหวง โตจิราการ กล่าวว่า พลังนักศึกษาในตอนนี้ยังคงเป็นพลังบริสุทธิ์ ไม่อยากให้นักศึกษาที่ทำกิจกรรมเสียกำลังใจกับคำต่อว่าต่อขาน อย่าไปมองที่จำนวน นอกจากนี้ยังได้พูดอีกว่า การที่พลังนักศึกษาในปัจจุบันดูอ่อนลงไป มาจากชนชั้นปกครอง ในช่วงสมัย 6 ตุลาฯ กลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาอาชีวะที่เข้ามาทำลายนิสิตนักศึกษาหัวก้าวหน้าในช่วงนั้น ก็เกิดมาจากการยุยงของชนชั้นปกครอง ว่าในช่วง 14 ตุลาฯ นิสิตนักศึกษาเป็นผู้หลอกล่อให้นักศึกษาอาชีวะไปตาย อีกทั้งยังมีการให้ กอ.รมน. เข้าแทรกซึมเป็นสายสืบของกระบวนการนักศึกษาในช่วงปี 2517-2519 โดยแทรกแซงทั้งหน่วยงานนักศึกษาและอาจารย์ ทำให้ต่อมาขบวนการนักศึกษาถูกปราบลงอย่างง่ายดาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากช่วงรัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์


 


จากนั้น นพ.เหวง ได้เสนอแนะวิธีการอธิบายตัวเองของนักศึกษาปัจจุบัน รวมถึงการสร้างเครือข่ายร่วมมือกันว่า กลุ่มนักศึกษาที่มีความตื่นตัวอยู่แล้วไม่ควรยึดติดกับทฤษฎีทางสังคม หากต้องการหาผู้เข้าร่วม คนที่จะทำอะไรร่วมกันได้มักจะเป็นคนคอเดียวกัน โดยเริ่มจากประเด็นง่ายๆ ใกล้ตัว อย่าไปมองอะไรไกลตัวมาก และอย่าทำตัวเองให้แปลกแยกจากนักศึกษาด้วยกัน นอกจากนั้นอย่ามองคนที่มีความคิดต่างในเชิงดูถูกว่าเป็นพวกสายลมแสงแดดหรือบริโภคนิยม เพราะการดูถูกทำให้สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นการเหยียดหยามซึ่งกันและกัน เกิดเป็นความแตกแยก


 


น.พ.เหวง ได้ยกตัวอย่างถึงช่วงแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ มีการต่อสู้เรื่องโรงอาหารสกปรก ซึ่งการปะทะกับคนขายอาหารไม่ได้แก้ปัญหา แต่ทำให้ได้เรียนรู้ว่า สุดท้ายแล้วต้องเข้าไปต่อสู้กับชนชั้นปกครอง ให้ผู้บริหารลงมาแก้ไข หรือเรื่องใกล้ๆ ตัวอาจจะเริ่มจากการรวมกลุ่มวิจารณ์หนังสือ การ์ตูน ภาพยนตร์ หรืออะไรก็ตามที่นักศึกษาทั่วไปให้ความสนใจ แล้วนำมาพูดคุยกัน


 


"สุดท้ายแล้วอะไรที่เป็นสิ่งที่มีสาระเล็กๆ ทั้งหลาย จะนำไปสู่เรื่องการปลดปล่อยมนุษย์ แล้วเรื่องเล็กๆ จะนำไปสู่เรื่องก้าวหน้า เรื่องใหญ่ๆ ขึ้นได้เอง" หนึ่งในแกนนำ นปช. กล่าว


 


ส่วนนายตูแวแดนิยา ตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคใต้ แสดงความเห็นว่า ชนชั้นปกครองเองมีส่วนในการทำให้พลังนักศึกษาถูกลดทอนลง เนื่องจากการมอมเมาทางความคิด รวมถึงการปิดกั้นกีดกันอิสรภาพในการทำกิจกรรมของนักศึกษา ทำให้ขาดศักยภาพในการที่จะพัฒนาสังคม ซึ่งตัวแทนจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภาคใต้กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ชนชั้นนำมักจะคอยลดทอนพลังนักศึกษาอยู่ เพราะหากนักศึกษามีพลังขึ้นมาได้จะเป็นอุปสรรคกับการแสวงผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งถ้านักศึกษาต้องการจะสร้างพลังที่เข้มแข็ง คงต้องอาศัยการประสานรวมให้เกิดพลังในหมู่นิสิต นักศึกษาด้วยกันเอง


 


นอกจากนี้นายตูแวแดนิยา ยังได้กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาสิทธิเสรีภาพในเมืองไทยว่า ขณะที่มีการพูดถึงการสนับสนุนเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้นจริง โดยยกตัวอย่างพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา ว่ารัฐไม่ได้นับถือในความเสมอภาพของการนับถือศาสนา ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาภาคใต้ ทุกวันนี้ยังคงเกิดความขัดแย้งของวัฒนธรรมและศาสนา เพราะนโยบายของชนชั้นปกครองไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่


 


ด้านนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ได้ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตย ว่าปัญหาของประชาธิปไตยในบ้านเราคืออะไร อะไรเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไตย จริงๆ แล้วเรามีความเป็นประชาธิปไตยกันจริงหรือเปล่า โดยกล่าวอ้างถึงองค์กรบางองค์กรที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมถึงยังมีการขอนายกพระราชทาน นอกจากนี้ยังมีชนชั้นปกครองที่รังแต่พยายามจะแช่แข็งประชาธิปไตยไว้ และมีกรณีการแก้กฎหมายเพื่อปกป้องอำนาจเก่าที่เก่ากว่า แม้ตอนนี้จะมีการถอนกฎหมายนั้นไปแล้ว แต่การกระทำเช่นนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงอะไรบางอย่าง


 


คำถามต่อมาของนายโชติศักดิ์ คือการเลือกตั้งที่จะถึงนี้เป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า ท่ามกลางการบล็อกหรือการปิดกั้นสื่อ องค์การอินเตอร์เน็ตตอนนี้ ใครก็รู้ว่ามีการผูกขาดการให้บริการอยู่หนึ่งเจ้า จะสื่อสารอะไรก็ลำบาก ไหนยังจะมีเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.สื่อสิ่งพิมพ์ฯ ที่สนับสนุนการปิดกั้นสื่ออยู่อีก


 


"หรือเรามีความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นปริมาณมากกว่าคุณภาพ" นายโชติศักดิ์ กล่าว


 


นอกจากนี้นายโชติศักดิ์ยังได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกข้างสังคมไทยว่า การทะเลาะกันของชนชั้นปกครองนั้นทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เราจำเป็นต้องเลือกข้างด้วยหรือไม่ในเมื่อความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นปกครอง


                                                                                                                   


ผู้นำเสนอความคิดเห็นคนสุดท้าย นายอนุธีร์ เดชเทวพร จากกลุ่มศึกษาสังคมเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อสังคมมองนักศึกษามักมองแต่ในด้านที่อ่อนแอ แต่อยากจะให้มองแยกกันระหว่างนักศึกษาที่ทำงานเพื่อสังคมกับนักศึกษาทั่วไปที่เหมือนอยู่ในยุคสายลมแสงแดด ขณะเดียวกันก็ได้เสนอให้นักศึกษาที่ทำงานทางสังคมให้ถามตัวเองในแง่ของเป้าหมาย ต้องมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี อีกทั้งต้องดึงพลังจากประชาชนออกมาเคลื่อนไหวด้วยให้ได้ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ชนะเพราะมีพลังประชาชนร่วมอยู่ด้วย ไม่ได้เกิดจากกระบวนการนักศึกษาอย่างเดียว ขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นั้น ชนชั้นปกครองลดทอนกำลังประชาชนออกจากนักศึกษา ด้วยกระบวนการใส่ความต่างๆ จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาต้องผ่ายแพ้


 



 


ในส่วนของบรรยากาศบริเวณสวนประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใกล้สถานที่จัดการเสวนาครั้งนี้ ยังคงหลงเหลือร่องรอยของพวงมาลาสดุดีวีรชนจากงานรำลึก 31 ปี 6 ตุลา 2519 นอกจากนี้ยังมีการจัดจำหน่ายหนังสือลดราคาทั้งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง ลัทธิทางความคิด และวรรณกรรมชั้นดีต่างๆ อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการสายธารประชาธิปไตย นำเสนอประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคต่างๆ โดยมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย ซึ่งนอกจากจะทำการจัดนิทรรศการแล้วยังมีการจัดกิจกรรมเดินตามรอยเส้นทางแห่งประชาธิปไตยแก่เด็กนักเรียนนักศึกษาร่วม 321 คนจากทั่วประเทศอีกด้วย


นายพล พลพนาธรรม กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสายธารประชาธิปไตย โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กล่าวว่า เด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นเด็ก ที่ทำกิจกรรมต่อเนื่องจากค่ายดนตรีเยาวชนประชาธิปไตย จำนวนกว่า 500 คน ใน 10 ค่าย 10 จังหวัดในประเทศไทย คือระยอง พิจิตร ลพบุรี เพชรบุรี สุราษฎรธานี สงขลา ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดร และกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่ผ่านมา


ส่วนกิจกรรมที่มีในวันนี้นายพลกล่าวว่า เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยการเดินตามรอยเส้นทางแห่งประชาธิปไตยจากหมุดคณะราษฎร 24 มิ.ย.2475 ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ผ่านมาบังสะพานผ่านฟ้า สนามหลวง ก่อนจะเข้ามายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อทำความรู้จักกับพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยของมหาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง นอกจากนี้ยังได้มีให้เด็กๆ ได้จัดแสดงบทเพลงเพื่อประชาธิปไตยที่พวกเขาได้แต่ขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net