Skip to main content
sharethis
 
จากปัญหาเด็กติดเกม วันนี้สังคมไทยได้พัฒนาปัญหาไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกๆ คน และทุกๆ วัย  เพียงเพราะช่วยสร้างความสะดวกสบายในทุกๆ เรื่องให้กับชีวิตไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทข่าวสาร การค้นหาข้อมูลและความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาล รวมไปถึงความบันเทิงหลากหลายทั้งเพลง หนัง ละครและเกมต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงชีวิตของคนได้ตลอดเวลาจาก สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต  โดยเฉพาะ “เด็ก” วันนี้ปฎิเสธไม่ได้ว่า หลายครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยสิ่งเหล่า นี้  และอีก 2 จอที่บ้านคือ คอมพิวเตอร์ และทีวี  ที่ดึงเวลาของเด็กๆ เกือบทั้งวันแล้ว เด็กติดจอ  กำลังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นใน สังคมไทย และส่งผลกระทบต่อเด็กแล้ว ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย สมอง สติปัญญา  สมาธิ และพฤติกรรมความรุนแรง  เรียกว่า... ไม่แพ้ ปัญหาเด็กติดเกมที่ผ่านมาเลย  เพื่อลดภาวะการติดจอ ติดเกมของเด็กและวัยรุ่น และสร้างสมดุลการใช้ชีวิตในครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ โครงการ ปันฝัน ปันยิ้ม จำกัด จัดทำโครงการ“ดิจิตอลของเด็กดี” ขึ้นโดยตั้งเป้าดึง 200 กว่าครอบครัวทั่วประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมโครงการในรูปแบบค่ายสร้างสรรค์ ในกรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาค พร้อมจัดทำสปอตโฆษณาความยาว 45 วินาที สำหรับเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เพื่อสื่อให้สังคม และครอบครัวเห็นถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตในครอบครัว เพราะความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว   คือการสร้างความรักและความอบอุ่นให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดให้กับเด็ก ในสังคมวันนี้และอนาคต
 
ดร.ณัฐ พงศ์  โมกขพันธ์ ผู้อำนวยการ บริษัท ปันฝัน ปันยิ้ม จำกัด ผู้รับผิดชอบโครงการ “ดิจิตอลของเด็กดี”  กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาเด็กติดจอมีจำนวนมากขึ้นและอายุลดน้อยลงเรื่อยๆ จากผลการวิจัยต่างๆ พบว่า การติดจอของเด็กส่งผลให้สมรรถนะของเด็กไทยวันนี้ต่ำกว่ามาตร ฐานทั้ง 7 ด้านได้แก่ ทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะด้านสังคม ทักษะด้านอารมณ์ ทักษะด้านการคิด และสติปัญญา ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะด้านจริยธรรม และทักษะด้านการสร้างสรรค์นอกจากนี้ยังพบว่า การติดจอเป็นภัยเงียบที่คุกคาม เด็กๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น สมาธิสั้น มีปัญหาด้านสายตา  โรคอ้วน และกระดูกพรุน เป็นต้น ซึ่งผลวิจัยนี้ตอกย้ำชัดเจนว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รูปแบบการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ยุคใหม่ได้ใช้อุปกรณ์สื่อสารหลากหลายชนิดเข้ามามีส่วนให้เด็กได้แตะต้องสัมผัส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางสังคมที่พ่อแม่แม้จะมีความตระหนักแต่อาจไม่ระมัดระวัง
 
ด้าน รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อไม่สามารถแยกเด็กออกจากการเล่มเกม หรือจอได้ ก็ต้องให้เด็กเล่นอย่างมีกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เพื่อการเล่นเกม หรือดูจอต่างๆ นั้นไม่ทำร้ายสุขภาพและเป็นการเล่นเพื่อการผ่อนคลาย หรือเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น”
 
สำหรับโครงการ “ดิจิตอลของเด็กดี” มีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อลดภาวะการติดเกมและติดจอของเด็กและวัยรุ่น   โดยการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กและวัยรุ่น ให้มีความรับผิดชอบ แบ่งหน้าที่ในการทำงานและการแบ่งเวลาให้ถูกต้องรวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวเพื่อช่วยลดปัญหาความก้าวร้าวในสังคมไทย อันเนื่องมาจากได้อิทธิพลจากการเล่นเกมบางประเภท    นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นป้องกันไม่ให้เด็กกลับไปมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีก โดยการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
 
“กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ เราคือครอบครัวของเด็กและวัยรุ่น ในช่วงอายุระหว่าง 7-18 ปี   ที่มีภาวะติดเกม หรือติดจอซึ่งเราจะคัดสรร ครอบครัวที่มีเด็กติดเกม หรือติดจอ เพื่อมาเข้าร่วมโครงการ โดยการเข้าค่ายจำนวน 2 วัน รวมทั้งหมด 5  ค่าย ในกรุงเทพฯ และในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่,  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ,ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี โดยตั้งเป้าผู้เข้าร่วมโครงการค่ายละไม่น้อยกว่า 40-50 ครอบครัวคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 200 ครอบครัว”
 
กิจกรรมภายในค่าย  ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ ด้านจิตวิทยาเด็ก ได้แก่ ผศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยนักจิตวิทยาคลินิก เอษรา วสุพันธ์รจิต  ผู้รับผิดชอบในโครงการ HealthyGamer.net  พญ.พรพิมล - นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ” นพ.พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์ บล็อกเกอร์ และนักเขียนเจ้าของนามปากกา “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” พร้อมด้วยนักพูดชื่อดัง อ.เชน-จตุพล ชมภูนิช และ พ.อ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ตั้งคณา มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กและพ่อ แม่ ผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงาน โดยกำหนดให้ผู้ปกครองเป็นที่ปรึกษา และกลุ่มเด็กสามารถขอคำแนะนำจากผู้ปกครองได้ มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่มีการวางแผนงานร่วมกัน คิด วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ร่วมกัน โดยรูปแบบกิจกรรมจะมีความสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดเป็นงานอดิเรก มีประโยชน์ต่อสังคม และสามารถทำร่วมกันในครอบครัวได้ เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยว กิจกรรมทำสิ่งประดิษฐ์ DIY หรือ กิจกรรมกีฬา เป็นต้น
 
หลังจากจัดกิจกรรมค่ายแล้ว โครงการจะมีการติดตามประเมินผล โดยการลงพื้นที่สังเกตพฤติกรรมเด็กที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีความยั่งยืน  ทำให้เด็กไม่สามารถกลับไปติดเกม หรือติดจอได้อีก สำหรับผู้ที่สนใจติดตามโครงการดีๆ ของ “ดิจิตอลของเด็กดี” สามารถเข้าชมได้ที่ www.facebook.com/DigitalDekD หรือ สอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการได้ที่โทร. 09-4224-4635
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net