iLaw ชวนส่งบทความภายใต้หัวข้อ "ปฏิรูปแบบไหน ที่ สปท. ยังไม่ได้ทำ"

สปท. หรือชื่อเต็มว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ถูกแต่งตั้งขึ้นโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 มีสมาชิก 200 คน หน้าที่ตามที่ถูกกำหนดไว้ คือ ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทําแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำร่างกฎหมายที่จำเป็นด้วย
 
สทป. เป็นสภาที่ทำงานกันแบบเต็มเวลา ใช้อาคารรัฐสภาเป็นที่ทำงานและที่ประชุม มีสำนักงานสมาชิสภาผู้แทนราษฎรเป็นหน่วยงานธุรการ ประชุมกันเป็นประจำทุกวันจันทร์ และวันอังคาร หน้าที่ของสปท. โดยตรงอาจจะไม่ได้ชัดเจนมากนัก และสปท. ก็ทำได้เพียงแค่ผลิตข้อเสนอแนะ ไม่มีอำนาจในการสั่งการหรือริเริ่มทำอะไรเองจริงๆ โดย ร.อ.ทินพันธุ์  นาคะตะ ประธานสปท. เคยนิยามไว้ว่า สปท. เป็นสภาวิชาการ ไม่มีอำนาจทางการเมือง และมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาล
 
แม้ว่าจะไม่มีอำนาจอะไรโดยตรง แต่ตลอด 1 ปี 9 เดือนที่ทำงานมา สปท. ก็ออกรายงานข้อเสนอแนะการปฏิรูปแล้วกว่า 120 ฉบับ แบ่งการทำงานเป็น 12 ด้าน แต่ละด้านมีคณะกรรมาธิการเฉพาะศึกษารายละเอียดในแต่ละเรื่อง ข้อเสนอของ สปท. บางอย่าง สนช. ก็พิจารณาออกเป็นกฎหมายไปแล้ว แต่อีกจำนวนมากก็เป็นเพียงข้อเสนอที่ยังไม่เห็นการปฏิบัติเป็นรูปธรรม
 
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 266 กำหนดไว้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วให้ สปท. ยังคงทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปไปก่อนจนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจึงเหลือเพียงแค่การลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ซึ่งเมื่อลงประกาศและกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว สปท. ก็จะหมดอายุและหมดหน้าที่ลง เพื่อให้กรรมการตามกฎหมายใหม่มาเล่นบทบาทนี้ต่อแทน
 
 
ในโอกาสที่ สปท. เหลือเวลาอีกไม่นานนัก ไอลอว์อยากชวนทุกคนมาช่วยกันสร้างความรู้จัก ทำความเข้าใจ และแสดงความคิดเห็นต่อการเกิดขึ้น มีอยู่ ทำงาน และการดับไป ของสภาที่แต่งตั้งขึ้นมาตามข้ออ้างและความฝันของการ "ปฏิรูป" ในยุคสมัยนี้ โดยการ
 
1. ช่วยกันมองสภาพปัญหาของสังคมไทยที่ควรต้องถูกปฏิรูป ช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่า การปฏิรูปประเทศแบบไหนที่เร่งด่วนและจำเป็น แต่ผ่านมาเกือบสองปีแล้ว สปท. ก็ยังไม่ได้ทำ 
2. ช่วยกันศึกษาข้อเสนอแนะของ สปท. ตามประเด็นที่สนใจและมีความถนัด โดยติดตามได้จากข่าวสารทั่วไป หรือสามารถศึกษารายงานของสปท. โดยตรง โดยคลิกเข้าดูรายงานที่นี่
3. เขียนเป็นบทความหรืองานเขียนรูปแบบใดก็ได้ สไตล์ไหนก็ได้ ในประเด็น "ปฏิรูปแบบไหน ที่ สปท. ยังไม่ได้ทำ" ความยาวไม่เกิน 8 หน้า ส่งมาที่อีเมล์ ilaw@ilaw.or.th  พร้อมระบุชื่อผู้เขียนหรือนามปากกา ภายใน 30 กรกฎาคม 2560
 
 
งานเขียนทุกชิ้นทีมงานไอลอว์จะตรวจสอบและคัดเลือกเพื่อนำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์และโซเชี่ยลมีเดียของไอลอว์ให้ทุกคนได้อ่าน และให้สังคมช่วยกันจับตาผลงานของ สปท. ว่าเป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวังและคุ้มค่าที่ คสช. ประกาศจะเข้ามา "ปฏิรูปประเทศ" หรือไม่ เพียงใด
 
ทุกชิ้นงานที่ได้รับการพิจารณาให้เผยแพร่จะได้รับค่าตอบแทน 500-2000 บาท ขึ้นอยู่กับความยาวและความหนักหนาสาหัสในการค้นคว้าข้อมูล 
จะส่งคนละกี่ชิ้นก็ได้ ไอลอว์ขอสงวนสิทธิในการแก้ไขตัดตอนโดยทีมงานบรรณาธิการก่อนเผยแพร่ทุกชิ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท