Prachatai Eyes View: เศษซาก-เส้นทางสู่การยอมแพ้ของชาวบ้านโนนดินแดง

Prachatai Eyes View: เศษซาก-เส้นทางสู่การยอมแพ้ของชาวบ้านโนนดินแดง

 

"อยาให่ข่อยออกเถ๊าะ ข่อยบอมีม่องอยู ไล่ข่อยแล่วข่อยสิไปอยูใส สงสารคนจนแน ถ้าข่อยมีม่องอยูข่อยบอมาอยู ม่องนี่ดอกเด้อสิบอกให่ ขอความเห็นใจแนเจ้านาย"

"ออกจากที่นี่เจ้านายจะให้หนูและแม่จะอยู่ที่ไหนจะมีเงินที่ไหนไปโรงเรียน เด็กคืออนาคตของชาติ"

"พวกเราไม่มีที่ทำกินความสุขของพวกเราคือได้ทำกินอยู่ที่เก่าของเรา ขอความเห็นใจเราคนจนด้วย ฉันไม่มีที่ทำกิน"

"ด้วยความยากจนจึงต้องมาหากินแบบนี้แล้วเจ้านายจะทำยังไงและจะช่วยพวกเราอย่างไร"

"เป็นที่ผืนสุดท้ายแล้วแต่ก่อนเจ้าบอกว่าจะจัดที่ให้เขย สะใภ้ รอจนหัวหงอกแล้ว ลูกจนได้หลานแล้วขอความเห็นใจด้วยเจ้านาย"

ที่ยกมาข้างต้นเป็นบางข้อความที่ชาวบ้านเขียนไว้บนป้ายหน้าทางเข้าศาลากลางของหมู่บ้านเก้าบาตร ที่อยู่อาศัยชั่วคราวของชาวบ้านตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องชาวบ้านรู้สึกไม่ปลอดภัยเกรงจะเกิดอันตรายหรือมีการนำตัวสมาชิกในหมู่บ้านไปไว้ที่ค่ายทหาร จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่ได้สนธิกำลังกันพร้อมติดอาวุธ เข้าไปแจ้งให้ชาวบ้านรื้อบ้านและอพยพออกจากพื้นที่ ป่าดงใหญ่ และได้ทำเครื่องหมายโดยการพ่นสีสเปรย์ระบุหมายเลขบ้านที่จะต้องรื้อเอาไว้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 64/2557  เรื่อง “การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้” โดยเจ้าหน้าที่ได้กำหนดเส้นตายไว้ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.

ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าไปขอคืนพื้นที่ตามหมู่บ้านอีนๆ อีก 5 หมู่บ้านด้วย ได้แก่ ป่ามะม่วง ตลาดควาย(ดงเย็น) เสียงสวรรค์ คลองหินใหม่  และสามสลึง บ้านในหมู่บ้านทั้ง 5 แห่ง ได้ถูกไล่รื้อออกไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งทางหน่วยงานรัฐยังไม่ได้มีมาตรการรองรับชาวบ้านเหล่านี้ที่ชัดเจน เช่น ชาวบ้านในหมู่บ้านตลาดควายหลังจากเจ้าหน้าที่ห้รื้อบ้านตัวเองออกแล้ว ต้องใช้ที่วัดลำนางลองเป็นที่พักชั่วคราวเนื่องจากไม่มีที่ไป หรือบางส่วนก็ให้กลับไปที่ภูมิลำเนาเดิมของตนตามทะเบียนราษฎรแต่ก็ยังมีบางครอบครัวที่ไม่สามารถกลับไปพักอาศัยในที่เดิมได้แล้วไม่ว่าจะเพราะขายที่อยู่เดิมไปหรือว่าที่อยู่อาศัยเดิมไม่สามารถรองรับจำนวนสมาชิกครอบครัวที่เพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว (รายงาน : เสียงจากชาวบ้านโนนดินแดงเมื่อออกจากป่า...ไม่มีที่ไป)

แต่สำหรับกรณีของสมาชิกหมู่บ้านเก้าบาตรยังคงยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินของตนเอง และจะอาศัยอยู่ที่นี่ ซึ่งอยู่กันมานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตั้งแต่ราวปี 2509 ที่ชาวบ้านถูกทหารเกณฑ์ขึ้นไปถางป่าใช้เป็นที่ดินทำกินเพื่อไม่ให้คอมมิวนิสต์ ใช้ป่าเป็นที่หลบซ่อน จนภายหลังในปี 2518 ทหารได้อพยพคนออกจากป่าดงใหญ่ให้ไปอยู่ตามแนวถนนเส้น 348 (ละหานทราย-ตาพระยา) เพื่อป้องกันการแฝงตัวของคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้าน

อีกหลายปีต่อมา ในช่วงปี 2531-2537 มีการให้สัมปทานบริษัทเอกชน 7 รายเข้ามาใช้พื้นที่ป่าดงใหญ่ทำสวนป่ายูคาลิปตัส ซึ่งในขณะนั้นเป็นป่าสงวนแล้ว  โดยบริษัท 6 ราย หมดสัญญาสัมปทานไปแล้วในปี 2546 และ 2552 ขณะนี้เหลือเพียง 1 รายที่หมดสัญญาลงในปี 2560 (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในรายงาน กสม. ตั้งแต่หน้า 131 ที่นี่)  ซึ่งขณะที่สมปทานยังไม่หมดลงพื้นที่ป่าเขาดงใหญ่ได้ถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนในปี 2539 ต่อมาได้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และปัจจุบันยังเป็นมรกดโลกอีกด้วยเนื่องจากป่าดงใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี 2548

เมื่อสัญญาสัมปทานของบริษัทเริ่มทยอยหมดลง ในราวปี 2549 ชาวบ้านที่อยู่ที่อาศัยอยู่ตามแนวถนนเส้น 348 บางและมีอีกบางส่วนที่มาจากที่พื้นที่อื่นๆ ได้กลับเข้าไปในพื้นที่ป่าดงใหญ่อีกครั้ง ซึ่งสภาพป่าในขณะนั้นได้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมไปแล้ว

การกลับเข้าไปในป่าดงใหญ่ของชาวบ้านครั้งนี้ทำให้เกิดข้อพิพาทกันระหวา่งชาวบ้านและหน่วยงานรัฐอย่างกรมป่าไม้ โดยกรมป่าไม้ให้เหตุผลว่าพื้นที่นี้ล้อมรอบด้วยเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ติดกับอ่างกักเก็บน้ำลำนาง รอง อาจส่งผลกระทบต่อการพังทลายต่อหน้าดินและคุณภาพของน้ำ

และในปี 2552 องค์การบริหารส่วนตำบลได้มีมติให้บริษัทเอกชนต่ออายุสัมปทานออกไปอีก ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ป่าดงใหญ่รวมตัวกันคัดค้าน และทำเรื่องร้องเรียนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งในที่ประชุมรัฐบาลได้มีมติให้ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ต่อไปได้จนกว่าข้อพิพาทจะยุติ (สรุปจาก รายงาน :(เรียก) คืนความสุข บ้านเก้าบาตร ?)

แต่ในขณะนี้ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวดูเหมือนว่าจะไร้หนทางประณีประณอมกันได้อีกแล้วภายหลังจากมีการกดดันโดยเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่าย ทำให้ชาวบ้านหมู่บ้านเก้าบาตรร่วมกับสมัชชาคนจนประท้วงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการข่มขู่ ไล่รื้อบ้าน รวมถึงการจับกุมดำเนินคดี โดยระหว่างนี้ให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยที่เดิมไปก่อนจนกว่าปัญหาจะยุติ และให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาทางออกโดยจะเป็นการร่วมกันระหว่างหน่วายงานราชการและชาวบ้านอย่างเสมอหน้ากัน  ซึ่งทางกองทัพเพียงแค่รับปากว่าจะช่วยให้ชาวบ้านได้พูดคุยตกลงกันกับแม่ทัพภาคที่ 2 เท่านั้น แต่กระบวนการอพยพคนออกจะยังเดินหน้าต่อไป แต่จะชะลอการไล่รื้อไว้ก่อน

สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในขณะนี้กลับไม่ได้เป็นไปตามที่ทางกองทัพได้รับปากเอาไว้ ตั้งแต่มีการประท้วงที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เหล่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ก็ยังคงดำเนินการกดดันชาวบ้านอย่างต่อเนื่องจนเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2557 เวลา 14.00 น. ชาวบ้านทนสภาพการกดดันไม่ไหวต้องอพยพออกมา ซึ่งบางส่วนที่ยังคงมีทะเบียนบ้านอยู่ใน อ.ลำนางรองก็ยังพอจะมีที่กลับให้ไปพักอาศัยอยู่ได้ แต่กลุ่มที่ไม่มีที่ให้กลับก็ต้องไปพักอาศัยอยู่บ้านญาติชั่วคราวก่อน ส่วนที่ทางกองทัพรับปากว่าจะมีการประสานให้ชาวบ้านกับกองทัพภาคที่ 2 ได้เจรจาถึงมาตรการรองรับในกรณีที่ชาวบ้านต้องออกจากป่ายังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท