Prachatai Eyes View: เดอะนิวส์เซียม-แด่สื่อมวลชนทั้งผู้ร่วงหล่นและผู้ยังมีลมหายใจ

Prachatai Eyes View: เดอะนิวส์เซียม-แด่สื่อมวลชนทั้งผู้ร่วงหล่นและผู้ยังมีลมหายใจ


แม้กรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา จะไม่ใช่เป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะเป็นศูนย์กลางการปกครองที่เต็มไปด้วยหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ศูนย์กลางธุรกิจการค้าอย่างนิวยอร์กหรือเมืองที่มีคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอย่างลอสแอนเจลลิส แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ วอชิงตันดีซีเป็นเมืองที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงเพราะเมืองนี้เป็นเมืองที่อุดมไปด้วยพิพิฑธภัณฑ์

วอชิงตันดีซีมีพิพิธฑภัณฑ์ที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น  พิพิธฑภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกา พิพิธภัณฑ์อเมริกันอินเดียน (อินเดียนแดง) พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศ ของสถาบันสมิธโซเนียนที่เปิดให้เข้าชมฟรี นอกจากนี้ก็ยังมีพิพิธภัฑณ์อีกแห่งหนึ่งที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาและแง่มุมต่างๆ ของสื่อมวลชนที่เรียกว่า "นิวส์เซียม" (Newseum) ด้วย

การมีพิพิธภัณฑ์ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของรัฐ หรือพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูจะไม่ใช่สิ่งที่แปลกใหม่นัก เพราะหลายๆ ประเทศก็มีกัน แต่การมีพิพิธภัณฑ์ที่อุทิศพื้นที่ขนาดใหญ่ให้กับการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสื่อดูจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

Free Press is not Free

เสรีภาพสื่อ เป็นหนึ่งในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาให้การคุ้มครอง สื่อในอเมริกามีความเป็นอิสระจากรัฐ ไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานมาใช้ควบคุมหรือแทรกแซงการทำงานของสื่อ ขณะเดียวกันสื่อก็จะต้องพึ่งตนเองในแง่ของงบประมาณ เพราะการรับเงินจากรัฐย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่จะสูญเสียความเป็นอิสระ (สื่อที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนอย่าง Voice of America หรือ Radio Free Asia เป็นสื่อที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศในประเทศและมักถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลสหรัฐในประเทศโลกที่สามมากกว่าเป็นสื่อ) นิวส์เสียม ในฐานะพิพิธภัณฑ์ของสื่อ จึงเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่ต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองโดยอาศัยเงินบริจาคและค่าเข้าชม สนนราคา 22.95 ดอลลาร์ (ประมาณ 700กว่าบาท) ซึ่งอาจจะดูแพงสำหรับคนไทยที่จะจ่ายราคานี้เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แต่ถ้าได้เข้าไปดูสิ่งต่างๆที่จัดแสดงไว้ คงจะต้องบอกว่า คุ้มเกินคุ้ม

อะไรนะ นิวส์เซียม

Freedom Forum องค์กรไม่แสวงกำไรที่ทำงานรณรงค์เพื่อพิทักษ์สิทธิตามมาตรา 1 ของสหรัฐอเมริกา ที่บัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในศาสนา เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพสื่อ เริ่มวางแผนจัดตั้งนิวเซียมส์ตั้งแต่ปี 2000 แต่พิพิธภัณฑ์เพิ่งแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดไปเมื่อปี 2008 นี้เอง ในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น

นิทรรศการประวัติศาสตร์และพัฒนาการของหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีการรวบรวมหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม และหนังสือพิมพ์ฉบับที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โลก เช่น หนังสือพิมพ์จากประเทศเยอรมันที่บันทึกเรื่องการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ หนังสือพิมพ์จากสหภาพโซเวียตทีรายงานข่าวการเสียชีวิตของเลนิน หนังสือพิมพ์บอสตัน อเมริกันที่บันทึกการเปิดฉากมหาสงครามในปี 1914 หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลลิสไทม์ที่บันทึกการยอมแพ้ของญี่ปุ่นหลังการทิ้งระเบิดปรมณู ซึ่งถือเป็นจุดจดของมหาสงครามครั้งที่ 2 ในปี 1945   

นิทรรศการ การรายงานข่าวสงครามเวียดนาม เป็นอีกไฮไลท์ที่สำคัญของนิวส์เซียม ที่มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้สื่อข่าว (ส่วนใหญ่สังกัดสำนักข่าวสัญชาติอเมริกัน) ใช้ในการรายงานข่าวจากสมรภูมิทั้งกล้องถ่ายรูป สื่อผ้า และอุปกรณ์ส่งสัญญาณอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีการจัดแสดงนิทรรศการเล็กๆบอกเล่าถึงบทเพลงที่ใช้ในการประท้วงสงครามเวียดนามไว้ด้วย นิทรรศการนี้เป็นทิทรรศการเวียน จะเปิดให้ชมถึงเดือนกันยายน ปี 2016 เท่านั้น

นิทรรศการ 11 กันยา เป็นนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงเรื่องราวของเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยา 2001 ผ่านมุมมองของสื่อมวลชน ซึ่งมีการนำเทปข่าวที่รายงานถึงเหตุการณ์นี้หลายๆชิ้น มาจัดฉายในห้องภาพยนต์ขนาดเล็ก นอกจากนี้ก็มีการจัดแสดงชิ้นส่วนที่เป็นซากตึกเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ไว้ตรงกลางโถงที่ใช้จัดนิทรรศการนี้ด้วย นิทรรศการนี้ยังจัดแสดงกล้องถ่ายรูปและภาพถ่ายสุดท้ายของผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่วิ่งเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์จนเป็นเหตุให้เขาต้องเสียชีวิตไว้ด้วย

นอกจากนิทรรศการตัวอย่างทั้งสามที่เล่าถึงแล้ว นิวส์เซียมยังมีการจัดห้องข่าวจำลองไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ การเป็นผู้สื่อข่าว โดยสตูดิโอจำลองจะมีเนื้อหาข่าวขึ้นมาให้ผู้ชมอ่านและจะมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ หลังจากนั้นเทปที่ว่าก็จะถูกได้รับการออกอากาศผ่านระบบทีวีภายใน 

สยามเมืองยิ้ม...ที่นิวส์เซียม

ชั้นล่างของนิวส์เซียมมีการจัดแสดงภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล พูลิตเซอร์ ตั้งแต่ปี 1942 ในบรรดาภาพที่จัดแสดงมีภาพๆหนึ่งที่น่าจะสะดุดตาผู้เยี่ยมชมชาวไทยรวมอยู่ด้วยคือภาพที่ได้รับรางวัลในปี 1977

ภาพถ่าย Neal Ulevich ช่างภาพชาวอเมริกัน ซึ่งบันทึกภาพเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งกำลังเงื้อเก้าอี้ตีชายอีกคนหนึ่งที่ถูกแขวนคอบนต้นไม้ ท่ามกลางฝูงชนที่กำลังมุงดูด้วยรอยยิ้ม บัดนี้แขวนเด่นเป็นสง่าอยู่บนกำแพงของนิวส์เซียม เพื่อรอบอกเล่าเรื่องราวโหดร้ายของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ให้ผู้มาเยี่ยมชมนิวส์เซียมได้รับรู้

กำแพงเบอร์ลินส่วนหนึ่ง ถูกนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรภายในนิวส์เซียม พร้อมทั้งนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวว่าข่าวสารจากโลกตะวันตก ทะลุกำแพงหนาเข้าไปสู่โลกตะวันออก จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กำแพงเบอร์ลินและสงครามเย็นถึงกาลอวสานได้อย่างไร

กล้องถ่ายรูปของผู้สื่อข่าว และภาพผู้สื่อข่าวกำลังหลบกระสุน จัดแสดงในนิทรรศการการรายงานข่าวจากแนวหน้าในสงครามเวียดนาม

ชุดสนามคล้ายเครื่องแบบทหารที่ผู้สื่อข่าวในแนวหน้าสวมใส่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ป้ายตรงหน้าอกขวาจะปักชื่อส่วนป้ายบนหน้าอกซ้ายจะบอกต้นสังกัด

ภาพถ่ายของ Eddie Adams บันทึกเหตุการณ์ขณะนายตำรวจเวียดนามใต้ ยิงศีรษะผู้ต้องหาเวียดกง ภาพนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1969

ภาพหนังสือพิมพ์บอสตันอเมริกันที่รายงานข่าวการเกิดมหาสงครามครั้งที่ 1 ในปี 1914

ภาพหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซีย ลงข่าวมรณกรรมของเลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซีย ในปี 1924

ภาพหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทม์ฉบับพิเศษ รายงานข่าวการประกาศยอมแพ้ของญี่ปุ่น และการยุติของมหาสงครามครั้งที่ 2

นิทรรศการขนาดเล็กเขียนเล่าประวัติผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตระหว่างกระปฏิบัติหน้าที่บางส่วน ที่ว่างด้านบนถูกเว้นไว้ราวกับว่า ในอนาคตจะยังมีผู้สื่อข่าวผู้โชคร้ายบางคนต้องเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ซากตึก เวิลด์เทรดเซนเตอร์ในนิทรรศการถาวร 9/11

กล้องถ่ายรูปของ Bill Biggart ช่างภาพชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชที่เสียชีวิตระหว่างบันทึกภาพเหตุการณ์ 9/11

ข้อความที่ผนังเขียนว่า "ตำรวจ นักผจญเพลิง และผู้สื่อข่าว คือคนสามประเภทที่วิ่งเข้าหาภัยพิบัติแทนที่จะวิ่งหนี" โดยข้อความติดอยู่บนผนังห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กที่ฉายภาพข่าวเหตุการณ์ 9/11

เหตุการณ์ 9/11 น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจชาวอเมริกันมากที่สุด อย่างน้อยก็ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ที่หน้าห้องฉายภาพยนตร์ในโซนนิทรรศการ 9/11 มีกล่องกระดาษทิชชูเตรียมพร้อมไว้

ส่วนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่จัดให้ผู้มาเยี่ยมชมนิวส์เซียมได้สัมผัสประสบการณ์ การเป็นผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ เทปที่บันทึกจะถูกนำออกอากา่ศผ่านระบบทีวีภายใน

นิวส์เซียมตั้งอยู่บนถนนเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเข้าด้วยกัน ที่นี่จึงเป็นจุดที่เหมาะจะใช้สังเกตการณ์พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกจุดหนึ่ง ทิวทัศน์บนดาดฟ้านิวส์เซียมมองไปจะเห็นโดมของสภาคองเกรสที่อยู่ระหว่างซ่อมแซมภาพ

นิทรรศการย่อย บทเพลงที่ใช้ขับกล่อมเพื่อประท้วงสงครามเวียดนาม

ภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผลงานของ Neal Ulevich ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1977 ถูกจัดแสดงรวมกับภาพที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์อื่นๆในห้องนิทรรศการถาวร

แผนที่โลกมองผ่านเสรีภาพสื่อ สีแดงหมายถึงประเทศที่สื่อไม่มีเสรีภาพ

 

 

เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ร่วมโครงการ International Leadership Visiting Program 2015 ถ่ายที่ นิวเซียมส์ กรุงวอชิงตันดีซี วันที่ 8 กันยายน 2558

Disclaimer: The collection of photo publish here was taken from the Newseum Washington DC. Some of photos displayed here were significant photos taken by other journalists. Photos were used in this article purely for academic purpose to introduce about Newseum and some significant objects displayed there. This article was done for a non profit purpose and the author was not receive any commercial interest from the publication of this article.

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท