Skip to main content
sharethis

ประชาไท --- 23 ส.ค.2547 นักวิจัยฯ ชี้นโยบายจีเอ็มโอเอื้อต่อการค้นคว้าวิจัย แต่ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ขณะที่ผอ.สวทช.ระบุมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยมีมาก่อนการกำหนดนโยบายของรัฐบาล เพียงแต่ทบทวนและปรับปรุงเพิ่มเติม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสัมมนาเกี่ยวกับมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทย มีนักวิชาการ นักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วม โดยมีการนำเสนอผลการศึกษาทดลองที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามะละกอ
จีเอ็มโอผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพสิ่งแวดล้อมและอาหารระดับหนึ่งเท่านั้น

"การค้นคว้าวิจัยมะละกอจีเอ็มโอรวมถึงพืชชนิดอื่นๆ ต้องทำทั้งในโรงเรือนปิด แปลงทดลอง รวมทั้งในระดับไร่นา แต่ที่ผ่านมาทำได้แค่สองระดับ ซึ่งถือว่า ถูกต้องแล้วที่มีนโยบายใหม่นี้ออกมาเป็นการเปิดโอกาสให้ทำการทดลองในระดับไร่นา "ผศ.พิสสวรรณ เจียมสมบัติ จากหน่วยปฏิบัติการพันธุวิศวกรรมด้านพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว

น.ส.สุณี เกิดบัณฑิต นักวิชาการจากสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมนี้มีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็ไม่ใช่ออลอินวัน เพราะเมื่อออกมาแล้วอาจจะต้านทานไวรัสได้ตัวหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานไวรัสสายพันธุ์อื่นๆได้ นอกจากนั้นต้องใช้งบประมาณมหาศาล และใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยค่อนข้างยาวนาน

รศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) กล่าวว่า นโยบายของรัฐที่ออกมาเท่ากับเป็นการยอมรับให้มีการพัฒนาจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยมีการประเมินผลความปลอดภัยที่รัดกุม ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีมาก่อนที่รัฐบาลจะกำหนดนโยบายใหม่นี้ เพียงแต่เมื่อกำหนดนโยบายออกมาชัดเจนก็ต้องมีการกลับไปทบทวนและปรับปรุงเพิ่มเติม โดยเสนอกรอบเวลาไว้ 3 เดือนซึ่งคิดว่าเพียงพอ

นายรุจ วัลยะเสวี ประธานคณะทำงานเพื่อประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพของมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมกล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานฯกำลังติดตามการทดสอบความทนทานของมะละกอต่อโรคใบด่างวงแหวนซึ่งเป็นโรคระบาดที่สร้างความเสียหายหนักหน่วงอยู่ โดยคณะทำงานเพื่อประเมินความปลอดภัยนี้จะแบ่งเป็นหลายชุดแยกไปตามชนิดของพืช มีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ มาช่วยพิจารณา ถือเป็นที่ปรึกษาด้าน วิทยาศาสตร์ขององค์การอาหารและยา (อย.) ก่อนที่อย.จะพิจารณาด้านอื่นๆ ต่อไป

ทั้งนี้ในสิ้นเดือนนี้จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ในแนวทางปฏิบัติที่คณะทำงานฯ จะนำเสนอต่อ อย. เพื่อเป็นมาตรฐานในการพิจารณาความปลอดภัยด้านอาหารต่อไป

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net