Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 23 ส.ค. 47 ขาประจำทักษิณ ฟันธง ฟองสบู่การเมืองแตก ชนชั้นกลางหมดความอดทนกับระบอบทักษิณ วิเคราะห์แค่ระบอบเถ้าแก่ เลื่อนไหล ไม่เก่งจริง กีดกันคนคิดต่าง ทำการเมืองนิ่ง ขณะที่ชนชั้นล่างพึ่งพิงสูงขึ้นโดยนโยบายรัฐ

รศ ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ระบุว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นภาพสะท้อนภาวะอับจนทางการเมือง ของชนชั้นกลาง ถือว่าฟองสบู่การเมืองไทยแตกแล้ว เพราะชนชั้นกลางไม่พอใจรัฐบาลทักษิณอย่างถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม ชนชั้นกลางเองก็มีลักษณะนิสัยเฉพาะที่เป็นปัญหา คือรัฐอุ้มชูชนชั้นกลางมาตลอด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา จึงพร้อมที่จะขับไล่รัฐบาลขณะเดียวกันก็สามารถดูดายชนชั้นล่างที่ถูกรัฐ กระทำ เช่นกรณีการฆ่าตัดตอนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด การอุ้มฆ่าประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

รศ. ดร. เกษียร กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ทักษิโนมิกส์" ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มเศรษฐศาสตร์สถาบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์และวิพากษ์ระบอบทักษิณว่า ระบอบทักษิณ มีข้อที่น่าสนใจหลายประการคือ เป็นรัฐบาลที่เป็นนายทุนใหญ่ มาจากการเลือกตั้ง มีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิ์ และต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเป็นทุนนิยมอย่างสุดโต่งโดยรัฐธรรมนูญฉบับ ปัจจุบันได้วางโครงสร้างทางการเมืองไว้ให้พร้อมจะเป็นอำนาจนิยมสัมพันธ์กับ ระบอบทักษิณที่พร้อมจะบดขยี้คนที่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง ดูได้จากนโยบายเอื้ออาทร และการฆ่าตัดตอน เป็นการทำลายภาวะความเป็นอยู่ของชนชั้นล่างอย่างรุนแรง

รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลทุนนิยมซี่งไม่มีฝ่ายค้าน เป็นการเมืองขั้วเดียว ไม่ต้องรับผิดในกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะประชาชนไม่มีตัวเลือกอื่น ซึ่งจะก่อความไม่พอใจแก่ชนชั้นกลางอย่างรุนแรง และไม่มีทางออก ขณะที่ชนชั้นล่างก็จะถูกทำให้พึ่งพิงรัฐมากขึ้น

รศ.ดร. สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นายกฯ ทักษิณ คือองค์ประกอบที่เป็นปัญหาของประเทศขณะนี้ ระบอบทักษิณมีการกีดกันทางการเมืองสูงมาก ลดคุณค่าความเป็นสมาชิกทางสังคมของคนอื่นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นการฆ่าตัดตอน ระบอบทักษิณตัดตอนกิจกรรมทางปัญญา และสังคม ด้วยการมองข้าม ด่าซ้ำ นักวิชาการปัญญาชน และเอ็นจีโอ ขณะเดียวกันก็ตัดตอนกิจกรรมทางสังคมของชนชั้นล่างให้พึ่งพารัฐด้วยเงินที่ อัดฉีดผ่านโครงการต่าง ๆ เช่นกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล

ในอนาคตอันใกล้ จะเกิดการปะทะแห่งโลกทัศน์ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการวิพากษ์วิจารณ์ทักษิณในปัจจุบัน อยู่ในกรอบของจริยธรรม ความชอบธรรม และสิทธิมนุษยชนซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ทักษิณกระทบกระเทือนได้ เพราะปัญหาของทักษิณคือไม่ได้เป็นสิ่งที่ตัวเองประกาศหรือที่คนอื่น วิเคราะห์อย่างแท้จริง

"ผมมองว่านายกฯ ทักษิณ หมดกึ๋นแล้วพอรู้ว่าคะแนนเสียงลง สิ่งที่เขาทำก็คือว่าทำยังไงถึงจะดึงคะแนนกลับมา ก็มาทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งผมเห็นว่าผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจะต้องปล่อยให้กลไกการทำงาน ดำเนินไปโดยไม่เข้าไปล้วงลูก ซึ่งผมเห็นว่า ยิ่งล้วงลูกมาก ก็ยิ่งแสดงให้เห็นความล้มเหลวเชิงองค์กร"

รศ. ดร. สุวินัย กล่าวต่อไปว่า พตท. ทักษิณไม่มีโอกาสเป็นรัฐบุรุษแล้ว เพราะล้มเหลวมาจากกรณีแก้ปัญหาความยากจนโดยยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง

ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สาระสำคัญของระบอบทักษิณคือ มีลักษณะเลื่อนไหล ไม่คงตัว ขึ้นอยู่กับความตื่นตัว (Hyper Activeness) ของผู้นำ คือ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตัวพตท. ทักษิณเองเป็นประดิษฐกรรมเพื่อตลาดการเมืองระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง ให้พตท. ทักษิณ เป็นผู้นำแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศ.รังสรรค์ อธิบายต่อว่า สังคมการเมืองภายใต้ระบอบทักษิโณมิกค์ ต้องการความนิ่ง เป็นระบบเถ้าแก่ที่ไม่ต้องการการมีส่วนร่วม ไม่ต้องการการตรวจสอบ ลูกจ้างและหลงจู๊ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามเถ้าแก่ ก่อให้เกิดระบบทักษิณานุวัตร คือ ข้าราชการ สื่อมวลชน นักวิชาการ ต้องอนุวัตรตามเถ้าแก่ แม้ว่าพตท. ทักษิณ จะพยายามประกาศว่า ระบบ ซีอีโอ คือหัวใจของการบริหาร แต่รัฐบาลทักษิณกลับไม่มีวัฒนธรรม และบุคลากรแบบ ซีอีโอ เพราะล้วนเป็นเถ้าแก่ที่เคยบริหารกิจการที่ตนเองเป็นเจ้าของ

รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net