สำรวจเส้นทางอดีตถนนสายความมั่งคง คลองลาน - อุ้มผาง

ภาพที่1 ทิวเขาระหว่างทาง - ระหว่างทาง : ทิวเขาสลับซับซ้อนอวดโฉมระหว่างเส้นทาง โดยจุดสีเขียวอ่อนเป็นหย่อมๆ นั้นคือพื้นที่ที่เคยเป็นสวนส้มของนายทุนหรือที่ทำกินของชาวเขามาก่อนมีการอพยพคนออกจากพื้นที่ราวปี 2529

เพียงชั่วครู่บรรยากาศรอบตัวที่ร้อนอบอ้าวกลับกลายเป็นเย็นจับใจ หลังทีมสำรวจเส้นทางซึ่งนำโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ก้าวเท้าลง ณ จุดเริ่มต้นสำรวจ ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อสำรวจเส้นทางสาย 1117 คลองลาน-อุ้มผาง

ข้อมูลเบื้องต้นที่เรารับทราบก็คือ ทางเส้นนี้ถูกเปลี่ยนโฉมแปลงทรงอยู่หลายครั้ง จากเส้นทางเพื่อความมั่นคง เป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว และในวันนี้กำลังถกเถียงกันในการซ่อมสร้างต่อให้ทะลุถึงอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต

ความพยายามขยายอรรถประโยชน์ของถนน เพิ่มเติมไปสู่เรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาของชาวอุ้มผางนั้น เกิดขึ้นหลายครั้งโดยมีหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดตาก กระทั่งล่าสุดในการทัวร์นกขมิ้นทางภาคเหนือ นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการบูรณะและสร้างต่อถนนสายนี้ ด้วยงบประมาณ 573 ล้านบาท

เหตุผลสำคัญของการบูรณะเส้นทางสายนี้ ก็คือจะช่วยย่นระยะทางจากทางสายเก่าที่อ้อมและคดเคี้ยวถึง 1,219 โค้ง ลงเกือบ 200 กม. โดยจะเอื้อประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและสาธารณสุขแก่ชาวอุ้มผาง "เมืองซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ แต่ไม่มีแม้ธนาคารสักแห่ง" วีระ ยอดเมือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อุ้งผาง ระบุ

แต่เพียงนายกฯ ประกาศผลงานไม่ทันข้ามคืน กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ที่จะรื้อฟื้นถนนผ่านผืนป่าตะวันตก "มรดกโลก" ที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรระบุชัดเจนว่า เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ยังดำรงอยู่ ก็เพราะ "ป่าแถบนี้ไม่มีถนนตัดผ่าน" จะมีก็แต่ถนนลำลอง2-3 สาย เพื่อการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น"

แม้แต่ถนนสาย 1117 คลองลาน-อุ้มผาง ที่ในอดีตสามารถสร้างมาถึงกม.ที่115 ก็ยังมาสุดทางเอาดื้อๆ ที่กม. 93 ในอุทยานแห่งชาติ (อช.) แม่วงก์ ซึ่งเป็นจุดพิเศษกลางช่องเขาที่ลมพัดเย็นตลอดปี เป็นที่มาของคำว่า "ช่องเย็น" ส่วนเส้นทางที่เหลือถูกปิดตายมา 17 ปีตั้งแต่ปี2530 ด้วยไม่ต้องการให้การคมนาคมไปรบกวนที่อยู่และแหล่งหากินของสัตว์ป่านานาพันธุ์

เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ เล่าว่า ป่าแถบนี้มีความหลากหลายด้านชีวภาพค่อนข้างสูง เพราะตั้งอยู่ในบริเวณที่เอื้อต่อการกระจายพันธุ์ของสัตว์ป่า 3 กลุ่มที่พบในแถบป่าตะวันตก มลายู และอินโดจีน มีการข้ามถิ่นหากินกันไปมาเพราะมีเขตป่าที่เชื่อมถึงกัน ทำให้เราพบสัตว์ที่มีถิ่นอยู่ทางใต้อย่าง สมเสร็จ ได้ในป่าอุ้งผาง

"การเข้ามาของถนน จะนำมาซึ่งสิ่งอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าธุรกิจรีสอร์ต การค้าขาย การขนส่ง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลต่อการกระจายพันธุ์ของสัตว์และทำลายแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ มันจะทำให้ป่าผืนนี้ไม่ต่างอะไรกับเอราวัณ ซึ่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและการชื่นชมอย่างฉาบฉวย เหมือนเอาของห้างมาขายแบกะดิน"

"เมื่อตัดถนนเส้นนี้ได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นศักราชของการตัดถนนเส้นอื่นๆ ผ่านเข้าไปในป่าตะวันตก ป่าที่แบ่งซอยเป็นส่วนๆ มันไม่ใช่ป่า แต่เป็นสวนหย่อม" อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ จากมูลนิธิสืบฯ อธิบายให้ฟังถึงเหตุผลในการคัดค้านอย่างแข็งขัน พร้อมยืนยันความเป็นสืบฯ ว่า "เราก็ต้องเฝ้าผืนป่านี้เหมือนหมา"

ถนนสู่ช่องเย็น

เส้นทางคดเคี้ยวเกือบ 20 กม.จากที่ทำการอทุยานฯ สู่ "ช่องเย็น" จะเห็นยอดเขาสลับซับซ้อนยาวเหยียด สลับกับเขาหัวโล้นสีเขียวอ่อนเป็นช่วงๆ ซึ่งก็คืออดีตป่าผืนเก่าที่ถูกบุกรุกก่อนจะอพยพคนออกไปปีช่วงปี 2529-2530

หัวหน้าอุทยานแม่วงก์บอกกับเราว่า ส่วนใหญ่แล้วเป็นพืชไร่และสวนส้มของนายทุน แต่ขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว "อีกไม่นานนัก จากสีเขียวอ่อนคงเริ่มเป็นสีเขียวครึ้ม"

เพลินกับทิวทัศน์ไม่นาน ในที่สุดเราก็มาถึงจุดพักค้างแรมที่ "ช่องเย็น"

"ช่องเย็น" ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยสายลมที่โหมพัดไม่หยุดหย่อนและหมอกที่ขาวโพลนไปทั่วบริเวณในยามเย็นย่ำ ละอองฝนบางๆ ของปลายฤดูฝนเช่นนี้ยิ่งเพิ่มความเย็นยะเยือกให้กับคณะนักข่าว บางคนเตรียมมาแค่เสื้อแขนยาวธรรมดา เพราะเข้าใจว่า ช่อง-เย็น ไม่ใช่ ช่อง-หนาว แล้วพวกเขาก็ค้นพบในทันทีว่าโทษทัณฑ์ของการดูเบาความเย็นอันยะเยือกนั้นสาหัสเพียงไร

ค่ำคืนนั้น เราแยกย้ายกันเข้ายึดห้องพัก 3 ห้องจากที่มีทั้งหมด 5 ห้อง ในห้องของหญิงสาวมีการล้อมวงพูดคุยจิปาถะโดยมีเพียงตะเกียงดวงน้อยเป็นเพื่อน แผงไฟบนผนังเพียงเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยมีการปั่นไฟใช้เอง แต่ก็มาเลิกไปเพราะเครื่องปั่นไฟเสียงดังรบกวนสัตว์ป่า เราตระหนักได้ในนาทีนั้นว่า ณ ที่แห่งนี้ มนุษย์เป็นเพียงผู้มาเยือนตัวเล็กๆ ที่จะต้องรู้จักเกรงใจเจ้าของบ้าน

เช้าวันรุ่งขึ้นเราเปิดประตูห้องพักออกมาพบกับสายหมอกหนาแทนที่จะเป็นรถราแออัดบนถนนอย่างเคย แผนการสำรวจเส้นทางแต่เช้าตรู่ต้องเลื่อนออกไปเล็กน้อยเพื่อรอคอยแสงสว่าง ระหว่างนั้นก็กินข้าวผัดและน้ำเต้าหู้-ปาท่องโก๋ ที่คุณสุเทพ บุญประคอง หัวหน้าอช.แม่วงก์เตรียมไว้ให้บรรดาแขกดอยเป็นอย่างดี

ในวงข้าวกลางสายหมอกหนาและสายลมแรงที่พัดเย็นไปถึงกระดูก ใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า "ถ้าทำถนนจริงๆ ช่องเย็นคงโด่งดังแบบน่าสยดสยอง" ทุกสายตาหันมาจับจ้องผู้พูดด้วยความสงสัย "หมอกหนาขนาดนี้ รับรองช่องเย็นคงได้เป็นช่องมรณะให้รถขับตกเหวกันเป็นประจำแน่ อย่างนี้ไม่ดังแบบน่าสยองได้ไง" แล้วเสียงหัวเราะก็ดังให้กับคนช่าง(อุตริ)คิด

พอหมอกเริ่มจาง เราดูแผนที่ดาวเทียมของมูลนิธิสืบฯ ก่อนออกเดินสำรวจเส้นทาง แผนที่นั้นอวดความสมบูรณ์ของป่าตะวันตก แต่ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำความแห้งแล้งอย่างยิ่งของประเทศไทย ซึ่งมีผืนป่าโดยรวมน้อยมาก น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ไม่เว้นแม้แต่มาเลเซีย

บนเส้นทางที่ถูกลืม

จุดเริ่มต้นเส้นทางที่หายเข้าไปในป่า เป็นแผ่นป้ายขนาดใหญ่เขียนว่า "ถนนปิด ห้ามผ่าน" และมีไม้ที่กั้นอยู่ เสมือนกำลังเดินเข้าสู่ซอยตัน ฉากหลังไม้กั้นเป็นพงหญ้าและต้นไม้ที่ขึ้นหนาจนไม่เห็นอดีตพื้นถนนลาดยาง หลังจากเดินไม่กี่ก้าวก็พบว่า ถนนลาดยางแทบไม่เหลือสภาพเดิม มีหลายช่วงที่ยางมะตอยกลายเป็นพื้นดินปกติซึ่งละม้ายทางเดินหาของป่าของชาวบ้านมากกว่า

คณะสำรวจ เดินไปไม่ถึง 100 เมตรจะเห็นต้นไม้ขนาดกลางขึ้นเขียวครึ้มรวมทั้งดงกล้วยป่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกเราว่าสภาพป่าที่นี่มีพันธุ์ไม้ที่คล้ายกับทางภาคใต้ เพราะสภาพอากาศค่อนข้างชื้น และเต็มไปด้วยพนักงานต้อนรับแห่งป่า นั่นก็คือ "ทาก"

ระหว่างทางสายเล็กๆ ที่ลัดเลาะไปตามช่องเขา เราจะพบสภาพรกครึ้ม สลับกับกอหญ้าสูงโปร่ง ขณะที่เดินผ่านบริเวณพื้นที่โปร่งที่คั่นอยู่ช่วงสั้นๆ นั้น เราสามารถแอบดูภูเขาสีเขียวแก่ลูกข้างๆ ได้ แต่เพียงไม่นานก็เข้าสู่สภาพรกครึ้มอีก พวกเราไม่กล้าหยุดนานหรือเถลไถลออกนอกทางเดินแคบๆ มากนัก เพราะเกรงพนักงานต้อนรับจะแอบโดยสารตามแขนขาของพวกเรากลับที่พักด้วย

ลึกเข้าไปราว 2 กม. จะพบลานหินใหญ่ที่เปลี่ยนทิวทัศน์โดยรอบให้โปร่งโล่งสว่างตา เรานั่งพักพูดคุยกันพักหนึ่ง พยายามจะถ่ายรูปร่วมกัน แต่ก็จับปูใส่กระด้งไม่สำเร็จ

จากนั้นหลายคนก็เตรียมตัวหันหลังกลับเพราะชัดเจนกับสภาพเส้นทางแล้ว แต่หลายคนที่เหงื่อไม่ทันออกยังยืนยันอยากไปให้ถึงกม.115 แต่หารือกันไม่นานก็ต้องยอมกลับด้วยจำนนต่อเวลาที่เร่งรัด หารู้ไม่ว่าจะได้เหงื่อโทรมกายสมใจในตอนขากลับที่เป็นทางขึ้นเขา

แดดกล้าในยามบ่ายทำให้ช่องเย็นคลายความหนาวเย็นรวดเร็วจนบางคนถามหายาแก้ไข้ ก่อนที่พวกเราจะอำลาผืนป่าสู่เมือง พร้อมกับการบ้านอันหนักหน่วงในการขบคิดเรื่อง "การอนุรักษ์" และ "การพัฒนา" ซึ่งอาจจะใหญ่กว่าโจทย์ของการพิสูจน์ว่า "การบูรณะถนน" ตามที่จังหวัดกำแพงเพชรเสนอนั้นมีความคลาดเคลื่อน โดยดูจากเส้นทางกว่า 22 กม. ที่หายเข้าไปในป่านานถึง 17 ปี บัดนี้ถูกป่าที่เริ่มฟื้นตัวเข้าปกคลุมจนไม่เหลือสภาพถนนเดิมให้ซ่อม ต้องสร้างใหม่สถานเดียว

เพราะปัญหาคือหากเลือกถนนเสียแล้ว ไม่ว่าการซ่อมหรือการสร้างใหม่ ก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก อย่างไรก็ดี มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีขนาดสมองใหญ่กว่าสัตว์ทั่วไป คำตอบในเรื่องนี้จึงน่าจะคิดให้ยากกว่าการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะชาวอุ้มผางก็เป็นพลเมืองที่รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับพลเมืองในที่อื่นๆ ในขณะที่ป่าไม้ในประเทศไทยก็เหลืออยู่น้อยนิด และแสนจะเปราะบาง

รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท