สังคมที่ป่วยไข้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณัฐชนน เมฆี เด็กนักเรียนเรียนดี จากอ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร หนึ่งในนักเรียนทุน ที่ พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนให้เธอไปเรียนต่อในสาขาวิศวะคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยในนครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี กระทำอัตวินิบากกรรมโดยกระโดดออกจากอาคารของโรงพยาบาล ที่เธอเพิ่งเข้ารักษาตัวเนื่องจากกินยาแก้ไข้เกินขนาด

สาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์การจากไปของเธอต่างๆนานา แต่ส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้ที่ส่งเธอไปยังต่างแดนโดยหวังผลทางการเมือง โดยไม่ได้พิจารณาถึงความพร้อมของตัวเด็กนั้น ถือว่าไม่มีความรับผิดชอบ บางคนก็เสนอว่า ควรจะให้อำเภอละ 2 ทุนเพื่อให้ดูแลซึ่งกันและกันได้

ในเวลาใกล้เคียงกัน สื่อมวลชนเสนอข่าวของชัยพร จรูญภักดิ์ นักเรียน ปวช. ปี 3 แผนกเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตปทุมวัน ถูกแทงเสียชีวิตบนรถเมล์เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเพื่อนนักศึกษา ญาติพี่น้องเชื่อว่า สาเหตุมาจากความขัดแย้งที่มีมานานระหว่าง 2 สถาบัน

ผู้บริหารสถาบันฯของชัยพร ยืนยันว่า ผู้ตายมีความประพฤติดี เป็นประธานชมรมอาสาพัฒนาเพื่อการพัฒนา ซึ่งไม่ได้ยึดติดกับค่านิยมแบบเก่า ทั้งยังเชื่อว่า เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสถาบัน

ทั้งสองกรณี ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะในแต่ละปีมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจจบชีวิตเนื่องจากอาการเครียดจากการเรียน ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนดี มีอนาคตทางการศึกษาและฐานะทางสังคม ขณะที่กรณีนักเรียนนักเลง เหยื่อความรุนแรงมักจะเป็นเด็กหรือผู้หญิง หรือไม่ใช่แม้แต่เป็นคู่กรณี เพียงแต่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ของความขัดแย้ง ทำให้ถูกลูกหลงได้รับบาดเจ็บหรือถึงขั้นเสียชีวิต

เมื่อสืบประวัติของเหยื่อเหล่านั้น มักจะพบว่า เขาและเธอเป็นคนดีของครอบครัว บ้างก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่จะช่วยครอบครัวลืมตาอ้าปาก เป็นความหวังของชีวิตที่อยู่เบื้องหลังให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เหตุสลดใจในสังคมเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนยากจะปลงใจเชื่อว่า เป็นปัญหาส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหากเป็นจริงก็น่าจะเป็นอาการป่วยไข้ของเยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองวันนี้ ทำให้เชื่อได้ว่า ยังวินิจฉัยไม่ถูกโรค

ใช่หรือไม่ว่า ตั้งแต่เด็กเรียนดีมีพรสวรรค์อย่างณัฐชนน จนถึงนักเรียนนักเลงซึ่งสังคมตั้งป้อมโจมตีว่า เป็นเด็กเหลือขอ สร้างความเดือนร้อนทำให้จรูญศักดิ์ต้องจบชีวิตลงนั้น ต่างก็อยู่ในสภาพที่ถูกบีบคั้นจากสังคมไม่แตกต่างกัน

เยาวชนที่มุ่งเป็นเลิศทางการศึกษา ถูกห้อมล้อมด้วยค่านิยมที่ว่า ความสำเร็จทางการศึกษาเป็นใบเบิกทางเพียงประการเดียว ที่กรุยทางสร้างฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่เขาและเธอไม่รู้ว่า พื้นที่ของผู้ชนะนั้นมีน้อยเกินกว่าจะแบ่งปันให้ใครได้ ดังนั้นระหว่างทางจึงมีผู้ถูกคัดทิ้งหรือล้มเลิกกลางคันเพราะทนต่อแรงกดดันไม่ไหว

ขณะที่เยาวชนที่พ่ายแพ้ให้แก่ระบบการศึกษาตั้งแต่ต้น และต้องแสวงหาคุณค่าของชีวิตด้วยตัวเอง ซึ่งมีไม่น้อยที่ค้นพบเส้นทางและสร้างตัวจนประสบความสำเร็จในสังคม แต่ก็มีจำนวนมากที่ถูกดูดหลงเข้าสู่วังวนการแสดงตัวตนแบบผิดๆ กลายเป็นนักเรียนนักเลงที่ถูกสังคมปฏิเสธอยู่ทุกวันนี้

สังคมที่เน้นค่านิยมเชิงเดี่ยว โดยไม่เปิดพื้นที่ว่างให้กับคุณค่าการตีความอื่นๆ หรือกระทั่งที่ยืนของผู้พ่ายแพ้จากระบบ ไม่ต้องกล่าวถึงปัญหาเมืองที่เกิดจากผู้คนจากสังคมที่หลากหลายมาอยู่รวมกัน สภาพการณ์โดยรวมย่อมยากที่จะสร้างความสงบสันติอย่างยั่งยืนให้กับคนในสังคมได้

หากต้องการเยียวยาสังคมที่ป่วยไข้เช่นนี้ คงมีแต่การระดมปัญญาอย่างหลากหลายของผู้คนที่ไม่ยึดติดกับการตีความคุณค่าแบบเดิม ทั้งต้องอาศัยความใจกว้างของผู้ใหญ่ในสังคม เปิดช่องให้มีการทบทวนตัวเอง รวมถึงปรับทัศนคติรับฟังความเห็นของเยาวชนอย่างไม่มีอคติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท