พีดีพี 2004 กับการรับรู้ของประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แต่ไหนแต่ไรมา กระบวนการกำหนดนโยบายโดยเฉพาะด้านพลังงาน ถูกจำกัดอยู่ในวงเทคโนแครต ผู้ชำนาญการ นำเสนอความเห็นให้รัฐบาลกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ(Action Plan) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน(Energy Security) ในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมของประเทศเป็นหลัก

ตัวเลขสัดส่วนการบริโภคของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในปี 2544 ชี้ให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟสูงถึง 45.41% รองลงมาเป็นภาคธุรกิจและราชการ 31.09% ขณะที่ ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากที่สุด บริโภคไฟ 22.83%

ที่เหลือเป็นสาขาอื่นๆ ภาคเกษตรกรรมและภาคขนส่งซึ่งบริโภคไฟในสัดส่วนรวมกันไม่ถึง 1%

สำหรับผู้บริโภคไฟอันดับสาม โดยเฉพาะประชาชนในท้องถิ่นกลับต้องรับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้า นับแต่รัฐลงเสาเข็มโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ

เขื่อนพลังน้ำขนาดใหญ่บังคับให้ชาวบ้านต้องถิ่นที่อาศัยมาหลายชั่วอายุ มีจำนวนมากต้องอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่อย่างไม่เต็มใจ ขณะที่โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง นำหายนะในชีวิตและทรัพย์สินมาให้ชาวบ้านรอบๆ โรงไฟฟ้า ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่เสียที่ทำกินอย่างถาวรให้กับโรงไฟฟ้าเนื่องจากรัฐขอให้เขาเสียสละเพื่อประโยชน์ของชาติซึ่งไม่ได้รวมส่วนพวกเขาเข้าไปด้วย

ขณะที่นโยบายพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้า ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ กระทั่งไม่เหลือที่ว่างให้คนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเงินทุนที่แท้จริงเข้าไปมีส่วนร่วม

เป็นความจริงที่ว่า เราต้องใช้ไฟ แต่สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างการลงทุนผลิตไฟฟ้ากับความจำเป็นใช้ไฟที่แท้จริงของทุกภาคส่วนนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานการคิดต้นทุนรวมทั้งในแง่เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และทางสังคม เพื่อให้ค่าไฟได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และมิใช่แค่ผลักภาระให้ประชาชนทั้งๆ ที่พวกเขามิได้เป็นผู้บริโภครายใหญ่แต่อย่างใด

ประการสำคัญ ค่าไฟที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง น่าจะทำให้ผู้บริโภคกลับมาทบทวนการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย ไร้ประโยชน์ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตพลังงานโลกในปัจจุบัน และหันกลับมาใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า หรือเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตมากที่สุด

เป็นที่น่าเสียดายที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2004 ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) อนุมัติและจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบนั้น ยังคิดบนฐานการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งค่าไฟที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่ม (ทั้งที่เป็นเพียงผู้บริโภคจำนวนน้อย) สะท้อนเพียงต้นทุนค่าไฟที่รวมส่วนเฉพาะต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เท่านั้น

แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากนักวิชาการ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ให้ทบทวนพีดีพี 2004 รวมถึงเสนอให้สังคมมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยน และร่วมกำหนดแนวทางการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม แต่รัฐบาลซึ่งโฆษณาชวนเชื่อว่า มีความเป็นประชาธิปไตย ทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศนั้น กลับไม่มีเสียงตอบรับแต่ประการใด

ระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องนั้น ควรจะเน้นในเรื่องของกระบวนการใช้อำนาจควบคู่ไปกับเรื่องของโครงสร้างหรือสถาบัน หมายความว่า รัฐไม่ควรมองประชาชนว่า เป็นแค่ผู้มีสิทธิลงคะแนน หรือมีบทบาทเพียงเลือกตั้งผู้มาใช้อำนาจ แต่ระหว่างที่มีการใช้อำนาจนั้น ประชาชนกลับไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องอันใดเลย

แม้กระทั่งเรื่องพลังงาน ซึ่งเทคโนแครตบางกลุ่มพยายามทำให้ซับซ้อน เข้าใจยาก แต่หากต้องการให้ประเทศพัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกับประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ยิ่งต้องเปิดช่องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้พลังงานด้วยตัวของเขาเอง

ไม่ใช่ปล่อยให้กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มเข้ามากอบโกยอยู่เงียบๆ แล้วอ้างว่า เป็นผลประโยชน์ของชาติอย่างในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท