Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคใต้-7 ก.ย.47 รายงานข่าวจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่า ขณะนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติอยู่ระหว่างร่างแผนแม่บทแห่งชาติในการแก้ปัญหาความไม่สงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2547 ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กก.สสส.จชต.) ที่มีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธาน ก่อนจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณารับทราบ ก่อนสิ้นเดือนกันยายน 2547

โดยแผนดังกล่าวเป็นการร่างภายใต้กรอบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 68/2547 เรื่อง นโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

ก. ในการยุติความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการปฏิบัติใดที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ยืดเยื้อและรุนแรงยิ่งขึ้น ในการดำเนินการดังกล่าว จะต้องกลับมาเป็นฝ่ายรุกทางการเมือง เอาชนะทางแนวความคิด โดยพยายามลดระดับแนวความคิดของกลุ่มหัวรุนแรงให้เป็นสายกลาง เอาชนะกลุ่มอิทธิพล 3 ฝ่าย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นและกลุ่มอิทธิพลนักการเมือง

รวมถึง การปฏิบัติทั้งสิ้นที่ส่งผลให้ ประชาชนในพื้นที่มีความสำนึกร่วมในการเป็นคนไทย มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของประเทศ และได้รับผลประโยชน์เท่าเทียมกัน การรุกทางด้านสังคมจิตวิทยา ซึ่งได้แก่ การปฏิบัติทั้งสิ้นที่ส่งผลให้ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าที่มีความแตกต่างและหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และร่วมกันพัฒนาประเทศ

ข. ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุ ที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกแตกแยกของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน สาเหตุมาจากความหลากหลายทางด้านเชื้อชาต ศาสนา ความรู้สึกถูกเอาเปรียบและความแตกต่างของสถานะทางสังคม ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดผูมีอิทธิพลและธุรกิจผิดกฎหมายทั้งสิ้น สร้างความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแ มีอิสระในการนับถือศาสนา ความเชื่อและการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน

ค. ดำเนินการเพื่อให้เกิดการประสานประโยชน์ และอยู่ร่วมกันระหว่างกลุ่มชนในสังคมทึ่มีคงวามแตกต่างกันในด้านเชื้อชาต ศาสนาและความเชื่อ สร้างที่ว่างให้กับวัฒนธรรมและสังคมอิสลาม ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยโดยส่วนรวม เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยมีการยอมรับความแตกต่างของสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น

ง. ส่งเสริมการดำเนินตามวิถีชีวิตที่เป็นไปตามวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์และการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ เคารพในวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อของทางศาสนาของประชาชนในท้อถิ่น และให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีซึ่งกันและกัน ระหว่างกลุ่มชนที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ ก็เพื่อช่องทางในการติดต่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้น

จ. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของรัฐในทุกด้านมติการทำงานของรัฐในทุกด้านการปฏิบัติงาน

ฉ. การสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน กับกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนา สื่อสารมวลชน และองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหา วางแผน และดำเนินการในการในการแก้ไขปัญหา

ช. ปฏิบัติต่อกลุ่มแนวร่วมที่หลงผิดหรือผู้กระทำผิดอย่างเพื่อนร่วมชาติ โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายมาเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา

ซ. ทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือในประชาคมโลก และภูมิภาคถึงความมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่า เชื้อชาติ ศาสนา ในสังคมไทย โดยเน้นไปที่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม

ฌ. พัฒนาเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พัฒนาชุมชน เสริมสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่เชิงบูรณาการ ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชนหรือชุมชนอย่างแท้จริง

ญ.ดำเนินมาตรการด้านการข่าว และปฏิบัติการด้านจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์เชิงรุกควบคู่กับการปฏิบัติการด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม
ศูนย์ข่าวภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net