เขื่อนราษีไศล*

เขื่อนราษีไศลเป็นหนึ่งใน 22 เขื่อนของโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาการขาด แคลนน้ำในพื้นที่ 4.98 ล้านไร่ในภาคอีสาน หน้าที่หลักของโครงการราษีไศลคือการกักเก็บน้ำในลำน้ำมูลไว้ใช้ใน การเกษตร อุปโภคบริโภค รวมทั้งทำหน้าที่รับและควบคุมน้ำซึ่งจะส่งมาจากแม่น้ำโขง เพื่อส่งไปยังโครงการย่อยอื่นๆต่อไป

ปี 2532 ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีดำเนินการ ภายใน 3 ปี โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำมูลที่บริเวณบ้านปากห้วย อ.ราษีไศล จ.ศรีษะเกษ เป็นฝายยางเก็บน้ำไม่เกินตลิ่งสูง 4.5 เมตร งบประมาณ 140.97 ล้านบาท

ปี 2535-2536 การก่อสร้างจริงมีการสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 9 เมตร ใช้งบประมาณ 871.9 ล้านบาท มากกว่าราคาประเมิน 6 เท่า โดยไม่รวมค่าก่อสร้างระบบชลประทาน

ภายหลังก่อสร้างฯ น้ำได้ท่วม ทิ่ดิน ป่าบุ่ง ป่าทาม ซึ่งเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้านมาเป็นเวลานาน จำนวน 50,000 ไร่ ดังนั้น จึงมีชาวบ้านที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเหล่านั้น 11,358 ไร่ จาก 1154 ครอบครัว รวมตัวกันเรียกร้องค่าทดแทน ในที่สุดกรมพัฒนาฯจึงให้มีการพิสูจน์การครอบครองและทำประโยชน์ในที่น้ำท่วมในปี 2538-2540

เดือนตุลาคม 2540 มีการจ่ายค่าทดแทนให้ชาวบ้าน ต่อมาชาวบ้านที่มีที่ดินที่ครอบครองทำประโยชน์ที่เหลืออีกกว่า 40,000 ไร่ ได้เรียกร้องขอพิสูจน์สิทธิเพื่อขอค่าทดแทนด้วย นอกจากนั้นยังมีผู้ยื่น แจ้งความจำนงขอพิสูจน์สิทธิ์เป็นจำนวนมาก โดยบางรายอยู่ไกลถึง ระยอง ฉะเชิงเทรา ทำให้ตัวเลขผู้เรียกร้องฯเพิ่มขื้นถึง 17,000 ราย

ตั้งแต่ปี 2542 ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา โดยได้ยึดพื้นที่อ่างเก็บน้ำด้วยการตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2(แม่มูนมั่นยืน 1 คือที่เขื่อนปากมูน) และมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ในนามสมัชชาคนจนโดยเสนอให้เปิดประตูน้ำ เพื่อทำการพิสูจน์สิทธิการครอบครองการใช้ประโยชน์ทุกราย รวมทั้งผู้ที่ได้รับค่าชดเชย แล้วก็ยินดีให้มีการพิสูจน์ใหม่ และยินดีคืนค่าทดแทนที่ได้รับให้กับรัฐฯ ถ้าการพิสูจน์พบว่าที่ผ่านมาไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบเรื่องดินเค็ม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ความคุ้มค่าในการก่อสร้างเขื่อนและการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทุกระดับ
25 กรกาคม 2543 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางฯ โดยมีมติให้แก้ไขปัญหากรณีเขื่อนราษีไศล โดยให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน เพื่อบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะเฉพาะหน้า และให้พิสูจน์สิทธิการครอบครองและการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย และให้รอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาของสถาบันวิจัยทางสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับฝายราษีไศลในอนาคต
ปัจจุบันการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้า สมัชชาคนจนจึงเรียกร้องให้มีการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ ระหว่างกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเจ้าของโครงการ กับสมัชชาคนจน และเขื่อนราษีไศลยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในทางชลประทานเนื่องจากระบบคลองส่งน้ำยังสร้างไม่เสร็จ

*ข้อมูลจากสมัชชาคนจนและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท