งานวิจัยไทบ้านป่าทามราษีไศล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

งานวิจัยดำเนินการระหว่างต้นปี 2546-2547 โดยไทบ้านจาก 36 ชุมชนประมาณ 200 คน ที่ตั้งถิ่นฐานรอบป่าทามราษีไศลในเขตลุ่มน้ำมูนตอนกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) เป็นผู้ช่วยนักวิจัย มีขั้นตอนหลักๆ คือ
1. ไทบ้านประชุมกำหนดประเด็นศึกษา 8 ประเด็นคือ ระบบนิเวศป่าทาม พรรณพืชพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลา การต้มเกลือ เกษตรทาม และการเลี้ยงวัว-ควาย
2. ไทบ้านคัดเลือกนักวิจัยไม่ต่ำกว่า 20 คน ต่อประเด็น
3. นักวิจัยและผู้ช่วยแต่ละประเด็นประชุมกลุ่มเพื่อจัดทำข้อมูลพื้นฐาน
4. นักวิจัยและผู้ช่วยลงสำรวจภาคสนาม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการประชุมกลุ่มย่อย
5. ผู้ช่วยนักวิจัยเขียนรายงานและให้นักวิจัยทั้งหมดตรวจสอบ

ผลการศึกษา
1. ระบบนิเวศป่าทามราษีไศล เป็นป่าทามที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำมูนตอนกลางในอีสานใต้ มีระบบนิเวศย่อยถึง 12 ระบบ คือ โนน เลิง หนอง มาบ กุด ฮอง ห้วย หาด วัง บ่อเกลือ น้ำจั้น น้ำซับ ซึ่งส่งผลให้ป่าทามมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งพรรณพืช สัตว์น้ำ สัตว์ป่า โดยไทบ้านได้พึ่งพาในการทำเกษตรทาม เก็บพืชผัก เห็ด สมุนไพร เลี้ยงสัตว์ ต้มเกลือ และเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร

การสร้างเขื่อนได้ทำให้ป่าทามที่อุดมสมบูรณ์จมอยู่ใต้น้ำ การเปิดเขื่อนจึงทำให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ผลกระทบที่ยังมีอยู่คือ การแพร่ขยายของไมยราบยักษ์แทนพืชพื้นถิ่น และพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นคือหอยคันและหอยเชอรี่

2. พรรณพืชป่าทามแม่น้ำมูน เนื่องจากป่าทามเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งในช่วงฤดูฝนมีน้ำท่วมหลากทั่วพื้นที่ พัดพาดินตะกอนมาทับถมกันทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ป่าบุ่งทามจึงมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ ในการสร้างเขื่อนไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนจึงไม่มีข้อมูลจำนวนชนิดพันธุ์ไม้ก่อนสร้างเขื่อน แต่เมื่อมีการเปิดเขื่อนและได้มีการสำรวจหลังจากเปิดเขื่อน 2 ปี พบพันธุ์พืชที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์กลับมา 250 ชนิด มีไม้ยืนต้น 67 ชนิด ไม้พุ่ม 33 ชนิด ไม้เลื้อย 41 ชนิด พืชประเภทกอหรือพืชตระกูลหญ้า 43 ชนิด พืชที่อาศัยในน้ำ 24 ชนิด เห็ด 32 ชนิด ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น เห็ดทำให้มีรายได้ 500-600 บาท/วัน ผักขี้บ่อ มันแซง และต้นผือ เป็นต้น

3. พันธุ์ปลาป่าทามราษีไศล พบว่าก่อนการสร้างเขื่อนมีปลา 115 ชนิด เป็นปลาธรรมชาติ 112
ชนิด ปลาต่างถิ่น 3 ชนิด โดยปลาธรรมชาติที่อพยพมาจากมาจากแม่น้ำมูนตอนล่างและแม่น้ำโขง 33 ชนิด ซึ่งการสร้างเขื่อนทำให้พันธุ์ปลา 15 ชนิดที่ไม่พบเลยในช่วงการเก็บกักน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำมูนตอนล่างและแม่น้ำโขง และเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน โดยเมื่อมีการเปิดเขื่อนพบว่าชนิดพันธุ์ปลากลับมาถึง 112 ชนิดและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นแต่ยังน้อยกว่าช่วงก่อนการสร้างเขื่อน การกลับมาของปลาและระบบนิเวศทำให้รายได้และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนกลับมาด้วย

4. เครื่องมือหาปลาป่าทามราษีไศล:ความรู้ สิทธิ และวิถีแห่งทาม ความรู้ในการเข้าถึงทรัพยากรปลาที่อุดมสมบูรณ์ที่หลากหลายสะท้อนจากเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่มีอยู่ถึง 48 ชนิด ซึ่งต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ ฤดูของน้ำ และพฤติกรรมของปลาแต่ละชนิด ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้ครอบครัวแล้วยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านเนื่องจากเครื่องมือหลายชนิดต้องรวมกลุ่มกันหา จากการวิจัยพบว่าการเก็บกักน้ำทำให้ระบบนิเวศที่หลากหลายกลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่กว้างใหญ่และมีเครื่องมือถึง 37 ชนิดที่ไม่สามารถใช้ได้ แต่มีเพียงนายทุนที่มีทุนสูงนำเครื่องมือสมัยใหม่ที่ทำลายล้างสูงเข้ามาแทน การเปิดเขื่อนได้ทำให้เครื่องมือหาปลานำกลับมาใช้อีกครั้งถึง 46 ชนิดพร้อมการกลับมาของคนหาปลาที่หายไปเกือบ 10 ปี

5. ป่าทามราษีไศล : แหล่งเกลือโบราณ พบว่าป่าทามมีบ่อเกลือถึง 150 บ่อ กระจายอยู่ทั่วไปก่อนการสร้างเขื่อน โดยชาวบ้านอยู่ร่วมกับบ่อเกลือ มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วยการต้มเกลือแบบพื้นบ้านโบราณเพื่อนำมาบริโภคและรักษาสัตว์เลี้ยง และสัตว์เลี้ยงเองก็กินดินเหมือนสัตว์ป่าที่กินดินโป่ง ในด้านเศรษฐกิจของไทบ้านมีการแลกเกลือกับข้าวหรือของใช้ตั้งแต่ในอดีตจนมีการค้าขายในปัจจุบัน การสร้างเขื่อนได้ทำให้บ่อเกลือทั้ง 150 บ่อจมอยู่ใต้น้ำและการกักเก็บน้ำส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มรอบอ่างเก็บน้ำ ไม่สามารถใช้ในการเกษตรได้ ซึ่ง 3 ปีหลังการเปิดเขื่อนมีบ่อเกลือ 47 บ่อที่ไทบ้านสามารถกลับมาต้มได้

6. เกษตรทามราษีไศล ป่าทามเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของชุมชนโดยรอบในฤดูน้ำลด เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์จากการทับถมของตะกอนในฤดูน้ำหลาก มีการปลูกข้าวไร่ทาม ทำนาทาม ปลูกพืชผักต่างๆรวมถึงพืชเศรษฐกิจ โดยอาศัยแหล่งน้ำในทาม เป็นระบบเกษตรดั้งเดิมที่สอดคล้องกับระบบธรรมชาติ และทำให้มีพันธุ์พืชเกษตรที่หลากหลาย โดยพบว่าก่อนสร้างเขื่อนไทบ้านมีพันธุ์ข้าวดั้งเดิมในทามถึง 15 พันธุ์ และพืชอีก 45 ชนิด นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมทั้งก่อนและหลังการทำนา รวมทั้งยังมีภูมิปัญญาในการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศโดยการสังเกตธรรมชาติ ซึ่งการสร้างเขื่อนได้ส่งผลให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองและพืชผักสวนครัวสูญพันธุ์ไปจากชุมชน

7. ความหลากหลายในการจัดการน้ำแบบพื้นบ้าน ป่าทามมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่หลากหลายเป็นทั้งแหล่งอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำจั้นซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มมีถึง 30 บ่อ ในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรนั้นไทบ้านจะทำการเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำ เช่น การทำนาตามหนอง ปลูกพืชผักทนความเค็มในพื้นที่มีน้ำเค็ม มีการจัดการน้ำแบบผสมผสานโดยการเพาะปลูกพืชตามพื้นที่ลดหลั่นกัน และยังมีการรวมกลุ่มในหมู่เครือญาติขุดเหมือง นำน้ำเข้านา การเก็บกักน้ำของเขื่อนได้ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเดิมทำให้ต้นทุนสูง การเปิดเขื่อนจึงทำให้ชาวบ้านหันกลับมาสู่วิถีการผลิตตามธรรมชาติแบบเดิมและน้ำจั้นก็กลับมาถึง 20 บ่อ

8. วัว-ควายในป่าทาม การเลี้ยงวัว- ควายเป็นอาชีพที่สำคัญของชุมชนรอบป่าทาม เพราะพื้นที่อุดมไปด้วยพรรณพืชที่เป็นแหล่งอาหารและยังมีแหล่งเกลือธรรมชาติที่เป็นแร่ธาตุเหมาะแก่การเลี้ยงวัว-ควาย ซึ่งสามารถใช้เป็นแรงงานและให้ปุ๋ยชีวภาพตัวละประมาณครึ่งตันในหนึ่งปี การเลี้ยงของชาวบ้านต้นทุนต่ำเนื่องจากเลี้ยงโดยการปล่อยในป่าทาม การเลี้ยงวัว-ควายจึงทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้และสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและชุมชน

การสร้างเขื่อนได้ทำให้ชาวบ้านต้องขายวัวไปในราคาถูกเนื่องจากไม่มีแหล่งเลี้ยงและแหล่งอาหาร ภายหลังการเก็บกักน้ำ 3 ปี จำนวนวัวลดลงร้อยละ 65 และควายลดลงร้อยละ 60 การเปิดประตูเขื่อนได้ทำให้ชาวบ้านหันกลับมาซื้อวัว-ควายเลี้ยงอีกครั้ง ซึ่งหลังเปิดเขื่อน 2 ปีพบว่าจำนวนวัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 131.21และควายเพิ่มขึ้นร้อยละ 121.19

อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) http://www.searin.org

รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ศูนย์ข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท