คนแม่ขนิลต้านเขื่อนแม่ขาน

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-16 ก.ย.47 กรมชลประทานดันสร้างเขื่อนแม่ขานที่สันป่าตอง แต่คนหางดงได้รับผลกระทบต้องย้ายทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านยืนยันไม่ยอมย้ายออกพื้นที่ ชี้ทั้งหมู่บ้านและอุทยานแห่งชาติแม่ขานจะถูกน้ำท่วมเสียหาย

ที่หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ นายสมบูรณ์ วงศ์กาด เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8 จากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้มาลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับกล่าวว่า กรณีมีราษฎรจากอำเภอสันป่าตองได้ทำการถวายฏีกา เพื่อขอติดตามความคืบหน้าในการสร้างเขื่อนเก็บน้ำแม่ขาน ซึ่งหลังจากนั้น ทางชาวบ้านบ้านแม่ขนิลใต้ ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ได้ทำหนังสือยื่นถึงองคมนตรี เพื่อคัดค้านไม่ให้มีการสร้างเขื่อน เนื่องจากหมู่บ้านในพื้นที่ทั้งหมดจะถูกน้ำท่วม

"ที่ลงมาดู ก็เพราะต้องทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่เห็นด้วย คือชาวบ้านอ.สันป่าตอง กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย คือบ้านแม่ขนิลใต้ อ.หางดง ซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน" นายสมบูรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการลงพื้นที่หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ในครั้งนี้ นอกจากมี เจ้าหน้าที่จาก กปร. และกรมชลประทานแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอหางดง กำนันต.น้ำแพร่ นายกอบต. น้ำแพร่ เข้าร่วมรับรู้ข้อมูลด้วย

นายประพันธ์ จันทร์แก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่ขนิลใต้ กล่าวว่า กรมชลประทานเริ่มผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่ขานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537 โดยอ้างว่าเพื่อการชลประทานและแก้ปัญหาภัยแล้ง และเราก็ได้ร่วมกันคัดค้านมาตลอด จนมาถึงช่วง ปี พ.ศ.2547 เจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานได้เข้ามาสำรวจรังวัดพื้นที่ มีการปักหมุดไปรอบๆ หมู่บ้าน โดยไม่มีการรายงานชี้แจงให้รับทราบ จนชาวบ้านทุกคนต้องออกมาคัดค้านกันอย่างต่อเนื่อง

"ซึ่งที่จริง มีการทำวิจัยกันมาแล้วว่า หากมีการสร้างเขื่อนแม่ขาน จะต้องได้รับผลกระทบกันหลายด้าน ไม่ว่าพื้นที่หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ ซึ่งมีจำนวน 56 หลังคาเรือนจะต้องถูกน้ำท่วม และถูกอพยพออกนอกพื้นที่ ผืนป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งชาวบ้านได้ดูแลกันมานาน รวมทั้งพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติแม่ขาน จำต้องจมอยู่ในผืนน้ำไปกว่า 1,500 ไร่ แต่ทางกรมชลประทานก็ยังดึงดันที่จะสร้าง ซึ่งชาวบ้านทุกคนไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมไม่ยอมฟังเสียงของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ" นายประพันธ์ กล่าว

นายอภิวัฒน์ กลุ่มไทสงค์ ตัวแทนจากสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า ขอลงสำรวจข้อมูลในพื้นที่เพื่อนำไปวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ หากเป็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างจริงๆ เมื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็จำต้องทำและขอให้คำนึงถึงความเสียสละด้วย หลังจากนั้นก็จะมีการรังวัดแปลง แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ การประเมินจ่ายค่าชดใช้เสียหายได้ แต่ถ้าชาวบ้านไม่ยินยอม ก็สามารถทำหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี หรือถวายฏีกาการเพื่อคัดค้าน สามารถทำได้" นายอภิวัฒน์ กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท