แม่ฮ่องสอนหารือแผนฯจัดการทรัพยากรยั่งยืน

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-27 ก.ย.47 ที่ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตัวแทนชาวบ้านแม่ฮ่องสอนทั้ง 7 อำเภอกว่า 1,000 คน ร่วมกันจัดกิจกรรม พลังท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน เรียกร้อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และเสนอให้องค์กรชุมชนมีส่วนร่วม

ในงานมีการระดมความคิดเห็นเพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการจัดการ ดิน น้ำ ป่า ในแต่ละพื้นที่ เพื่อหาแนวทางจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการจัดทรัพยากรจากภาคประชาชนให้จังหวัดนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้พูดถึงสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ว่า สิทธิชุมชนดั้งเดิมนั้นคือ ระบบเครือญาติ และระบบชุมชน ซึ่งชุมชนได้สร้างระบบกำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติกันมานานแล้ว ซึ่งชาวบ้านย่อมใช้สิทธิในการกำหนดชีวิตของตัวเองได้ แต่ระบบรัฐได้เข้าทีหลัง และเข้ามาตัดสินใจแบบรัฐ โดยมุ่งหวังแต่เพียงการสร้างกำไร การปลูกพืชเชิงเดี่ยว จึงเกิดความขัดแย้งกันมาตลอด

นายไพรสน ไพรเนติธรรม สมาชิกสภาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขต 1 อ.ปางมะผ้า กล่าวว่า เมื่อเดือนก่อนได้เข้าชี้แจงทำความเข้าใจ ในเรื่องการจัดการดิน น้ำ ป่า ของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หลังจากที่รัฐมีนโยบาย 4 ป มีชาวบ้านถูกจับข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า รวมทั้งตัวเองก็ถูกจับด้วย

"รัฐไม่เข้าใจระบบการทำไร่หมุนเวียน ว่ามันเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวบ้าน ไม่ใช่การเข้าไปทำลายป่า ผืนใหม่ จึงอยากเสนอให้ทางรัฐบาลว่า เมื่อมีโครงการต่างๆ เข้ามา อยากขอให้มีการจัดประชาคมในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ" นายไพรสน กล่าว

ในกรณี เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชนนั้น ชาวบ้านมีความตื่นตัวในเรื่องนี้กันมาก และกำลังมีการร่วมลงชื่อเรียกร้องกันอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ผ่านพิจารณา แต่ถึงแม้ยังไม่มี พ.ร.บ.ป่าชุมชน เราก็อยากให้รัฐได้อนุญาตให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิในการจัดการเหมือนแต่ก่อน

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ตัวแทนเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า นำงานวิจัยชาวบ้าน เกี่ยวกับภูมิปัญญาสาละวินมานำเสนอให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ว่า มีชุมชนท้องถิ่นจำนวน 102 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน ได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องการจัดทรัพยากรฯ ดิน น้ำ ป่า ไม่ว่าเรื่องการหาปลา การใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตรริมแม่น้ำและไร่นา การทำไร่หมุนเวียนและการรักษาพันธุ์พืช รวมไปถึงเรื่องระบบนิเวศและการศึกษาทางด้านสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิม

นางไพรศาล สุริยมณฑล ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ จ.แม่ฮ่องสอน ได้เปิดเผยข้อมูล สรุปสภาพปัญหาและสถานการณ์ในพื้นที่ของจ.แม่ฮ่องสอน ว่าจากการให้ชาวบ้านในแต่ละชุมชนเป็นผู้ศึกษาวิจัยค้นหาสภาพปัญหาของแต่ละชุมชนกันเอง แล้วนำเสนอให้ทุกฝ่ายทุกองค์กรได้รับรู้ พบว่า มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน กับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรฯ เช่น เจ้าหน้าที่จับกุมชาวบ้านที่เข้าไปทำไร่หมุนเวียน การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติทับพื้นที่ทำกินชาวบ้าน
รวมไปถึงปัญหาเรื่องการไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จะนำเสนอให้กับจังหวัดเพื่อนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัดต่อไป

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท