Skip to main content
sharethis

"ปัญหา PCT เป็นปัญหายุทธศาสตร์ชาติ" อาจารย์เจริญกล่าวในการชี้แจงเรื่อง PCT ซึ่งเป็นกรณีต่อเนื่องจากสิทธิบัตรมะละกอจีเอ็มโอต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อเทียบกับมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ในเวทีเดียวกันแล้ว นับว่ามีระดับความกังวลต่างกันอย่างลิบลับ และนั่นทำให้ "ประชาไท" ต้องบุกเข้าไปถึงรั้วจามจุรี เพื่อพูดคุยหาคำตอบภายใต้แสงสนธยาของเย็นวันหนึ่ง

อาจารย์เจริญเริ่มต้นอธิบาย PCT โดยเชื่อมโยงกับระเบียบโลกว่าด้วยเรื่อง "สิทธิ" อีกหลายส่วนเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งระบบ ไล่ตั้งแต่ CBD - ITPGR - TRIPS - FTA ซึ่งอาจารย์เน้นย้ำว่าล้วนเป็นเครื่องมือของประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องการคุ้มครองเทคโนโลยีและการผูกขาดตลาดของตน

แม้จะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่สลับซับซ้อน แต่รับรองได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่คนทั่วไปจะรับรู้ หากค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละเล็กละน้อย เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ร่วมวงเสวนาหาทางออก โดยไม่ปล่อยให้ผู้เชี่ยวชาญถกเถียงกันเองอย่างเดียวดาย

ภาพรวมของกติกาโลก

อันแรกคือ CBD (Convention on Biological Diversity) หรือ อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไทยลงนามเป็นภาคีไปแล้ว อนุสัญญาฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประเทศต่างสามารถเข้าถึงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ทั้งหมด ไม่ว่า พืช สัตว์ และจุลชีพ แต่จะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์กับประเทศเจ้าของทรัพยากรนั้น และมีกระบวนการแจ้งล่วงหน้า ดูแลโดยองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา

"CBD ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตกว้างขวางมาก เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ออกมารับรองเพื่อไม่ให้โจรสลัดชีวภาพเอาทรัพยากรจากโลกที่สามไป แต่ว่า CBD มันไปสร้างหลักการว่าถ้าจะขโมยก็ขโมยให้เป็นเรื่องเป็นราว โดยสร้างกลไกกฎหมายข้อตกลงระหว่างประเทศขึ้นมา" อาจารย์เจริญอธิบาย

พร้อมกับชี้แจงต่อว่าใน CBD ก็จะมี IP (Intellectual Property Rights) หรือทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ เป็นเพราะความพยายามของประเทศอุตสาหกรรมที่นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาใส่เข้าไปในหัวข้อเจราจาในปี 1992

ดังนั้น เมื่อประเทศใดเข้าถึงพันธุกรรมแล้วจะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศเจ้าของทรัพยากร ประเทศเจ้าของทรัพยากรก็จะต้องให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หากประเทศเจ้าของพันธุกรรมจะใช้ประโยชน์ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของเทคโนโลยีด้วย

"เราจะเห็นว่า CBD ทำให้พันธุกรรมไหลออกไป คนทุกคนที่เป็นภาคีไม่รู้กี่ร้อยประเทศสามารถใช้ได้ ซึ่งอาจารย์ก็ไม่เห็นด้วยเท่าไรตอนที่จะลงนามกัน เพราะจะเป็นการเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้าถึงพันธุกรรมไทยเอาไปจดสิทธิบัตร" อาจารย์เจริญสรุป

อันที่สองคือ ITPGR ซึ่งประเทศไทยกำลังเตรียมการที่จะลงนาม ข้อตกลงนี้ครอบคลุมแคบลงมาเฉพาะพันธุกรรมพืชที่เป็นอาหาร และพืชเกษตรกรรม มีพืชจำนวน 64 รายการที่เป็นพืชอาหารที่อยู่ในข่ายที่ต้องเปิดเสรีให้มีการเข้าถึงและนำเอาไปจดสิทธิบัตร

ส่วนที่สามคือ ข้อตกลง TRIPS เป็นการเปิดทางให้ประเทศสมาชิก WTO สามารถมีกฎหมายสิทธิบัตรให้การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตได้ ซึ่งเป็นการแปลความแบบกลับหัวกลับหาง

"ในข้อตกลง TRIPS ระบุว่ารัฐต่างๆ อาจจะไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต ใช้คำว่า "อาจจะ" แสดงให้เห็นว่า TRIPS รับรองประเทศที่มีระบบสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตอยู่ เช่น อเมริกา และประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย เหล่านี้ไม่ถือว่าขัดแย้งกับ TRIPS"

"อันนี้เป็นกฎกติกาทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรงที่ให้การรับรองในการใช้สิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต" อาจารย์เจริญสรุปให้ฟัง

แม่เหล็กดูดทรัพยากร

เรื่องสุดท้ายคือ FTA ซึ่งอาจารย์เจริญกล่าวว่า มันรวมถึงเรื่อง GMOs และ PCT ด้วย ถือเป็น แพ็คเกจที่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐเสนอมา เพราะ FTA ระบุให้เปิดตลาดสินค้า GMOs และ PCT ก็เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งที่ FTA ให้ทำ รวมถึงการขยายสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตด้วย

"มันเป็นการสร้างเงื่อนไขทางนโยบาย ทำให้วัตถุดิบด้านชีวภาพถูกแรงผลักดันออกไป ในขณะเดียวกันระบบทรัพย์สินทางปัญญาก็รับรองสิทธิ เราจึงเห็นได้ว่าคนที่มีวิทยาศาสตร์ มีเทคโนโลยี และมีเงิน ก็สามารถมีแต้มต่อและโอกาสมากที่จะเอาวัตถุดิบต่างๆ ไปจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ระบบโดยตัวของมันเองแค่นี้ก็เอื้ออยู่แล้ว พอมี FTA ยิ่งเร่งให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น" อาจารย์เจริญเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวม

อาจารย์เจริญอธิบายไปพลาง วาดรูปบนกระดาษประกอบไปพลาง คงเพราะเห็นว่าผู้ซักถามเริ่มคิ้วชนกันโดยไม่รู้ตัว และกว่าจะถึง FTA กระดาษก็ยุ่งเหยิงยิ่งกว่าใยแมงมุม ก่อนจะลงท้ายว่า

"PCT จะเป็นตัวเร่งให้กระบวนการต่างๆ ไปสู่การจดสิทธิบัตรเร็วขึ้น มันเหมือนแม่เหล็กดูดทรัพยากรของประเทศโลกที่สามไปจดสิทธิบัตรแล้วผลิตเป็นสินค้า โดยที่โครงสร้างระบบเกษตร โครงสร้างการกินของโลก มันถูกวางเงื่อนไขโดยบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพอยู่แล้ว"

ทั้งนี้เราต้องเข้าใจในเบื้องแรกก่อนว่า PCT เป็นอนุสัญญาที่อำนวยความสะดวกในการจดสิทธิบัตร กล่าวคือ ผู้ยื่นคำขอจะยื่น ณ ประเทศใดก็ได้ โดยระบุประเทศสมาชิก PCTซึ่งมี 100 กว่าประเทศตามจำนวนที่ต้องการ เมื่อหน่วยงานกลางตรวจสอบแล้วว่ามีเงื่อนไขในการจดสิทธิบัตรถูกต้องครบถ้วน ก็สามารถส่งผลการตรวจสอบนั้นไปยังประเทศปลายทางได้เลย โดยไม่ต้องเดินทางไปดำเนินการยังประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ตามหลักการแล้วประเทศปลายทางก็ยังมีสิทธิที่จะตรวจสอบซ้ำและปฏิเสธการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรได้

"สิทธิที่มากับ PCT เป็นสิทธิผูกขาดในการนำเข้า ส่งออก ใช้ อนุญาตให้ใช้ แต่เพียงผู้เดียว ถ้าเป็นวัตถุดิบ เป็นสิ่งมีชีวิต มันก็จะเป็นการผูกขาดโครงสร้างระบบการผลิตอาหาร ยา สารเคมีของคนในโลก คิดดูว่ามันครอบคลุมชีวิตมนุษย์ขนาดไหน" อาจารย์เจริญกล่าว

ไทยจะโดนกดดันจากสภาวะ "คอขวด"

ในขณะที่ระบบโลกรองรับสิทธิในพันธุกรรม หรือสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตแล้ว แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจารย์เจริญเห็นว่านั่นเป็นประเด็นสำคัญที่จะป้องกันโจรสลัดทางชีวภาพได้

"ถ้าไทยไปอยู่ในระบบ PCT มันจะเหมือนคอขวด เฉพาะประเทศอุตสาหกรรมแต่ละปีมีการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรหลายหมื่นรายการ ประเทศไทยจะทนต่อแรงบีบคั้นไม่ได้ บีบจากเอฟทีเออยู่แล้วยังไม่พอ แต่ยังร่วมกันบีบอีก"

"สมมติว่าอเมริกาให้สิทธิบัตรในพันธุ์ข้าวจีเอ็มโอได้ และจดทะเบียนที่อเมริกา และระบุปลายทางการคุ้มครองด้วยที่ ไทย เขมร ลาว อาเชียนทั้งหมด แต่ประเทศไทยไม่มีระบบสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต มันก็จะเกิดคำถามในกลุ่มสมาชิกแล้ว ในที่สุดมันก็จะกดดันไทยให้ทลายกำแพงนี้ อย่างที่เรียกว่า legal harmonization"

ตัวอย่างที่อาจารย์ยกขึ้นมาประกอบความวิตกกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันเรื่องสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตก็คือ เรื่องสิทธิบัตรยา เพราะในอดีตไทยเคยไม่ให้สิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ยา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ และยอมตามอเมริกาในที่สุด "ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ชอกช้ำ ต่อสู้คานอำนาจมายาวนาน อยากให้คนไทยได้ใช้ยาราคาถูก แต่รัฐทนแรงบีบคั้นไม่ไหว"

"เพราะฉะนั้น PCT จึงไม่ใช่แค่ขั้นตอนการจดทะเบียน แต่เป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ ถ้าเรามองแค่วิธีจดทะเบียนก็จะมองไม่ออก แต่ถ้ามองเป็นยุทธศาสตร์ก็จะมีชุดความคิดที่มองแล้วเห็นภาพเหล่านี้ทั้งหมด นี่คือจิ๊กซอว์ที่พยายามจะสื่อให้กรรมาธิการเมื่อวาน แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจ จัดให้ชี้แจงแล้วจบเหมือนเป็นแค่พิธีกรรม" อาจารย์เจริญกล่าวตัดพ้อ

เส้นทางคู่ขนานของ "สิทธิบัตร" กับ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น"

เมื่อถามตามประสาซื่อว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นจดสิทธิบัตรได้หรือไม่ อาจารย์เจริญหัวเราะ แล้วกล่าวว่า "ภูมิปัญาท้องถิ่นกับสิทธิบัตรมันคนละเรื่อง" แม้ภายใต้ระบบสิทธิบัตจะระบุว่า "anything under the sun can be partents" ก็ตาม

อาจารย์เจริญอธิบายว่า ระบบสิทธิบัตร กำหนดคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ว่า จะต้องมีทั้งความใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และสุดท้ายต้องประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ครบถ้วนทั้ง 3 ประการ

"ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยที่ต้มยากินสารพัดชนิด มีเทคนิควิธีการมากมาย เช่น ต้องกินตัวนั้นก่อนตัวนี้ เพื่อให้มันไปยับยั้งเอนไซม์ในกระเพาะ ให้ยาดูดซึมเข้ากระแสเลือดรวดเร็ว ซึ่งเขาไม่ได้อธิบายด้วยภาษาทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น อย่างนี้เขาถือว่า native ไม่ใช่เรื่องการประดิษฐ์ แต่พอเขาเอาสมุนไพรไปผสมกันเป็นยา เขาบอกว่านี่คือการประดิษฐ์"

"ฉะนั้น กฎเกณฑ์ในการบอกว่าอะไรคือการประดิษฐ์ก็ไม่เป็นธรรม เพราะคนควบคุมกติกานี้คือประเทศอุตสาหกรรม แล้วเขาก็กีดกันอีกส่วนหนึ่ง"

เมื่อวาระซ่อนเร้นของระบบ" สิทธิบัตร" ถูกอาจารย์เจริญนำมาบอกเล่าถึงเพียงนี้ ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าแล้วจะอยู่อย่างไรในบริบทปัจจุบัน?

"ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาเขาถึงบอกว่า รัฐภาคี อาจจะ ไม่ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต แสดงให้เห็นว่าข้อตกลง TRIPS มันเปิดช่องว่างด้านนโยบาย เป็นที่ยืนของประเทศที่มีระดับการพัฒนาของตัวเอง ซึ่งมีวิทยาศาสตร์ไม่เท่ากับประเทศมหาอำนาจ เงื่อนไขเขาก็เปิดทางอยู่ที่คุณจะเลือกนโยบายอะไรไปคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ"

"เราต้องมีนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นตัวของตัวเอง และออกแบบนโยบายของตนเองเพื่อปกป้องพลเมือง ทรัพยากร เศรษฐกิจ วิถีการผลิตของตนเอง เราต้องสร้างนโยบายปกป้องคนที่อ่อนแอกว่าไม่ให้ถูกทำร้าย" อาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ แห่งนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย

นั่นเป็น "รัฐ" ที่ เรา "ใฝ่ฝัน" ถึงมาช้านาน และน่าจะนานพอที่เราลุกขึ้นมาร่วมพิจารณาเรื่องนี้ (และเรื่องอื่นๆ) อย่างจริงจัง เพื่อกำหนด "รัฐ" ให้เป็นไปตามแบบที่เราฝันเสียที.

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net