Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 4 ต.ค.2547 "ผมเสียใจที่ต้องบอกว่า ปัจจุบันระบบกฎหมายไทยไม่มีระบบป้องกันการถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากกฎหมายนั้นมีพื้นฐานความเชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกัน แต่ความจริงปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้น" ศ.จรัล ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกากล่าวในที่ประชุมอนุกรรมการปฏิรูปสื่อ วุฒิสภา ในประเด็น "กฎหมายหมิ่นประมาทกับสื่อมวลชน"

อย่างไรก็ตาม ศ.จรัลอธิบายว่า "กฎหมายหมิ่นประมาทของไทยไม่ผิดไปจากสากล แต่ที่เป็นปัญหาสำหรับสื่อ คือการเอากระบวนวิธีทางอาญา/แพ่งมาใช้โดยที่ในทางกฎหมายจริง ๆ นั้นไม่มีความผิด ซึ่งทำให้เสียเวลาเสี่ยงต่อคุกตารางระหว่างดำเนินคดี ถือเป็นการเอากระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือกดดันฝ่ายตรงข้าม"

ทั้งนี้ ศ.จรัลกล่าวว่า กฎหมายลักษณะหมิ่นประมาทของไทยนั้นประยุกต์จากกฎหมายอังกฤษซึ่งมีการบัญญัติครั้งแรกในสมัยวิคตอเรีย เป็นยุคสมัยที่ให้ความสำคัญกับชื่อเสียง ความมีหน้ามีตาของบุคคลและวงศ์ตระกูล

ศ.จรัล เสนอมาตรการที่จะช่วยผ่อนปรนคือ ควรมีกฎหมายคุ้มครองสื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท โดยมองสื่อในฐานะที่เป็นเวทีสื่อสารระหว่างบุคคลหลาย ๆ ฝ่าย ควรให้สื่อมีการประกันภัยความเสี่ยงจากความผิดฐานหมิ่นประมาทเหมือนการประกันภัยอื่น ๆ และควรยำระดับค่าเสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทให้สูงขึ้น

ด้านดร.เกษม ศิริสัมพันธ์กล่าวว่าพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งใช้เป็นฐานความผิดลักษณะหมิ่นประมาทสำหรับสื่อมวลชนปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือเป็นโมฆะ อย่างน้อยที่สุดเมื่อสู้คดีโดยยกข้อกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญศาลจะต้องชะลอการพิจารณาเพื่อส่งข้อขัดกันให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นทนายความในคดีหมิ่นประมาทที่สื่อมวลชนตกเป็นจำเลย ยกเอาข้อขัดกันของกฎหมายขึ้นสู้คดี

นอกจากนี้ ดร. เกษม เสนอว่า หลาย ๆ ประเทศก็ได้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงใช้อยู่ ดร.เกษมจึงตั้งคำถามว่าหมิ่นประมาทจะยังคงเป็นโทษอาญาอยู่หรือไม่

ดร.เกษม กล่าวถึงประเด็นเขตอำนาจศาลซึ่งกำหนดให้ฟ้องได้ในที่ความผิดเกิดนั้น สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทของสื่อมวลชนนั้นถือว่าความผิดเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งหรือแก้แค้นกันโดยฟ้องคดีไว้หลาย ๆ ที่ ซึ่งดร.เกษมเสนอว่า ควรแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้

สำหรับประเด็นกลั่นแกล้งโดยฟ้องผู้ถูกกล่าวหาหลายศาลนั้น ศ.จรัลอธิบายว่า ในกระบวนวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วถือเป็นการฟ้องซ้อนซึ่งศาลจะสั่งรวมเป็นคดีเดียว อย่างไรก็ตามควรแก้กฎหมายโดยกำหนดให้ฟ้องได้ไม่เกิน 2 ที่ คือเขตอำนาจศาลที่เป็นภูมิลำเนาของโจทก์ หรือเขตอำนาจศาลที่เป็นภูมิลำเนาของจำเลย ก็จะช่วยแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งจำเลยโดยการฟ้องหลายศาลได้

ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก กล่าวถึงการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินสมควรว่าเข้าข่ายใช้สิทธิเกินส่วน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421 ระบุว่าการใช้สิทธิของตนจนทำให้ผู้อื่นเสียหายนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นคดีที่ยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นต่อสู้

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net