Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หอกาค้าจังหวัดตากจี้รัฐแสดงออกความร่วมมือตามกรอบปฏิญญาพุกาม วางแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดนไทย - พม่า ด้านจังหวัดตาก เสนอเปิดเส้นทางบินไทย - พม่า ระหว่างสนามบินแม่สอด - มะละแหม่ง - ย่างกุ้งหวังสร้างศักยภาพการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว พร้อมกับโครงการสร้างถนนลัดเขาเมียวดี - กอกาเร็ก เพื่อลดต้นทุนสินค้าที่ส่งสู่พม่า พร้อมโครงการปรับปรุงเส้นทางท่องเที่ยวแม่สอด - แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน - เชียงใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายการท่องเที่ยวแบบครบวงจร

นายสุชาติ ตรีรัตน์วัฒนา ประธานหอการค้าจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดตาก ตามปฏิญญาพุกาม ต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.)

ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดตากเป็นที่จั้งของด่านพรมแดนและเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่งกับประเทศพม่า และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาความสัมพันธ์ทุกด้านกับประเทศพม่าทั้งปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งยังเป็นประตูของประเทศไทยในการสานต่อนโยบายของรัฐบาล ตามแนวทางปฏิญญาพุกาม ซึ่งมีการลงนามของผู้นำทั้ง 4 ประเทศคือ พม่า ลาว กัมพูชาและไทย ซึ่งจังหวัดตากและกลุ่มจังหวัดคลัสเตอร์ ได้กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษบกิจ โดยอาศัยประตูการค้าชายแดนไทย - พม่า แม่สอด - เมียวดี

ดังนั้น ประเทศไทยควรแสดงออกและดำเนินการให้มีความร่วมมือในกิจการต่าง ๆ ตามกรอบที่มีการลงนามในปฏิญญาพุกาม ในฐานที่ไทยเป็นประเทศผู้รอเริ่มโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อโครงสร้างปัจจัยพื้นฐาน เช่น โครงข่ายคมนาคม ขนส่ทางบก ทางอากาศ ระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรม และในส่วนของความร่วมมือที่เป็นระเบีบบกฎเกณฑ์ ในการลดหย่อนให้เสรีทางการค้า การลงทุน แรงงาน วัตถุดิบและทรัพยากรมากขึ้นกว่าปกติ

นายสุชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศพม่า ได้แก่ 1.เปิดเส้นทางการบินระหว่างไทย - พม่า ระหว่างสนามบินแม่สอด - มะละแหม่ง - ย่างกุ้ง โดยเปิดโอกาสให้สายการบินของทั้งสองประเทศ สามารถแลกเปลี่ยนหรือสลับสายการบินระหว่างกันได้ในเส้นทางบินนี้ โดยกำหนดให้ใช้สนามบินแม่สอดเป็นสนามบินภายในประเทศของพม่า เพื่อลงเครื่องและข้ามไปจังหวัดเมียวดีของพม่าได้

ซึ่งการเปิดเส้นทางบินเพื่อเป็นการรองรับการเดินทางเข้า - ออก ของนักธุรกิจระดับกลางของพม่ากับไทย ที่จะช่วยสร้างศักยภาพและขยายปริมาณการค้าชายแดนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้เกิดการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศพม่ากับพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

นอกจากนี้ พม่ายังมีโอกาสพัฒนาเมืองมะละแหม่งให้เป็นเมืองท่องเที่ยว/อุตสาหกรรม เพื่อดูดซับแรงงานต่างด้าวกลับออกไปจากประเทศไทย และเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาขนส่งทางอากาศในระยะทางที่สั้นและมีมูลค่าของทั้งสองประเทศ

2.โครงการสร้างถนนลัดเขา เมียวดี-กอกาเร็ก ต่อจาก 18 กิโลเมตรที่ให้ไว้แล้ว โดยร่วมมือกับประเทศอื่นเป็นเจ้าภาพร่วมสนับสนุนเงินกู้แก่รัฐบาลพม่า เมื่อเปิดทางสัญจรให้วิ่งสวนทางได้ มิใช่เข้าวันออกวันอย่างเช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนสินค้าไทยที่ส่งเข้าไปในพม่า เนื่องจากเส้นทางขนส่งสินค้าจะสามารถเดินรถสวนทางกันได้ จากเดิมที่ต้องสลับกันเข้า - ออก

ขณะเดียวกันจะเกิดผลในระยะสั้นในการเพิ่มปริมาณและมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย - พม่า ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสและศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทย ให้สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าไทยในตลาดพม่าได้อย่างแข็งแกร่ง เพื่อผลในการพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ และต่อเนื่องไปยังประเทศในอนุภูมิภาค เป็นการเชื่อมต่อเส้นทางเอเชีย 1 ถนนสายหลักของเอเชีย เพื่อพัฒนาการขนส่งและการท่องเที่ยวของภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประชาชนไทย-พม่าได้อย่างยั่งยืน

3.โครงการปรับปรุงเส้นทางท่องเที่ยวสายแม่สอด - แม่สะเรียงแม่ฮ่องสอน - เชียงใหม่ ช่วงลาดชัน 40 กิโลเมตร เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายการท่องเที่ยวแบบครบวงจรของภาคเหนือ

ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ พื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพของพื้นที่และเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม ซึ่งเป็นต้นทุนด้านการท่องเที่ยว เป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนยากจนในพื้นที่ชายแดน สามารถนำตัวเองเข้าสู่กระบวนการท่องเที่ยวในรูปแบบที่สามารถสร้างอนาคตได้ และอาจเกิดการขยายตัวและการพัฒนาของสินค้า OTOP ตามแนวเส้นทางการท่องเที่ยว ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนตลอดเส้นทาง และช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวในโครงการไทยเที่ยวไทย และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ที่นิยมแสวงหาเส้นทางท่องเที่ยวสวยงามแห่งใหม่

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ซึ่งจากที่หอการค้าจังหวัดตากได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ทั้งหมดดังกล่าวต่อที่ประชุม คสศ.ที่จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รับข้อเสนอดังกล่าวและเตรียมนำเสนอให้สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในระดับบนต่อไป ซึ่งทาง คสศ.รับปากที่จะผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ทางหอการค้าจังหวัดตาก ก็เตรียมนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ต่อนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะเดินทางมาที่จังหวัดตากในเร็ว ๆ นี้.

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net