Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพประกอบ 1 (ภาพเปิด) ที่มา :http://www.callygardens.co.u

…การเดินทางของสายน้ำวันนี้ ( 3 ตอนจบ )

ตอน 1...เมื่อการเดินทางไกลเริ่มต้น

หยดน้ำนับหมื่นล้านหยดจากการละลายของหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตเหนือเทือกเขาหิมาลัย หลอมรวมจนเป็นแม่น้ำใหญ่ ล่องไหลกว่า 2,800 กิโลเมตรเป็นอันดับ 26 ของโลก ว่ากันว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ความยิ่งใหญ่ของสาละวินเป็นรองก็แต่แม่น้ำโขงเท่านั้น

เก็บความใฝ่ฝันของคุณไว้ให้อบอุ่น
จงเดินทางไกลเหมือนแม่น้ำ
ไม่สยบต่อการขัดขวาง
จากสายธารหิมะแห่งหิมาลัย
พังทลายขุนเขาพันเทือกสู่ทะเล

การเดินทางไกลเริ่มต้น เมื่อไหลผ่านมณฑลยูนนาน ในประเทศจีน นู่เจียง (สาละวิน)คือชื่อเรียกน้องสุดท้องของ จิงสา (แยงซี) และ ลานชาง (แม่โขง) สามสาวงามพี่น้องตามเรื่องเล่าของชาวยูนนาน ที่มุ่งหน้าสู่ทะเลฝั่งตะวันออกตามคำสั่งของแม่ จนกลายมาเป็นสายน้ำสามสาย ที่ไหลเคียงกันกว่า 170 กิโลเมตร แต่แยกจากกันไปสู่ทะเลตามทิศต่างๆห่างไกลกันหลายพันกิโลเมตร แม่น้ำแยงซีลงสู่ทะเลเหลือง แม่น้ำโขงลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม และแม่น้ำสาละวินลงสู่ทะเลอันดามันที่รัฐมอญ ประเทศพม่า

เขตสามแม่น้ำไหลเคียง (Three Parallel Rivers)เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ จนได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ (World Natural Heritage) โดยยูเนสโก และยังมีลักษณะสวยงามโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งโดยมียอดเขาสูง โตรกเขาลึก นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ทะเลสาบหิมะละลาย และที่ราบริมน้ำ รวมทั้งโค้งน้ำของทั้งสามแม่น้ำ ที่สายน้ำไหลโค้งอ้อมแผ่นดินจนแทบเป็นวงกลมทิวทัศน์ที่สร้างความประทับใจไม่รู้ลืมให้ผู้มาเยือน

สำหรับคนจีน "นู่เจียง" ยังเป็นสายน้ำลึกลับที่คนในเมืองหลวงส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก เช่นเดียวกับที่คนไทยหลายคนไม่รู้จักสาละวิน และเรียกได้ว่าเป็นสายน้ำแห่งชาติพันธุ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 14 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง ซึ่งต่างมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณี เป็นของตนเอง

จากยูนนาน เมื่อแม่น้ำไหลเคียงสามพี่น้องเดินทางออกจากพื้นที่อนุรักษ์ พี่ใหญ่และน้องกลางต่างก็ต้องเผชิญกับชะตากรรม แม่น้ำแยงซี มีการระเบิดแก่งหินเพื่อทำให้เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำที่สำคัญ ตั้งแต่ปี 2501 จากนั้น เขื่อนซานเซียะ (ไตรโตรก) หรือเขื่อนทรีกอร์เจส ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ปิดกั้นแม่น้ำแยงซี ทำให้น้ำท่วมพื้นที่จนผู้คนต้องอพยพหลีกทางให้ถึงเกือบ 2 ล้านคน

แม่น้ำโขง ที่พึ่งพิงของผู้คนตั้งแต่จีนลงมาพม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก็กำลังเผชิญกับการถูกคุกคามไม่ต่างกัน โดยมีการสร้างเขื่อน 2 แห่งแรกที่ยูนนาน อีก 2 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่อีกหลายแห่งกำลังรอการอนุมัติ นอกจากนี้ยังมีโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ 4 ประเทศตอนบน ซึ่งได้ทำลายระบบนิเวศที่เป็นแหล่งวางไข่ขยายพันธุ์ของปลาอพยพ รวมทั้งปลาบึก ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำจึงถูกทำลายไปพร้อมกับวิถีชีวิตของชาวบ้านริมน้ำโขงและน้ำสาขา

มีเพียงนู่เจียง(สาละวิน)น้องเล็ก สายน้ำบริสุทธิ์สายใหญ่ในอนุภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงล่องไหลอย่างอิสระ แต่แล้วข่าวการมาเยือนของเขื่อนก็เริ่มขึ้น

14 -15 มิ.ย. 46 บริษัทใหม่ของจีนวางแผนสร้างเขื่อน 11 ชั้นบนแม่น้ำสาละวินในเขตจีน แหล่งข่าว Yunnan TV, June 14 2003 และ หนังสือพิมพ์ Yunnan Daily, June 15, 2003

บริษัท 4 แห่งในจีนร่วมกันลงนามตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Yunnan Huadian Nu River Hydropower Development Co. เพื่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำนู(สาละวิน)ตอนบนในเขตประเทศจีน บริษัทใหม่นี้จะรับผิดชอบด้านการเงินและการก่อสร้างเขื่อน โดยสถานีผลิตไฟฟ้าแห่งแรกที่จะสร้างมีชื่อว่า Liuku มีกำลังผลิต 180 เมกกะวัตต์ จะเริ่มสร้างในเดือนกันยายนนี้

นาย Qin กล่าวว่าบริษัทร่วมนี้จะเร่งให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวินตอนบน และเตรียมโครงการเขื่อน Luiku นาย Qin ยังผลักดันการออกแบบโครงการเขื่อนอื่นๆ ในชุดเดียวกันคือ Maji, Bijing, Abiluo และ Lushui อย่างน้อย 2 แห่งในช่วงแผนพัฒนาแห่งชาติแผน 11 ในระยะ 5 ปี ขณะนี้สถาบันสำรวจและออกแบบพลังงานน้ำคุนหมิง (Kunming Hydropower Surveying and Design Institute) ได้จัดทำรายงานการศึกษาเพิ่มเติมของการศึกษาเบื้องต้นสำหรับโครงการเขื่อน Luiku แล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างทำการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับกำลังผลิตติดตั้ง คาดว่าโครงการเขื่อนทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 20 ปีโครงการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวประหยัดต้นทุน และให้ผลตอบแทนสูง

(สรุปจากข่าวซึ่งแปลจากภาษาจีนโดย เควิน ลี นักวิจัยอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง)

ปลายพ.ย. 46 ที่ประเทศไทย ในเวที "ประชุมผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนทั่วโลก ครั้งที่ 2 " ผู้คนกว่า15 ชีวิตตลอดลำน้ำสาละวินล่องผ่านจากจีน ไทย และพม่าได้พบปะกัน เรื่องราวที่กำลังเกิดขึ้นได้ถ่ายทอดสู่กัน

หนึ่งในผู้มาเยือนจากจีนเล่าว่า รัฐบาลท้องถิ่นบอกเหตุผลว่าคนในท้องถิ่นยากจนมากต้องสร้างเขื่อนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ แต่พวกเขาก็มีเหตุผลในการคัดค้านเช่นกันคือทำลายสิ่งแวดล้อมอันสวยงามที่ควรส่งเสริมในด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนทางการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่า นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ชนเผ่าในหุบเขาสาละวินกว่า 5 แสนคน ต้องสูญเสียบ้านและที่ทำกิน ที่สำคัญการสร้างเขื่อนด้านบนอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำ แต่ถึงแม้ว่าจะมีการคัดค้านอย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนก็ยังเดินหน้าต่อไปและพวกเขาก็จะไม่หยุดเช่นกัน เขากล่าวทิ้งท้าย

หากเขื่อนสาละวินในจีนก่อสร้าง และผลกระทบท้ายน้ำก็ลามไปถึงไทยและพม่า เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง

16 ธ.ค. 46 จดหมายถึงเอกอัคราชฑูตจีน ประจำประเทศไทย กรณีการสร้างเขื่อนสาละวินในประเทศจีน ลงนามโดย 83 องค์กรพัฒนาเอกชน ได้ร่างขึ้นหลังจากมีข่าวจากจีนส่งมาได้ไม่กี่วันว่ารัฐบาลจีนจะเดินหน้าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำนู่เจียง(สาละวิน)ภายในสิ้นปีนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจีนระงับการดำเนินโครงการดังกล่าว และประชาชนในลุ่มน้ำนูเจียง/สาละวิน ควรได้รับข้อมูลการวางแผนโครงการพัฒนาบนแม่น้ำสายนี้อย่างครบถ้วน และควรได้รับการรับรองในการเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจด้วย ควรมีฉันทามติจากทุกประเทศในลุ่มน้ำ ทั้งในประเด็นการศึกษาผลกระทบสังคมและสิ่งแวดล้อม มาตรการแก้ไขปัญหา การจัดการน้ำ และค่าปฏิกรณ์หรือค่าชดเชยฟื้นฟูผลกระทบต่อท้ายน้ำ

ต.ค. 47 ปัจจุบันนู่เจียง(สาละวิน)ยังล่องไหลอิสระเช่นเดิม ความพยายามในการสร้างเขื่อนยังไม่เสร็จสิ้นแต่ยังไม่ล้มเลิกเช่นกัน

...คุณคงอยู่ที่นั่น เหนือฝั่งสาละวิน
กับความหวัง กับวันพรุ่งนี้
ไม่มีใครรู้อายุของแม่น้ำ
ไม่มีใครรู้ความเป็นไปและการสิ้นสุด
สายน้ำยังคงไหล เรายังคงมีชีวิต...

บทกวีรำลึกถึงเพื่อนบนฝั่งสาละวินของนักเดินทางจากฝั่งตะวันตก
"สัญจรสู่สาละวิน-ถนนธงชัย" คืน ยางเดิม

เก็บความใฝ่ฝันของคุณไว้ให้อบอุ่น สาละวิน...ยังคงล่องไหล
ข้อมูลประกอบ หนังสือ "เขื่อนสาละวินโศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน" เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันนออกเฉียงใต้(SEARIN)

จันลอง ฤดีกาล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net