Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ โพล ทำการสำรวจประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 1,148 คน เป็นชายร้อยละ 42.2 หญิงร้อยละ 57.8 จากสถาบันอุดมศึกษารวม 34 แห่ง โดยเป็นสถาบันของรัฐ 25 แห่ง และเอกชน 9 แห่ง

กลุ่มตัวอย่างที่สุ่มได้เป็นนิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาของรัฐบาล ร้อยละ 73.7 เอกชน ร้อยละ 26.3 แบ่งเป็นสายวิทยาศาสตร์ / เทคโนโลยี / การแพทย์ ร้อยละ 51.0 และสายสังคมศาสตร์ ร้อยละ 49.0 ชั้นปีที่ 1 ร้อยละ 25.1 ชั้นปีที่ 2 ร้อยละ 22.7 ชั้นปีที่ 3 ร้อยละ 23.0 ชั้นปีที่ 4 ร้อยละ 29.2

ผลการสำรวจถึงความสนใจติดตามข่าวสารความเป็นไปของสังคมและประเทศชาติ
ร้อยละ 49.2 ระบุว่าไม่ค่อยได้ติดตาม ร้อยละ 46.7 ติดตามเป็นประจำ ร้อยละ 4.1 ไม่ได้ติดตาม

เหตุการณ์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่นิสิตนักศึกษาให้ความสนใจเป็นพิเศษ 5 อันดับแรก
เหตุการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ (ร้อยละ 30.2) สถานการณ์โรคไข้หวัดนก (ร้อยละ 16.8) การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (ร้อยละ 15.6) การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (ร้อยละ 5.1) และปัญหาราคาน้ำมัน (ร้อยละ 4.0) ในขณะที่ ร้อยละ 26.4 ระบุว่าไม่มีเหตุการณ์ใดที่สนใจเป็นพิเศษ

ปัญหาของสังคมและประเทศชาติที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเป็นห่วงมากที่สุดในปัจจุบัน
ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ (ร้อยละ 22.6) รองลงมา คือ ปัญหาการคอร์รัปชัน (ร้อยละ 16.0) ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 14.8 ) ปัญหาด้านเศรษฐกิจ (ร้อยละ 13.4 ) ปัญหาศีลธรรมเสื่อมทราม (ร้อยละ 13.4 ) ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 10.7 ) ปัญหาสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 6.3 ) ปัญหาโรคเอดส์ (ร้อยละ 2.0 ) และอื่น ๆ อีก (ร้อยละ 0.8 )

ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวอันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาสในสังคม นิสิตนักศึกษา ร้อยละ 60.6 ตอบว่าให้ความสนใจมาก ขณะที่ร้อยละ 36.9 ไม่ค่อยสนใจ และ ร้อยละ 2.5 ไม่สนใจเลย โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ

ประเด็นเรื่องความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ร้อยละ 50.2 สนใจมาก ร้อยละ 44.8 ไม่ค่อยสนใจ และร้อยละ 5.2 ไม่สนใจเลย

ประเด็นปัญหาการผลิตและส่งออกสินค้าการเกษตรของไทย ร้อยละ 57.9 ไม่ค่อยสนใจ ร้อยละ 30.7 สนใจมาก และร้อยละ 11.4 ไม่สนใจเลย

ประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก ร้อยละ 49.1 ไม่ค่อยสนใจ ร้อยละ 41.7 สนใจมาก และร้อยละ 9.2 ไม่สนใจเลย

เนื้อหาของการพูดคุยในกลุ่มนิสิตนักศึกษา
อันดับแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกิน / เที่ยว / ช็อปปิ้ง (ร้อยละ 27.3 ) รองลงมาคือ เรื่องการเรียน (ร้อยละ 24.5 ) เรื่องส่วนตัว เช่น ครอบครัว ความรัก (ร้อยละ 23.2 ) เรื่องอาชีพการงานในอนาคต (ร้อยละ 14.1) เรื่องปัญหาที่สังคมและประเทศชาติกำลังเผชิญอยู่ ( ร้อยละ 4.7 ) เรื่องการเมืองการปกครอง (ร้อยละ 2.2 ) และอื่น ๆ อีกร้อยละ 4.1 โดยทั้งนี้ไม่พบความแตกต่างระหว่างนิสิตนักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาลกับเอกชน

เมื่อเปรียบเทียบเนื้อหาของการพูดคุยระหว่างนิสิตนักศึกษาเพศชายกับเพศหญิง พบว่า เนื้อหาการพูดคุยของนิสิตนักศึกษาชายจะเน้นไปที่เรื่องอาชีพการงานในอนาคต ปัญหาที่สังคมและประเทศชาติกำลังเผชิญอยู่ และเรื่องการเมืองการปกครอง ขณะที่นิสิตนักศึกษาหญิงจะเน้นเรื่องกิน/เที่ยว/ช็อปปิ้ง เรื่องส่วนตัว และเรื่องการเรียน

และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสาขาวิชาที่เรียน พบว่าเนื้อหาการพูดคุยของนิสิตนักศึกษาสายสังคมศาสตร์จะเน้นไปที่เรื่องกิน/เที่ยว/ช็อปปิ้ง เรื่องส่วนตัว และเรื่องการเมืองการปกครอง ขณะที่สายวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี/การแพทย์ เน้นไปที่เรื่องการเรียน และอาชีพการงานในอนาคต

ความเห็นเกี่ยวกับการรับใช้สังคมและประเทศชาติ
ร้อยละ 76.3 เห็นว่า นิสิตนักศึกษาควรมีส่วนร่วมในการรับใช้สังคมและประเทศชาติ โดยให้เหตุผลว่า เพราะนิสิตนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประเทศชาติ (ร้อยละ 40.3) เป็นกลุ่มที่มีพลังกาย พลังสมอง สามารถทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติได้มาก (ร้อยละ 8.1) เป็นความหวังของประเทศชาติ (ร้อยละ 7.9) เป็นการพัฒนาตัวเอง (ร้อยละ 1.4 ) ส่วนหนึ่งของค่าเล่าเรียนมาจากเงินภาษี (ร้อยละ 0.8) และเหตุผลอื่นอีกร้อยละ 17.8 ในขณะที่ร้อยละ 23.7 ระบุว่าการรับใช้สังคมและประเทศชาติไม่ใช่หน้าที่ของนิสิตนักศึกษา แต่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล/นักการเมือง (ร้อยละ 17.1) และของผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว (ร้อยละ 5.4) และอื่นๆ อีก (ร้อยละ 1.2 )

การร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม
นิสิตนักศึกษาร้อยละ 70.5 เคยเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ ขณะที่ ร้อยละ 29.5 ไม่เคยเข้าร่วม สำหรับกลุ่มที่เคยร่วมทำกิจกรรม ได้ให้เหตุผลหลักของการเข้าร่วม คือ ต้องการประสบการณ์เพิ่มเติม (ร้อยละ 28.5) ต้องการมีเพื่อน มีสังคม (ร้อยละ 14.5 ) ต้องการมีส่วนช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ (ร้อยละ 14.1 ) เป็นกิจกรรมในหลักสูตรที่มีคะแนน (ร้อยละ 12.1 ) และอื่น ๆ (ร้อยละ 1.3)

สำหรับกลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วมทำกิจกรรม ได้ให้เหตุผลว่า มีภาระด้านการเรียน (ร้อยละ 11.8) ไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดในการสมัครเข้าร่วม (ร้อยละ 8.0 ) ไม่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ (ร้อยละ 5.5 ) บรรยากาศแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย (ร้อยละ 3.3 ) และอื่น ๆ อีกร้อยละ 0.9

เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสถาบันของรัฐกับเอกชน พบว่า นิสิตนักศึกษาในสถาบันของรัฐเคยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่านิสิตนักศึกษาในสถาบันเอกชน ร้อยละ 10.6 และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสาขาวิชาที่ศึกษากับการเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม พบว่า นิสิตนักศึกษาสายสังคมศาสตร์เข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่าสายวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี/การแพทย์ ร้อยละ 10.4

กลุ่มตัวอย่างได้ให้ความเห็นถึงการที่นิสิตนักศึกษาบางส่วนไม่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมว่ามีสาเหตุมาจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่ต้องแข่งขันเอาชนะเพื่อความอยู่รอดจึงไม่ค่อยได้คิดถึงคนอื่นนอกจากตัวเอง (ร้อยละ 24.2 ) ต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางและภารกิจส่วนตัวจนไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมเพื่อสังคม (ร้อยละ 17.8 ) มีกิจกรรมสนุกสนานบันเทิงที่ดึงดูดความสนใจได้มากกว่ากิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม (ร้อยละ 17.4 ) แนวทางการศึกษาในปัจจุบันที่เน้นความเก่งมากกว่าความดี (ร้อยละ 17.1 ) ขาดการกระตุ้นชี้นำจากครู อาจารย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ร้อยละ 12.7 ) การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่ไม่สอนให้รู้จักการเผื่อแผ่แบ่งปัน (ร้อยละ 8.3 ) และอื่น ๆ อีกร้อยละ 2.5

ข้อเสนอในการปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
ร้อยละ 45.6 เห็นว่า การปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้นิสิตนักศึกษาได้ออกไปสัมผัสใกล้ชิดสังคมเพื่อรับรู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปลูกจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติแก่นิสิตนักศึกษาไทย ส่วนอีกร้อยละ 24.9 เห็นว่า ควรใช้วิธีการสอดแทรกแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติลงในเนื้อหาของบทเรียน ร้อยละ 21.0 เห็นว่าควรใช้การกระตุ้น รณรงค์ผ่านสื่อต่าง ๆ ร้อยละ 5.5 เห็นว่า ควรยกย่องเชิดชูนิสิตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้มากขึ้น และอื่น ๆ อีกร้อยละ 3.0

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net