ร้อยล้านแลกโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2

ประชาไท - 11 ต.ค.47 "บริษัทกัลฟ์ พยายามสร้างความร่วมมือในชุมชน โดยพาผู้นำชุมชนไปเลี้ยงบ้างอะไรบ้าง และกดดันเทศบาลแก่งคอย โดยบอกกับสมาชิกสภาเทศบาลว่าจะบริจาคเงิน 100 กว่าล้าน สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียให้เทศบาล ถ้ายอมรับโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน" น.พ.อภิณพ จันทร์วิทัน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแก่งคอยกล่าว

วานนี้(10 ต.ค.) ชาวบ้านแก่งคอยกว่า 300 คนเดินขบวนรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ของบริษัทกัลฟ์ฯ บริเวณเทศบาลแก่งคอย จ.สระบุรี โดยระหว่างการเดินขบวนมีการแจกแถลงการณ์ระบุถึงเหตุผลในการคัดค้านว่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าสร้างห่างชุมชนเพียง 2 กิโลเมตร และจะเพิ่มมลพิษที่มีมากอยู่แล้วในพื้นที่ ทำให้แม่น้ำป่าสักไม่พอใช้ ปนเปื้อนสารเคมี เกิดฝนกรดและภาวะเรือนกระจก รวมทั้งโรงไฟฟ้ายังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลด้านการควบคุมระบบความปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าแก่งคอย2 เป็นโรงไฟฟ้าของบริษัท กัลฟ์ พาวเวอร์เจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อส.ค.47 ให้เพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าตัว จาก 734 เมกกะวัตต์ เป็น 1,468 เมกกะวัตต์ วงเงินลงทุน 32,000 ล้านบาท แลกกับการที่บริษัทยกเลิกการเรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐซึ่งสั่งยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก ซึ่งบริษัทได้ลงทุนไปแล้ว เนื่องจากถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ โดยโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 ใหญ่กว่าโรง1 ถึง 14 เท่า

นายกเทศบาลตำบลแก่งคอยกล่าวว่า เทศบาลแก่งคอยไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้า เพราะบริษัทกัลฟ์ฯ เจ้าของโครงการยังไม่มีการทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรายงานต่อหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งต้องเห็นชอบโครงการก่อนที่บริษัทจะยื่นขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้ากับรัฐ

"เราต้องเห็นข้อมูลการศึกษาสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดของบริษัทก่อนจะพิจารณา แต่ก็ยังไม่เคยเห็น แจ้งบริษัทไปแล้ว ก็ยังไม่มีการตอบกลับมา แต่ในพื้นที่อื่นๆ กลับอนุมัติเห็นชอบไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอบต.บ้านป่า อบต.เตาปูน ยังไม่ต้องพูดถึงการวิเคราะห์รายงานดังกล่าวโดยมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งในการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องมลพิษถือเป็นปัญหาใหญ่อยู่แล้วของสระบุรี เทศบาลเองก็ได้ทำการวิจัยและส่งข้อมูลเรื่องนี้ให้กับกระทรวงมหาดไทยแล้ว " น.พ.อภิณพ

ด้านนายพีระศักดิ์ สุขสำราญ ตัวแทนจากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชมรมอนุรักษ์ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวมาโดยตลอด เนื่องจากบริษัทพยายามสร้างภาพให้ชุมชนยอมรับทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมในหลายเรื่อง ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนข้าราชการในจังหวัดก็ไม่สนใจต่อปัญหา และไม่เคยลงพื้นที่มาดูแล ชาวบ้านในพื้นที่เองก็ขาดข้อมูล แม้กระทั่งส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าก็ไม่อยากร่วมคัดค้าน เพราะไม่อยากเดือนร้อน

"แต่การเดินขบวนต่อต้านเมื่อวานนี้จากที่คิดว่าน่าจะมีคนร่วมไม่เกิน 40-50 คน กลับกลายเป็นหลายร้อยคน แสดงว่าหัวใจบางคนมี แต่เขาไม่มีผู้นำ" พีระศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทกัลฟ์ฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการนำผู้นำชาวบ้านและครูในพื้นที่ไปดูงานยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ระยอง หรือการจัดเวทีสาธารณะต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องโรงไฟฟ้า แต่ก็มีรายงานข่าวระบุว่า มีการเสนอผลประโยชน์ให้แก่ผู้นำชุมชนระดับองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่รายละ 50,000 บาทเพื่อให้ยกมือยอมรับโครงการในที่ประชุมองค์กร

ธารา ธีรารมณ์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท