ความขัดแย้งในชนชั้นนำ : จะปรองดองกันได้หรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความขัดแย้งในชนชั้นนำ : จะปรองดองกันได้หรือไม่
โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (http://pr.trf.or.th)

..............................
สถานการณ์ในประเทศ
.............................

1. กรณีความขัดแย้งในชนชั้นนำ

ในรอบเดือนกันยายน 2547 ได้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคัก จากหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ เพื่อต่อต้านอำนาจฝ่ายบริหารปัจจุบัน กลุ่มและฝ่ายเหล่านี้มีตั้งแต่ด้านปีกขวาถึงปีกซ้าย ทั้งที่เริ่มจากผลประโยชน์และจากทัศนะในการพัฒนา

สำหรับส่วนที่เป็นแกนเห็นกันว่า ได้แก่ สิ่งที่นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าเป็นกลุ่ม "ผู้ดีเก่า-นายทุนเก่า" การเคลื่อนไหวต่อต้านนี้กระทำอย่างเปิดเผยมากขึ้น เช่น การเตรียมการด้านการจัดชุมนุมเดินขบวน และการสร้างกระแสข่าวทั้งที่เป็นข่าวลือและที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ การปฏิบัติดังกล่าวในบางด้านที่สำคัญ ดูไม่เป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกระทำได้สำเร็จ น่าจะเป็นการก่อปัญหาใหญ่ มากกว่าการแก้ปัญหา

1.1 สถานการณ์ทั่วไป
1) สถานการณ์ทั่วไปทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของประเทศกล่าวได้ว่าพ้นจากวิกฤติ แต่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจำนวนมาก เช่น การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและธรรมาภิบาล รวมทั้งผลกระทบจากภายนอก ในสภาพนี้เกิดมีปัญหาเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ ทิศทาง จังหวะก้าว การสร้างพันธมิตร และความเร็ว ซึ่งควรจะได้เปิดให้มีการอภิปราย การเสนอทัศนะ และรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง ถ้าหากไม่ปฏิบัติแล้วก็อาจนำมาสู่ความขัดแย้งภายในสังคมอย่างรุนแรง

2) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ที่คาดหมายว่าจะเพิ่มความแน่นอนขึ้นอีก ได้แก่ ก) ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญคือความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งเป็นขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก เศรษฐกิจ สหภาพยุโรปอยู่ในภาวะทรงตัว เศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะต้องระวังการเติบโตมากเกินไป มีแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินหยวนของจีน ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจลดลง ข) การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ในระดับรัฐ เช่น แกนสหรัฐ-อังกฤษบุกยึดครองประเทศอิรัก ในระดับต่ำกว่ารัฐ เช่นการก่อการร้าย ซึ่งกระจายไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการพิพาทระหว่างรัฐ ได้แก่ กรณีอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความตึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวันซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างสูงต่อความสงบและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้

ค) ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ กรณีน้ำมันราคาแพงและอาจแพงขึ้นอีก กรณีโลกร้อน และความแปรปรวนทางภูมิอากาศ ตลอดจนการระบาดของโรค ในสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนสูงนี้ ความรู้อาจกลายเป็นความไม่รู้ และสิ่งที่คิดว่าถูกอาจจะใช้ไม่ได้ผลได้โดยง่าย

3) การอยู่ในภูมิภาคแห่งความเติบโตและมีการเคลื่อนไหวสูง ในท่ามกลางความไม่แน่นอน ประเทศไทยมีโอกาสดีที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ทั้งในเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศจีน และเอเชียใต้ เช่น อินเดีย แม้ในกลุ่มอาเซียนเองก็ได้ชื่อว่ามีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง การสร้างพันธมิตรใหม่ทางเศรษฐกิจ-การเมืองนับว่าเป็นการท้าทายที่สำคัญ

4) สถานการณ์ของรัฐบาลและพรรคการเมืองอื่น รัฐบาลปฏิบัติการเชิงรุกได้ลำบากขึ้น เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง บางส่วนอยู่ในลักษณะยัน และหลายส่วนอยู่ในลักษณะตั้งรับ จนเกิดเสียงวิจารณ์เรื่อง "ขาลง" ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการปฏิบัติทางการเมืองอย่างหนักแน่น แม้มีรายงานคอลัมน์ "ข่าวกรอง" หรือข่าววงใน ของนิตยสารฟาร์อีสต์เทิร์นอีโคโนมิกส์รีวิวส์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2004 ระบุว่าอาจต้องเผชิญปัญหาวิกฤติการนำพรรคการเมืองมหาชนที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก อย่างน้อยตามสื่อมวลชนต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งพรรคทางเลือกที่สามอย่างแท้จริงขึ้นมา สถานการณ์ดังกล่าว ชี้ว่าการเมืองของไทยยังมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวเองไปตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ดีพอสมควร

1.2 บทเรียนบางประการ
1) นโยบายจักรวรรดิใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว จากการปฏิบัติทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ อาจสรุปได้ว่า นโยบายแบบจักรวรรดิใช้ไม่ได้ผลตามคาด หรือกระทั่งล้มเหลว นโยบายดังกล่าว ได้แก่ การรวมศูนย์อำนาจ การรุกคืบกินพื้นที่ผู้อื่นอย่างไม่ละเว้นและอย่างรวดเร็ว การมุ่งหวังจัดระเบียบ หรือเป็นผู้จัดการประเทศหรือโลกโดยลำพังแต่ผู้เดียว และการรับเหมาทำแทนต่างๆ ซึ่งทั้งหมดกระทำโดยยึดประโยชน์ในวงแคบเป็นหลัก

2) การมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบโลก การอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 ไม่อาจกระทำไปตามลำพังตน เช่น การยกฐานะตนเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มโออีซีดี แต่จำต้องคิดคำนึงถึงพันธมิตรในระดับกลุ่มและภูมิภาค เช่นกลุ่มอาเซียน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน แยกไม่ออกจากการมีส่วนร่วมกับเพื่อนบ้านในการจัดระเบียบโลก

3) การกวาดล้างคอรัปชั่นเป็นสิ่งจำเป็น การคอรัปชั่นที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน ในปัจจุบันดูเป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นที่ยอมทนได้อีกต่อไป เนื่องจากมันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างการแบ่งกลุ่มพวกอย่างรุนแรง

4) ประชาสังคมจำเป็นสำหรับสังคมใหม่ ในการพัฒนาอย่างสันติ ประชาสังคม ได้แก่ องค์กรประชาชน กลุ่มเคลื่อนไหวและเอ็นจีโอ เป็นต้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมสมัยใหม่ การพยายามลดพลังของประชาสังคมน่าจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เป็นการเพาะเชื้อแห่งความขัดแย้งที่ดุเดือดรุนแรง การประสานทำความเข้าใจระหว่างภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และประชาสังคม แม้ว่าจะมีความยากลำบาก แต่ก็พึงกระทำด้วยความอดทน

1.3 ทิศทางประเทศไทย ในสถานการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่า ทิศทางหลักของประเทศไทยน่าจะได้แก่ การสร้างรัฐ การสร้างประเทศ การสร้างสังคม ที่มีความหลากหลาย เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม และทนทานต่อแรงกดดันและการแข่งขันจากภายนอก พร้อมกับสามารถแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งจำนวนมากภายในประเทศอย่างสันติ

แม้เป็นความจริงที่ว่ามีความขัดแย้ง ความแตกต่าง และรอยร้าวปรากฏอยู่ในสังคม แต่ทางเลือกน่าจะเป็นไปในทางสังเคราะห์ความขัดแย้งและความแตกต่างเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อหาหนทางที่ปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เข้าพิฆาตกันเอง อนึ่ง มักปรากฏว่าความขัดแย้งที่มากเกินไปในหมู่ชนชั้นนำ ทำให้ประเทศเกิดความอ่อนแอยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็น

2. กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ สถานการณ์ทรงกับทรุด กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ มีข้อสังเกตดังนี้
1) กลุ่มก่อการร้ายยังปฏิบัติการเชิงรุกต่อเนื่อง แต่พื้นที่ปฏิบัติการยังจำกัดอยู่ แสดงให้เห็นว่ามีฐานมวลชนไม่กว้างขวางนัก
แต่อาจขยายวงไปได้ หากเหตุการณ์ยืดเยื้อหรือจัดการไม่เหมาะสม

2) ฝ่ายรัฐบาลอยู่ในลักษณะตั้งรับ มีปัญหาสำคัญด้านความเป็นเอกภาพทางนโยบายและการข่าว ส่งสัญญาณว่าไม่อาจปฏิบัติการแบบเดิมได้อีกต่อไป

3) สถานการณ์นี้อาจมีลักษณะข้ามชาติ มีความเห็นมากขึ้นว่า มีความเป็นไปได้ที่กรณี 3 จังหวัดภาคใต้จะเกี่ยวเนื่องกับกองกำลังติดอาวุธอิสลามหัวรุนแรง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวข้ามชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็อาจต้องปรับยุทธวิธีเพิ่มความสำคัญของการร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น

4) ยึดมั่นการปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง ปฏิบัติการของรัฐบาลที่ยึดตามกรอบรัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน การเคารพความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม เป็นหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม

5) หาทางลดทอนความเสียหาย เนื่องจากมีความเสียหายมากและยืดเยื้อ จำต้องหาทางลดทอนความเสียหายนั้น ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และที่จะเกิดต่อไป

6) การสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ การสนับสนุนจากประชาชน บุคคล และวงการต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นมากยิ่งขึ้นในการ "ดับไฟใต้"

3. กรณีไข้หวัดนกรอบสอง การระบาดของไข้หวัดนกรอบที่สอง กล่าวในทางการสาธารณสุขแล้ว ก็เป็นสิ่งที่คาดไว้ได้ล่วงหน้าว่าอาจเกิดขึ้นได้ และได้เป็นข่าวใหญ่ภายในประเทศและระหว่างประเทศ ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) เป็นการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นสำคัญ 2) มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการติดเชื้อนี้แบบจากคนสู่คน หากมีการคลุกคลีใกล้ชิดเป็นเวลานาน แต่นั่นก็ยังไม่ได้เป็นการแพร่เชื้อแบบระบาดอย่างที่หวั่นเกรง 3) มีข่าวการติดเชื้อไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เช่น สุกร สุนัข และแมว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบต่อไป

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีไข้หวัดนกรอบสองดังนี้
1) ท่ามกลางการเสนอข่าวอย่างครึกโครม พบว่าการตื่นกลัวไข้หวัดนกรอบนี้น้อยลงกว่าเดิม อาจกล่าวได้ว่าความรู้และการเปิดเผยข้อมูลตามจริงอย่างทันกาล จะมีส่วนช่วยลดความตื่นกลัวและการป้องกันตนเองได้ดีขึ้น

2) มีความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างการเตือนภัยล่วงหน้ากับความตื่นกลัว โดยเป้าประสงค์แล้ว การเตือนภัยล่วงหน้าควรจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการตื่นกลัวหรือสามารถรับมือกับสถานการณ์จริงได้ดีขึ้น ไม่ใช่สร้างกระแสความตื่นกลัว

3) ผลกระทบทางสุขภาพจากไข้หวัดนกดูจะมีไม่มาก เมื่อเทียบกับโรคหรือสาเหตุการเจ็บป่วยล้มตายอื่น เช่น โรคเอดส์ และอุบัติเหตุ แม้ว่าจะคิดจากกรณีที่ร้ายแรงมาก

4) เกิดความขัดแย้งที่น่าสนใจในการเลี้ยงไก่ภายในประเทศ ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกเป็นการเลี้ยงไก่แบบอุตสาหกรรม ที่ถือไก่เป็นสิ่งของหรือสินค้า กับกลุ่มที่สองการเลี้ยงไก่แบบพื้นบ้านที่ถือไก่มีชีวิต พบว่า ผู้ติดเชื้อมักเป็นผู้เลี้ยงไก่แบบพื้นบ้าน ความขัดแย้งนี้แก้ไขได้ยาก

เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิถีดำเนินชีวิตของของผู้คนจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ที่การเลี้ยงไก่แบบอุตสาหกรรมจะค่อยๆ ครอบงำการเลี้ยงไก่แบบพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

5) อาจมีผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นในการพัฒนาหรือความก้าวหน้าที่ปฏิบัติกันอยู่ เนื่องจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของไทยค่อนข้างพัฒนาไปมาก แต่แล้วก็เกิดอันตรายจากอุตสาหกรรมที่เป็นที่ภูมิใจนี้

6) กรณีไข้หวัดนก น่าจะเป็นการเตือนให้เร่งพิจารณานโยบายอาหารแห่งชาติ และตรวจสอบการรณรงค์ให้ประเทศไทยเป็น "ครัวโลก" ในมิติความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารและผลกระทบอื่นด้วย

4. กรณีมะละกอจีเอ็มโอ ในเดือนกันยายนนี้ ได้เกิดกรณีมะละกอจีเอ็มโอเป็นข่าวใหญ่ขึ้น โดยมีกระแสการต่อต้านมะละกอจีเอ็มโอขึ้นสูง รวมทั้งการกดดันทางด้านการส่งออกผลไม้ ทำให้มีการทำลายต้นมะละกอจีเอ็มโอในบางพื้นที่ พบว่าความขัดแย้งนี้ ด้านหลักไม่ใช่เรื่องว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่โดยพื้นฐาน อยู่ที่ปรัชญาการเกษตรที่ต่างกัน นั่นคือ จะถือผลิตผลการเกษตรเป็นสิ่งของสินค้า หรือจะถือว่าเป็นชีวิตและวิถีดำเนินชีวิต ความแตกต่างนี้ค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ยังสามารถสื่อสารกันได้ หากพยายามที่จะเข้าใจกันและกัน

...........................................
สถานการณ์ต่างประเทศ
...........................................

1. สถานการณ์ยึดครองยึดอิรัก
1) เหตุการณ์เลวร้ายขึ้น รายงานลับของซีไอเอหนา 50 หน้า ที่เสนอต่อประธานาธิบดีบุช เมื่อเดือนกรกฎาคม 2004 ชี้ว่า ในกรณีที่ดีที่สุดในอิรัก ก็คือการที่อิรักแทบจะไม่สามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง และความปลอดภัยไว้ได้ และในกรณีที่ร้ายที่สุด ก็คือ อิรักได้เลื่อนไหลสู่สงครามกลางเมือง (Seattle Post-Intelligencer 160904) มีผู้ชี้ว่า การที่เอกสารลับรั่วไปยังสื่อมวลชนได้นั้นเกิดจากกลุ่มวงใน ทั้งในกระทรวงต่างประเทศ วงการข่าวกรอง และวงการทหาร ต้องการจะเปิดเผยให้สาธารณชนสหรัฐทราบความเป็นจริงในอิรัก (Minneapolis Star Tribune 011004)

2) มีสัญญาณการก้าวสู่ขั้นใหม่ของสถานการณ์ในอิรัก ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่าปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้านที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสัญญาณว่า สถานการณ์อิรักก้าวสู่ขั้นใหม่ ได้แก่ สงครามจรยุทธ์แบบฉบับที่สหรัฐเคยเผชิญมาแล้วในฟิลิปปินส์และเวียดนาม กลุ่มต่อต้านมี 4 กลุ่มได้แก่ (1) ชนเผ่าสุหนี่ (2) กองกำลังที่ภักดีต่อประธานาธิบดีซัดดัม (3) กองกำลังที่ภักดีต่ออัล-ซาร์ดแห่งนิกายชีอะห์ และ (4) นักรบพลีชีพจากต่างประเทศ กล่าวโดยรวมกำลังต่อต้านหลักอยู่ในประเทศ มีจุดอ่อนสำคัญอยู่ที่ขาดกลุ่มแกนหรือผู้นำที่เป็นตัวแทนของทั้งหมด

3) มีแนวคิดแบ่งอิรักเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนอาหรับที่ถือนิกายสุหนี่ ส่วนชาวอาหรับที่ถือนิกายชีอะห์ และส่วนชาวเคิร์ก (The Christian Science Monitor 200904) แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่ง่าย เพราะทำให้ข้ออ้างสุดท้ายของแกนสหรัฐ-อังกฤษในการบุกยึดครองอิรัก ได้แก่ การล้มล้างระบอบซัดดัม ฟื้นฟูประเทศอิรัก สร้างประชาธิปไตยอันจะเป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นในตะวันออกกลาง กลายเป็นการโกหกคำโตอีกครั้ง นอกเหนือจากเรื่องการมีอาวุธทำลายล้างสูงในอิรักและการที่ประธานาธิบดีซัดดัมมีส่วนพัวพันกับกลุ่มอัลกออิดะห์

4) คำกล่าวของนายโคฟี อันนัน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า สงครามอิรักเป็นสงครามที่ผิดกฎหมายและละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ

5) ความเสียหายของสหรัฐพุ่งสูงขึ้น จำนวนทหารที่เสียชีวิตสูงเกินหลักพัน ความเสียหายทางการเงินและชื่อเสียงบนเวทีโลกดูจะยิ่งสูงกว่า และความเสียหายนี้ดูจะยืดเยื้อ นักวิจัยบางคนชี้ว่า กองกำลังก่อการร้ายที่อุทิศตัวแม้มีจำนวนน้อย แต่ก็ก่อความเสียหายได้อย่างหนัก เช่น กองพลน้อยแดงจำนวนราว 50-75 คน สามารถก่อความปั่นป่วนให้แก่อิตาลีได้เป็นเวลานานถึง 2 ทศวรรษ หน่วยมือปืนและมือวางระเบิดของกองกำลังปลดปล่อยไอร์แลนด์ มีจำนวนเพียง 200-400 คน แต่ก็ทำให้อังกฤษต้องส่งทหารนับหมื่นไปควบคุมสถานการณ์ที่ไอร์แลนด์เหนือ

6) ประชามติเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศในสหรัฐเปลี่ยนไป ท่ามกลางความเสียหายและความยากลำบาก พบว่า ประชามติในสหรัฐเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด จากการสำรวจประชามติครั้งใหญ่ของสภาชิคาโกว่าด้วยวิเทศสัมพันธ์ (Chicago Council on Foreign Affair) พบว่า

(1) เสียงข้างมากทั้งจากสาธารณชนและชนชั้นนำสหรัฐ เห็นว่าบทเรียนสำคัญจากกรณีวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 คือการปฏิบัติการร่วมมือใกล้ชิดกับชาติอื่น ไม่ใช่การกระทำตามลำพัง (2) มีเสียงสนับสนุนน้อยมากต่อความคิด "การชิงโจมตีล่วงหน้า" ของประธานาธิบดีบุช โดยร้อยละ 17 ของสาธารณชนและร้อยละ 10 ของผู้นำเห็นด้วยเช่นนั้น และร้อยละ 53 ของสาธารณชน กับร้อยละ 61 ของกลุ่มผู้นำ เห็นว่าสงครามจะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต่อเมื่อมีอันตรายอย่างชัดเจนจากการโจมตี และร้อยละ 25 ของทั้งกลุ่มสาธารณชนและผู้นำ เห็นว่าสงครามจะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต่อเมื่อถูกโจมตีก่อน

(3) ในการสำรวจปี 2002 สาธารณชนเห็นว่ากลุ่มเคร่งศาสนาอิสลามเป็นภัยคุกคามร้ายแรงถึงร้อยละ 61 แต่ในการสำรวจปี 2004 ลดเหลือเพียงร้อยละ 38 ความเห็นว่าการที่ประเทศจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจเป็นภัยคุกคามสหรัฐก็ลดลงจากร้อยละ 51 เหลือร้อยละ 33 ในช่วงเวลาเดียวกัน

4) ทัศนะในหมู่ชนชั้นนำสหรัฐที่เคยถือว่าการรักษาความเป็นมหาอำนาจโลกเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ ได้ลดลงจากจากร้อยละ 52 ในปี 2002 เหลือเพียงร้อยละ 37 นับเป็นครั้งแรกที่ทัศนะดังกล่าวมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 50 นับตั้งแต่การสำรวจครั้งแรกในปี 1994 (Inter Press Service 280904) อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าประชามติยุคปัจจุบันมักมีการไหวตัวสูง ตามการเปลี่ยนแปลงและการไหลเวียนของข่าวสาร

อนึ่ง สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ก็ทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้แผนการสันติภาพที่นำเสนอโดยประธานาธิบดีบุช พังทลายลง เป็นจุดเดือดใหญ่ของโลกอีกแห่งหนึ่ง

2. การต่อสู้กับความยากจนหิวโหย การประชุมปฏิบัติการต่อต้านความหิวและความยากจน (Action Against Hunger and Poverty) จัดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติ ในเดือนกันยายน 2004 โดยมีประธานาธิบดีลูลูแห่งประเทศบราซิล เป็นแกนสำคัญ และมีผู้นำรัฐและรัฐบาลเข้าร่วมทั้งหมด 56 ประเทศ บราซิลเสนอให้มีการเก็บภาษีเพื่อนำไปช่วยประเทศยากจน ได้แก่ ภาษีจากการขายอาวุธและภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่สำเร็จโดยง่าย สหรัฐที่เป็นอภิมหาอำนาจส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเข้าร่วมประชุม ฝรั่งเศสดูจะสนับสนุนประธานาธิบดีลูลูอย่างขันแข็ง โดยผู้นำประเทศเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง ความจำเป็นในการแก้ปัญหาความยากจนในลาตินอเมริกา ดูสำคัญเร่งด่วน เมื่อเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้หดตัวร้อยละ 1 ตั้งแต่ปี 2001 (สำนักข่าวเอพี 19092004)

ในด้านการผลิตอาหาร การบริโภคและความอดอยาก มีการรวบรวมผลการศึกษาและทัศนะดังนี้ 1) การสำรวจทางการของสหรัฐ พบว่าในแต่ละปี มีอาหารที่บริโภคได้สำหรับชาวสหรัฐรวมกันถึง 350 พันล้านปอนด์ (160 พันล้านกิโลกรัม) ในจำนวนนี้เกือบ 100 พันล้านปอนด์ (45 พันล้าน กก.) อันได้แก่ ผักสด ผลไม้ นม และผลิตผลธัญพืชเป็นต้น ถูกทิ้งเป็นขยะโดยร้านค้าปลีก เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ภัตตาคาร และผู้บริโภค มีรายงานจากองค์การอาหารไม่ใช่ระเบิด (Food Not Bombs) ชี้ว่า แต่ละปีสหรัฐต้องการอาหารเพียง 4 พันล้านปอนด์สำหรับผู้หิวโหย ซึ่งประมาณว่ามีมากกว่า 30 ล้านคน

2) รายงาน "สถานการณ์โลก 2004 (State of the World 2004) ของสถาบันเวิลด์ วอทช์ แสดงว่าผู้บริโภคชาวสหรัฐและยุโรปตะวันตกที่มีประชากรรวมกันราวร้อยละ 12 ของประชากรโลก เป็นผู้บริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคถึงราวร้อยละ 60 และชี้ว่าการบริโภคเกิน (Over-consumption) ถูกถือเป็นท่วงทำนองการดำเนินชีวิต (Lifestyle) ในสหรัฐ และได้ระบาดไปยังประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ชนชั้นกลางนับจำนวนล้านๆคนทั่วโลก ได้รับเอาแบบการกินอาหาร ระบบการขนส่งและท่วงทำนองดำเนินชีวิตที่ริเริ่มขึ้นในสหรัฐ

3) ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายอาหารและการพัฒนา ที่มีฐานอยู่ที่นครชิคาโก ในสหรัฐให้ทัศนะว่า "นโยบายการเกษตร การค้าเสรี และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการขับเคลื่อนสำคัญของบรรษัทสหรัฐเพื่อการครอบงำเศรษฐกิจโลก" (Inter Press Service 040904)

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท