Skip to main content
sharethis

"หรือว่าวัตถุประสงค์ของจีน คือ การเอาสินค้าจีนมาสวมใส่เสื้อม่อฮ่อม ก่อนจะนำไปขายยังที่อื่น สุดท้ายถามว่า…ใครได้ใครเสีย ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน!?…" นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ รองประธานหอการค้าฝ่ายชายแดน จ.เชียงราย กล่าวแสดงความรู้สึก ในการสัมมนาเรื่อง"มิติใหม่การค้าการลงทุนตามแนวชายแดนภาคเหนือ" ที่ รร.ดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท เชียงราย เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา

หลังจากมีการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ตั้งแต่เดือน ต.ค.2546 เป็นต้นมา มีการลดอัตราภาษีสินค้าประเภทพืชผักและผลไม้ จำนวน 116 รายการ ทำให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร คือ หอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม ทั้ง 3 รายการ ได้ถูกนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายในไทยเป็นจำนวนมากและราคาถูก จนทำให้การค้าตามแนวชายแดนเชียงรายได้รับผลกระทบอย่างมาก

นายกิจชัย แต้เต็มวงศ์ รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย ฝ่ายการค้าชายแดน เปิดเผยว่า หลังจากเปิดการค้าเสรีไทย-จีน ที่ผ่านมา พบว่า การค้าชายแดนด้านเชียงรายไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลย แต่กลับได้รับผลกระทบเสียอีก เหตุเพราะระบบขั้นตอนที่รองรับ FTA ผักและผลไม้ของไทยยังคงไม่เอื้ออำนวย โดยต้องเสียเวลาไปตรวจคุณภาพของสินค้าที่จะส่งออกที่ จ.เชียงใหม่ และเมื่อส่งออกไปจีน ยังพบกับขั้นตอนการตรวจสอบอย่างเข้มงวด รวมทั้งเสียภาษีท้องถิ่นในจีนอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าว ทำให้การส่งออกสินค้าจากเชียงรายไปจีนตอนใต้ ระยะ ทางเรือในแม่น้ำโขงเพียงประมาณ 334 กม. ใช้เวลานานถึง 4 วัน

ดังนั้น วิธีการหลบเลี่ยงขั้นตอน โดยการนำสินค้าไทย ไปแปลงเป็นสินค้าพม่า และสปป.ลาว เพื่อส่งเข้าไปในจีน ในนาม 2 ประเทศดังกล่าวนั้น ยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะเสียภาษีนำเข้าของจีนแทนการลดภาษี 0% ใน FTA แต่นักธุรกิจก็ยอมเสีย เพราะเมื่อคำนวณต้นทุนจากขั้นตอนดังกล่าว พบว่า ยังถูกกว่าเสียอีก

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า นักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุน หลังจากมีการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-จีน ได้เข้ามามีบทบาทในภาคเหนือของไทยเป็นอย่างมาก มีการเข้ามาตั้งกิจการรับซื้อสินค้า FTA ในฝั่งไทย และนำส่งไปขายในจีนเอง โดยมีการจัดตั้งบริษัทตัวแทนหรือชิปปิ้งในไทย ซึ่งสามารถพบเห็นได้ตามตลาดใหญ่ๆ ของไทย เหตุผลก็เพื่อการลดต้นทุนในการว่าจ้างคนไทย ทั้งนี้ ได้ใช้วิธีการเข้ามาแต่งงานกับหญิงไทย ลักษณะคล้ายมาเพียงกระเป๋าเงินแค่ใบเดียว แต่มีกิจการการค้าเสรีแบบครบวงจร

จึงมีการวิเคราะห์กันว่า FTA จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ใช่ประเทศไทย-จีน เท่านั้น ที่ทำข้อตกลงจีน-อาเซียน อีก 10 ประเทศ โดยมีการทำข้อตกลงกันเมื่อเดือน พ.ย.2545 ว่าจะลดภาษีสินค้าเกษตรและผลไม้ 07-08 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นไป โดยจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จากภาษี 40% เหลือ 20% และจะเหลือ 0% อย่างสมบูรณ์ในปี 2553

ทั้งนี้ แต่ละประเทศมีเงื่อนไขเรื่องเวลาแตกต่างกัน เพราะบางประเทศยังไม่พร้อมจะใช้ FTA เต็มอัตรา แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องให้เหลืออัตราภาษี 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค.2549 เป็นต้นไปก่อนที่ประเทศอื่นๆ โดยจะลดภาษีในสินค้า จำนวน 365 รายการ

นายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะเจรจาการค้าเสรีไทย-จีน กล่าวว่า ก่อนเปิดเขตการค้าเสรี ไทย-จีน รู้ดีว่าควรจะเตรียมรับอย่างไร จีนเขามีการจ้างที่ปรึกษาจากประเทศออสเตรเลีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไปเป็นที่ปรึกษา ซึ่ง FTA ที่ทำกันในจีนจะเน้นการส่งออกและนำเข้าที่ท่าเรือคลองเตยและท่าเรือแหลมฉบังของไทย

"ดังนั้น จึงเชื่อว่า การค้าเสรีไทย-จีน จะไม่ทำให้การค้าที่ชายแดนเชียงรายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จึงอยากให้ทุกฝ่ายเตรียมรับ FTA จีน-อาเซียนให้ดี เพราะเชียงรายมีความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างจีนกับชาติอื่นๆ ด้วย" นายสมพล กล่าว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net