Skip to main content
sharethis

หลายเดือนที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนหนาหูเกี่ยวกับเกษตรกรทางภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากการไหลทะลักเข้ามาของหอม-กระเทียม และพืชผักเมืองหนาวราคาถูกของจีน ไม่เว้นแม้แต่โครงการพระราชดำริ เนื่องจากวาระครบรอบ 1 ปีของข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-จีน ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546

หลายหน่วยงานจัดเวทีสัมมนาเพื่อประมวลผลนโยบายดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะมีเสียงโอดครวญของเกษตรกรแล้ว ยังมีการส่งเสียงเตือนเรื่องสารเคมีตกค้างในผัก-ผลไม้จีนเกือบทุกเวที แม้จะเป็นการเตือนแบบผ่านๆ ก็ตาม

เค้าลางของปัญหานี้กระทบต่อ "ผู้บริโภค" ซึ่งเป็นภาคส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญสูงสุดและเน้นย้ำหลายครั้งในทำนองว่าจำต้องเสียสละส่วนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ได้รับ "ของดีราคาถูก" จากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีนี้

พบสารเคมีต้องห้ามในสินค้าเกษตรจีน

รายงานข่าวชิ้นเล็กๆ ของสำนักข่าว "ประชาธรรม" เมื่อไม่นานมานี้เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยผู้บริโภค โดยรายงานระบุว่า ต้นเดือนกรกฎาคม 2547 กรมวิชาการเกษตรตรวจพบสาร "โมโนโครโตฟอส" และ "เมวินฟอส" ซึ่งเป็นสารเคมีที่ประเทศไทยห้ามนำเข้ามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 ในพืชตระกูลกะหล่ำ และแอปเปิ้ล สาลี่นำเข้าจากจีน

จากการตรวจสอบกับกรมวิชาการเกษตร มีการยืนยันว่าพบสารเคมีดังกล่าว และไม่เพียง 2 ชนิดนี้เท่านั้น แต่ยังมี "เมธามิโดฟอส" ด้วยอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในสารกำจัดศัตรูพืชและประกาศห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี 2543 แล้วเช่นเดียวกัน

สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้อยู่ในกลุ่มของสารเคมีที่มีอาการพิษเฉียบพลัน มีพิษต่อระบบประสาทส่วน กลาง ผู้ป่วยจะแสดงอาการไวต่อสิ่งเร้ามาก กระวนกระวาย เวียนศีรษะเสียการทรงตัว บางครั้งมีการชักเกร็ง และอาจตายได้ด้วยระบบหายใจล้มเหลว ไม่นิยมใช้เพราะมีความคงทนในสภาวะแวดล้อมสูง ทำให้เกิดพิษตกค้างมากมาย

"เรารายงานไปยัง อย. หมดแล้วว่าพบสารเคมีตกค้างในผักที่นำเข้าจากจีน ทั้งถั่วลันเตา คะน้า หน่อไม้น้ำ กวางตุ้ง กะหล่ำ แต่ก็ระบุว่าแค่เจอ ถ้าเทียบกับค่ามาตรฐานอาจไม่เกินก็ได้" แหล่งข่าวในกรมวิชาการเกษตรกล่าวและว่า

"นอกจากนี้ยังพบพวกโมโนโครโตรฟอส เมวินฟอส เมธามิโดฟอส ซึ่งเป็นสารต้องห้าม ก็ทำหนังสือแจ้งไปยัง อย.แล้วเช่นกัน เพราะ อย. ดูแลเรื่องความปลอดภัยของอาหารภายในประเทศทั้งหมด แต่กรมวิชาการเกษตรไม่มีอำนาจอะไร เพียงแต่สุ่มตรวจเป็นข้อมูล หน้าที่หลักของเราคือตรวจโรคพืช โรคแมลง"

ระยะเวลาที่หน่วยงานหนึ่งจะส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานหนึ่ง เพื่อจะหามาตรการรองรับและควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เราค่อนข้างแน่ใจได้ว่า สินค้าที่มีปัญหาต่างๆ คงถูกกระจายมาเป็นผักใบสวย หรือผลไม้ผิวใสในตลาดเตรียมรอขึ้นจานของผู้บริโภคเรียบร้อย โดยไม่ระบุสัญชาติและที่มาที่ไป ตลอดจนสารเคมีที่ตกค้างอยู่ให้ผู้ซื้อต้องหวั่นไหว

อย.ตื่นรับมือสารต้องห้าม

อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับแจ้งจากกรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกประกาศใหม่ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าผัก-ผลไม้สดหรือแช่แข็ง ต้องมีหนังสือรับรองว่าปลอดสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่กรมวิชาการเกษตรตรวจพบ รวมทั้งต้องระบุประเทศและชื่อที่ตั้งของผู้ผลิตด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจน

ประกาศฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้นับจากนี้อีก 90 วัน

"มีประกาศอีกฉบับที่อยู่ระหว่างการนำเสนอรายละเอียดกับคณะกรรมการอาหาร เป็นการปรับตัวเลขค่าสารตกค้างให้เป็นตัวเลขที่อัพเดทตามมาตรฐานขององค์การอาหารหว่างประเทศ หรือ codex ซึ่งจะต้องปรับกันตามปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ปรับเพื่อรองรับเอฟทีเอ หรือเลือกปฏิบัติเฉพาะกับสินค้าประเทศใดประเทศหนึ่ง " น.พ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาธิการอย.กล่าว

ทุ่ม 449 ล้านเพิ่มแล็บตรวจสินค้า

ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรก็ทุ่มงบประมาณถึง 449 ล้านบาท เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผักผลไม้รวม 27 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งสร้างห้องปฏิบัติการใหม่ประจำด่านตรวจพืช 3 ด่าน คือ ด่านเชียงแสน จ.เชียงราย ด่านแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนกาญจนบุรี เพื่อรองรับการบริการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น และตรวจสอบสินค้าส่งออกให้ได้มาตรฐานตามนโยบายฟู้ดเซฟตี้ของรัฐบาลที่ออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

"การตรวจสอบสินค้าส่งออกตามนโยบายฟู้ดเซฟตี้ที่ออกมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2546 ทำให้สินค้าเกษตรส่งออกมีคุณภาพดีขึ้น จากสถิติพบว่าช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สารเคมีตกค้างลดลง เหลือ 22% และที่เกินค่ามาตรฐานลดลงกว่าครึ่งเหลือเพียง 5.7% ในขณะที่เทียบกับเดือนกันยายนปีที่แล้วสูงถึง 12.12%" นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรกล่าว

………..

ดูเหมือนทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของ "ผู้บริโภค" ต่างก็กำลังเร่งหามาตรการต่างๆ มารองรับและควบคุมสินค้าเกษตรที่มีปัญหาจากประเทศจีน ในขณะที่สินค้าจาก "ไร่จีน" ก็กำลังทยอยเข้ามายัง "จานของผู้บริโภคไทย" ทุกวันๆ ....จึงเป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่าหน่วยงานต่างๆ จะวิ่งไล่จับปัญหากันทันหรือไม่ และนำไปสู่คำถามที่ว่าระบบโดยรวมของการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าโดยเฉพาะอาหารของประเทศไทยพร้อมต่อการวิ่งไล่จับนี้เพียงไร?

อัคนี จินตบำรุง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net