ภาวะผู้นำเกิด..เมื่อมีปัญหา

พิสูจน์น้ำยา ซีอีโอ
ท้าให้แก้ ..ขยะท่วม - สำลักมลพิษ

ขยะ กับมลพิษทางอากาศ 2 วิกฤติสำคัญของปัญหาเมืองเชียงใหม่พัวพันเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออกไปแล้ว และกำลังบ่มเพาะรอวันปะทุอยู่เงียบๆ

ขยะ ที่อาจดูเหมือนจะสงบลงเพราะการเซ็นต์สัญญาเดินหน้าโครงการอบขยะเป็นพลังรีบดำเนินการไล่หลังวิกฤติในเขตเมืองเกิดขึ้นไม่นาน ดีกรีระดับรัฐมนตรีสยบสถานการณ์ได้พอควรทำเอาเทศบาลนครเชียงใหม่ถอนหายใจโล่งอกไปนั้น หากความเป็นจริงทุกหย่อมรอบเมืองกำลังดิ้นหาทางเอาตัวรอดจากปัญหานี้อยู่ทั่วเพียงลำพัง

บ้านจัดสรรหลายแห่งกองขยะเน่าเหม็น ปล่อยทิ้งไม่เก็บกันมานานแล้ว เพราะต่างเผชิญปัญหาเดียวกันคือไม่มีที่ทิ้ง

หลายแห่งต้องเลือกใช้วิธีเผา ซึ่งยิ่งทวีความรุนแรงของปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวกันไปอีก

วิกฤติที่รับรู้กันมานาน แต่ยังขาดการ "เอาจริง"

2 ปัญหาใหญ่ของคนเมืองท้าทายผู้บริหารเมืองให้แก้ วิกฤติกำลังประจันหน้าพิสูจน์น้ำยาของซีอีโอ "ภาวะผู้นำ" …นี่ต่างหากตัวชี้วัดของจริง

////////////////////////////////////////////////////////////////////

ขยะยังคุ-รอบเมืองปล่อยเน่าไร้ทางแก้
ตัวเลขขยะของเชียงใหม่ มิได้มีเพียงวันละ 250-350 ตันตามที่ปรากฏเป็นข่าว นั่นเป็นเพียงในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เท่านั้น หากแต่ทั่วทุกหย่อมเมืองในเขตเทศบาลตำบล อบต.และอำเภอต่างๆ ล้วนผลิตขยะขึ้นมาแต่ยังประสบปัญหากับที่ทิ้ง

ระบบจัดเก็บขยะของเมืองหากแบ่งตามโซนที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พยายามเข้ามาแก้ปัญหาคือโซนเหนือ พื้นที่อำเภอฝาง ไชยปราการ และแม่อาย นั้นเทศบาลตำบลเวียงฝางดำเนินการสร้างศูนย์กำจัดขยะครบวงจรเสร็จสิ้นไปแล้ว ย่านนี้จึงปลอดปัญหามานาน แต่ที่กำลังบ่มวิกฤติคือพื้นที่โซนกลางและโซนใต้ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาลนครเชียงใหม่

โซนกลางมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่เป็นผู้รับผิดชอบขยะในเขตอำเภอสันทราย แม่ริม ดอยสะเก็ด สันกำแพงและกิ่งอำเภอแม่ออน โดยให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ และคาดว่าจะนำส่งให้ศูนย์กำจัดขยะของอบจ.เป็นผู้กำจัด แต่จนถึงขณะนี้ศูนย์ฯของโซนกลางค้างเติ่งมานานแม้จะได้ลงนามกับผู้รับเหมารายเดียวกับกับที่ฝางไปแล้ว แต่เพราะเข้าพื้นที่ดอยสะเก็ตไม่ได้ เนื่องจากถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ซึ่งเปราะบางยิ่งเพราะเคยมีกรณีแกนนำถูกอุ้มมาแล้ว

"ยังไม่สามารถดำเนินการใดได้ เพราะจะเข้าพื้นที่ก็เกรงปัญหามวลชน" คณพล ปิ่นแก้ว ปลัดอบจ.เชียงใหม่บอกกับพลเมืองเหนือ

ปัจจุบันที่ทิ้งขยะของโซนนี้ส่วนหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเอง ส่วนหนึ่งเป็นของเอกชนที่มาจัดเก็บซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผย อีกส่วนหนึ่งเป็นที่เดียวกันกับของเทศบาลนครเชียงใหม่คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธเนศร์ก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในเครือบ้านตาลกรุ๊ป ย่านอำเภอฮอด ซึ่งเมื่อบ่อของอำเภอฮอดปิดลง ชาวบ้านไม่ยอมให้นำขยะไปทิ้ง ขยะโซนนี้ย่อมเกิดวิกฤติไปด้วย

จึงเป็นเหตุให้ขณะนี้ขยะตามพื้นที่รอบนอก โดยเฉพาะในหมู่บ้านจัดสรรที่จ้างเอกชนรายย่อยให้มาจัดเก็บกำลังเผชิญกับวิกฤติขยะค้าเติ่ง เน่าเหม็นเริ่มส่งกลิ่นกันแทบทุกพื้นที่ บางย่านหาทางออกโดยจ้างพิเศษเอกชนจากพื้นที่อื่นมาจัดเก็บ บางที่ใช้วิธีนัดกันเผา

ขณะที่โซนใต้ ผู้บริหารเทศบาลนครเชียงใหม่อาจมีข้อได้เปรียบที่มีประสพการณ์สางปัญหานี้ และใช้พื้นที่ปริศนาเก็บขยะไร้ที่ทิ้งเหล่านี้ไว้พอได้ และยังมีระดับรัฐมนตรีมาสยบปัญหา โดยเมื่อค่ำวันที่14 ตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่กับบริษัทเซปโก้ เอกชนจากประเทศอังกฤษ โดยมีนายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย และนายเอเรียล ฟอร์เร่ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมการเกษตรประเทศอังกฤษเป็นสักขีพยาน แต่ตามที่ "พลเมืองเหนือ" ได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่าสิ่งที่ต้องระวังคือการขาดรายละเอียดเรื่องเทคโนโลยีอบขยะให้เป็นพลัง กับการไม่เปิดเผยเรื่องสถานที่คือสิ่งที่ไม่อาจรับประกันได้ว่า เมื่อเครื่องจักรมาถึงจะสามารถติดตั้งเดินเครื่องใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเพียงพอจะกำจัดขยะที่ตกค้างทั้งหมดได้ทันทีแน่

และจะทำอย่างไรกับศูนย์กำจัดขยะครบวงจรของโซนใต้ ที่ต้องไม่ลืมว่าหมายรวมกับขยะของอำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทองด้วย ซึ่งอาจจะล้มพับไปเพราะแม้จะได้ซื้อพื้นที่เพิ่มเตรียมไว้ที่เขตฮอดและดอยเต่า แต่วิกฤติครั้งนี้ได้ปิดตายความเชื่อมั่นการใช้พื้นที่ของประชาชนเขตนี้ไปแล้ว

รวมทั้งต้องไม่ลืมด้วยว่า ธันวาคมที่จะถึงนี้ สัญญากับบริษัทแอดวานซ์ฯเอกชนที่รับขนขยะพื้นที่ 3 แขวงของเทศบาลนครเชียงใหม่ก็จะหมดสิ้นสุดลงอีกต่างหาก

ภาพรวมของการจัดการปัญหาขยะของเมืองเชียงใหม่ ที่แยกส่วนกันมานานทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน และกำลังบ่มถึงวิกฤติได้ที่ ยังไม่มีการนำมารวมบนโต๊ะและชี้ชัดให้คลี่คลายเสียที

นี่ ! ไม่ใช่หน้าที่ของซีอีโอหรือ ?

หนาวแล้วเตรียมสำลัก
ทางหนึ่งที่ประชาชนใช้แก้ปัญหาขยะท่วมบ้านตัวเองอยู่ขณะนี้คือการเผาขยะกันเอง หลายเทศบาลฯ ออกประกาศนัดกันเผาด้วยซ้ำ เพราะไม่อาจปล่อยให้ขยะกองเน่าเหม็นหนอนขึ้นได้ นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเร่งเครื่องให้ท้าได้เลยว่า ปัญหามลพิษของเชียงใหม่หนาวนี้ ไม่มีทางแก้ได้ ทั้งที่นายกรัฐมนตรีบ่นให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้ถึงวิกฤติด้านอากาศของเชียงใหม่มาแล้ว

2 เรื่องนี้เป็นสิ่งพัวพัน มลพิษอากาศของเชียงใหม่ไม่อาจคลี่คลายได้ถ้าการบริหารจัดการขยะล้มเหลว และ 2 เรื่องนี้ควรจะเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัด

ที่ผ่านมาหลังนายกรัฐมนตรีสั่งการให้แก้วิกฤติมลพิษอากาศเชียงใหม่เมื่อครั้งประชุมครม.สัญจรเดือนมิถุนายน 2547 ที่จังหวัดลำพูน เกิดการตื่นตัวของทั้งจังหวัดและกรมควบคุมมลพิษ ระดับจังหวัดผู้ว่าฯ ซีอีโอสั่งประชุมและคลอดแนวทางออกมาเด่นชัดคือจัดการกับฝุ่นจากการก่อสร้าง ล้างล้อรถบรรทุก แต่นั่นยังไม่เข้าถึงหัวใจของปัญหา เพราะสาเหตุสำคัญของมลพิษเชียงใหม่เกิดจากการเผา

แนวทางก่อนหน้านี้ที่ผู้ว่าฯ ดำเนินการคือการออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือลดการเผา แต่เป็นแนวทางที่เบาและไม่สำเร็จ เพราะแม้แต่กับหน่วยงานราชการเองยังเป็นผู้เผาเสียเองส่วนมาก

แล้งที่ผ่านมาภาคประชาชนที่ห่วงใยปัญหามลพิษทางอากาศได้เคยทำหนังสือถือนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าฯซีอีโอของเชียงใหม่ ขอให้นำปัญหามลภาวะทางอากาศเข้าเป็นวาระของจังหวัดที่จะต้องแก้ไขโดยด่วนและจริงจัง เพราะการลงนามหนังสือขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ยังป็นมาตรการที่อ่อน และเสนอแนะว่าที่จริงแล้วควรบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้ระยะเวลาแก่ประชาชนได้รับทราบสัก 1 สัปดาห์ และนำมาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการอย่างเด็ดขาด ส่วนการจัดเก็บขยะที่เป็นกิ่งไม้ ใบไม้ ก็ถึงเวลาที่เทศบาลฯ หรือหน่วยจัดเก็บอื่นๆ ไม่ควรปฏิเสธที่จะไม่จัดเก็บขยะเหล่านี้แล้วปล่อยให้ชาวบ้านต้องกำจัดเองด้วยการเผา และยังได้มีการประสานไปยังคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. ว่าจะมีแนวทางเสนอให้ซีอีโอดำเนินการกับปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นกรณีพิเศษได้อย่างไรบ้าง เพราะเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกที่เผชิญปัญหานี้

แต่ความเข้มข้นของการแก้ไขปัญหาก็เจือจางลงไปเมื่อเวลาผ่านไป

สำหรับระดับกรมและกระทรวงนั้นฯ คล้อยหลังการประชุมครม.สัญจรเพียงไม่กี่สัปดาห์ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึงกับลงมาประชุมด้วยตัวเองกำหนดร่างแผนปฏิบัติการจัดการมลพิษอากาศของเชียงใหม่และลำพูน ระบุจะนำเข้าการประชุมครม.ทันที แต่ล่าสุดเรื่องก็ยังติดค้างอยู่ที่คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้าสู่ครม. อันเป็นขั้นตอนของราชการปกติจนถึงขณะนี้

แผนระดับชาติก็ว่ากันไป แต่ระดับพื้นที่ปัญหานี้อาจคลี่คลายได้โดยใช้ความเป็นซีอีโอให้ตรงจุด ผู้ว่าฯ สุวัฒน์เคยได้ทำแล้วกับการแก้ไขเรื่องนี้ ด้วยการสั่งการเรื่องแก้ฝุ่นจากการก่อสร้าง หากแต่ได้กล่าวไว้ว่ายังไม่ทะลวงเข้าไปในหัวใจของปัญหา

เรื่องบางอย่างอาจต้องอาศัยแอคชั่น มองเห็นภาพการจัดการให้ชัด หากเพียงผู้ว่าฯ ซีอีโอเอาจริง ประสานกำลังใช้กลไกกฎหมายที่มีอยู่ เข้าดำเนินการจับปรับกับผู้ก่อมลพิษทางอากาศด้วยวิธีการเผาอย่างจริงจังเป็นตัวอย่าง ปัญหาย่อมอาจเบาบางลงได้

ศูนย์ปราบปรามผู้ก่อมลพิษ ลักษณะคล้ายกับการปราบยาเสพติด ที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 1 เคยเสนอให้ดำเนินการ ก็เป็นแนวคิดที่ดี แต่ก็ยังไม่มีการสั่งการให้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมจากซีอีโอ

ตุลาคมเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสามารถสังเกตุถึงความทึบของบรรยากาศในเมืองเชียงใหม่ และเริ่มสามารถได้กลิ่นไหม้จากการเผาในช่วงเย็นกันแล้ว

แต่หนทางควบคุมและแก้ไขดูเหมือนจะไม่เท่าทันกับปัญหาที่กำลังคุกรุ่น

ในหนังสือที่นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เคยออกคำสั่ง เรื่องการระงับเหตุมลพิษทางอากาศและเสียงถึงนายกอบจ. นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอทุกอำเภอ นั้นระบุว่าถึงการความร่วมมือกรณีการเผาและควันไฟจากไฟป่าให้เจ้าพนักงานดำเนินการระงับเหตุเผา ถ้าฝ่าฝืนให้มีการจับกุมและเปรียบเทียบตามกฎหมาย กรณีขยะให้อบต. เทศบาลและชุมชนร่วมกันกำจัดไม่ให้ตกค้าง กรณีฝุ่นและควันดำ ให้อบต.และเทศบาลทำความสะอาดดูดฝุ่น ล้างถนนและไหล่ทางและให้นายอำเภอตรวจติดตามประสิทธิภาพ กรณีเสียงดังให้นายอำเภอและอบต.สาธารณสุขอำเภอเข้าตรวจสอบและระงับเหตุทันที ทั้งนี้ให้อบจ. อำเภอ สนับสนุนการปฏิบัติงานของอบต.และเทศบาล และให้อำเภอเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในปัญหามลพิษเหล่านี้ที่ประชาชนจะร้องเรียนเข้ามาเพื่อประสานแก้ไขได้ทันท่วงที

แต่ไม่เคยปรากฏการจับกุมและเปรียบเทียบปรับตามคำสั่งนี้สักราย

ประเมินซีอีโอเน้นแต่เศรษกิจ-เมินสังคม
เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลเปลี่ยนจากผู้ว่าราชการจังหวัดธรรมดาเป็นผู้ว่าซีอีโอ ก็เพื่อให้การจัดการปัญหาเบ็ดเสร็จในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาบทบาทของผู้ว่าซีอีโอในเชิงเป็น "ผู้นำของจังหวัด" ยังไม่เด่นชัดเท่ากับกับเป็น" ผู้ตาม" คำสั่งจากรัฐกลาง

สิ่งที่เป็นวิกฤติในพื้นที่หากไม่มีการเอ่ยจากฟากรัฐบาลดูเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะได้รับการแก้ไข

ผลประเมินผู้ว่าฯ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการอธิบายได้ชัด น.ส.ดารัตน์ บริพัฒธกุล นักพัฒนาระบบราชการ 8 กพร. รายงานการวิเคราะห์บทบาทผู้ว่าซีอีโอจากการสัมภาษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือพบว่า ยุทธศาสตร์ของภาคเหนือเน้นด้านเศรษฐกิจมากเกินไป ขาดการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ การทำงานที่ผ่านมายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านไปให้คำปรึกษาและยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ นอกจากนั้นการประสานงานระดับกลุ่มจังหวัดยังไม่ดีพอ ต่างคนต่างทำ และยังแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติจริงไม่ชัดเจน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรียอมรับในข้อนี้ว่าการประชุมซีอีโอแต่ละครั้งก็มีเพียงหน่วยงานราชการเท่านั้น ต่อจากนี้จะต้องดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมามีส่วนร่วมด้วยและจะเน้นด้านทรัพยากรมนุษย์ สังคม และวัฒนธรรมให้มากขึ้นเพราะยอมรับว่าปีที่ผ่านมาเน้นด้านเศรษฐกิจมากเกินไป

หนทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติของเมืองใหญ่ ไม่ถูกนำไปเป็นตัวชี้วัดการทำงานของผู้ว่าฯ ซีอีโอ แต่สิ่งเหล่านี้คือโจทย์ชั้นดีที่จะพิสูจน์ภาวะผู้นำ

มองมุมไหน เมื่อโยงเข้ากับเจตนาของการปรับเปลี่ยนระบบราชการให้เกิดซีอีโอขึ้นมา วิกฤติในพื้นที่นี่แหละ คือกงการของซีอีโอชัดๆ

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท