หรือเวียงแหงจะเปลี่ยนไป เพราะเหมืองลิกไนต์!?

"ขอคัดค้านการทำเหมืองแร่ที่เวียงแหงและที่อื่นในโลกครับ…" เสียงของชาวบ้านเวียงแหงคนหนึ่ง เอ่ยออกมา...

"เฮาบ่อยากล้มป่วยล้มตายเหมือนชาวบ้านที่แม่เมาะ หากใครไปเห็นชาวบ้านที่นั่น พวกเขาทรมาน และน่าสงสารมาก…" หญิงวัยกลางคนบอกกับเรา

"ขนาดชาวบ้านได้สำรวจความคิดเห็นกันแล้ว ว่า 95% ชาวบ้านคัดค้านไม่เห็นด้วย ไม่ให้สร้างเหมืองที่เวียงแหง แล้วทำไมถึงต้องดึงดันจะสร้างอยู่ต่อไป ทำไมไม่ฟังเสียงของชาวบ้านกันบ้าง…" ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา ตัวแทนคนเวียงแหง เอ่ยออกมาด้วยความรู้สึกไม่เข้าใจในกระบวนการของรัฐ

อำเภอเวียงแหง อำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย-พม่า เป็นเมืองในหุบเขาคล้ายแอ่งกระทะ โดยมีภูเขาสูงโอบล้อมรอบ อากาศจึงหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี หน้าหนาวหมอกขาวปกคลุมเมืองทั้งเมืองจนถึงเที่ยงวัน อากาศปิดเช่นนี้ทำให้กระแสลมหมุนวนอยู่ที่เดิมอยู่อย่างนั้น...

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตและสงสัยกันว่า หากเกิดเหมืองลิกไนต์ขึ้นที่นั่น วิถีชีวิตของคนเวียงแหงจะเป็นเช่นไร!? หรือว่าเวียงแหงกำลังจะเปลี่ยนไป...

เหตุใด ถึงต้องเหมืองแร่เวียงแหง!?
โครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ได้เริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 มีการเข้ามาทำการสำรวจแหล่งถ่านหินเวียงแหงเป็นครั้งแรก และเข้าทำการสำรวจขั้นรายละเอียดอีกครั้งในปี 2530 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ร่วม กับกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2531 ให้กันพื้นที่แอ่งเวียงแหงให้กับ กฟผ. เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

หลังผลการศึกษาทางธรณีวิทยา พบว่า มีปริมาณถ่านหินสำรองประมาณ 139 ล้านตัน แต่เมื่อวิเคราะห์ความต้องการของตลาดในห้วงเวลานั้น มีการสรุปว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน จึงส่งคืนแหล่งเวียงแหงตามประสงค์ของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำไปเปิดประมูล ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2535

เรื่องการเปิดเหมืองเงียบไปนานหลายปี พอถึงเดือนตุลาคม 2542 ทาง กฟผ. ได้เสนอเรื่องนี้อีกครั้ง เพื่อขอทบทวนมติ ครม. 10 มี.ค.2535 จึงมีการประชุมร่วมกันระหว่าง สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ศสช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) และกฟผ. ซึ่งได้มีมติให้ทาง กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง และดำเนินการในรูปของบริษัทร่วมทุน ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ดำเนินการขอประทานบัตรควบคู่ไปกับการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะต้องสอดคล้องตามโครงสร้างการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

เดือนมิถุนายน 2543 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นจากหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สศช. และคณะกรรมการกำกับงานนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ

เดือนกันยายน 2544 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(สพช.) ได้อนุมัติให้ กฟผ. เข้าไปใช้โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ กฟผ. จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ในการพัฒนาแหล่งถ่านหินเวียงแหง หากรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว ให้ กฟผ. นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นี่คือที่มาที่ไป... ของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยรัฐอย่างเงียบๆ โดยที่ชาวบ้านคนในพื้นที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนล่วงหน้า ว่าจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนหรือไม่!?

พื้นที่ตั้งโครงการเหมือง ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล
พื้นที่ตั้งของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ บ้านกองลม ต.เมืองแหง บ้านปางป๋อ บ้านม่วงป๊อก บ้านมหาธาตุ บ้านสามปู ต.แสนไห บ้านจอง บ้านม่วงเครือ บ้านห้วยไคร้ ต.เปียงหลวง โดยพื้นที่ของโครงการบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บางส่วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและป่าลุ่มน้ำฝาง และเส้นทางขนส่งหน้าดินและถ่านหินลิกไนต์บางช่วงอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

ที่สำคัญก็คือ พื้นที่ตั้งโครงการเหมืองถ่านหิน อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร และมีชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่ล้อมรอบ ซึ่งเป็นจุดเปราะบางมาก เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงทราบข่าว จึงเกิดการตื่นตระหนกตกใจกับความแปลกเปลี่ยนที่จะเข้ามาในวิถีชีวิต

มีข้อมูลบอกว่า...การดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหินเวียงแหง จะใช้วิธีทำเหมืองเปิด โดยการขุดเปิดเปลือกดิน แล้วขนไปยังที่ทิ้งดินที่กำหนดไว้ แล้วจึงขุดตักถ่านหินไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผลการศึกษาทางธรณีพบว่า แหล่งถ่านหินที่เวียงแหง มีปริมาณสำรองรวมกันทั้งสิ้น ประมาณ 139 ล้านตัน มีปริมาณสำรองที่คุ้มทุนประมาณ 15 ล้านตัน

ว่ากันว่า...พื้นที่เขตบ้านปางป๋อ มีศักยภาพมากที่สุดในการเปิดเหมืองแร่เวียงแหง และถ่านหินที่เวียงแหงมีคุณภาพดีกว่าที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง คือเป็นถ่านหินประเภท ลิกไนต์ (Lignite) และซับบิทูมินัส (Subbituminous)

และมีการกล่าวถึงเอกสารลับของ กฟผ. ที่รายงานอีกว่า ในพื้นที่เปิดเหมืองถ่านหินเวียงแหงนั้น เมื่อมีการเจาะลึกลงไปประมาณ 800- 2,400 เมตร มีก๊าซธรรมชาติอยู่ใต้ชั้นฐานลึกอยู่จำนวนหลายล้านลูกบาศก์ฟุต และในโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือตอนบน ระบุว่า มีแผนการจะจัดตั้งโรงงานผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากลิกไนต์เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและใช้ในครัวเรือน

เมื่อรับรู้ข้อมูลตรงนี้แล้ว อาจทำให้หลายๆ คน คงเริ่มเข้าใจว่า...เหตุใดทาง กฟผ. และรัฐถึงต้องพยายามดึงดันให้มีเหมืองถ่านหินลิกไนต์ที่เวียงแหง

ฟ้า เวียงอินทร์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท