Skip to main content
sharethis

ทัศนะต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่หน้า สภ.อ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ของ "มารค ตามไท" นักวิชาการอิสระ รองประธานคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา

ผมคงแสดงความเห็นในฐานะเป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะพูดในกรอบนี้ที่เคยทำงานในภาคใต้มา ๖-๗ ปี

ผมเข้าใจว่า กรรมาธิการคงสนใจกรณีที่ตากใบใช่ไหมครับ

ความเห็นผมคงจะรวมระหว่างสาเหตุและสิ่งที่ควรจะทำต่อไป จะไม่แยกสองอย่างนี้ เพราะมันปนเข้า ผมจะขอพูดแยกเป็นสองส่วน คือ สิ่งที่จำเป็นต้องทำในความเห็นของผมเฉพาะหน้าก่อน แล้วก็สิ่งที่จำเป็นต้องทำระยะยาว จะเป็นสิ่งที่กรรมาธิการต้องทำหรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่เป็นสิ่งที่สังคมต้องทำ

อันดับแรก ตอนนี้มีหลายคนพูดถึงการใช้สันติวิธีแก้ปัญหา หนังสือพิมพ์บางฉบับถึงกับขึ้นว่า ในหลวงท่านรับสั่งใช้สันติวิธีดับไฟใต้ ผมอยากจะให้ความเห็นหน่อยว่า สันติวิธีไม่ใช่ของซึ่งใช้ได้อัตโนมัติเมื่อตัดสินใจจะใช้ มันต้องมีเงื่อนไขบางอย่างเข้าที่ก่อน แล้วถ้าเงื่อนไขเหล่านี้ไม่เข้าที่ การตกลงบอกใช้เฉยๆมันก็จะไม่ได้ผล

เงื่อนไขที่สำคัญอันดับแรก สันติวิธีทำงานได้ผลเฉพาะถ้าทำงานบนฐานของความจริง ถ้าไม่ได้เริ่มด้วยความจริงมันจะไม่ได้ผล สิ่งที่จะได้ก็คือการซื้อเวลาเท่านั้นเอง คล้ายๆความรุนแรงในสังคมก็จะหยุดไปพักหนึ่ง เพราะบอบช้ำ แต่มันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะฉะนั้นต้องเริ่มด้วยพื้นฐานของความจริง

ทีนี้ ความจริงที่ผมพูดถึง ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ อะไรเกิดขึ้น อย่างที่ตากใบ อันนั้นสำคัญเหมือนกันว่าอะไรเกิดขึ้นเมื่อไร แต่มันมีอีกอย่างที่สำคัญ คือ ความจริงที่เข้าถึงสาเหตุ ผมรู้สึกอันนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะตามที่ตามข่าว กำลังมองข้ามกันอยู่

ผมหมายถึงอย่างนี้ ถ้าเผื่อรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีขนบุคคลขึ้นรถ และข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนรถ หรืออะไร ถ้าพูดว่าอันนั้นเป็นสาเหตุของการตาย มันจะเหมือนกับการบอกว่า อย่างถ้าผมผลักคนออกจากหน้าต่างชั้น ๒๐ แล้วบอกว่าสาเหตุที่ตายเพราะคอนกรีตมันแข็ง มันไม่ใช่ตัวสาเหตุที่แท้ แต่มันคือความจริง คนนั้นตายเพราะว่าถูกคอนกรีต ตกลงมา ๒๐ ชั้น แต่นั้นไม่ใช่สาเหตุที่เขาตายในความหมายที่สำคัญในการแก้ เพราะถ้าคิดว่า อันนั้นคือสาเหตุที่เขาตาย ทางตึกจึงไปล็อคหน้าต่างไว้หมด คราวหน้าผมก็ฆ่าด้วยวิธีอื่น เพราะว่าผมผลักไม่ได้แล้ว

คำถามที่สำคัญในกรณีตากใบ ไม่ใช่แค่ว่ามันมีข้อจำกัดหรือเปล่าเกี่ยวกับการโยกย้ายบุคคล แต่น่าจะคือว่า ในเมื่อรู้ว่ามีข้อจำกัดแล้วยังทำ อันนี้คือข้อที่หนึ่งเกี่ยวกับการใช้ความจริง เพื่อที่สันติวิธีให้ได้ผลในความเข้าใจของผม

อันที่สองก็คือ ความจริงอีกอย่างที่ต้องยอมรับกัน และผมคิดว่าท่านทั้งหลายก็คงเห็นว่ามันจริง และที่ผมทำงานมาที่นั่น ๖-๗ ปี ก็เห็นว่าจริง ก็คือ มีส่วนหนึ่งในสังคมเราที่ไม่สบายใจกับประชาชน ซึ่งเป็นพลเมืองไทย แต่คนมาเลย์มุสลิมไม่ถูกสเป็กเพื่อนร่วมชาติ มีคนจำนวนหนึ่งในสังคม สเป็กในหัวของเพื่อนร่วมชาติไม่รวมถึงคนแบบนี้ อันนี้เป็นธรรมดาในทุกสังคมจะมีความรู้สึกแบบนี้

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามีบางคนในสังคมหรือเปล่าที่คิดว่าคนประเภทหนึ่งซึ่งเป็นพลเมืองไทย แตกต่าง แต่งตัวต่าง ศาสนาต่าง สิ่งที่สำคัญที่ผมคิดว่าใช้สันติวิธียาก ก็คือ ถ้าคนที่มีความรู้สึกเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและถืออาวุธโดยถูกต้องตามกฎหมาย ผมว่าตรงนั้นเป็นสิ่งซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วน

มีหลายประเทศเวลาเจอะปัญหาอย่างนี้ เขาไม่ได้ไปแก้ปัญหาสังคมทั้งหมดก่อน เขาแค่ว่า คนที่ยังไม่สบายใจกับคนกลุ่มหนึ่ง ก็อย่าให้มาเล่นหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะว่าคราวนี้ทำอะไรได้หมดถูกต้องตามกฎหมาย

ผมว่าตรงนั้นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะว่าหลังจาก 28 เม.ย. ก็มีการพูดคุยกันหลายอย่าง เหมือนการกำลังทำเดี๋ยวนี้ แต่ก็เกิด 25 ต.ค. ได้ เพราะว่าไม่ได้เจาะประเด็นนี้ นั่นคือข้อแรก เรื่องเฉพาะ

ข้อที่สอง ผมอยากจะให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรง คือมีหลายคนพูดถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม ส่วนใหญ่ เท่าที่ผมได้ยิน มันไม่ใช่มีส่วนร่วมที่จะเป็นประโยชน์มากเท่าไร

มันเป็นส่วนร่วมอย่างนี้ เช่น ไปขอคำปรึกษาจากผู้นำศาสนา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือขอคำปรึกษาจากผู้นำชุมชน ตั้งเป็นที่ปรึกษา อันนี้เท่าที่เคยทำมามันไม่ได้ผล เพราะการให้คำปรึกษามันไม่เหมือนกับการตัดสินเวลาจะปฏิบัติการอะไรสักอย่าง ฉะนั้น ถ้าเป็นรูปธรรม อย่าง กอ.สสส. ควรจะมีผู้นำชุมชนเป็นกรรมการ ไม่ใช่เป็นที่ปรึกษา

เพราะเดี๋ยวนี้ไปถามเฉยๆ แต่เวลาเข้าตัดสินก็ไม่มีเสียงในการที่สามารถถกกับกรรมการท่านอื่น เพราะว่ามันเป็น One Way ในการขอคำปรึกษา ให้คำปรึกษา พอกรรมการตัดสินก็ไม่มีโอกาสมาเถียง อันนี้ รูปธรรมที่สุดคือ ขยายองค์ประกอบของ กอ.สสส. อันนี้คือความเห็นของผมในเรื่องเฉพาะหน้า

ทีนี้ พอเรื่องระยะยาวก็อยากมีความเห็นสองอย่าง สิ่งที่ต้องทำ…เรื่องแรกทำกันอยู่แล้วบ้าง อย่างสภาความมั่นคงก็มีโครงการอย่างนี้ คือ ใช้องค์กรศาสนา ผู้นำองค์กรศาสนา มีส่วนในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้างสันติสุข คอนเซ็ปต์นี้อาจจะธรรมดาสำหรับบ้านเรา แต่ที่จริงเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประชาธิปไตย

เพราะปกติการพัฒนาประชาธิปไตยจะแยกศาสนาออกจากรัฐ และเชื่อว่า ถ้าแยกออกจากรัฐ โอกาสที่มีสังคมที่อยู่ร่วมกันจริงๆ ง่ายกว่า ของเรากำลังไปอีกทิศทางหนึ่ง ซึ่งผมสนับสนุนนะครับ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องต้องศึกษาและเข้าใจว่าเรากำลังทำของใหม่

สังคมประชาธิปไตยแบบใหม่ที่ศาสนากับรัฐทำงานใกล้กัน ไม่ได้ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ทุกศาสนา มันเกือบจะเป็นรัฐประชาธิปไตยศาสนาอีกแบบ ไม่ใช่ศาสนาใดอันหนึ่ง เป็นคล้ายๆ Spiritual State ผมว่าอันนี้ต้องศึกษามากขึ้นหน่อยว่า ระยะยาวทำได้มากน้อยแค่ไหน หรือมันเป็นการแก้ปัญหาสั้นๆ ผมเองคิดว่ามันใช้ได้ระยะยาว

ข้อที่สอง และข้อสุดท้าย เกี่ยวกับการแก้ปัญหาระยะยาว ก็คือวุฒิภาวะของสังคมไทยที่เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองการเมือง คือ ในอดีตเป็นของธรรมดาที่จะศึกษารูปแบบต่างๆ ของการปกครองที่สังคมอยู่กันสันติสุข ไม่ใช่เรื่องแปลก เราเห็นประวัติศาสตร์เยอะแยะ โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มา รูปแบบการปกครองเป็นของธรรมดา ซึ่งคนคิดกัน

แต่ตอนนี้มันคล้ายๆมันไม่ยืดหยุ่น แข็งตัว จิตมันไม่คิด ไม่ทำงาน ถ้าใครเสนออะไรหน่อยก็บอกว่าไม่ควรคิดอะไรต่างจากปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะว่า เพราะเราไม่คิดกัน เราเลยไม่เข้าใจ และไปคิดว่าเขตปกครองตนเองหมายถึงการแบ่งแยกอะไร มันไม่เกี่ยวกันเลยสักอย่าง แต่ทุกคนกลัว กลัวในของที่ไม่รู้

สิ่งที่สำคัญ ผมไม่ได้กำลังสรุปว่า ควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่การคุยเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่ไม่กลัวที่จะคุย แต้ต้องคุยอย่างรอบคอบ ก็อาจเป็นได้ว่าพอพิจารณาทุกมุมแล้ว ปัจจุบันก็ดีที่สุดแล้วก็อาจเป็นได้ แต่การไม่พิจารณาเลย อันนี้อันตราย เพราะมันเป็นการประมาทนิดหน่อยในการแก้ปัญหาบ้านเมือง

ปัญหาอคติในสังคม ความเข้าใจผิด

คงไม่มีอะไรที่ทำแล้วได้สิ่งที่ต้องการทันที ว่าอยู่ดีๆ ก็เห็นว่า นี่คือเพื่อนร่วมชาติอีกกลุ่มหนึ่งที่แปลกที่ต่างจากเราทันทีไม่ได้ แต่ผมอาจจะยกตัวอย่างที่เราทำเมื่อหกปีก่อน สภาความมั่นคงฯ ในตอนนั้นจะร่างความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อปีที่แล้ว แล้วตอนนั้นไม่อยากจะร่างแบบธรรมดาเหมือนทุกครั้ง ที่ร่างจากกรุงเทพฯ ก็คิดว่า อยากจะถาม

ที่จริงก็ไปทำสิ่งที่เดี๋ยวนี้หลายคนกำลังเรียกร้อง อย่างผมรู้สึกได้ยินท่านนายกฯ พูดเมื่อวาน ต้องการอะไรจริงๆ เพื่ออยู่กันอย่างสันติสุข เราก็ทำกระบวนการหนึ่งปีกับประชาชน กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ เพื่อคุยกันว่า ความอึดอัดอยู่ที่ไหน

อันนั้นที่เห็นคนพูดถึงความอึดอัดโดยตรงไปตรงมาเป็นประโยชน์มาก เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มคนที่ประชุมกันสักร้อยคนในช่วงปีหนึ่ง ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็บอกตรงๆ ในห้องว่า อึดอัด ทำไมไม่ยอมทำให้ตัวเหมือนคนอื่นในแง่ผิวเผิน เช่น การแต่งกาย หรือภาษา ก็บอกตรงๆ ว่านี่คือสิ่งที่ทำให้อึดอัด เลยทำให้รู้สึกว่าไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่ง

ทางฝ่ายนั้นก็บอกว่า ความอึดอัดก็คือไม่ให้เกียรติ ไม่เข้าใจสิ่งซึ่งมีคุณค่าในชีวิต ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่บางคนก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร ก็ถาม เขาก็บอก เช่น เรียกให้ไปทำงานราชการวันศุกร์ตอนเที่ยง ฯลฯ คือความสำคัญต่างๆ..ไม่เข้าใจ

เสร็จแล้วอคติที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก และร้องเพลงล้อกัน ก็ออกมาหมดในที่ประชุมทั้งสองฝ่าย ในที่สุดก็ได้คำตอบ แล้วก็อยู่ในนโยบายความมั่นคงฉบับนั้น ก็คือ ความมั่นคงมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมุสลิม สามารถอยู่อย่างมุสลิมได้ในสังคมไทย ในฐานะคนไทยที่มีเกียรติ

คำตอบมาตั้งแต่ตอนนั้น รูปแบบวิธีการอย่างนั้นทำให้คนที่ไม่เคยเข้าใจได้เห็น ผมไม่ทราบว่ารูปแบบ อย่างนั้นทำให้ใหญ่ขึ้นแก่สังคมได้ในรูปแบบไหนบ้าง เพราะมันเป็นของที่ใช้เวลานาน และต้องเห็น คือเดี๋ยวนี้สื่อก็ไม่ค่อยมีของอย่างนี้ นั่นคือวิธีหนึ่งผ่านสื่อ

แต่ถ้าทำโครงการอย่างนี้ผ่านสื่อแล้วคนไม่ดูสื่อมันก็ไม่ช่วยอีก เพราะฉะนั้น เท่าที่ผมเข้าใจ มีวิธีเดียวก็คือ ต้องแสดงตัวตนออกมาให้เห็นว่าเป็นคนยังไง พอแสดงตัวตนก็เห็นว่าก็เหมือนกัน คือห่วงใยลูกหลาน ห่วงอนาคตของการทำงานก็เป็นธรรมดาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมคิดว่าจะช่วย คือชี้ให้เห็นว่าชะตากรรมขึ้นต่อกัน เพราะว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย การออกกฎหมายอะไรต่างๆ ผ่านสภา นิติบัญญัติ ฯลฯ ก็มีสิทธิกระทบคนอื่นได้ในฐานะเป็นประชาชนคนหนึ่ง มันก็คือตรงนี้ เกินกว่านี้ผมคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรแบบกระทันหัน

ใครไทย ใครไม่ไทย ความคิดนี้เกิดได้อย่างไร

ปัญหามันคือ ผมกำลังคิดไปถึงตอนเรียนชั้นประถม ทำไมค่อยๆ เกิดภาพพจน์บางอย่าง เกี่ยวกับคนไทยต้องเป็นยังไง มันผ่านพวกนี้ ผ่านหนังสือที่เรียน ผ่านสิ่งที่ตอนหลังออกสื่อ เพลงชาติตอนเช้า รูปที่อยู่ข้างหลังเพลงชาติที่เห็น ทุกอย่าง เป็นของซึ่งเข้ามาในจิตของคนที่ดู แล้วก็ค่อยๆ สร้างภาพ

เวลาผมถามคนที่อยู่ในพื้นที่ว่า เขารู้สึกอึดอัดยังไงที่บอกว่า รู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เขาบอกว่า เขาไม่เห็นตัวเขาสักอย่างที่เป็นจินตนาการที่ออกไปที่สาธารณะ ไม่เห็นตัวเองอยู่ในนั้น เช่นวัด เขาก็ไม่ได้อยู่ในนั้น เขาอยู่ที่อื่น เช่นมัสยิด

เพราะฉะนั้น วิธีเสนอภาพประเทศไทย ไม่ว่าต่อสังคมเราเองผ่านสื่อ หรือต่อต่างประเทศ เวลาโฆษณา ต่อมิอะไร เขาไม่เห็นตัวเขาในนั้น เพราะฉะนั้นมันทั้งสองทาง ตัวเขาเองไม่เห็น และอยากจะเห็น และคนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นเขาอยู่ในนั้น เพราะมันสร้างมาอย่างนั้น

วิธีแก้ ในสองสามปีที่ผ่านมา ผมใช้คำว่า จินตนาการใหม่เกี่ยวกับความเป็นไทย จินตนาการใหม่นี้ ต้องทำให้เป็นรูปธรรม ต้องออกมาในตัวอย่างต่างๆ ทั้งในหนังสือเรียน ในสื่อ ฯลฯ ผมว่าคงต้องทำประเภทนั้น

แต่เหตุที่ทำยาก เพราะว่า ตลอดเวลาเราเข้าใจว่า รัฐไทยเป็นรัฐหนึ่งชาติ ทีนี้ผมก็ลองใช้คำว่าชาติในภาษาเหมือนกับที่ใช้ "Nation" "ชาติ" คือกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเหมือนกันทางวัฒนธรรม ไม่ได้ใช้แทนรัฐ หรือประเทศ

เพราะฉะนั้น จริงๆประเทศไทยเป็นรัฐหลายชาติ แต่บังเอิญมีชาติหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่

แต่ตลอดเวลา ไม่ได้คิด ไม่ได้รับอันนี้ ผมว่าส่วนหนึ่งนึกว่าการเป็นรัฐที่ไม่ใช่หนึ่งชาติมันน่ากลัว หรือสู้ภัยบางอย่างไม่ได้ เช่น อาจจะจริงสมัยหนึ่ง ต้องสู้ภัย ถ้าเป็นหลายอย่างเดี๋ยวสู้ภัยไม่ได้ ก็เลยนึกว่าต้องทำให้เป็นรัฐหนึ่ง ก็แปลว่าไม่ได้ทำบนพื้นฐานความเป็นจริง จนถึงวันนี้ก็ยังสับสนเรื่องนั้น แต่อันนี้ ถ้าพูดกันแล้วมันแก้ได้ แต่มันใช้เวลามาก อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องการศึกษากับการเข้าใจประวัติศาสตร์

เรื่องเพลงมาร์ชสันติวิธีนั้น(ดร.เจิมศักด์ ปิ่นทอง สว.กรุงเทพฯ ถามถึงวิทยุทหารเปิดเพลงมาร์ชผสมผสานสันติวิธี ว่าถือว่า เป็นนวตกรรมใหม่-) ผมยังคิดไม่ออกว่า เสียหายยังไงที่จะมี แต่ในตัวมันเองไม่พอ เพราะมีหลายคนที่เข้าใจสันติวิธีไม่ค่อยเหมือนกัน คำว่าสันติวิธีเป็นคำที่ค่อนข้างคงที่ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มลำบากที่จะใช้ ผมไม่เคยได้ยินใครบอกว่าสันติวิธีไม่ดี ทุกคนบอกว่าดีแต่เข้าใจต่างกันไปหมด

เช่น ตอนเช้าวันที่ 26 ตอนนั้นผมอยู่ปัตตานี ก็ดูรายการโทรทัศน์ของพื้นที่ แม่ทัพก็ออกมาอธิบาย ว่า ก็ใช้วิธีนุ่มนวล หรือสันติวิธี จนกว่าใช้ไม่ได้ แต่นี่คือการเข้าใจสันติวิธีผิด สันติวิธีไม่ใช่วิธีที่ใช้เฉพาะในกรณีที่มีความนุ่มนวล สันติวิธีใช้เวลาที่มีความรุนแรงเพื่อยุติความรุนแรง ไม่ใช่พอรุนแรงเลยไม่ใช้

การเข้าใจสันติวิธีมันผิด ตัวเนื้อร้องในเพลงมาร์ช ถ้าไม่ใช้คำแบบนี้จะมีประโยชน์กว่า มีบ้าง แต่ต้องมีคำอื่น คำที่นามธรรมแบบนั้นต้องระวังหน่อย จากประสบการณ์ของผม

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net