Skip to main content
sharethis

เหลียวหลังกฎหมายป่าชุมชน

1. มติครม. วันที่ 17 ก.พ.2535 ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชม ที่กรมป่าไม้กระทรวงเกษตรจัดทำขึ้น
2. กันยายน 2536 องค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน
3. 19 ม.ค. 2539 คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค (กนภ.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเร่งรัดการออก พ.ร.บ.ป่าชุมชน
4. มติครม. วันที่ 27 ก.พ.2539 ให้กระทรวงเกษตรฯ ชะลอการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และให้กนภ. และองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกันจัดทำ
5. กนภ. ได้จัดประชุมยกร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมจัดทำ
6. มติครม. วันที่ 30 เม.ย. 2539 ให้ความเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่คณะกรรม การนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค (กนภ.) เสนอ
7. มติครม. วันที่ 4 ก.พ. 2540 เห็นชอบกรอบการตกลงการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ให้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ กนภ. เป็นผู้ดำเนินการยกร่างและครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2539 มาดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ตามระเบียบการทำประชาพิจารณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีโดยคณะกรรมการประชาพิจารณ์กรณีร่างกฎหมายป่าชุมชน (แต่งตั้งโดยคำสั่งนายกฯ ) แล้วนำเสนอต่อสภาฯ เพื่อตราเป็นกฎหมายโดยเร็ว
8. มีการจัดทำประชาพิจารณ์รวม 3 ครั้งเมื่อวันที่ 15,22,29 พฤษภาคม 2540 และได้นำเสนอความเห็นของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ต่อนายกฯ เพื่อทราบและมอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ กนภ. และสำนักคระกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ร่วมกันพิจารณาปรับปรุ่งร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการประชาพิจารณ์โดยด่วน
9. มติครม. วันที่ 16 กันยายน 2540 ให้ความเห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ…… ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ (นายโภคิณ พลกุล) ซึ่งผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ผู้แทน กนภ. และผู้แทน สคก. ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว และส่งให้ สคก. ตรวจพิจารณาแก้ไข

***** เปลี่ยนแปลงรัฐบาลในเดือน พฤศจิกายน 2540 *****

10. คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 74/2541 ลงวันที่ 19 มี.ค. 2541 มีนางลดาวัลล์ วงศ์ศรีวงศ์ ได้พิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2539 จำนวน 14 มาตรา เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. และผลการประชาพิจารณ์เสร็จแล้ว และได้ส่งเรื่องมาให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
11. มติครม.วันที่ 5 ต.ค. 2542 อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. ….. ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
12. ในขณะเดียวกันได้มีการดำเนินงานยกร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. …. โดยคณะทำงานรณรงค์เข้า ชื่อเสนอกฎหมายสมัชชาคนจน (ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอก ชน(กป.อพช.), สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) และองค์พัฒนาเอกชนอีก 13 องค์กร) เพื่อการรวบรวมรายชื่อจำนวน 50,000 รายชื่อ เสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน เสนอต่อรัฐสภาตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
เหตุผลที่มีการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนนี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่กระทรวงเกษตรฯ นำเสนอผ่านครม. เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2542 นั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระไปจากฉบับที่ผ่านการพิจารณาปรับปรุงของคณะกรรมการที่มีนางลัดดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นประธาน และเป็นการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามข้อสรุปจากการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ (นายเนวิน ชิดชอบ) กับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.) และมีมติครม.รองรับข้อตกลงดังกล่าวแล้ว
ร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน ได้ยื่นเสนอต่อประธานรัฐสภาในวันที่ 1 มีนาคม 2543

***** เปลี่ยนแปลงรัฐบาล เลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 *****

13. มติครม. วันที่ 27 มีนาคม 2544 ยืนยันร่างกฎหมายป่าชุมชนที่ค้างอยู่ในรัฐสภา เพื่อให้มีการพิจารณาต่อไป
14. สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาร่างกฎหมายป่าชุมชนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ด้วยคะแนนเสียง 341 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง และได้นำเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณา วุฒิสภา ได้พิจารณารับร่างกฎหมายป่าชุมชนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายป่าชุมชน จำนวน 27 คน โดยมีตัวแทนจากผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย 3 คน เข้าร่วมด้วยคือ นายอนันต์ ดวงแก้วเรือน ,น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ และนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
15. วุฒิสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายป่าชุมชนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 โดยมีมติให้แก้ไขหลักการและประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย (มาตรา 18) โดยตัดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นซึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ไม่ให้ชุมชนเหล่านี้มีสิทธิในการดูแลรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์และใช้สอบประโยชน์เพื่อยังชีพในป่าชุมชนของตนเองได้ รวมถึงในมาตรา 31 เรื่องการใช้ประโยชน์จากป่า
16. วันที่ 3 พ.ย. 2547 สภาผู้แทนราษฎรนำร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับที่วุฒิสภาแก้ไขมาพิจารณา ลงมติไม่รับการแก้ไขฯ ของวุฒิสภาด้วยเสียง 200 ต่อ 3 งดออกเสียง 1 และให้ตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา ฝ่ายละ 12 คน พิจารณาในมาตราที่มีการแก้ไขคือ มาตรา 18 และมาตรา 31

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net