Skip to main content
sharethis

เกิดคำถามตามมาจากมุมอนุรักษ์ทันที เมื่อมีกรณีนักลงทุนจำลองวัดสำคัญของภาคเหนือและพุทธสถานสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอยู่รวมกันที่เชียงใหม่ และเตรียมจะใช้งานให้เป็นโรงแรม

หน่วยงานรัฐคือเป้าแรกที่สังคมถามหาคำตอบ

แต่เมื่อพลิกข้อกฎหมายดูแล้ว ไม่มีข้อใดที่จะก้าวล่วงไปทำให้ "รวมฮิตสถาปัตยกรรม"แห่งนี้หรือแห่งไหนๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาระคายได้เลยแม้แต่น้อย

การขออนุญาตก่อสร้างโรงแรม ดูเพียงแค่ความมั่นคงแข็งแรง
การขอเปิดโรงแรมดูแค่สร้างตามแบบและมีทางหนีไฟ - มีบ่อบำบัดน้ำเสีย
กฎหมายกรมศิลป์มีแต่ห้ามจำลองโบราณวัตถุ ไม่มีเรื่องโบราณสถานเพราะไม่เคยคิดว่าจะมีใครอาจหาญทำ

นี่คือกรณีศึกษาในเมืองวัฒนธรรมที่ ไล่กวดมุมของการลงทุนไม่เท่าทัน
////////
จะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความตั้งใจก็แล้วแต่ สิ่งปลูกสร้างที่ประกอบขึ้นเป็นโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ดาราเทวี ที่ตั้งอยู่ย่านบวกครกหลวง ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หลังร้านอาหารหรูระยับ เลอ กรองด์ ล้านนา และเตรียมจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ก็มีความละม้ายคล้ายวัดสำคัญและสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาหลายแห่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มารวมกันอยู่ แต่การใช้งานแตกต่างกันลิบ

หลายฝ่ายที่ได้เข้าชมระบุตรงกันว่า เป็นการจำลองสิ่งสุดยอดของสถาปัตยกรรมสำคัญมาไว้ที่นี่อย่างสวยงามยิ่ง เช่น ด้านนอกเป็นกำแพงที่มีสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาเช่น นาค สิงห์ บันไดนาค ถัดจากบันไดนาค เป็นประตูโขงที่จำลองจากประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง ขวามือประตูโขงเป็นวิหารวัดเชียงทองที่เมืองหลวงพระบางประเทศลาวที่กำหนดจะให้เป็นห้องประชุมสัมมนา ด้ายซ้ายเป็นวัดไหล่หิน จ.ลำปางซึ่งมีสัดส่วนเหมือนทุกอย่างแม้กระทั่งพระประธานที่เป็นศิลปะพม่า ด้านหลังสิ่งปลูกสร้างจำลองวัดไหล่หินเป็นสปา ซึ่งอาคารรูปทรงเหมือนวัดพระเจ้าระแข่งเมืองพม่า มีการนำช่อฟ้าที่ใช้ประดับพระราชวังและวัดมาตกแต่งที่ห้องระเบียงฟังเปียโน เป็นต้น

การขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมแห่งนี้หรือแห่งไหนๆ ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของหน่วยงานท้องถิ่น และคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยหนังสือกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546 แจ้งทุกจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2478 ในเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างว่า จะต้องยื่นคำร้องต่อนายอำเภอ จากนั้นจะส่งแบบแปลนแผนผังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างตรวจสอบ ข้อพิจารณาเพื่อการตรวจสอบก็ยึดตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งประเด็นคือความมั่นคงแข็งแรง ระยะถอยร่น เป็นหลัก รวมทั้งหากใกล้วัด ใกล้โรงเรียน ใกล้แม่น้ำในระยะ 100 เมตรจะต้องพิจารณาประกอบจากกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติม จากนั้นจะไปตรวจสอบสถานที่ตั้งและคุณสมบัติผู้สร้าง องค์กรท้องถิ่นมีหน้าที่เสนอความเห็นประกอบเรื่องมายังจังหวัดให้คณะกรรมการจังหวัดพิจารณากลั่นกรองตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ก่อนเสนอให้นายทะเบียนคือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอนุมัติหลักการการออกใบอนุญาตและแทงเรื่องกลับมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้

ขั้นตอนยืดยาวหลายโต๊ะ แต่ไม่มีแง่มุมใดพิจารณาถึงความเหมาะสมของสิ่งปลูกสร้างและการควรไม่ควรแก่ประเภทกิจการเลย

"เราตรวจสอบการยื่นขอใบอนุญาตไปตามเงื่อนไขพ.ร.บ.โรงแรมกำหนด เพราะการจะดำเนินการใดของราชการจะต้องมีกฎหมายรองรับ ซึ่งผมยอมรับว่าข้อกฎหมายไม่ได้ระบุถึงความเหมาะสมในแง่วัฒนธรรม และไม่มีกรรมการจากส่วนนี้มาร่วมพิจารณา ซึ่งเป็นแง่มุมใหม่ที่ควรจะต้องหารือ" ภาษเดช หงสลดารมภ์ จ่าจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

นายคมสันต์ วงศ์สวัสดิ์ หัวหน้าช่างโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การพิจารณาขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมเป็นไปตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ยื่นแบบขอก่อสร้างที่พักประมาณ 50-60 หลังระบุจะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวหรือโฮมสเตย์ สไตล์ล้านนา ทรงไทยล้านนา อินโดนีเซีย ฯลฯ ส่วนที่มีวิหารจำลองนั้นผู้ประกอบการระบุว่าให้ฝรั่งได้เดินชมและไม่มีกิจกรรมด้านใน

"การออกแบบเป็นเรื่องของสถาปนิค สวยงามหรือไม่อยู่ที่การมอง แต่เมื่อจะขออนุญาตเราก็พิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด"

โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล ดาราเทวี จึงได้รับใบอนุญาตก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2546 แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตการประกอบกิจการโรงแรม เพราะจะต้องยื่นขอหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะมีคณะทำงานระดับจังหวัดเข้าไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นตรวจสอบก็จะมอบว่ามีการปลูกสร้างตามแบบแปลนที่กำหนดหรือไม่ ความสูง ระยะถอยร่นถูกต้องหรือไม่ มีการติดตั้งบันไดหนีไฟและระบบบำบัดน้ำเสียอย่างไร เพียงเท่านั้น คณะกรรมการก็จะประกอบด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อัยการ ตำรวจ ศึกษาฯ สาธารณสุข โยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานปกครองอำเภอ และหน่วยงานท้องถิ่นเท่านั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือประเด็นทางวัฒนธรรมที่จะชี้แนะหรือกำหนดให้เกิดความเหมาะควรอีกเช่นเคย ซึ่งหากกรณีนี้ผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตแล้วพิจารณาตามเกณฑ์เดิมนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธใดใดได้

หน่วยงานด้านวัฒนธรรมและสำนักงานพระพุทธศาสนาซึ่งเพิ่มเกิดขึ้นได้และเพิ่งจะลงตัวไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา และไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นคณะกรรมการที่พิจารณาการก่อสร้างหรือออกใบอนุญาตโรงแรม จึงตอบคำถามที่ว่าทำไมไม่รู้ไม่เห็นหรือให้คำแนะนำการปลูกสร้างอาคารจำลองวัดมาใช้ในกิจการโรงแรมนี้

นายจำลอง กิตติศรี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเข้าตรวจสอบพื้นที่หลังเกิดเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ และบอกกับ"พลเมืองเหนือ"ว่าจะทำรายงานถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้ทราบ แต่เท่าที่พบคือสิ่งปลูกสร้างลักษณะคล้ายวัด ระบุว่าจะใช้เป็นที่ต้อนรับแขก มีการประชุมสัมมนา และเนื่องจากยังก่อสร้างไม่เสร็จจึงไม่อาจสรุปได้ว่า ส่วนใดจะเป็นที่พักส่วนใดจะใช้ทำกิจกรรมอะไร และเนื่องจากการขออนุญาตก่อสร้างไม่ใช่วัดจึงไม่ได้ผ่านทางสำนักงานพระพุทธศาสนา ซึ่งตนเห็นว่าทางออกน่าจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ เข้าไปดูแล

ในแง่ของกฎหมายโบราณสถาน ก็ไม่ระบุเด่นชัดว่าจะก้าวเข้าไปทำอะไรกับเหตุการณ์นี้ได้ เพราะสาระในพระราชบัญญัติโบราณวัตถุและพิพิธภัณฑ์พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ไม่ได้ระบุข้อห้ามของการจำลองโบราณสถานไว้แม้แต่น้อย มีเพียงการห้ามจำลองโบราณวัตถุเท่านั้น และที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่เคยมีการจำลองวัดทั้งวัดเพื่อใช้ในกิจการโรงแรมมาก่อน

ข้อสรุปของเหตุการณ์นี้ หากนำกฎหมายมาเป็นหลักยึด ชี้ชัดว่าเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เท่าทันความเป็นไปของสถานการณ์ และหากยังไม่มีการสร้างบรรทัดฐาน เปลี่ยนแปลงแก้ไข ปัญหาที่ตามมาจะยังทวีความรุนแรงมากกว่านี้ เพราะใช่เพียงที่บวกครกหลวงที่เดียวที่เกิดเรื่องนี้ ยังมีอีก 2 - 3 แห่งกลางเมืองเชียงใหม่ ที่ระเบียงทางเข้าละม้ายวัด ล็อบบี้ก็ไม่ต่างจากวิหาร มีการนำพระพุทธรูปประดับที่หน้าลิฟต์

หนังสือร้องเรียนขององค์กรพุทธคือมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่, สำนักส่งเสริมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏ, มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง, กลุ่มงานวิจัยล้านนาคดีศึกษา และ กลุ่มงานวิจัยเรื่องเมือง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ตรวจสอบโรงแรมหลายแห่งในเชียงใหม่และการนำองค์ประกอบและสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการออกแบบอาคารและเป็นวัสดุตกแต่ง โดยที่อาจจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง และความเหมาะสมในการใช้งานเช่น มีการสร้างอาคารรูปทรงวิหารมาเป็นห้องประชุม มีการใช้บันไดนาคซึ่งสร้างสำหรับปกปักรักษาวัดในล้านนา มาประดับบันไดทางขึ้น และยังมีการวาดรูปต้นโพธิ์อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าประดับผนังอาคาร
มีการใช้ตุงกระด้างซึ่งคนล้านนาทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาหน้าพระเจดีย์มาปักอยู่หน้าซุ้มอาหาร หรือประดับในห้องโถงของโรงแรม มีการสร้างประตูโขงซึ่งเป็นประตูสำคัญสำหรับเข้าไปเขตพุทธาวาสของวัดมาเป็นที่ให้ผู้แสดงขึ้นไปยืนร่ายรำ มีการนำเอาเตียงพระเจ้าที่ใช้ในพิธีบวช บุษบกสำหรับประดิษฐานหรืออัญเชิญพระพุทธรูป สัตตภัณฑ์ซึ่งมีไว้สำหรับจุดเทียนถวายหน้าพระประธานมาประดับสวน และทางเดิน มีการนำพระพุทธรูป พระพิมพ์มาประดับในห้องโถงโรงแรม ตลอดจนมีการภาพลวดลายต่างๆที่ปรากฏในวัดมาติดตั้งไว้ในห้องน้ำ มีการนำเอาไวยากรณ์ของวิหารล้านนา อันได้แก่เสากลมสีแดงมีฐาน มาสร้างห้องโถงรับแขก มีการนำช่อฟ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ส่วนสูงสุดของพระวิหารมาประดับห้องโถงหรือเป็นค้ำยัน มีการนำเอาหีบธรรมซึ่งเก็บตัวอักษรธรรมที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าและบันทึกของพระสงฆ์และผู้รู้มาเป็นที่นั่ง หรือที่วางของในห้องประชุมและห้องโถง ฯลฯ

ต้องไม่ลืมว่า ปีนี้คือปีทองของกิจการโรงแรมเชียงใหม่ มีระดับ 5 ดาวจะเกิดขึ้นอีกมากมาย และโรงแรมแบบบูธิคโฮเต็ลแบบนี้กำลังอินเทรนด์สุดๆ หากผู้ดูแลการให้ใบอนุญาตก่อสร้างหรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมมีเพียงองค์ประกอบตามที่กล่าวไป ขาดผู้ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ลงทุน เรื่องราวย่อมไม่ยุติอยู่เพียงแต่ 2 - 3 โรงแรมนี้เท่านั้น .

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net