"แก่งคอย" กับความบอบช้ำไม่รู้สิ้น (ตอนที่ 2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพ 1 : สมคิด ดวงแก้ว (ซ้ายมือ) และ พีระศักดิ์ สุขสำราญ (ขวามือ)

การป่าวร้องของชาวแก่งคอยบางส่วนต่อการมาอย่างเงียบเชียบของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 อ.แก่งคอย จ.สระบุรี อภิมหาโครงการที่มีงบลงทุนถึง 32,000 ล้านบาท สะท้อนความตื่นตัวของชุมชน ขณะเดียวกับสะท้อนปัญหาของสิทธิในการมีส่วนร่วมของชุมชน

เนื่องจากพวกเขาไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าจะมีโรงไฟฟ้ามาอยู่ข้างบ้าน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อีกทั้งคำตอบของโรงไฟฟ้าต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งวิกฤตอยู่แล้วก็ยังคงคลุมเครือในหลายประเด็น

น.พ.อภิณพ จันทร์วิทัน นายกเทศมนตรีแก่งคอย เป็นส่วนราชการหนึ่งในจำนวนไม่มากนักที่ยังไม่ยอมรับโรงไฟฟ้า เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลในหลายพื้นที่เห็นชอบกับโครงการนี้ไปแล้ว

"บริษัทกัลฟ์ พยายามสร้างความร่วมมือในชุมชน โดยพาผู้นำชุมชนไปเลี้ยงบ้างอะไรบ้าง และกดดันเทศบาลแก่งคอย โดยบอกกับสมาชิกสภาเทศบาลว่าจะบริจาคเงิน 100 กว่าล้าน สร้างบ่อบำบัดน้ำเสียให้เทศบาล ถ้ายอมรับโครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย2 ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน" น.พ.อภิณพให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ครั้งมีการเดินขบวนคัดค้านโรงไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่สมคิด ดวงแก้ว จากชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอยเล่าถึงเรื่องราวดังกล่าวว่า ในช่วงหนึ่งของสภาเทศบาล เหมือนจะกดดันให้หมออภิณพผ่านมติเห็นชอบโรงไฟฟ้า ซึ่งหมอไม่ยอมโดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการศึกษาอีไอเอ แต่สภาฯ ก็โยนว่าบริษัทฯ จะบริจาคงบ 100 กว่าล้านเพื่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียให้เทศบาล แทนที่จะต่อท่อทิ้งน้ำไปที่ตาลเดี่ยวตามแผนเดิม ทำให้สมาชิกสภาเทศบาลหลายคนเห็นดีเห็นงาม

"เขาจะทิ้งที่เทศบาลให้เทศบาลเป็นคนบำบัด ซึ่งผมว่าไม่ใช่แค่ 100 กว่าล้าน แต่ต้องเป็นพันล้าน เพราะน้ำจากโรงไฟฟ้าวันละเป็นหมื่นคิวบิดเมตร ค่าใช้จ่ายต่อปีเท่าไร 25 ปีของโครงการนี้จะเป็นเท่าไร เราไม่รู้ว่าเขาคิดกันหรือไม่ แต่พูดตรงๆ สมาชิกหลายท่านเป็นผู้รับเหมา" สมคิดกล่าว

"ประกอบกับน้ำเสียของของชุมชนอีกวันละประมาณ 5-6 พันคิว ตีแล้วตก 20,000 กว่าคิวต่อวัน ค่ากระบวนการบำบัดมหาศาล เพราะน้ำเข้มข้นที่เกิดจากการหมุนเวียนใช้หลายครั้งในกระบวน การ (หล่อเย็น) ของโรงไฟฟ้า ไม่มีทางบำบัดธรรมดาได้ เพราะเป็นน้ำอนินทรีย์ ต้องใช้สารเคมีบำบัดทำให้ต้นทุนสูง" สมคิดกล่าว

ความหวังอันลางเลือนในการเมืองภาคตัวแทน

เขาเล่าด้วยว่านักการเมืองท้องถิ่นในสภาเทศบาลแบ่งเป็นขั้วอำนาจเก่าที่ครองอำนาจมานานร่วม 20 ปี กับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีฐานเสียงไม่แน่นหนานัก และเริ่มมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องบ่อบำบัดน้ำเสีย ตามมาด้วยความไม่ลงรอยในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และนักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็รับฟังข้อมูล "การพัฒนา" แต่เพียงด้านเดียว

"การเมืองภาคตัวแทน ไม่สามารถสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะมักถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ เหมือนกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ"

"ทำให้ไม่มีวิสัยทัศน์ และมองง่ายๆ เพียงแค่เรื่องของคนมีงานทำ มีรายได้ เศรษฐกิจดี ทั้งที่กลุ่มเราไปดูหลายๆ ที่แล้วพบว่าโรงไฟฟ้าหลายแห่งแทบไม่มีคนท้องถิ่น กรณีวังน้อย คนในท้องถิ่นทำงานประเภทคนสวน ทำความสะอาดอยู่ไม่กี่คน" สมาชิกชมรมอนุรักษ์สะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

การจ้างงานคนในท้องถิ่น

เกี่ยวกับเรื่องการจ้างงานนั้น อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ตาลเดี่ยว ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแก่งคอย1 ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแก่งคอย1 มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 35 คน มีคนในพื้นที่ต.ตาลเดี่ยวทำงานในโรงไฟฟ้า 1 คนในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

"เขาบอกว่าจะสร้างงานให้คนในพื้นที่ ตอนก่อสร้างจะสร้างงานให้คนได้ถึง 2,000 คน แต่เอาเข้าจริงคนที่ทำงานในโรงไฟฟ้าเป็นคนนอกพื้นที่ทั้งนั้น" อดีตผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่คนหนึ่งเล่าให้ฟัง

แนวร่วมที่ไม่คาดฝัน

พีระศักดิ์ สุขสำราญ แกนนำชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่งคอย เล่าย้อนถึงความประทับใจในวันแรกที่เริ่มจัดกิจกรรมเดินขบวนคัดค้านจนเป็นข่าวปรากฏตามสื่อต่างๆ ว่า เป็นความพยายามที่ประสบความสำเร็จเกินคาด

"ตอนแรกที่เราคิดจะจัดกิจกรรมเดินขบวนคัดค้าน คิดว่ามีคนร่วมแค่ 30-40 คนก็หรูแล้ว แต่พอถึงวันจริงกลับมีมาร่วมจำนวนมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้หนึ่งวันจะมีคนเดินข่มขู่ตาบ้านต่างๆ ไม่ให้มาร่วมขบวน โดยบอกว่าจะไม่รับรองความปลอดภัย ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในตลาดซึ่งค่อนข้างมีฐานะ และมีความรู้" พีระศักดิ์เล่าให้ฟัง

แล้วเขาก็เล่าถึงตัวอย่างเล็กๆ บางส่วนด้วยว่า หลังจากเดินขบวนครั้งแรกผ่านพ้น มีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งลงข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยระบุว่าผู้ร่วมคัดค้านมีจำนวนราว 40-50 คน

"วันรุ่งขึ้นเจ๊คนหนึ่งที่มีแผงขายหนังสือพิมพ์ เป็นเอเย่นต์ใหญ่ในตลาด เขาเห็นเหตุการณ์ตลอดและไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้า ก็เลยโทรไปต่อว่าบอกอใหญ่บอกว่าถ้ารายงานบิดเบือนอย่างนี้ จะไม่รับไทยรัฐมาขายอีกแล้ว จนบอกอต้องขอโทษขอโพยและโทรไปต่อว่านักข่าวท้องถิ่น" เป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่พีระศักดิ์เล่าให้ฟัง

--------------

เรื่องราวต่างๆ ถูกสะท้อนออกมาจากกลุ่มคนเล็กๆ ในพื้นที่ เพียงหวังว่าสังคมจะรับรู้ถึงปัญหาและคำถามต่างๆ ที่เกิดอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

"พวกเราเริ่มต้นจากที่ไม่รู้อะไรเลย ค่อยๆ ศึกษาค่อยๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนอื่นๆ ช่วง 2-3 เดือนมานี้มีประชุมสัมมนาที่ไหนเราไปหมด ทำให้เพิ่งเข้าใจหัวอกของคนบ่อนอกบ้านกรูด" สมคิดกล่าวและว่า "แต่คนบ่อนอกเขาบอกว่าเรายังไม่ได้เริ่มนับหนึ่งเลย"

"แต่สำหรับผม ผมเชื่อว่าการเดินคัดค้านทั้ง 2 ครั้ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งแล้วสำหรับชาวแก่งคอย" ประโยคทิ้งท้ายที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังของแกนนำกลุ่มอนุรักษ์แก่งคอย

ธารา ธีรารมณ์
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท