วิถีชีวิตในเรือนจำ : ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อสภาพการณ์ของประเทศไทยมีสถิติการเกิดอาชญากรรมสูง ทำให้ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์มีจำนวนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เรือนจำที่รองรับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีนั้นมีจำกัดทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รับภาระหนักด้านการควบคุม ทั้งนี้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณ และระยะเวลาที่ต้องถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดียัง ทำให้ผู้ต้องขังสูญเสีย อิสรภาพ ตกงาน ขาดรายได้ เกิดปัญหาครอบครัวและสูญเสียโอกาสต่างๆมากมาย

ในงานสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง " การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี" เมื่อวันที่ 9 พ.ย ที่ผ่านมาโดย กรมราชทัณฑ์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และได้ผลสรุปร่วมกัน อันจะนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีได้อย่างเหมาะสมต่อไป

โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆมาร่วมในการอภิปราย อาทิ รศ.ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร. จรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา นางสาว ปรียาพร ศรีมงคล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดร. สุทิน นพเกตุ กรรมการสิทธิมนุษยชน นาย ฐานิส ศรียะพันธ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี โดย มี ดร. อายุตย์ สินธพพันธุ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายในครั้งนี้

จากผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "ระยะเวลาการถูกคุมขังของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี" โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญวิทยา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พบว่า มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ ระยะเวลาเฉลี่ยในการคุมขัง ใช้เวลา 1 ปี 2 เดือน ผลกระทบทางด้านต่างๆ โดยมากมักจะเกิดกับผู้หญิง กลุ่มที่มีการศึกษาและสถานภาพทางสังคมสูง กลุ่มที่ต่อสู้หาทนายเอง และ กลุ่มที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว เป็นที่น่าสังเกตว่าประชากรกลุ่มที่ได้ทำการศึกษาจำนวนร้อยละ 42.8 ปฏิเสธการกระทำผิด ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถรับสภาพการตกเป็นผู้ต้องขังที่ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ

นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ประธานเปิดงานและผู้มอบนโยบายในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีว่า

"การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีควรเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการสร้างแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติ ต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีและให้สิทธิที่พึงได้รับในระหว่างถูกควบคุมเพื่อให้การปฏิบัติแตกต่างกับนักโทษเด็ดขาด รวมทั้งสถานที่ในการควบคุมที่แยกออกจากนักโทษเด็ดขาดอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางทัณฑะ ปฏิบัติ และเพื่อความปลอดภัยในการป้องกันและการควบคุม เนื่องจากผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีนั้น คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด เราควรมีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับพวกเขาเหล่านั้น"

ผู้ต้องขังระหว่างรอการพิจารณาคดีนั้นส่วนมากยังเป็นผู้ที่สูญเสียโอกาสทางสังคมหลายอย่าง แม้ว่าปัจจุบันมีบางหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและให้ความช่วยเหลือในกรณีนี้ ซึ่งก็คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หน่วยงานน้องใหม่ในกระบวนการยุติธรรม

นางสาวปรียาพร ศรีมงคล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า " เราจะให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ในผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี เช่นให้คำปรึกษา ข้อชี้แนะ ให้หายข้อข้องใจ ซึ่งเรามีคลินิกยุติธรรมอยู่ 22 จังหวัดนำร่อง ซึ่งก็ช่วยได้มากแต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่อาจเยียวยาในสิ่งที่พวกเขาสูญเสียระหว่างการเป็นผู้ต้องขังได้ทั้งหมด"

ทั้งนี้หากสามารถที่จะตัดทอนมิให้เข้าไปสู่กระบวนการคุมขังก็จะเป็นการดี ซึ่งผู้ที่ถูกสงสัยว่ากระทำความผิดที่ไม่ต้องถูกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดี นั้นสามารถทำได้โดยการประกันตัวด้วย เงินหรือหลักทรัพย์แต่ก็มีน้อยรายที่จะทำได้เพราะเป็นคนจนผู้มีรายได้น้อย แต่บางกรณีในต่างประเทศนั้นสามารถที่จะใช้ตนเองประกันตนได้

รศ.ดร. ประธาน วัฒนวาณิชย์ แสดงทัศนะว่า " ในเมืองไทยยังไม่มีการใช่ระบบที่ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดสามารถที่จะประกันตนเองได้ ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ความดีงาม ของตนเองซึ่งในต่างประเทศนั้นจะสามารถทำได้โดยการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด ให้หาทางพิสูจน์ตนเองเพื่อรอผลการพิจารณาคดีจากศาลโดยไม่ต้องถูกคุมขัง เป็นการลดภาระของกรมราชทัณฑ์และงบประมาณแผ่นดินทั้งยังเป็นการให้โอกาสทางสังคมอีกทางหนึ่ง "

ชีวิตที่อยู่ระหว่างการถูกคุมขังนั้น เชื่อแน่ว่าคงเป็นชีวิตที่ไม่มีใครปรารถนา แต่บางคนอาจมองว่าการเข้ามาอยู่ในเรือนจำคือความผิดพลาดที่เป็นโอกาสแห่งชีวิต อย่างการเข้ามาอยู่ในเรือนจำที่ถือว่ามีการพัฒนาทางด้านกระบวนการยุติธรรมอย่าง เรือนจำพิเศษธนบุรี ที่มีการฝึกอาชีพไปด้วย ทำให้เมื่ออกไปแล้วสามารถไปประกอบอาชีพได้ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีมีโอกาสที่ดีทางสังคมต่อไป
นายฐานิส ศรียะพันธ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี กล่าวว่า "สิ่งที่เราได้ทำการขณะนี้ คือได้ให้ผู้ต้องขังปฏิบัติสาธารณะประโยชน์ต่างๆ มีการอบรมถึงสิทธิของเขาสิทธิในการมีชีวิตอยู่ร่วมกัน เขาจะได้ทำตัวถูก การเยี่ยมญาติมาได้สะดวกขึ้น มีการฝึกอาชีพ บางคนสามารถไปประกอบอาชีพหลังออกจากเรือนจำได้ แต่เชื่อว่าหากรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมก็จะเกิดผลที่ดียิ่งขึ้นแน่นอน ถ้าเป็นไปได้ผมก็ไม่อยากให้ใครเข้ามาอยู่ที่นี่ "

การเข้ามาอยู่ในเรือนจำไม่เพียงแต่จะกระทบต่อผู้ต้องขัง ครอบครัวเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลต่อ สังคมและประเทศชาติ จากการสัมมนาในครั้งนี้แม้จะยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงการพัฒนาอีกก้าวหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีหลายหน่วยงานร่วมด้วยช่วยกัน นอกจากหน่วยงานที่มีอยู่ในทุกวันนี้แล้ว รัฐคือหน่วยงานสำคัญที่ต้องหันมามองเรื่องราวแห่งความจริงเหล่านี้อย่างจริงจังด้วย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (www.trf.or.th)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท