Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 12 พ.ย. 2547 นักวิชาการชี้ประเด็น อเมริกาจะละเมิดสิทธิมนุษยชนไทยด้วยการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาผ่านข้อตกลงเอฟทีเอ ระบุจะเกิดผลกระทบต่อสิทธิในการรักษา ตัดทางประชาชนเข้าถึงยา

"การเจรจาเอฟทีเอช่วงหลัง ๆ มีข้อกำหนดมากขึ้น ประเด็นขณะนี้จึงเคลื่อนไปที่สิทธิมนุษยชนและจริยธรรม แต่ก็มีการตอบรับค่อนข้างช้าและน้อย อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าประเด็นสาธารณสุขต้องทัดเทียมกับประเด็นอื่น ๆ ในการเจรจาเอฟทีเอ ไม่ใช่เน้นเฉพาะด้านการค้า"

ดร. สุรชาติ จงประเสริฐ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ผู้ร่วมทีมเจรจาเอฟทีเอไทย - อเมริกากล่าวในการอภิปรายเรื่อง "ทรัพย์สินทางปัญญา กับปัญหาสาธารณสุข" ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

การสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยกลุ่มข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch Group) ร่วมกับ ICTSD (The International Center for Trade and Sustainable Development) และ UNCTAD (United Nations Conference on Trade and Development)

ผู้เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย และผู้ติดเชื้อเอชไอวี เห็นว่าประเทศไทยควรยกประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาออกจากเอฟทีเอ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการรักษาของประชาชนไทย และถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งสหรัฐอเมริกาเองเป็นหัวหอกในการชูธงปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น ๆ อยู่ในปัจจุบัน

ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาฯ กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำเอฟทีเอไทย - สหรัฐว่า จะทำให้ยาแพง และประเทศไทยขาดการพัฒนาด้านการวิจัยยา

ทั้งนี้ ข้อตกลงเอฟทีเอที่สหรัฐมักจะทำกับประเทศอื่น ๆ ในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญานั้น เป็นข้อตกลงที่เพิ่มความคุ้มครองให้กับทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาซึ่งส่วนใหญ่เอกชนของสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของ

ผลของการเพิ่มความคุ้มครองนั้นจะทำเกิดการผูกขาดยา รวมไปถึงสารประกอบและวีการผลิตยา ซึ่งจะส่งผลให้ยามีราคาแพง และจะส่งผลกระทบถึงการวิจัยเนื่องจากสารประกอบของยาที่ถูกจดสิทธิบัตรแม้จะทำการศึกษาวิจัยได้แต่ก็ไม่สามารถนำออกจำหน่ายจ่ายแจกได้ เพราะจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์

"เราถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกา เล่นกติกาที่ผู้อื่นเป็นผู้กำหนด เราเหมือนคนที่เป็นหวัด แล้วถูกนำไปตากฝน แล้วบอกให้เราเดินและวิ่งให้ได้ แต่การทำเอฟทีเอ หนักกว่าเรื่องที่ผ่านมาเพราะเหมือนกับเอาเราไปตากฝนแล้วก็เอาไปตากแดดซ้ำด้วย"

ดร.จิราพร เปรียบเทียบและกล่าวถึงประเด็นที่ฝ่ายผู้เจรจาเอฟทีเอมักจะพูดเสมอ ๆ ว่า นับจากการลงนามสนธิสัญญาทรัพย์สินทางปัญญาในปี 2522 จนกระทั่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วก็ยังไม่มีการพัฒนาการวิจัยและผลิตยาในประเทศแต่อย่างใดนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง เนื่องจากว่าในส่วนของยานั้น ประเทศไทยขาดระบบที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาการวิจัย

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า "ระบบทรัพย์สินทางปัญญามีผลกระทบต่อระบบสุขภาพแน่นอน" โดยน.ส. สารีกล่าวว่า เอฟทีเอ ไทย - สหรัฐจะส่งผลกระทบต่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาโดยคนที่มีฐานะดีกว่าจะได้รับยาที่มีคุณภาพดีกว่าซึ่งมีราคาแพง นอกจากนี้จะผลกระทบต่อการพึ่งพาตนเองของประเทศ และผลกระทบต่อหลักประกันสุขภาพของชาติด้วยเนื่องจากประเทศต้องมีต้นทุนเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนสูงขึ้น

ด้านดร. เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากล่าวถึงการยื่นขอเสนอจากฝ่ายไทยเพื่อนำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยาออกจากการเจรจาเอฟทีเอไทย - สหรัฐอย่างเด็ดขาดว่ารัฐไทยไม่เคยใช้นโยบายที่เข้มข้นจริงจังกับต่างประเทศ มีแต่นำมาใช้กับเพื่อนร่วมชาติเอง

"ทำไมเรื่องอย่างนี้กลับไม่เห็นมีคอนเซ็ปท์ประเภท พวกมันไม่ใช่คนไทย ถ้าไม่เอาก็ช่างหัวมัน แบบนี้บ้างเลย" ดร. เจษฎ์กล่าวพร้อมหัวเราะ

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net