ช่องเม็ก : เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าเปลี่ยนสนามการค้าเป็นหมู่บ้านเอื้ออาทร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปลายเดือนตุลาฯ 47 02.30 น .

"กริ๊งๆ"
เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นเมื่อถึงเวลา 02.30 น . ใช่แล้ว ตีสองครึ่ง เวลาที่ปรกติถ้าฉันใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพ ฯ มันเป็นเวลาที่ฉันอาจจะเพิ่งละสายตาจากทีวีหรือคอมพิวเตอร์ แล้วปิดไฟเข้านอน แต่ตอนนี้มันเป็นเวลาที่พ่อและแม่ฉันต้องตื่นเป็นประจำทุกๆ วัน เพื่อที่จะไปขายของ และวันนี้ก็เป็นวันที่ฉันจะต้องตื่นในเวลาตีสองครึ่งเพื่อไปช่วยพ่อและแม่เปิดร้านขายของที่ช่องเม็ก

เราออกจากบ้านที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีในเวลาประมาณเกือบตีสามได้ ขับรถยนต์ที่บรรทุกสินค้า จำพวกเครื่องใช้ในครัวเรือนเกือบทุกอย่างตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันสากกะเบือ ไว้เต็มคันรถ มุ่งหน้าไปช่องเม็ก

ช่องเม็ก เป็นจุดผ่านแดนไทย-ลาว ในเขตอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนจุดเดียวในภาคอีสาน ที่สามารถเดิน ทางไปประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยทางพื้นดิน ในขณะที่จุดอื่นจะต้องข้ามลำน้ำโขง ช่องเม็กอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 217 เป็นระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร

ด้วยความที่เป็นจุดผ่านแดนที่สามารถเดินผ่านไปมาระหว่างกันและกันได้ จึงทำให้ช่องเม็กเป็นเขตการค้าขายข้ามพรมแดนระหว่างไทย-ลาวที่คับคั่ง โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่จะมีนักท่องเที่ยวจากไทย และผู้คนจากลาวข้ามไปมาจับจ่ายซื้อของกันอย่างหนาแน่น

พ่อ แม่ และฉันขับรถมาถึงที่ช่องเม็กในเวลาประมาณตีสี่ครึ่ง เราช่วยกันเปิดร้าน จัดของเป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการซื้อขายจนเสร็จสิ้นเมื่อเวลา ตีห้ากว่าๆ แล้วเมื่อเวลาตีห้าครึ่ง ! ลูกค้ารายแรกของเราก็เดินเข้ามาซื้อของในร้าน

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนช่องเม็กประกอบอาชีพค้าขายเกือบทั้งหมด ซึ่งมีประมาณ 252 ครัวเรือน ส่วนมากก็จะเป็นของกินของใช้ และเสื้อผ้า ซึ่งผู้คนเหล่านี้ได้ย้ายมาลงหลักปักฐานตั้งแต่ในสมัยแรกๆ ของการตั้งชุมชนนี้เป็นชุมชนการค้าชายแดนขึ้น โดยทางหน่วยงานราชการอำเภอพิบูลมังสาหารเป็นผู้รับผิดชอบ จัดสรรโครงการในตอนเริ่มต้น

การค้าบริเวณช่องเม็ก เกิดขึ้นในสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ในช่วงประมาณ 15 ปีก่อน ได้เริ่มก่อตัวและขยับขยายจนกลายเป็นชุมชนช่องเม็กจนถึงทุกวันนี้

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ทุกๆ อย่างอาจจะเปลี่ยนไป พ่อกับแม่เล่าให้ฉันฟังว่า ชุมชนช่องเม็กกำลังถูกไร่ลื้อ เนื่องจากทางการกล่าวหาว่าเป็น "ผู้บุกรุก" และทางการก็จะเปลี่ยนชุมชนค้าขายระหว่างชายแดนแห่งนี้ให้เป็น "โครงการบ้านเอื้ออาทร ช่องเม็ก"

ฉันได้พูดคุยกับพ่อของเพื่อนคนหนึ่งที่พ่อแม่ทำมาค้าขายที่ช่องเม็กตั้งแต่แรกตั้งชุมชนเลยก็ว่าได้ และท่านก็ยังเป็นประธานชุมชนช่องเม็กอีกด้วย คุณพ่อ นิวัตร เกรียงศรี เล่าให้ฉันฟังว่า

"แต่ก่อนที่ตรงนี้เป็นเพียงลานหญ้ากว้างๆ ยังไม่มีการตัดถนนเข้ามาที่เป็นทางหลวงสาย 217 เหมือนเช่นทุกวันนี้ ชาวบ้านที่มาตั้งร้านค้าขายที่นี่เป็นชาวบ้านที่ทางอำเภอพิบูลมังสาหารจัดสรรพื้นที่ให้เพื่อตั้งเป็นชุมชนค้าขาย ตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้นที่จะเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ที่ที่เราอยู่ปัจจุบันนี้เรียกว่าแปลง 13 ซึ่งในทีแรกนั้นที่นี่เป็นพื้นทีป่าสงวน แต่ต่อมาได้มีการยกเลิกและให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ และบ้านทุกหลังที่นี่ก็มีทะเบียนบ้านเป็นของตัวเอง เพียงแต่ไม่มีโฉนดเท่านั้น"

"พวกเราก็ทำมาค้าขายกันมาอย่างนี้ตลอดสิบห้าปีจนกระทั่งมาถึงในยุครัฐบาลทักษิณ โดยในสมัยที่นาย สมบัติ อุทัยสาง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านที่นี่อาศัยอยู่ได้ในลักษณะถาวร โดยได้กันที่ในส่วนแปลง 13 นี้ไว้ประมาณ 40 ไร่ จัดให้เป็นพื้นที่ค้าขายตามแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจตามชายแดน โดยให้ทางราชการเข้ามาช่วยในการพัฒนา จัดสาธารณูปโภคให้ แต่ทางจังหวัดก็ไม่ได้จัดให้เราจนถึงปัจจุบันนี้ ทุกวันนี้เราต้องต่อน้ำต่อไฟจากอีกฟากของถนนมาใช้เอง เพราะทางจังหวัดไม่ยอมทำให้ ทั้งๆที่ทางราชการมีนโยบายพัฒนาให้เป็นแหล่งค้าขายชายแดน"

"จนเมื่อสองปีก่อน ทางการได้มีคำสั่งที่จะย้ายแปลง 13 ออกจากที่เดิม ให้มาค้าขายในฝั่งตรงข้ามของถนนทางหลวงสาย217 ที่ตัดผ่านที่เรียกว่าแปลง 7 ซึ่งทางการเคหะแห่งชาติจะสร้างที่อยู่ให้ชาวบ้าน โดยที่ในครั้งแรกตกลงกันว่าจะไม่คิดค่าแรกเข้าใด ๆ แต่เมื่อสร้างเสร็จก็เกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อทางการเคหะเรียกค่าแรกเข้ากับชาวบ้านในอัตราห้องละ 35,000 บาท ทางชาวบ้านจึงยืนยันที่จะอยู่ค้าขายในที่เดิมคือแปลง 13"

"ต่อมาเมื่อมีการสร้างถนนตัดผ่าน ชาวบ้านที่เคยค้าขายในที่หน้าด่าน ซึ่งเป็นบริเวณริมถนนที่ตัดใหม่ก็ถูกกล่าวหาว่ากลายเป็นผู้บุกรุกที่ไหล่ทางไป เนื่องจากถ้าจะให้ชาวบ้านที่ส่วนหนึ่งย้ายเข้าไปอยู่ทีห้องแถวที่การเคหะสร้างให้นั้น มันก็อยู่ไกลเกินที่จะทำมาค้าขายได้ ชาวบ้านจึงต้องขึ้นมาตั้งร้านริมถนนที่ตัดผ่านมาใหม่ เพื่อที่จะสามารถค้าขายได้ตามเดิม แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการถูกจับและถูกปรับในบางครั้งบางคราวที่ทางการเข้มงวดเนื่องจากว่ามีผู้ใหญ่ลงมาตรวจพื้นที่ แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือก เพราะต้องทำมาหากินสุดท้ายก็ต้องมาตั้งร้านริมทางจนได้"

"แล้วทางการก็มีคำสั่งมาให้ชาวบ้านแปลง 13 ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนช่องเม็กแต่เดิม รื้อถอนออกไป ด้วยทางการมีนโยบายจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตรงส่วนนี้ให้เป็น "โครงการบ้านเอื้ออาทร ช่องเม็ก" ตามนโยบายบ้านเอื้ออาทรของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้เคยมีคำสั่งให้อยู่ถาวร และพัฒนาให้เป็นชุมชนค้าขายชายแดนไปแล้ว แต่แล้วชาวบ้านแปลง 13 ทั้งหมดก็กลายเป็นชาวบ้านผู้บุกรุกที่ดินทางราชการ ให้รื้อถอนออกไป"

"ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านก็คือ ความไม่เข้าใจในนโยบายของทางราชการที่ในสมัยเดียวกัน ก็มีมติให้อยู่อย่างถาวรไปแล้ว แต่ความเป็นมาดั้งเดิมของชุมชนนี้ก็เป็นชุมชนที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดดารค้าขายระหว่างชายแดนไทย-ลาว แต่ฉไนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นหมู่บ้านเอื้ออาทร ทั้งๆ ที่ที่ดินตรงนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองทั้งในอำเภอและจังหวัดลิบลับ ไม่เหมาะสมในการสร้างเป็นหมู่บ้านในการอยู่อาศัยอย่างยิ่ง"

"และปัญหาที่สำคัญก็คือ ทางการจะย้ายพวกเราที่ตั้งร้านค้าอยู่ที่แปลง 13 แต่เดิม ถอยร่นออกไปอยู่ทางด้านหลังที่ไกลกว่าเดิมถึง 500 เมตร ซึ่งทำให้การค้าขายเป็นไปไม่ได้แน่ มิหนำซ้ำทางการเองก็ไม่เคยมาพูดคุยกับชาวบ้านอย่างจริงจัง ถึงโครงการดังกล่าว ว่าเป็นโครงการอะไร ทำไปเพื่ออะไร มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ชาวบ้านจะต้องย้ายไปอย่างไร เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ ค่ารื้อถอนไม่มี สิ่งที่ชาวบ้านรู้ก็เพียงแค่แปลนโครงการที่ออกมา จะมีบ้านเอื้ออาทรตามแบบ ประมาณ 499 หลัง และจะย้ายชุมชนออกอยู่ทางด้านหลังถอยร่นออกไปอีก500กว่าเมตร ซึ่งไกลมาก จนไม่สามารถจะค้าขายได้"

"ความไม่จริงใจของทางการในการพัฒนาพื้นที่ และการชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับการไล่รื้อชุมชนช่องเม็ก และการสร้างหมู่บ้านเอื้ออาทร เป็นปัญหาที่ยังคาราคาซังอยู่จนถึงทุกวันนี้ ชาวบ้านแปลง 13 ทั้งหมดยังคงยืนยังที่จะอาศัยอยู่ที่เดิม แต่ถึงทุกวันนี้ทางการก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีแต่เพียงคำสั่งที่ออกมาและการมาแจ้งคำสั่งกับชาวบ้านในชุนชนแล้วก็จากไป ทั้งๆ ที่ตามรายละเอียดในแปลนโครงการนั้น โครงการนี้ต้องแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2547 ซึ่งตอนนี้ก็เลยระยะเวลามาแล้วหลายเดือน"

ฉันนั่งคุยกับพ่อนิวัตร อยู่ประมาณเกือบชั่วโมงได้ พ่อนิวัตรก็ใจดีพาฉันเดินดูสถานที่ต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามแปลน ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างรั้วกั้นปิดทางเข้าออกสู่ถนนหลวง 217 ทั้งสองฟากฝั่ง ทั้งแปลง 13 และแปลง 7 โชคดีที่ชาวบ้านแปลง 13 ขอร้องให้ทางกรมโยธาเว้นช่องทางให้เข้าออกได้บล็อกละ 2 เมตร แต่ทางแปลง 7 ฝั่งตรงข้ามโชคร้ายที่รั้วเหล็กสร้างปิดหมด ชาวบ้านเดือดร้อนมากจนต้องยกรั้วออกจนกลายเป็นคดีความฟ้องร้องจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้นตอนนี้ก็มีการสร้างด่านศุลกากรขึ้นใหม่ตรงหน้าด่าน ซึ่งมีการุกเข้าไปในพื้นที่ของชาวบ้านแปลง 13 จำนวน 5 ห้อง ซึ่งตอนแรกทางการสัญญาว่าจะทดแทนให้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการทดแทนใดๆ ชาวบ้านจึงฟ้องร้องทางการ จนทำให้ด่านที่กำลังก่อสร้างต้องหยุดชะงักไม่สามารถขยายได้

ฉันถามพ่อนิวัตรว่าตอนนี้เรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว ท่านเองก็ตอบว่าไม่รู้เหมือนกันเพราะทางจังหวัดเองก็ไม่เห็นว่าอะไร แต่ทางชาวบ้านก็ยังยืนยันขออยู่ที่เดิมที่แปลง 13 ไม่ย้ายไปไหน

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ ผู้คนเดินเข้าออกระหว่างไทย-ลาว กันอย่างขวักไขว่ ฉันเดินเรื่อยเปื่อยไปดูนั่นดูนี่ตามที่พ่อนิวัตรบอกไว้ตามแผนที่ คิดไปพลางๆถึงเรื่องราวการไร่ลื้อชุมชนช่องเม็ก ชุมชนที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน รวมทั้งพ่อแม่ของฉัน จนสามารถส่งเสียฉันจนเรียนจบมหาวิทยาลัยได้

ฉันไม่แน่ใจว่านอกจากชาวบ้านแปลง 13 แล้ว ผู้คนที่ที่แวะเวียนมาซื้อของและท่องเที่ยวจะคิดอย่างไรกันบ้างกับการไร่ลื้อครั้งนี้ ซี่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ทุกพื้นที่ทั่วเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นปากคลองตลาด หรือรวมทั้งธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์มหาวิทยาลัยของฉันเอง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกๆที่ล้วนมาจากแนวคิดของผู้ปกครองแบบเดียวกัน ในการพัฒนาที่ไม่คำนึงผู้อยู่แต่ก่อนเลยสักนิด โครงการของรัฐที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองการพัฒนาของชาติ แต่ทำลายระบบของชุมชน ฉันไม่รู้ว่านอกจากชาวบ้านแปลง 13 ที่ยืนหยัดจะอยู่ที่เดิมไม่ย้ายไปไหนแล้ว ผู้คนที่เดินมาจับจ่ายซื้อของเขาจะเห็นพ้องและร่วมกันคงไว้ซึ่งชุมชนแต่เดิมหรือเปล่า หรือเขาจะคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่อง เหมือนกับที่ฉันเคยเจอ เมื่อครั้งอยู่ที่ธรรมศาสตร์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท