Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เครือข่ายชาวบ้าน…พลังงานหมุนเวียน กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
บทบาทที่รัฐต้องหันมาให้ความสนใจ ตอนที่ 2

"ผลกระทบจากถ่านหินนั้นชัดเจนมาก โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น คนในชุมชนของเราที่เวียงแหงนี้ จะต้องไม่ถูกบังคับให้ยอมรับชะตากรรมนี้…" เสียงเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ประกาศก้องในวันรับรางวัล Leaders For a Living Planet Award เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2547 ที่ผ่านมา เป็นรางวัลที่มอบให้กับกลุ่มองค์กรและบุคคลที่ได้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เวียงแหง เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปทางเหนือ 148 กิโลเมตร หากใครมีโอกาสไปเยือนจะรู้ดีว่า ตัวอำเภอเวียงแหงนั้นซ่อนตัวอยู่ภายในอ้อมกอดของขุนเขาที่สลับซับซ้อนและความหลากหลายของชนเผ่าที่ดำรงวิถีชีวิตอยู่อย่างนั้นมานาน

แม้ว่าอิทธิพลของความเจริญต่างๆ จะคืบคลานเข้ามาถึงที่นี่ แต่ก็ไม่สามารถกลืนกินสภาพความเงียบสงบของสังคมเกษตรกรรมมากนัก นับแต่อดีตที่ผ่านมา ชาวเวียงแหงยังคงประกอบอาชีพเพาะปลูกเป็นหลัก ทั้งข้าว กระเทียม และพืชผักเมืองหนาวอื่นๆ

อีกด้านหนึ่ง เมืองเล็กๆ นี้ ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ดังที่ปรากฏหลักฐานสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าร่องรอยเส้นทางเดินทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อไปตีเมืองหลวงของพม่า หรือตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่บอกเล่าถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมายังแถบนี้

แต่เพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความวุ่นวายต่างๆ ในนามของการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมได้เปลี่ยนเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เมื่อมีการเข้ามาสำรวจแหล่งถ่านหินลิกไนต์ ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การเห็นชอบให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2524 รวมไปถึงการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินแวียงแหง ในบริเวณที่ว่าการอำเภอ

ความแปลกเปลี่ยนเหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านเริ่มวิตกกังวลถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นที่นี่ จากการที่ไม่มีส่วนร่วมในการเสนอแนะต่อกระบวนการตัดสินใจ ผลกระทบจากการทำโครงการเหมืองถ่านหิน เป็นความรู้ใหม่ที่ชาวบ้านจำใจเรียนรู้การพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้น

จนในที่สุด, เกิดแกนนำจำนวนหนึ่ง ที่ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบจากการสร้างเหมืองถ่านหิน มีการระดมความคิดเห็นในหมู่บ้านและเริ่มประสานงานกับหมู่บ้านต่างๆ จนเกิดเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง ขึ้นในปี 2545

แต่เดิม มีสมาชิกประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน จนกระทั่งได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 10 หมู่บ้าน จาก 3 ตำบล ปัจจุบัน มีนายบุญยืน กาใจ เป็นประธานเครือข่ายฯ มีน.ส.ชวิศา อุตตะมัง เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง

ภารกิจหลักของเครือข่ายฯ คือ ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นและส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้าน และศึกษาสภาพปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อยุติการนำถ่านหินมาใช้ โดยหันไปสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ยั่งยืน

ทางเครือข่ายฯ ยังได้จัดประชุม สัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการนโยบายสาธารณะในภาคพลังงานและปฏิบัติการสร้างสุขภาวะของภาคประชาชน ผลกระทบจากการสร้างเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงโม่หิน สาธารณสุข สิทธิชุมชน นอกจากนั้น ยังได้สร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย มีการจัดค่ายเยาวชน และจัดตั้งกลุ่มเยาวชนศิลปวัฒนธรรมสายรุ้ง

กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และได้ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเหมืองถ่านหินเวียงแหง กับนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด มหาวิทยาลัย และรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง

นางสาวชวิศา อุตตะมัง ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนพร้อมนาย บุญยืน กาใจ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง พร้อมชาวบ้านได้ลงไปที่กรุงเทพฯ เพื่อรับรางวัล Leaders For a Living Planet Award เมื่อไม่นานมานี้ ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจ ที่องค์กรระดับโลก ได้มองเห็นความสำคัญของการทำงานของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง ซึ่งอาจจะมีผลในแง่ที่ว่า การต่อสู้คัดค้านการเปิดเหมืองถ่านหินลิกไนต์ของคนเวียงแหงนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงภาระกิจเพียงแค่ชุมชนเวียงแหงจะเรียกร้องเพียงกลุ่มเดียว แต่มันจะมีผลกระทบต่อทุกส่วนของสังคม ของประเทศ และทั่วโลก

"ทุกคนจะต้องตระหนักว่า มันจะส่งผลต่อการวิถีชีวิต มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังร้อน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องหันมาคิดทบทวนเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายด้านพลังงาน ว่าสมควรหรือไม่ ที่จะหันมาใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทน" น.ส.ชวิศา กล่าว

"ผลกระทบจากถ่านหินนั้นชัดเจนมาก โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น คนในชุมชนของเราที่เวียงแหงนี้ จะต้องไม่ถูกบังคับให้ยอมรับชะตากรรมนี้ เราทุกคนจะเรียกร้องให้หยุดโครงการถ่านหินในพื้นที่ และจะเรียกร้องสิทธิของเราในการเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนและกระบวนการตัดสินใจโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะมีขึ้นในพื้นที่ของเรา เพื่อให้เรามั่นใจว่าคุณภาพชีวิตที่เราเป็นอยู่จะไม่ถูกคุกคาม และทรัพยากรต่างๆ ยังคงมีถึงลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต…" นั่นเป็นเสียง ของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวียงแหง ที่ประกาศก้องให้หลายๆ คนได้รับรู้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net