Skip to main content
sharethis

ย่างเข้าฤดูหนาว...... "เชื้อไข้หวัดนก" ก็ยังไม่จากไปไหน ปฏิบัติการต่อ "เป็ดไล่ทุ่ง" ตัวการสำคัญในการกระจายเชื้อจึงยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ข่าวคราวของมันกลับเงียบหายไปตามลำดับ " ทีมข่าวเฉพาะกิจของประชาไท" ซึ่งเดินทางไกลมาจากขอนแก่น จึงอดไม่ได้ที่จะตระเวนสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า ขณะที่ "เป็ด" ถูกต้อนเข้าโรงเรือนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ "คนเลี้ยงเป็ด" กำลังถูกต้อนไปสู่อะไร....

ในการแผลงฤทธิ์รอบที่สองของเชื้อ H5N1หรือ ไข้หวัดนกนั้น "เป็ด" ได้กลายเป็นผู้ต้องหาการแพร่กระจายเชื้อรายใหม่ต่อจากไก่ โดยมีคำยืนยันขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ช่วยเพิ่มความหนักแน่นให้กับความวิตกกังวลของผู้คนมากยิ่งขึ้น

จึงไม่แปลกที่ประชากรเป็ด ซึ่งเป็นอาหารจานโอชะของใครหลายคน ไม่ว่าเนื้อหรือไข่ จำนวนกว่าล้านตัวจะถูกทำลายภายในเวลาไม่ถึง 5 เดือน

ด้วยวิถีของการเลี้ยงเป็ดที่เกษตรกร ต้องพาเป็ดไปหากินเศษข้าว หรือหอย ปู ปลาตามทุ่งนา เมื่ออาหารหมดก็จะต้อนไปยังนาแปลงอื่นๆ และย้ายเป็ดไปเรื่อยๆ ข้ามจังหวัด ข้ามภูมิภาค จนคนขนานนามเป็ดจำพวกนี้ว่า "เป็ดไล่ทุ่ง"

แม้ "เป็ด" ที่เหลือรอดปลอดภัย ก็ยังต้องเผชิญกับมาตรการห้ามเคลื่อนย้าย เพราะรัฐเกรงว่าจะกระจายเชื้อหนักขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น เป้าหมายสุดท้ายที่จะจัดการกับจำเลยตัวแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดนกก็คือ การผลักดันให้ "เป็ดไล่ทุ่ง" เดินตามรอยไก่เข้าสู่ระบบโรงเรือนมาตรฐาน

"ผมถามปศุสัตว์จังหวัดว่าโรงเรือนมาตรฐานของเขาเป็นแบบไหน เขาก็ตอบไม่ได้ ผมก็เลยบอกเขาว่าจะให้เลี้ยงในโรงได้ยังไง เพราะเป็ดมันต้องอยู่กับน้ำ ต้องเล่นน้ำ ขาดน้ำไม่ได้ เรื่องแค่นี้เขายังไม่รู้เลย" เสน่ห์ เอกประชา เกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

เสน่ห์เล่าอีกว่า การกำหนดให้เกษตรกรหันไปเลี้ยงเป็ดในระบบโรงเรือนนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะเกษตรกรรายย่อยไม่มีทุน ทั้งการสร้างโรงเรือน และค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารซึ่งสูงมากชนิดที่คนไม่เคยเลี้ยงเป็ดยากจะจินตนาการ เพราะเลี้ยงเป็ด 1,000 ตัว ต้องเตรียมจ่ายค่าอาหารประมาณ 1,800 บาทต่อวัน และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะให้กู้ยืมได้ เกษตรกรก็ยังคงมีปัญหาไม่มีหลักทรัพย์และข้าราชการค้ำประกันเงินกู้

แต่ใช่ว่าหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง กรมปศุสัตว์จะไม่ตระหนักต่อปัญหาเหล่านี้ ดังที่รักษาการรองอธิบดี "จีระวัชร์ เข็มสวัสดิ์" ให้คำตอบว่า

การผลักดันให้เกษตรหันมาเลี้ยงเป็ดในระบบโรงเรือน ทราบดีว่าต้องมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงเรือน ค่าอาหาร แต่เมื่อคำนวณแล้วคิดว่าเกษตรกรจะอยู่ได้ เพียงแต่กำไรจะน้อยลง พร้อมกับยอมรับให้ผู้บริโภคต้องหนาวๆ ร้อน ๆ ว่าเรื่องนี้ต้องกระทบต่อราคาไข่เป็ดในตลาดแน่นอนไม่มากก็น้อย

"ส่วนเรื่องของการค้ำประกัน กรมปศุสัตว์กำลังเจรจากับทางธนาคารอยู่ให้คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2% และพยายามจะหามาตรการช่วยเหลือที่เพิ่มมากขึ้น โดยรวบรวมแนวทางต่างๆ นำเสนอคณะกรรมการไข้หวัดนกแห่งชาติ เพราะเราไม่มีงบประมาณในการจัดการเอง" รักษาการรองอธิบดีกล่าว

นอกจากนี้เขายังอธิบายถึงลักษณะของโรงเรือน ซึ่งเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ของเกษตรกรด้วยว่า เฉพาะหน้านี้ขอแค่ให้พอกันนกกันหนูได้เป็นพอ คล้ายๆ โรงเรือนชั่วคราว ไม่ต้องถึงขั้นควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นเหมือนกับระบบของไก่

ส่วนเรื่องแบบแปลนโรงเรือนมาตรฐานตามแบบฉบับกรมปศุสัตว์นั้น เพิ่งจัดทำเสร็จร้อนๆ หลังประกาศนโยบายผลักดันเป็ดเข้าสู่การเลี้ยงเป็นระบบไปแล้วเกือบ 3 เดือน และกำลังจัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายจังหวัดต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวบ้านยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานในระดับท้องถิ่นอย่างปศุสัตว์จังหวัด

นอกจากนี้รักษาการรองอธิบดียังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า กรมปศุสัตว์ได้ออกแบบให้มีแหล่งน้ำในโรงเรือน โดยมีรางน้ำสำหรับให้เป็ดกินน้ำและล้างเท้า

อย่างไรก็ตาม ความไม่ลงตัวของมาตรการรัฐ รวมทั้งความช่วยเหลือที่ยังไม่ชัดเจนนี้ ทำให้เกษตรกรบางรายถึงกับถอดใจกับอาชีพเลี้ยงเป็ด เสน่ห์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เขามองอนาคตของเขาและเพื่อนร่วมอาชีพว่า

"มาตรการนี้มันทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ตัดสินใจเลี้ยงเป็ดต่อไป ต้องเข้าไปอยู่ในวงจรของการเป็นหนี้เป็นสิน เพราะเอาเข้าจริงก็คงมีไม่กี่คนหรอกที่พอจะมีทุนทำได้ ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่มีทุน ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง ก็คงต้องเป็นลูกจ้างฟาร์มใหญ่ๆ ของนายทุนอีกที ไม่ต่างจากระบบการเลี้ยงไก่"

ขณะที่รักษาการรองอธิบดีให้ความเห็นว่า มาตรการนี้ย่อมต้องส่งผลกระทบในการเปลี่ยนอาชีพของเกษตรกรบางส่วนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ดังนั้น รัฐจึงเตรียมมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยเกษตรกรที่คิดจะเลิกเลี้ยงเป็ดและต้องการหาอาชีพใหม่ สามารถแจ้งไปยังสำนักงานจัดหางานของทุกจังหวัดได้ ซึ่งจะมีการจัดหาอาชีพให้ นอกจากนั้นยังมีโครงการฝึกอบรมอาชีพในหลายพื้นที่ด้วย

"ถึงที่สุด ผมไม่แน่ใจว่ามาตรการต้อนเป็ดเข้าโรงเรือนจะประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมามีนายทุนทดลองทำบ้างแล้ว แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะหากเป็นเป็ดที่เลี้ยงมาโตเกินกว่า 3 เดือนแล้ว พอเข้าโรงเรือนมันจะหยุดไข่ทันที เอาแต่กินอย่างเดียว" เสน่ห์ เอกประชายังคงนำเสนอข้อวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้เสน่ห์ยังยืนยันว่า แม้แต่ปศุสัตว์จังหวัดเอง ก็ไม่รับรองว่าเป็ดที่อยู่ในโรงเรือนจะปลอดภัยจากเชื้อไข้หวัดนก100% ตัวอย่างก็มีให้เห็นในไก่ที่เลี้ยงในระบบปิด ก็ยังติดโรคตายก่อนเป็ดไล่ทุ่งเสียอีก

"สัตว์ที่อยู่ในฟาร์มจะแข็งแรงกว่าสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติได้ยังไง" เขากล่าวด้วยความมั่นใจ

สุดท้ายคงถึงเวลาที่รัฐจะต้องทบทวนว่ามาตรการเรื่องโรงเรือนจะสามารถแก้ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกในเป็ดไล่ทุ่งได้จริงหรือไม่ ผู้บริโภคที่ชอบทานเป็ด ไข่เป็ด หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องต้องควักกระเป๋ามากขึ้นแค่ไหน

รวมถึงโจทย์ใหญ่ที่เกษตรกรอย่างเสน่ห์ตั้งไว้ว่า ขณะที่รัฐกำลังต้อน "เป็ดไล่ทุ่ง" เข้าสู่โรงเรือนที่แสนจะเลือนราง รัฐกำลังต้อน "คนเลี้ยงเป็ด" ไปสู่อะไร ......

กฤติยา ศศิภูมินทร์ฤทธิ์
กิติยวดี สีดา
วลัยพรรณ ภูมิภักดิ์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net