Skip to main content
sharethis

ศาลออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 โจทก์ , นายกระมล ทองธรรมชาติ โจทก์ร่วมที่ 1 ,นายผัน จันทรปาน ที่ 2 , นายศักดิ์ เตชาชาญ ที่ 3 , นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ ที่ 4 , นายอนันต์ เกตุวงศ์ที่ 5 , นายสุจินดา ยงสุนทร ที่ 6 , และนายจุมพล ณ สงขลา ที่ 7 ยื่นฟ้อง น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ คอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำเลยที่ 1 , นายจีระพงศ์ เต็มเปี่ยม บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.แนวหน้าที่ 2 ,บริษัทหนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด ที่ 3 , นางผานิต พูนศิริวงศ์ ที่ 4 และนายวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ในความผิดร่วมกันฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร , ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา ในการพิจารณาพิพากษาคดี

ตามฟ้องโจทก์ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.45 ระบุความผิดพวกจำเลย สรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.44 เวลากลางวันกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้า ร่วมกันดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ใส่ความผู้เสียหาย ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง ที่วินิจฉัยชี้ขาดคดี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบว่า ไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ม.295

โดยการลงโฆษณาพิมพ์บทความ "คำวินิจฉัยไร้จิตสำนัก" ใน นสพ.แนวหน้า ฉบับลงวันที่ 28 ส.ค.44 หน้า 3 คอลัมน์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งบทความดังกล่าวจำเลยที่ 1 อ้างว่า เป็นความเห็นของอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรียกชื่อคดีดังกล่าวว่า คดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

โดยข้อความระบุว่า "พวกเราในฐานะอาจารย์ มธ.กลุ่มหนึ่ง รู้สึกเศร้าใจ ผิดหวังสะเทือนใจอย่างมากที่พวกคุณพิจารณาวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไว้อย่างวิปริต ไร้จิตสำนึก ไร้จริยธรรม มีอคติ..." และข้อความ " พวกเรา งง และสมเพชพวกคุณ ทั้ง 8 คนจริง ๆ ว่า คุณโง่หรือแกล้งทำเป็นโง่" และถ้อยคำว่า "ทำไมพวกคุณพร้อมใจกันโง่ ในการพิจารณาคดีนี้ มีอะไรมายัดปากพวกคุณใช่ไหม..."

และข้อความ " บางคนเคยรับราชการเป็นผู้พิพากษา ก่อนตัดสินคดีนี้ ได้เคยไปพูดคุยกับผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่ง ที่ศาลฎีกา โดยยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินอย่างเห็นได้ชัด แต่อยากจะหาทางออกเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ..." และ " พวกคุณรู้สึกหรือเปล่าว่า นักวิชาการและนักกฎหมายที่มีคุณธรรม ตลอดจนสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เขารังเกียจพวกคุณ ขยะแขยงพวกคุณอย่างมาก โดยเฉพาะศาลฎีกา ที่ประกาศไว้ว่า เขาจะไม่ยอมคบค้าพูดจากับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากศาลฎีกาอีกต่อไป..."

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วมทั้งเจ็ด ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงยื่นฟ้องคดีขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์-จำเลยเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทของ นสพ.แนวหน้า ที่มีจำเลยที่ 4 และ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ซึ่งที่โจทก์ร่วมที่ 4 เบิกความว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดหมิ่นประมาท โดยได้ร่วมประชุมวางแผนและนโยบายการนำเสนอข่าว บทความของ นสพ.แนวหน้า

และนายนพดล เฮงเจริญ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมที่ 1-3 , ที่ 5-6 ได้เบิกความว่าก่อนหน้าลงบทความคดีนี้ นสพ.แนวหน้า ยังเคยลงบทความวิพากษ์วิจารณ์ การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนด้วย แสดงว่า จำเลยที่ 4 และ 5 มีส่วนรู้เห็นในการเขียนบทความของจำเลยที่ 1 ด้วย

ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฎว่า จำเลยที่ 4-5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท แต่ไม่ได้เป็นผู้เขียนคอลัมน์ หรือยุ่งเกี่ยวกับการนำเสนอ และไม่น่าจะได้มีส่วนร่วมในการตีพิมพ์บทความ เพราะการพิจารณาตีพิมพ์ข่าว บทความ เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ที่ต้องรับผิดชอบตรวจสอบ ควบคุม และแก้ไขเนื้อหาข่าว บทความตามคำนิยาม มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484

การที่จำเลยที่ 1 เขียนบทความ ก็เป็นความเห็นส่วนตัว ในการวิจารณ์พฤติกรรมการวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยไว้ทุกแง่มุม จึงไม่มีเหตุผลใด ที่จำเลยที่ 4-5 ต้องร่วมประชุมลงความเห็นสนันสนุนจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ดังนั้นจำเลยที่ 3-5 จึงไม่มีความผิดที่ร่วมกับจำเลยที่ 1

คดีต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1-2 ร่วมกันกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ศาลเห็นสมควรแยกวินิจฉัยคดีเป็นสองส่วน ส่วนแรก โจทก์ร่วมที่ 1-3 และที่ 5-6 กับพลโทจุล อติเรก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งในทางคดี พบว่า โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย ไม่ได้มาเบิกความต่อศาล ตามที่มีหมายเรียกโดยชอบ ให้มาเป็นพยาน โดยอ้างเหตุผลติดธุระสำคัญต่าง ๆ และผู้เสียหายได้อ้างปัญหาเกี่ยวกับสายตาที่กำลังรักษา ไม่สะดวกที่จะมาศาล

ซึ่งในวันที่ 12 พ.ค. 47 อัยการและทนายโจทก์ร่วมแถลงต่อศาลว่า โจทก์ร่วมไม่ประสงค์มาเบิกความเป็นพยานต่อศาล และขอให้นำคำเบิกความของนายนพดล เฮงเจริญ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้ง 7 และโจทก์ร่วมที่ 4 กับ ที่ 7 ที่เบิกความไปแล้ว มาวินิจฉัย โดยอ้างว่า คดีนี้เป็นคดีหมิ่นประมาท ศาลสามารถวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้จากข้อความใน นสพ.แนวหน้าได้ว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่

ศาลเห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหาย ไม่ยอมมาเบิกความ แต่อ้างที่จะให้ศาลอาศัยคำเบิกความ ของนายนพดลและโจทก์ร่วมที่ 4-7 จะเป็นการกระทำลับหลังจำเลยที่ 1-2 และทนายจำเลย ที่ไม่มีโอกาสถามค้าน เพื่อกระจายข้อเท็จจริงและทำลายน้ำหนักคำเบิกความของโจทก์ร่วม ซึ่งคดีหมิ่นประมาท ถือเป็นความผิดส่วนตัว ซึ่งสภาพความผิดของโจทก์ร่วมแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน หากโจทก์ร่วมแต่ละคน มาเบิกความและตอบข้อซักถามของทนาย ก็อาจจะทำให้คำตอบแตกต่างกันไป ตามความเห็นของโจทก์ร่วมแต่ละคนด้วย

ซึ่งข้อความตามฟ้องโจทก์ เห็นได้ว่า บางถ้อยคำมีความหมายสองแง่ สามารถแปรความในเจตนารมณ์ของผู้เขียนบทความได้หลายอย่าง ที่ศาลจะรู้ได้เอง ดังนั้น โจทก์ร่วมและผู้เสียหาย ต้องมาเบิกความต่อศาล เพื่ออธิบายถ้อยคำบางคำว่า หมิ่นประมาทอย่างไร

เมื่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายไม่ยอมมาเบิกความ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า บทความที่ลงในหนังสือพิมพ์แนวหน้าเป็นข้อความหมิ่นประมาท และดูหมิ่นโดยการโฆษณา โจทก์ร่วมที่ 1-3 และที่ 5-6 กับผู้เสียหายตามที่อ้าง
ส่วนที่โจทก์อ้างส่งคำให้การคดีนี้ ในชั้นสอบสวนนั้น ศาลเห็นว่า คำให้การเป็นเพียงพยานบอกเล่า ที่ศาลต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เพราะจำเลยที่ 1-2 ได้นำสืบปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ไม่ได้กระทำผิด ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ร่วม จึงยังรับฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1-2 กระทำผิดฐานหมิ่นประมาท มาตรา 326,328,และ 393

สำหรับการวินิจฉัย กรณีของโจทก์ร่วมที่ 4 และที่ 7 ทางนำสืบโจทก์ร่วมที่ 4 มาเบิกความว่า เมื่ออ่านคอลัมน์แนวหน้าวิเคราะห์ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พูด ที่อ้างว่า เป็นจดหมายของอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์แล้ว เห็นว่า ถ้อยคำและภาษาที่ใช้ตีพิมพ์ข้อความว่า "พวกเราในฐานะอาจารย์ มธ.กลุ่มหนึ่ง รู้สึกเศร้าใจ ผิดหวัง สะเทือนใจอย่างมาก ที่พวกคุณพิจารณาวินิจฉัยคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไว้อย่างวิปริต ไร้จิตสำนึก ไร้จริยธรรม มีอคติ..."

และข้อความ " พวกเรางง และสมเพชพวกคุณทั้ง 8 คนจริง ๆ ว่าคุณโง่หรือแกล้งทำเป็นโง่ เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีนี้ไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง" และถ้อยคำว่า "ทำไมพวกคุณพร้อมใจกันโง่ในการพิจารณาคดีนี้ มีอะไรมายัดปากพวกคุณใช่ไหม..."

เป็นบทความที่มุ่งวิจารณ์คำวินิจฉัยตุลการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก โดยใช้ถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย เช่น คำว่า ไร้จิตสำนึก ไร้จริยธรรม สมเพช โดยศาล เห็นว่า ถ้อยคำที่ใช้ในบทความ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นข้อความ แสดงความรู้สึกถึงความไม่พอใจ และรุนแรงเท่านั้น เช่นการใช้คำว่า "อะไรมายัดปากคุณใช่ไหม" ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวก็ไม่ใช่เป็นการยืนยันว่า โจทก์ร่วมที่ 4 ได้รับสินบนหรืออามิสสินจ้าง จากผู้ถูกร้องในคดีซุกหุ้น ซึ่งศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยส่วนตัวในคดีของโจทก์ร่วมที่ 4 อาจจะมีความเชื่อในความสุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำต้องฝืนข้อเท็จจริงบางประการ

ลักษณะเช่นนี้ หากพูดว่า มีอะไรมายัดปาก ก็จะมีความหมายทำนองเดียวกันว่า มีอะไรติดคอพูดไม่ออก ดังนั้น คำว่า "โง่หรือมีอะไรมายัดปากพวกคุณหรือ" จึงเป็นเพียงคำไม่สุภาพ ค่อนข้างหยาบคาย แต่ไม่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ร่วมที่ 4 และดูหมิ่นโดยการโฆษณา ตามมาตรา 326, 328 และ 393

ในกรณีของโจทก์ร่วมที่ 7 ก็มาเป็นพยานเบิกความว่า พยานรู้สึกว่า ถ้อยคำในข้อความบางส่วนเป็นถ้อยคำหยาบคายเท่านั้น และมีบางข้อความที่เป็นลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์ร่วมที่ 4 ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า ข้อความและถ้อยคำนั้น ไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมที่ 4 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยซ้ำอีก

แต่ความสำคัญของคดี ยังมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 7 เคยไปปรึกษาหารือ การใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 295 ระหว่างการพิจารณาคดีซุกหุ้น กับนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ขณะเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ เรื่องนี้โจทก์ร่วมที่ 7 ได้ตอบอัยการโจทก์ว่า ก่อนจะทำคำวินิจฉัย พยานได้พูดคุยกับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เป็นเพื่อนกันเกี่ยวกับมาตรา 295 ว่า นักวิชาการมีความเห็นว่า ไม่น่าจะใช้กับกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 7 ได้ซักถามผู้พิพากษาศาลฎีกาว่า การวินิจฉัยคดีจะใช้มาตรา 295 ได้หรือไม่

โดยโจทก์ร่วมที่ 7 ได้ตอบทนายจำเลย ยอมรับว่า ได้พบกับนายวสันต์ จริง และขอคำปรึกษาเรื่องมาตรา 295 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยกเป็นข้อต่อสู้ แต่คดีอื่นที่เคยตัดสินมา ผู้ถูกร้องไม่เคยยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ โดยโจทก์ร่วมปฏิเสธว่าไม่ได้พูดว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ผิด ตามมาตรา 295

ขณะที่ทางนำสืบ นายวสันต์ เป็นพยานจำเลยที่ 1-2 เบิกความว่า ก่อนตัดสินคดีซุกหุ้นประมาณ 1 เดือน โจทก์ร่วมที่ 7 ไปพบที่ศาลฎีกา และถามความเห็นการวินิจฉัยคดีซุกหุ้น โดยโจทก์ร่วมที่ 7 พูดว่า ในคดีอื่น ๆ ผู้ถูกร้องไม่ได้ตั้งประเด็น เหมือนคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพยานได้ถามว่า "ตกลงจะอุ้ม พ.ต.ท.ทักษิณใช่หรือไม่" โจทก์ร่วมที่ 7 ก็ตอบว่า" ประชาชนลงคะแนน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 11 ล้านเสียง จะเอาเสียงของคนไม่กี่คนไปถอดถอน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ถูก"

พยานจึงทักท้วงว่า "ถ้าจะเอาแต่ประเด็นมาวินิจฉัย ก็ไม่ต้องไปอยู่ศาลรัฐธรรมนูญ คดีควรมาอยู่ศาลแพ่ง เป็นผู้พิพากษาถ้าใครทำผิดกฎหมาย ให้คะแนนเสียงมากน้อยเท่าไร ก็ต้องลงโทษ" และยังแนะนำโจทก์ร่วมที่ 7 ว่า "หากจะอุ้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ควรวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่า จงใจไม่ซุกหุ้นจะเหมาะสมกว่า เพราะเป็นดุลพินิจ" จากนั้น พยานก็เห็นโจทก์ร่วมที่ 7 ไปห้องทำงานผู้พิพากษาท่านอื่นด้วย จึงเข้าใจว่า คงจะคุยเรื่องมาตรา 295 ด้วย

ศาลพิจารณาจากคำเบิกความโจทก์ร่วมที่ 7 และ นายวสันต์ แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ชัดเจน และเป็นที่เชื่อได้ว่า นายวสันต์ ได้เบิกความตามความสัตย์จริง ไม่ได้ปรักปรำให้ร้ายโจทก์ร่วมที่ 7 ซึ่งพยานก็เป็นเพื่อนสนิทกับโจทก์ร่วมที่ 7 และแสดงความนับถือเรียกโจทก์ร่วมที่ 7 ว่า "พี่จุ๋ม" อีกทั้งพยานยังเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย และมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วไป

ขณะที่ทางนำสืบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การตอบคำถามทนายความจำเลย โจทก์ร่วมที่ 7 พยายามบ่ายเบี่ยงในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้หลายคำตอบ อ้างว่า จำไม่ได้ หรือไม่ทราบบ้าง ซึ่งมีข้อเท็จจริงอยู่ตอนหนึ่ง ที่โจทก์ร่วมที่ 7 ยอมรับว่าได้พูดคุยกับนายวสันต์ในประเด็นข้อกฎหมายมาตรา 295 จริง

แต่ที่โจทก์ร่วมที่ 7 อ้างว่า คดีอื่นที่เคยตัดสินมา ผู้ถูกร้องไม่เคยยกประเด็นมาตรา 295 ขึ้นต่อสู้นั้น ศาลเห็นว่า ไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริง พบว่า โจทก์ร่วมเคยตัดสินคดีของนายอนันต์ ศวัสตนานนท์ และนายโกศล ศรีสังข์ ทั้ง 2 ก็ยกข้อกฎหมายว่า พ้นตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 295

ส่วนคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ โจทก์ร่วมที่ 7 กลับไม่วินิจฉัยตามหลักกฎหมาย มาตรา 295 และโจทก์ร่วมที่ 7 ให้สัมภาษณ์ นสพ.มีข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า "การกล่าวหาผมวันนี้ ตัดสินอย่างหนึ่ง แล้ววันหลังตัดสินอีกอย่างหนึ่ง เรื่องนี้ถือเป็นสิทธิ์ของผม เมื่อวันก่อนผมยังโง่อยู่ คิดไม่ออก แต่วันต่อมา ผมฉลาดขึ้น ตรงนี้ ผมถือว่าเป็นสิทธิ์ของผม" ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 7 ก็ได้ยอมรับกับทนายจำเลยว่า ให้สัมภาษณ์เช่นนั้นจริง

ดังนั้น กรณีจึงเห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์ร่วมที่ 7 ได้วินิจฉัยคดีตามหลักกฎหมายแพ่ง ที่อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยกมาตรา 295 ขึ้นต่อสู้ ในลักษณะยกอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ที่บัญญัติไว้ว่า "เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความ เป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้" ไม่ใช่การวินิจฉัยคดี ตามหลักกฎหมายมหาชนตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

และแม้จะเชื่อว่า โจทก์ร่วมที่ 7 มีความสุจริตใจ ในการวินิจฉัยคดี และที่นายวสันต์พูดว่า "ตกลงจะอุ้ม พ.ต.ท.ทักษิณ ใช่หรือไม่" ก็ไม่ใช่การกล่าวหาโจทก์ร่วมที่ 7 ว่า ไม่มีความสุจริตในการวินิจฉัยคดีแต่อย่างใด เพราะนายวสันต์ได้แนะนำให้โจทก์ร่วมที่ 7 วินิจฉัยคดีนี้ ในข้อเท็จจริง แต่โจทก์ร่วมที่ 7 ไม่เชื่อ วินิจฉัยคดีในข้อกฏหมาย ตาม ม.295 ขัดกับคดีอื่นที่วินิจฉัยมา

ซึ่งศาลเห็นด้วย กับนายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พยานจำเลย ที่เบิกความว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้น ที่นายนภดล เฮงเจริญ พยานโจทก์เบิกความว่า คำวินิจกลางของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลผูกพันศาล แต่ยกเว้น ศาลรัฐธรรมนูญ และโจทก์ร่วมที่ 7 ศาลเห็นว่า ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย ย่อมมีผลผูกพันศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเป็นการวินิจฉัยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้น จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยข้อกฎหมายได้ตามอำเภอใจ ศาลเห็นว่า บทความของจำเลยที่ 1 เป็นการเสนอข่าว ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ข้อความที่โจทก์ร่วมที่ 7 ระบุว่า เป็นการหมิ่นประมาทนั้น ตามข้อเท็จจริงในเนื้อหา เป็นความจริง จำเลยที่ 1-2 จึงไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 330

ปัญหาสุดท้าย ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-2 กระทำผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาในคดี หรือขัดขวางการพิพากษาของศาลหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ศาลเห็นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีความหมายเช่นเดียวกับผู้พิพากษาของศาลยุติธรรม และศาลปกครอง ที่มีอำนาจและหน้าที่ พิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งมาตรา 198 ได้คุ้มครองการกระทำละเมิดศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ของบุคคลทั้งหลาย

เช่นการสร้างม็อบนำกฎหมู่ มาบังคับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยคดีตามความต้องการ ลงข่าว เขียนบทความ โดยใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคายไม่สุภาพ ดูหมิ่นคำวินิจฉัยส่วนตัว และส่วนกลาง ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำบทความให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็น บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณามาตีพิมพ์ลงใน นสพ.แนวหน้า โดยที่จำเลยที่ 1-2 ไม่ตัดข้อความที่รุนแรงหยาบคายไม่สุภาพออกไป ทั้งที่สามารถใช้ถ้อยคำอื่นแทนได้ แสดงว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนากล่าวหาคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากว่า วินิจฉัยคดีไม่ยุติธรรม

ดังนั้น จำเลยจำเลยที่ 1-2 ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมกัน ตาม พรบ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ในความผิดฐานดูหมิ่นคำวินิจฉัยส่วนตัว และส่วนกลางของโจทก์ร่วมทั้ง 7 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย คนละ 1 ปี และปรับ คนละ 7,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยรับราชการ เป็นนักการเมือง และเคยเป็น รมว.กระทรวงการต่างประเทศ แสดงว่า เป็นผู้มีคุณงามความดีมาก่อน ส่วนจำเลยที่ 2 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นบรรณาธิการ นสพ.ซึ่งเป็นอาชีพสุจริตและมีหลักฐานมั่นคง จึงสมควรรอการลงโทษ ให้รอลงอาญาไว้มีกำหนดคนละ 1 ปี ส่วนโทษปรับให้จำเลยทั้งสองชำระตามกฎหมาย ส่วนความผิดข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net